จดหมายถึงครู ι ใคร่ครวญจดหมายถึงครู (๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓)


กราบสวัสดีครูค่ะ

ขอโอกาสตอบจดหมายครูค่ะจากใน mail ที่ถามว่า

 

 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเขียนจดหมายถึงครูคืออะไร

และจุดเริ่มต้นที่ได้เริ่มเขียน...คืออะไร

 

สิ่งที่หนูได้เรียนรู้จากจดหมายถึงครู

                นึกย้อนกับตนเองกับการได้นั่งเขียนจดหมายมาตลอดปีกว่า ๆ ณ ขณะที่เขียนเป็นเหมือนการมองย้อนดูเรื่องราวของตนเองในแต่ละวันว่า

“ทำอะไรบ้างแล้ว แล้วเรียนรู้อะไรบ้างค่ะ”

บางครั้งทบทวนไปก็เกิดปีติ หรือ เหมือนเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นมา หรือ บางคราได้เรียนรู้เรื่องดี ๆ

ก็ นำมาเล่า เช่น ครั้งหนึ่งที่โดนขังอยู่ในห้องทำงานตอนเลิกงาน แต่ใจ ณ ขณะนั้นไม่ขุ่นมัว แต่กลับเบิกบาน

เป็นการเข้าใจความรู้สึกถูกขังภายนอกแต่ ไม่ได้ถูกขังภายใน ขณะเขียนเหมือนได้เติมปีติลงในใจ หรือมีหลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น

ครูให้แนวทางไว้ว่า

“ให้ลองถอดรหัสดูซิว่า อะไรพาทำ ธรรมพาทำ หรือ กิเลสพาทำ”

ขณะที่หนูเขียน รู้สึกว่า

“เรื่องราวด้านลบที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ หรือ ไม่พอใจ

หนูจะรู้สึกอินกับมัน หรือ บางทีก็แทบจะไม่อยากเขียนออกมาค่ะ

เหมือนมันไม่อยากจะยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง”

 

มองย้อนในตนเองแล้วได้เรียนรู้ว่า ตอนที่มีสติจะตั้งใจเขียน จะตั้งใจค้นหาข้อบกพร่อง

ค้นหาสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอขาดสติ หนูก็จะฟุ้ง หนักไปทางคร่ำครวญค่ะ

 

พัฒนาการที่มีคือ พอจะมองเห็นข้อบกพร่องของตนเองได้มากขึ้น

หนูถามตนเองว่า

“อะไรทำให้พลาดไป”

ดูเหมือนว่า หลังมานี้

หนูเห็นข้อบกพร่องของตนเองมากขึ้น เช่น

ชอบทำงานคั่งค้าง ขี้เกียจ ขี้อิจฉา เห็นคนอื่นได้ดีไม่ได้ ยินดีกับคนอื่นไม่เป็น

ชอบหาข้อบกพร่องของคนอื่น ชอบอวดรู้ ชอบอวดดี ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน

 ชอบทำอะไรหลง ๆ เช่น อ่านนิยาย เล่นเกม พอเห็นมาก ๆ แล้วรู้สึกรับไม่ค่อยได้ค่ะ

และเห็นว่าตนเองปล่อยหลาย ๆเรื่องที่เคยยึดมั่นได้มากขึ้นค่ะ เช่น การแต่งตัว แต่งหน้า

การเรียกร้องความสนใจแบบไม่มีเหตุผล (แม้จะยังมีอยู่แต่ก็เบาลงค่ะ) เปิดใจรับฟังญาติ ๆ

และคนรอบข้างมากขึ้น ทำให้กล้าลงมือช่วยเหลือญาติอย่างเต็มความสามารถ เห็นตนเองเหนื่อยกาย

แต่ก็ใจสบายมากขึ้นกับภารกิจทางครอบครัวที่ทำได้มากขึ้นค่ะ  เคยวิ่งหนีหรือไม่แคร์คนรอบข้างก็พยายามยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันทำงานมากขึ้น

แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องมากมายที่รอการแก้ไขอยู่ค่ะ

พอหนูไม่ได้เขียน เหมือนความรู้สึกมันเป็นอึดอัด เหมือนไม่ได้มองตนเองเท่าไหร่ค่ะ

หลัง ๆมาหนักข้อขึ้น คือ อยากจะหนีไปจากความรู้สึกบีบคั้นที่เกิดขึ้นในใจ แต่ก็ไปไม่ได้ เพราะมันอยู่ข้างในค่ะ

พอไม่มีปัญญามันก็เลยหาทางหนีแบบหาหนังสืออ่าน หาอะไรทำไปเรื่อยเปื่อยไม่ยอมดูตนเอง

 

ทั้ง ๆที่ก็ตื่นตั้งแต่ตีสาม ตีสี่ แต่ก็ไม่ยอมลุกจากที่นอน

ใจมันก็อยากจะต้านครูค่ะ แต่ก็รู้ในตนเองเลยค่ะว่า “ไม่เคยปฏิเสธครูได้เลย”

อะไรก็ตามที่เป็นคำสั่งหรือ คำชี้แนะของครู มันจะดังขึ้นมาเสมอ เมื่อกำลังทำผิด หรือ ทำไม่เหมาะไม่ควร หรือ

กำลังทำดีอยู่ ก็จะมีเสียงชมของครู หรือ ไม่ก็เป็นใบหน้าของครูลอยมา

พอนาน ๆ ไป บางทีก็มีแรงต้านมโนภาพที่ปรากฏขึ้นมาในใจแล้วมันก็สู้กันค่ะ จนเป็นอย่างที่เห็น แพ้เสียส่วนใหญ่ค่ะ

 

ตอนที่ครูให้เลิกเขียนหนูกลับมาเปิดอ่านที่บ้านพัก ประมาณห้าโมงเย็น เห็นแล้วก็รู้สึกช๊อคแต่ก็หลอกตนเองว่า “ไม่เป็นไร”

 หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ผ่านไปสักชั่วโมง พอวางหนังสือลงเดินเข้าห้องน้ำ ความรู้สึกเศร้าไหลเข้ามา วูบ หนูร้องไห้ โฮ เลยค่ะ

แล้วก็มีเสียงว่า

“นี่แหละหนอ ความยึด มันเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนนั่งดูตนเองร้องไห้”

พอรู้สึกตัวก็งง เพราะน้ำตาไหลค้าง เผลอ วูบ เข้ามาอีก ไหลอีก บางทีก็มีเสียงว่า “อายคนข้างบ้าน”

เป็นอยู่หลายวัน แต่ไม่ตลอดค่ะ แต่ก็แว๊บขึ้นมาบ่อย ๆ

บางเช้าวิ่งไปร้องไห้ไปก็มี หนูกราบขอขมาที่ใช้ครูเป็นเหยื่อค่ะ

 แต่หนูก็รู้สึกจริง ๆว่า

“หนูรักและเคารพครูมาก แบบแทบจะยอมทุกอย่าง”

หนูพยายามถามตนเองรักแบบไหนของแกวะสั่งอะไรไม่ค่อยจะเชื่อ

หนูสังเกตว่า

“อะไรที่เป็นเรื่องนอก ๆ ดูหนูจะกุลีกุจอ ทำให้อย่างแข็งขัน”

แต่พอเป็นเรื่องพัฒนาตนเองกลับ “รู้สึกกลัว”

 ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ในใจเลยว่า “ครูนี่แหละใช่ผู้ชี้นำ”

พอมาอ่านเมลล์ของครูตอนมีสติก็พบว่า

“การที่ให้ไปกราบเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ครูจะไม่ให้เป็นลูกศิษย์ซะเมื่อไหร่”

แท้ที่จริง ณ วันที่ครู mail มา หลวงปู่พึ่งเทศน์สอนพระว่า

“ที่เราดุ ที่เราบอกเพราะว่า ยังพอแก้ไขได้  คนบางคนเราไม่บอกมันแล้ว เพราะมันบอกไม่ได้ บางคนก็ให้หนี เพราะถ้ามันอยู่มันจะบาป”

บ่อยครั้งเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากหลวงปู่และครู เป็นคำสอนที่ซ้อนทับกัน ต่างกันเพียงแค่คำเท่านั้นค่ะ พอนึกขึ้นมาแล้วเหมือนใจจะขาด

 

ข้อบกพร่องที่เจอใหญ่ ๆคือ หนูไม่ยอมฝืน กิเลสในตนเองค่ะ กลัวตนเอง ลำบาก พอไม่ยอมฝืน

มันเลยค่อย ๆหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ จากละเลยสิ่งเล็ก ๆ มันค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น

ยิ่งมีเพียงไม่กี่เรื่องที่ “ใส่ใจ” ยิ่งทำให้หนักข้อขึ้น ทุกวันนี้เห็นความทุกข์ตนเองมากขึ้น ใจคร่ำครวญอยู่ค่ะ

มันสำออย อยากให้โอ๋ ทั้ง ๆที่ก็รู้ว่า “ไม่มีทาง”

สรุปว่า “พัฒนาการที่เห็นชัดคือ เห็นความชั่วตนเองชัดขึ้น ปล่อยเรื่องไม่จำเป็นในชีวิตได้มากขึ้น

ใส่ใจคนรอบข้างและคนในครอบครัวมากขึ้นค่ะ”

 

จุดเริ่มต้นของการเขียนจดหมายถึงครู

เริ่มจากที่ครูโทรศัพท์มาสอน แล้วก็ให้หนูจดบันทึกคำสอน

เขียนไว้อ่านและเตือนตนเอง ครูให้กิจวัตรและแนวทางไว้ ให้ปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้ว

ได้เรียนรู้อะไรให้ลองเขียนออกมา เหมือนเขียนเรื่องของคนอื่น ในแต่ละวัน ครูก็จะให้กำลังใจ

หรือไม่ก็ชี้แนะว่า “ผิดทางแล้ว” หรือบางทีก็จะมีเรื่องให้ไปทำเป็นการบ้าน พิจารณาแล้วก็เขียนส่ง ให้พิจารณาซ้ำไปเรื่อย ๆ ค่ะ

โดยสรุปเท่าที่พอระลึกได้กับตนเองคือ ประมาณนี้ค่ะ การเขียนจดหมายฉบับนี้ ทำให้หนูได้รู้ว่า

“ที่หลัง ๆมันเป๋ ๆ เพราะกิจวัตรมันเป๋ ๆ เลยไม่อยากจะเขียนเล่าให้ฟัง เพราะใจมันอยากให้ดูดี

เห็นความชั่วของตนเองมากขึ้น เห็นแล้วก็ยังไม่สามารถจัดการแก้ไขได้ ไม่กล้าเขียนไม่กล้าบอก

เลยสาดออกมาเป็นความโกรธในเรื่องราวที่เขียน บางฉบับก็เป็นแถ ๆ ไป ไม่มีการพิจารณากับตนเองค่ะ

 เฮ่อ มันไม่ค่อยยอมรับว่า มันชั่ว มันก็เลยโดนกิเลสน๊อคค่ะ”

                                                                                กราบขอบพระคุณครูค่ะ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 405033เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2010 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท