BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปัญหาการปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย


ปัญหาการปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

อุทกภัยจัดเป็นภัยตามธรรมชาติซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ในฐานะมวลมนุษยชาติก็ต้องช่วยเหลือกันไป การช่วยเหลือนั้น อาจจำแนกเป็น ๒ นัย กล่าวคือ การช่วยเหลือโดยส่วนตัว ใครช่วยเหลือก็จัดเป็นคุณธรรม ความดี ควรแก่การสรรเสริญ หรือก่อให้เกิดความภูมิใจในตนเองสำหรับผู้นั้น...

ประเด็นที่ต้องการกล่าวถึงก็คือ รช่วยเหลือโดยองค์กร เช่น หน่วยงานราชการ บริษัท หรือมูลนิธิ เป็นต้น ซึ่งแต่ละองค์กรย่อมมีกฎระเบียบในการดำเนินการ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน การทุจริต หรือความเรียบร้อยของดำเนินการเป็นต้น

ประเด็นก็คือกรอบระเบียบบางครั้งก็ก่อให้เกิดความเนิ่นช้าในการดำเนินการ ดังเช่น เทศบาลแห่งหนึ่งทางภาคเหนือมีความพร้อมที่จะสร้างคันดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้ทางภาคกลาง แต่กฎระเบียบที่วางไว้นั้นก่อให้เกิดความเนิ่นช้าในการดำเนินการ ขณะที่ฝนตกหนัก น้ำไหลบ่ามาตามกฎธรรมชาติ โดยไม่ต้องรอการอนุมัติตามกฎของมนุษย์...

ปัญหาก็คือ ถ้าเทศบาลที่อ้างถึงไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ แต่คำนึงถึงคุณธรรมมากกว่า โดยนำกำลังคนและเครื่องมือมาช่วยสร้างคันดิน ก็อาจป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างทันเวลา...

จะเห็นได้ว่า กฎระเบียบ กับ คุณธรรม มีความขัดแย้งกัน และนี้คือประเด็นที่ก่อให้เกิดคำว่า การกระทำเหนือหน้าที่ ตามความหมายว่า ถ้าไม่กระทำก็ไม่มีความผิด ถ้ากระทำก็เป็นความดีพิเศษที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ...

ตอนผู้เขียนกำลังศึกษาเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่เชื่อมโยงกับประเด็นนี้ทำนองว่า การกระทำใด แม้ว่าฝ่าฝืนหรือไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบ แต่ถ้าเป็นประโยชน์สุขกับประชาชน ก็ให้ปฏิบัติไปก่อนได้เลย... อะไรทำนองนี้ จากนโยบายดังกล่าว ถามว่า ถ้าปฏิบัติไปแล้วเกิดความผิดพลาด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ? ซึ่งก็คงได้แก่ผู้ปฏิบัตินั้นเอง เพราะไม่มีใครช่วยได้ ศาลก็ต้องว่าไปตามตัวบทกฎหมาย... นั้นคือ เรื่องราวในอดีต

เรื่องราวในขณะนี้ก็ทำนองเดียวกัน การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รอไม่ได้ ต้องช่วยเหลือตามที่เห็นสมควร ส่วนจะถูกต้องตามกฎระเบียบหรือไม่นั้น ค่อยว่ากันภายหลัง...

การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือภัยขนาดใหญ่อย่างอื่นก็ตาม องค์กรทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานราชการ ควรมีระเบียบบางอย่างเปิดช่องไว้ โดยเน้นคุณธรรมในการดำเนินการ ไม่เน้นกฎระเบียบจนเกินไป เพื่อให้การดำเนินการคล่องตัวยิ่งขึ้น นั่นคือ เพิ่มประเด็นเรื่อง การกระทำเหนือหน้าที่ ขึ้นมาในการดำเนินการ...

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่าช่องทางของการกระทำเหนือหน้าที่ตามที่ว่า จะเปิดโอกาสให้คนชั่วดำเนินการได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น ควรจะปิดโอกาสไม่ให้คนชั่วดำเนินการได้ง่าย แต่มิใช่ว่าต้องกลับไปสู่กฎระเบียบที่เข้มงวดอีกครั้ง กลายเป็นว่าตกอยู่ใน "กับดักจริยปรัชญา"  เวียนไปเวียนมาไม่สิ้นสุด

หมายเลขบันทึก: 405652เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2010 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท