ควันหลง UKM ครั้งที่ 3/2549


เครือข่ายฯ ต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนร่วมกันว่า เรามารวมตัวกันเพื่อพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัย

          แม้ว่าจะหายหน้าไปนาน แต่คิดถึง Gotoknow ทุกลมหายใจค่ะ บันทึกช้า ยังดีกว่าไม่บันทึกเลย ขอแก้ตัวน้ำขุ่นๆ นะคะ

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกความทรงจำในงานที่ดิฉันมีความประทับใจมาก ที่ดิฉันมีบุญได้เข้าร่วมอีกครั้ง คืองานเสวนาสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 7 (3/2549) เมื่อวันที่ 14 - 15 ก.ค. 49 ที่ผ่านมา

          ครั้งนี้ พี่ใหญ่ ม.มหิดล เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งหมดในก๊วนนี้ มี 7 มหาวิทยาลัย รวมทั้งพี่เลี้ยง สคส. อีก 1 สถาบัน ที่ยังคอยดูแลอยู่ห่างๆ ด้วยความห่วงใย มหาวิทยาลัยที่เหลืออีก 6 แห่ง คือ

  • ม.สงขลานครินทร์
  • ม.นเรศวร
  • ม.ขอนแก่น
  • ม.วลัยลักษณ์
  • ม.มหาสารคาม
  • ม.ราชภัฏมหาสารคาม

          ดิฉันประทับใจตั้งแต่ต้น ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ ของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกท่าน ตั้งแต่ ท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณพรชัย มาตังคสมบัติ  ท่านรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน รศ.วีระพงศ์ ปรัชญาสิทธิกุล ตลอดรวมถึง รศ.นพ.อภิชาติ ศิวยาธร อดีตประธานมหาวิทยาลัยผู้ประสานงานสมาชิกเครือข่ายฯ ล้วนให้เกียรติ และให้ความสำคัญมาร่วมงานกันทุกท่าน

          ทุกท่านที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประทับใจตั้งแต่ได้ฟังคำกล่าวต้อนรับจากท่านอธิการบดี สาระที่ท่านกล่าว ดิฉันจับประเด็นที่ท่านย้ำตรงกันเพะทั้งตอนเปิดและปิด (อ.วิบูลย์ เล่าให้ฟังว่า ตรงกันกับที่ท่านเคยกล่าวครั้งแรก เมื่อตอนลงนาม 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ด้วยนะ) ว่า

  1. เครือข่ายฯ ต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนร่วมกันว่า เรามารวมตัวกันเพื่อพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัย
  2. เครือข่ายฯ ต้องตระหนักในคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายของแต่ละสถาบัน ว่าจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา
  3. เครือข่ายฯ ต้องเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ไม่ถือเขาถือเรา

          แสดงว่าจุดยืน หลักการ ของท่าน มั่นคงและชัดเจน ตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้

          รศ.อนุชาติ  พวงสำลี  ประธานคณะทำงานส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพ Key man คนสำคัญ ในการดำเนินงานคราวนี้  นำเข้าสู่กระบวนการ ด้วย power point ที่กล่าวถึงหลักการและประเด็นการประชุมโดยย่อ ดิฉันชอบภาพรวมที่ทำเป็น mind map แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความจำเป็นใหม่ๆ ของการจัดการความรู้และการสื่อสารเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนาในครั้งนี้ ดังภาพ

          ส่วนวิธีการดำเนินการประชุม คือ

  1. เน้นการเรียนรู้ 3 ระดับ ประกอบด้วย  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้ด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม
  2. เป็นการประชุมที่ให้การเรียนรู้บูรณาการทั้งสาระและบันเทิง  เพิ่มพูนปัญญา ให้แรงบันดาลใจ เพิ่มพลังความร่วมมือและการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ
  3. เครื่องมือในการประชุม คือ  Mind mapping, นิทรรศการและการแสดงภาพเขียน บรรยาย  การให้ข้อคิดเห็นเชิงสะท้อน (reflection) และ group process  

          นิทรรศการภาพเขียน จัดอยู่หน้าห้องประชุม ไว้ให้ผ่อนคลาย ช่วงขณะ coffee break ซึ่งเว้นให้นานหน่อย ประมาณครึ่งชั่วโมง ดิฉันชอบมาก เป็น idea ที่วิเศษ เพราะมีเวลาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ดูซิคะ ภาพสวยๆ จากศิลปินคนดัง ทั้งนั้นเลย  ทำให้เกิดสุนทรียในจิตใจ ก่อนเข้าห้องประชุมอีกครั้ง

          อ้อ! ไม่เพียงภาพจิตรกรรมอันงดงามนะคะ  ผู้จัด พิถีพิถัน กับการจัดห้องประชุมให้มีศิลปะและธรรมชาติ ผนวกกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วย ดังภาพ

          หลัง break ครึ่งเช้า เป็นรายการ "เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงจากภายใน" ผู้จัด จัดให้ช่วงนี้เป็นช่วงของการเจริญสติภาวนา โดยมี คุณปรีชา ก้อนทอง จากสภาวัฒนธรรมอำเภอพุทธมณฑลเป็นผู้นำการปฏิบัติ วิธีนี้ ดิฉันก็ชอบอีก แหม! ช่างรู้ใจไปหมด

          และแล้ว ทุกท่านก็มีหัวใจที่พร้อมที่จะฟัง บรรยาย เรื่อง "การสื่อสารเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลง" จาก รศ.ดวงพร คำนูณวัฒน์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท  อย่างตั้งอกตั้งใจ จนจบภาคเช้า

         ภาคบ่าย เป็นการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ ด้วยการสนทนากลุ่มย่อย  โดยกระบวนการแผนที่ความคิด  (Mind Mapping) ช่วยสกัดความรู้ฝังลึกของแต่ละท่านออกมา  แต่ละกลุ่มจะมีวิทยากรกระบวนการประจำกลุ่ม และกำหนดให้เลือกประธาน เลขา ประจำกลุ่มกันด้วย ช่วงนี้ เราก็ต่างคนต่างสาละวนกับ Mind Map ของตนเอง ขณะที่ฟัง story telling ซึ่งกันและกัน บ้างก็บนกระดาษโน๊ต  บ้างก็บน Note book บ้างก็บน Flip chart และบ้างก็ใน Mind and Brain ของตนเอง เสร็จแล้วเราก็เก็บ Flip chart ไว้ สำหรับคุยต่อเช้าวันถัดไป 

          ตกเย็น ช่วงเวลาแห่งความรื่นรมย์มาอีกแล้ว  เจ้าภาพพาเราไปกินโต๊ะจีนนครปฐมกันที่ วิทยาลัยดุริยางคสิลป์ อร่อยเต็มอิ่มแล้ว ก็ย่อยอาหารด้วยคอนเสิร์ตรำลึก 100 ปีพุทธทาส ณ หอแสดงดนตรี ก่อนเข้าฟังคอนเสิร์ท ก็เดินย่อยอาหารและชื่นชมภาพเขียน ของศิลปิน ในหอศิลป์ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย แถมได้ถ่ายรูปกับ ท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ที่มาฟังคอนเสิร์ต โดยมิได้นัดหมาย

          ภาพแห่งความประทับใจในคอนเสิร์ต สมาชิก UKM หลายท่านได้บันทึกไว้แล้ว "Click"  ขอบคุณเจ้าภาพมากนะคะ เกิดมาดิฉันก็เพิ่งจะเคยฟังคอนเสิร์ตแบบนี้กับเขา ก็ครั้งนี้แหละค่ะ  สุดยอดจริงๆ ไม่ทราบว่าเสียงเพลงอันไพเราะจะบันทึกมาเผื่อแผ่เพื่อนฝูงได้อย่างไร

          หลับฝันดี วันรุ่งขึ้น 15 ก.ค. 49  แต่ละกลุ่มก็มานำเสนอผลการคุยกันเมื่อวันวานให้ที่ประชุมฟังกัน  พระเอกในช่วงนี้ ต้องยกให้อาจารย์ ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์  ผู้ประมวล Mind Map ย่อย ของแต่ละกลุ่ม เป็น Mind Map ใหญ่ อย่างชำนิชำนาญ ขณะที่ผู้แทนแต่ละกลุ่มออกมาสรุปให้ฟัง  ดูภาพเอาเองนะคะ

   

           แล้วก็ทำการสังเคราะห์ร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละท่าน นำแผ่นสติ๊กเกอร์สีสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็กๆ  3 สี ที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้แล้ว ไปติดใน Mind Map ใหญ่  ณ หัวข้อที่ตรงใจ ซึ่งหัวข้อที่มีผู้ติดให้จำนวนมากนั้นๆ  ก็คือ แก่นความรู้ ของการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

          ช่วง 11.00 - 12.00 เป็นนาทีระทึก ของการให้ข้อคิดเห็นเชิงสะท้อน  โดย ผศ.ธีรเดช  ฉายอรุณ  คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล  และคุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์  สถาบันพัฒนาการเรียนรู้และประชาสังคม ดิฉันเก็บความไม่ทัน ทราบแต่ว่าฟังเพลิน จนลืมจด  ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่าน วิเคราะห์ได้ "มันหยด"  วิพากษ์ ว่าการดำเนินการแบบที่ทำอยู่นี้ เป็นการจัดการความรู้อย่างไร เป็นต้น  แถมโยนการบ้าน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยังตีไม่แตก มายัง ม.นเรศวร เจ้าภาพ UKM ครั้งถัดไป ให้แก้ให้ได้เสียด้วย......

          ช่วงบ่าย 13.00 - 14.00 น. เป็นช่วงดีที่สุด (สำหรับดิฉัน) นั่นก็คือ ปัจฉิมโอวาท เรื่อง "การสื่อสารและการพัฒนาศักยภาพมนุษย์" โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี  กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ โปรดสังเกต ว่า Fan club ทั้งหลายรุมขอถ่ายรูปกับท่านกันใหญ่

          เรื่องที่ท่านอาจารย์หมอประเวศให้โอวาท ดิฉันจดได้มากที่สุด เห็นทีจะต้องเขียนเล่าไว้ต่างหาก เพราะต้องให้ความสำคัญหน่อย เป็นเรื่องที่มีคุณค่ามากค่ะ

          และอย่างที่ดิฉันได้เล่าไว้แต่ต้น ท่านอธิการบดี ม.มหิดล นอกจากจะมาเปิดงาน  ไปร่วมฟังคอนเสิร์ตกลางคืน  มาฟังบรรยายของ อาจารย์หมอประเวศ วันที่ 2  แล้ว  ท้ายที่สุด ก็กล่าวปิดงานด้วย ในฐานะของแขกผู้มาเยือน ดิฉันคิดว่า เป็นการให้เกียรติออย่างยิ่ง และเป็นขวัญ กำลังใจ แก่ผู้ที่ทำงานเป็นอย่างยิ่ง

          ขอชื่นชม พี่ใหญ่ ม.มหิดล ที่จัดงาน UKM ครั้งนี้ ได้อย่างประณีต พิถีพิถัน งดงาม สร้างความประทับใจทั้งในมิติของจิตวิญญาณ  และมิติของเครื่องมือจัดการความรู้ที่ทันสมัย  สมกับความเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน



ความเห็น (5)
ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี... >>> ขอแสดงความชื่นชมกับผลงานยิ่งใหญ่ของ มหาวิทยาลัยมหิดล + ทุกท่านทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมครับ // อ่านแล้วได้รับทั้งสาระ ข้อคิด และความซาบซึ้งใจ โดยเฉพาะรูปkm ที่คล้ายพืชหัวใต้ดิน... โผล่ใบออกมา ดูแล้วประทับใจมาก
  • เหมือนได้ไปงานด้วยเลยครับอาจารย์
  • ภาพศิลปะสวยงามมาก ดูแล้วอยากไปด้วยครับผม
  • ขอบคุณครับ

สิ่งที่ดิฉันคิดถึงอยู่เสมอใน Gotoknow ก็คือ บรรดากัลยาณมิตรทุกท่านนี่เอง

ไปไหนก็คิดถึงว่า จะกลับมาเล่าให้ฟังได้อย่างไรให้เหมือนได้ไปด้วย

แล้วจะเล่าให้ฟังต่อนะคะ

 

เรียนท่านอาจารย์มาลินี

  • เรื่องก็ดี
  • ภาพก็สวยครับ
  • แต่เวลาเอาเรื่องและภาพมาจัดในบันทึกแล้ว รู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยเข้ากันดีนะครับ (เหมือนคนเครื่องดื่มยังไม่ได้ที่)
  • แต่ก็ขอขอบคุณครับสำหรับเรื่องดีๆ เช่นนี้

              ขอบพระคุณมากสำหรับภาพทุกภาพที่นำมาฝากสวยมาก  ทำให้นึกถึงบรรยากาศที่ ม.มหิดลได้ตั้งใจจัดด้วยความร่วมแรงร่วมใจ   อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรหลาย ๆ ฝ่าย                               

 

                   

                                   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท