สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑.๔


เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฎรเขาจ้างให้ฉันออกมาเรียน

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย  (๑.๔)

 
อ่านตอนที่ ๑  [ประสูติกาลเฉลิมพระนาม และพระชนม์ชีพในปฐมวัย]
อ่านตอนที่ ๑.๑ [ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ, พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัตร, ทรงผนวช]
อ่านตอนที่ ๑.๒  [ทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ, เสด็จนิวัติพระนคร ทรงเป็นทหารเรือ, ทรงเป็นนายทหารนอกกอง กองทัพเรือ]
อ่านตอนที่ ๑.๓ [ทรงหันมาสนพระทัยโรงเรียนแพทย์]

ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

         ดังได้กล่าวมาแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสนพระทัยในเรื่อง เรือดำน้ำมากทรงศึกษาอย่างละเอียดทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดบกพร่องต่างๆ ตลอดเวลาที่ทรงศึกษาวิชาการทหารเรืออยู่ในประเทศเยอรมนี ทรงพบว่าอุปสรรคใหญ่ คือเรื่องอาหารการกินของไทยต้องหุงต้มสดๆ ร้อนๆ ทุกวัน แม้เมื่อทรงลาออกจากประจำการกองทัพเรือแล้ว ก็มิได้ทรงทอดทิ้งปัญหานี้ แต่กลับเป็นเหตุให้ทรงหันมาสนพระทัยทางด้านสาธารณสุข และเสด็จไปทรงศึกษาวิชานี้ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

             จากพระนิพนธ์ของเสด็จในกรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวว่า “กองทัพเรือไทยเวลานั้น มีเรือน้อยเกือบจะเรียกว่าเป็นกองทัพเรือจริงๆ ไม่ได้   เจ้าฟ้ามหิดลมีพระนิสัยเป็นทหารเรือจริงๆ จึงรู้สึกกลัดกลุ้มพระทัย แต่ก็มิได้ทอดทิ้งทหารเรือทีเดียว ทรงคิดถึงเรื่องเรือรบเป็นอันมาก ท่านสนพระทัยในเรื่องเรือเล็กๆ ที่ไทยอาจมีได้มาก ทรงนึกถึงเรือดำน้ำเป็นพิเศษ เมือนึกถึงเรือดำน้ำแล้ว ปัญหาเรื่องอาหารจึงเกิดขึ้น คือ คนไทยชอบกินข้าวที่หุงขึ้นสดๆ เป็นอาหารประจำและอาหารสำคัญ แต่ในการหุงต้มในเรือดำน้ำทำไม่ได้เหมือนในเรือชนิดอื่น จะต้องมีเสบียงกรังที่ไม่ต้องหุงต้มสดๆ ติดไปในเรืออย่างเรือฝรั่ง จะต้องคิดหาอาหารที่เก็บเอาไว้ได้อย่างนั้นและให้เหมาะแก่คนไทย และเป็นประโยชน์ในการังชีพและบำรุงกำลังอย่างดีที่สุดที่จะทราบว่าอะไรเป็นอาหารดีมีคุณอย่างไร ต้องศึกษาและทดลองเป็นพิเศษ ท่านอยากศึกษาในทางนี้ เมื่อข้าพเจ้าทราบดังนั้นก็สนับสนุนความคิดอันนี้ด้วยความยินดี ประกอบกับพระอนามัยของท่านไม่สู้ดี อยากจะไปรักษาพระองค์ในประเทศหนาวด้วย ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เสด็จออกไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา นอกจากเรื่องอาหารแล้วให้ทรงศึกษาทางอื่นที่เกี่ยวกับสุขวิทยาด้วย แล้วจะได้มาสอนในโรงเรียนแพทย์และช่วยกันส่งเสริมวิชาแพทย์ในเมืองไทย ท่านทรงโปรดความคิดเช่นนี้จึงได้เสด็จออกไปอเมริกาเข้าโรงเรียนสาธารณสุข (ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)...”

            เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุข (Public Health) ที่ School of Health Officer ซึ่งเป็นของมหาวิทยาลัย Harvard และ Massachusetts Institute of Technology โดยทรงเช่าอพาร์ตเมนท์อยู่ที่เลขที่ ๑๑ Storey Street.

             ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ดนี้ ทรงใช้พระนามว่า Mr. Mahidol Songkla นับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกามาก ดังจะเห็นได้จากบทความของ Dr. Ellis กล่าวไว้ว่า

ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่ง ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา   ในเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ก็ไม่ใช่เจ้านาย  เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริงแก่ประเทศของเราและสมกับพระสักษณะของการเป็นเจ้านายที่แท้จริง....”

               ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงสนพระทัยและเป็นห่วงกิจการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอยู่ตลอดเวลา ทรงตระหนักว่า การสาธารณสุขจะได้ผลดีจะต้องมีแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และการจะมีแพทย์ที่มีคุณภาพสูงนั้นจะต้องมีการศึกษาแพทย์ที่เหมาะสม

           ขณะนั้น กิจการที่เกี่ยวกับการศึกษาแพทย์และการสาธารณสุขของไทยไม่มั่นคงและไม่สามารถดำเนินการให้ทัดเทียมกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้เพราะนักศึกษาที่เข้ามาเรียนวิชาแพทย์นั้นมีความรู้ต่ำ ไม่เคยเรียนวิชาพื้นฐานของวิชาแพทย์มาก่อน ความรู้ทางภาษาอังกฤษอ่อนมาก ไม่สามารถอ่านตำราภาษาต่างประเทศได้ อาจารย์ที่สอนก็เป็นผู้ที่เรียนมาทางประกอบโรคศิลป์

              พระองค์ทรงมุ่งที่จะปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ เพื่อจะได้มีแพทย์ที่มีคุณภาพดี การปรับปรุงนั้นจำเป็นที่จะต้องมีครูของเราเอง จึงมีพระราชประสงค์จะให้นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาโดยพระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ ในชั้นต้นนั้นทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานทุนแก่นักเรียนแพทย์ ๒ คน ที่ ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและนางลิปิธรรมศรีพยัตต์

           นักเรียนทุนส่วนพระองค์ทั้ง ๔ ไปถึงสหรัฐอเมริกาปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ และได้เข้าเฝ้าถึงที่ประทับ โปรดให้หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ และหลวงนิตย์เวชชวิศิษฐ์ พักอยู่กับพระองค์ชั่วคราวก่อนที่จะหาที่พักให้ทั้งสองได้

            สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์ ทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ เสด็จเยี่ยมเยียนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงอบรมอยู่ใกล้ชิดให้มีความรู้รอบตัว เช่น ทรงกำหนดให้นักเรียนไปดูพิพิธภัณฑ์แล้วจะต้องกลับมารายงานถวายว่า ได้ไปเห็นอะไรมาบ้างและจะทรงชี้แจงเพิ่มเติม ทรงอบรมให้รู้จักกระเหม็ดกระแหม่ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยทรงมอบเงินทั้งปีให้ไว้ใช้จ่ายเอง เป็นการฝึกหัดการใช้สอยเงินทองให้เพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดปี ไม่โปรดผู้ที่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ทรงรับสั่งเตือนสติว่า

"เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฎรเขาจ้างให้ฉันออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”

           ทรงดูแลนักเรียนทั้งของพระองค์และที่ผู้ปกครองฝากฝังอย่างทั่วถึง ผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไปก็ทรงมอบให้นักเรียนรุ่นโตกว่า ที่ทรงไว้วางพระทัยคอยดูแลเอาใจใส่เป็นการสนับสนุนให้เกิดความรับผิดชอบ ตลอดเวลาทรงวางแผนการศึกษา และทรงติดตามผลการศึกษาของแต่ละคนอย่างละเอียด ดังจะเห็นได้จากลายพระราชหัตถ์ ถึง มจ. พูนศรีเกษม ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ และ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงวิจารณ์นักเรียนแต่ละคน และจากลายพระหัตถ์ถึงพระสันธิวิทยาพัฒน์ บิดาของนักเรียนทุนส่วนพระองค์ผู้หนึ่ง ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นนักเรียนเรียนดีจริง แต่ไม่สามารถจะเรียนแพทย์ได้ จึงทรงแนะนำให้เปลี่ยนสาขาวิชาเรียนเสีย ไม่จำเป็นต้องเรียนแพทย์ เพราะวิชาอะไรถ้าเรียนได้ดีก็สามารถเอากลับมาประกอบอาชีพได้ และทำคุณประโยชน์แก่ชาติได้แต่ก็มิได้ทรงถือพระราชอำนาจเปลี่ยนโดยลำพังพระองค์ ทรงอธิบายชี้แจงและมอบการตัดสินให้แก่บิดา มารดา ของนักเรียนผู้นั้น

              พระกรุณาธรรมและเมตตาธรรมนั้น มิได้ทรงพระราชทานเฉพาะแต่กับคนไทยเท่านั้น ทรงเผื่อแผ่ไปถึงชาวต่างชาติที่ร่วมเรียนด้วย ดังเช่น ครั้งหนึ่งทรงทราบ Mr. Francisco Vella พระสหายชาวเม็กซิโก ซึ่งตั้งใจว่าจะกลับไปทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมชาติของเขา    เกิดขาดเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตน ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินให้เขาเดือนละ ๑๐๐ เหรียญ  จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

           เรื่องที่ทรงอบรมสั่งสอนให้นักเรียนทุนส่วนพระองค์รู้จักประหยัดกระเหม็ดกระแหม่ใช้จ่ายเงินทองนั้น มิได้เพียงแต่รับสั่งอย่างเดียว พระองค์เองก็ทรงปฏิบัติด้วยเช่น ถุงพระบาทขาดก็ทรงชุนเองแล้วใช้ใหม่ได้ ซักผ้าซับพระพักตร์ ถุงพระบาทหรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อประหยัดค่าซักฟอก ทรงล้างทำความสะอาดรถยนต์เอง รถยนต์ที่ทรงใช้ก็เป็นรถบูอิคตอนเดียวธรรมดา และที่ต้องซื้อไว้ก็เพราะต้องรีบไปโรงเรียนแพทย์ที่บอสตันแต่เช้า และเย็นก็ต้องทรงเอางานต่างๆ กลับมาทำที่พระตำหนัก

              การเลือกที่ประทับนั้น ภายหลังจากที่ทรงหันมาสนพระทัยในกิจการแพทย์และสาธารณสุขจะทรงเลือกที่ที่พอจะอยู่ได้เท่านั้น มิได้ทรงเลือกที่หรูหรา ทั้งนี้เพื่อจะทรงเก็บเงินไว้เพื่อการกุศล

“.......ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยมากแล้ว ว่าทูลหม่อมอาแดงนั้นทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ในบรรดาเจ้าฟ้าด้วยกัน แต่ท่านทรงระมัดระวังกระเหม็ดกระแหม่เป็นที่สุดในการใช้จ่าย แทนที่จะเสด็จไปประทับโฮเต็ลชั้นเอก กลับประทับโฮเต็ลชั้นซ่อมซ่อที่สุดใกล้ๆ สถานทูต อันเป็นทำเลที่ไม่หรูหราเสียเลยในกรุงลอนดอน การที่ทรงกระเหม็ดกระแหม่เช่นนั้นคือความเข้าใจผิดในระหว่างคนที่ไม่รู้จักท่านดี ไปคิดเสียว่าท่านเป็นคนเหนียวจัด แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านต้องการจะเก็บรายได้ของท่านไว้เป็นส่วนมากเพื่อทำการกุศลอย่างมากมาย........” (จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า เกิดวังปารุสก์ พระนคร: อุดม, ๒๔๙๔ เล่ม ๑ น. ๔๖๙.๗๐)

".....ส่วนทูลหม่อมอาแดง โปรดประทับในที่ที่ถูกและนับว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เช่น ตามถนนครอมเวลล์ (Cromwell Road) ใกล้สถานทูต อันเป็นทำเลในกรุงลอนดอนที่ไม่นับว่าหรูหราเลย โรงแรมเล็กๆ แถวนั้นเขาออกจะถือว่าคร่ำครึมากในสมัยนั้น แต่ราคาย่อมเยามาก ทูลหม่อมอาแดงดูเหมือนจะทรงร่ำรวยที่สุดในหมู่เจ้าฟ้า ฉะนั้นจึงมิแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงไม่เสด็จไปประทับอยู่ตามโรงแรมอันสมเกียรติ เช่น แคลริดจิส ท่านทรงอธิบายว่า เป็นเพราะอยากจะเก็บเงินไว้บำรุงสาธารณกุศลที่เมืองไทยดีกว่า ดังได้บรรยายมาก่อนแล้ว อนึ่งในการเสด็จไปอยู่ที่นั่นก็มิได้เสียพระเกียรติเจ้านายอย่างใด เพราะท่านไม่ทรงแถลงว่าพระองค์เป็นเจ้านายชั้นสูง ท่านเรียกพระองค์ท่านว่า มิสเตอร์ มหิดล สงขลา (Mr. Mahidol Songkla) เมื่อทรงสอบไล่ได้เป็นแพทย์ที่อเมริกาแล้วก็ทรงเรียกพระองค์ว่า ด๊อกเตอร์ ม.สงขลา การที่ทรงทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าถูก และเป็นที่น่าสรรเสริญ การที่จะเรียกตนว่าเป็นเจ้านายชั้นสูงและทำอะไรต่างๆ อย่างสมเกียรติเจ้านายชั้นสูง แต่ถ้าไม่อยากจะเปลืองเงินหรือไม่ชอบที่ทางหรูหราก็ควรจะงดการเป็นใหญ่เป็นโตเสียดีกว่า เพราะยศศักดิ์หรือตำแหน่งใหญ่โตนั้น ถ้าเอาไปใช้ในที่ไม่เหมาะไม่ควรก็เลยทำให้ได้ผลตรงกันข้าม...” (จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า เกิดวังปารุสก์ พระนคร: อุดม, ๒๔๙๔ เล่ม ๒)

เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง 

*ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไป………..

หมายเลขบันทึก: 40535เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท