KM กับ BRY


ควรใช้หลัก สร้างความเชื่อมโยง/ความสัมพันธ์ (relationship)
KM กับ BRY
BRY คือ  Biodiversity Research and Training Center Rajabhat University Yala   เป็นโครงการเฉลิมพระชนม์พรรษา ๗๒ พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ     ตั้งอยู่ที่หุบเขาลำพะยา  จ. ยะลา    ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ดร. รุ่ง แก้วแดง
ผมเขียนบันทึกนี้เพื่อเสนอความเห็นในการดำเนินการ BRY แก่คณะผู้ดำเนินการของ มรภ. ยะลา นำโดย ผศ. เฉลิมยศ อุทยารัตน์
·        ควรดำเนินการโดยยึดหัวใจ หรือ สัจธรรม ของ ความหลากหลายทางธรรมชาติ คือความเชื่อมโยง (relationship)
·        ความเชื่อมโยงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรที่อยู่ภายในหุบเขาลำพะยา พื้นที่ ๔๒ ตร. กม. นั้น    ที่ผมเห็นความเชื่อมโยงแล้วคือ อบต.   กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน   ผู้นำชุมชน   และนักวิชาการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    แต่ยังเห็นว่าการเชื่อมโยงกับโรงเรียนยังไม่ชัดเจน    โรงเรียนทุกโรงในพื้นที่ ๔๒ ตร. กม. ควรได้เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ และร่วมพัฒนารูปแบบและกิจกรรมของศูนย์  
·        ขณะนี้การพัฒนา BRY อยู่ในลักษณะที่ supply side (คือ มรภ. ยะลา) เป็นผู้ดำเนินการ    และหาความช่วยเหลือจากนักวิชาการและแหล่งทุน    บทบาทในการพัฒนา BRY โดย demand –side หลัก คือโรงเรียน ยังแทบจะไม่เห็น     ความไม่สมดุลดังกล่าวก่อความเสี่ยงที่รูปแบบของ BRY จะไม่ตรงกับความต้องการ หรือขีดความสามารถในการเข้ามาใช้ ของฝ่าย “ผู้ใช้” ประโยชน์
·        ความร่วมมือกับโรงเรียนรูปแบบหนึ่ง  ควรมีลักษณะของการเข้ามาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ    ผมได้แนะนำให้คณะผู้ดำเนินการ BRY ไปดูงานการใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้แบบบูรณาการของนักเรียน   ตัวอย่างหนึ่งคือ รร. จิระศาสตร์วิทยา ที่อยุธยา    อีกตัวอย่างหนึ่งคือ รร. เพลินพัฒนา ที่ตลิ่งชัน กรุงเทพ    และ สคส. กำลังจัดประชุมวิชาการในวันที่ ๒๗ ตค. ๔๘ ที่โรงแรมเอเซีย ราชเทวี เชิญโรงเรียนทั้งสองมานำเสนอ KM ใน รร. ของตน    ทีมงาน BRY อาจไปร่วมฟัง     BRY น่าจะพิจารณาดำเนินการโครงการนำร่อง พัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้ขึ้นในพื้นที่ BRY    สสวท. และ สกอ. น่าจะสนับสนุนทุนได้    ประสบการจากโครงการนำร่องนี้จะเป็นความรู้ช่วยเป็นข้อมูลหรือความรู้สำหรับนำมาใช้ออกแบบสวนพฤกษศาสตร์ให้ตรงความต้องการของ “ผู้ใช้” มากขึ้น    กิจกรรมพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการนี้จะก่อคุณูปการแก่วงการศึกษาไทยอย่างมหาศาลหาก มรภ. ยะลาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเครือข่ายใน ๓ จว. ภาคใต้     เชื่อมโยงกับการริเริ่มสร้างสรรค์ด้านการเรียนรู้ในสภาพจริงที่สนับสนุนโดยหน่วยงานต่างๆ เช่ย สกว. ท้องถิ่นซึ่งผมรู้ว่ามีที่ จ. สุราษฎร์ แต่ไม่ทราบว่ามีใน ๓ จ. ภาคใต้หรือไม่ 
·        การจัดตั้ง BRY มีศักยภาพที่จะก่อประโยชน์แก่ หุบเขาลำพะยา,  แก่ จ. ยะลา,  แก่ ๓ จ. ภาคใต้,  และแก่วงการศึกษาไทย อย่างมากมาย    หากมีการดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ ลดอุปสรรคที่เกิดจากการคิดดำเนินการแบบขีดวง หรือทำในกลุ่มคนที่จำกัด    หันไปใช้ยุทธศาสตร์เชื่อมโยง หรือยุทธศาสตร์เครือข่าย ในการดำเนินการ    ไม่ใช่แค่คิดเชื่อมโยงในการคิดโจทย์วิจัยเท่านั้น    แต่ทำแบบเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้รับประโยชน์ในวงกว้างด้วย    ยิ่งมีบารมีของ ดร. รุ่ง แก้วแดง มาหนุน ทั้งบารมีส่วนตัว ที่มีคนรักนับถือ  และบารมีในฐานะ รมช. ศึกษาธิการในปัจจุบัน มาช่วยหนุน    ศักยภาพของ BRY ยิ่งสูงเด่น    ผมอยากเห็นโครงการดีๆ เช่นนี้ทำคุณประโยชน์กว้างขวางและถาวรแก่สังคมไทย     จึงระดมสมองช่วยให้ความเห็น    แต่ความเห็นของผมบางส่วนอาจไม่เหมาะสมก็ได้    ทีมดำเนินการ BRY พึงรับฟังโดยยึดตามกาลามสูตรเถิด
วิจารณ์ พานิช
๑๘ กย. ๔๘   
หมายเลขบันทึก: 4053เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2005 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมีความคิดเห็นกับศูนย์วิจัยความหลายฯนี้ในหลายประเด็น

เนื่องจากเคยสัมผัสงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในหลายแห่งไม่ว่าในมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานระดับกรมและกระทรวง ผมว่าศูนย์นี้ดำเนินด้วยฐานจากชุมชน ในขณะที่อื่นๆไม่มีเลย นั่นคือที่นี่มีชุมชนลำพญาที่มีเข้มแข็ง แต่ที่ขาดไปเช่นเดียวกับที่คุณหมอกล่าวไว้คือเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ถูกกำหนดโดยผู้จัดทำหรือผู้ออกแบบ แต่ถ้าเราสามารถเปิดกรอบจากคนที่มาเยี่ยมชมว่าเขาอยากเห็นอะไรบ้าง อยากให้เป็นอย่างไร ในเส้นทาง จากนั้นเราจะได้ความคิดที่เปิดกว้างจากนั้นเราจึงมาประมวลมาจัดทำระบบสื่อความหมายธรรมชาติ  

งานด้านวิจัยโดยความจริงแล้ว มีการจัดทำงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในมิติทางวิทยาศาสตร์ มิติทางวัฒนธรรมมากมายหลายแห่ง จากหลายสถาบันทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ดังนั้นการทำวิจัยจึงไม่จำเป็นที่ต้องลงมือเอง หากแต่นำมาต่อยอดหรือรวบรวมจัดระเบียบน่าจะคุ้มค่า เพราะองค์กรก็มีข้อจำกัดด้านคน งบประมาณ

โดยเฉพาะตัวสวนพฤกษศาสตร์ โดยส่วนตัวไม่ค่อยจะอยากให้ใช้ชื่อนี้ น่าจะเป็นสวนการเรียนรู้ความหลายหลายทางชีวภาพน่าจะเหมาะกว่า

เพื่อให้สามารถบูรณาการกิจกรรมต่างๆเข้ากับวิถีชีวิตชุมชน การบูรณาการด้านการเรียนการสอน ควรจะจัดรูปแบบสวนฯให้เป็นมากกว่าการจัดสวนสวยๆที่มีต้นไม้แบ่งป็นหมวดหมู่ตามระบบเฉกเช่น ระบบการจัดสวนพฤกษศาสตร์ทั่วไป นั่นคือโจทย์ที่ยากมากของนักออกแบบสวนแห่งนี้

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท