ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

คนชายขอบ


“ใครคือคนชายขอบ”

 

ใครคือคนชายขอบ

           คนชายขอบ (Marginalization) จากแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นหลัก ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ และการกระจายอำนาจตามกระบวนการปฏิรูประบบสังคมไทยที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นกระบวนการที่ต่อสู้ขัดขืน ระหว่างคนที่มีอำนาจและคนบ้านนอก คนหัวเมือง คนภูธร คนป่าคนดอย ชาวไร่ชาวนา "คนไร้อำนาจ" คนเหล่านั้นล้วนไม่ใช่คนใหญ่คนโตคนโก้หรูระดับชาติ หากแต่เป็นคนท้องถิ่น คนของหมู่บ้านชุมชน คนคุ้มวัดศรัทธาวัดนั้นศรัทธาวัดนี้ เธอและเขาต่างเป็น…. “ผู้รับเคราะห์ของการพัฒนา ซึ่งอาศัยอยู่ตามจังหวัด ท้องถิ่น หมู่บ้านชุมชนต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย

 

        “พลังที่ซ่อนเร้นของคนชายขอบต่อการพัฒนา  พลังของคนชายขอบคือพลังของผู้คนธรรมดา ประชาชน บนฐานของทุนทางวัฒนธรรม เมื่อพูดถึงทุนหรือต้นทุน ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักและให้ความสำคัญกับทุนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วมีทุนอีกชนิดหนึ่งคือ ทุนทางวัฒนธรรม ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่อำนาจไม่ได้มีหรือมาจากแหล่งเดียว ในขณะที่รัฐส่วนกลางและรัฐในกระแสโลกภิวัฒน์ มีจุดแข็งแห่งอำนาจอยู่ที่ทุนทางเศรษฐกิจ เพราะสามารถสะสมทุนด้านนี้ด้วยวิธีการดูดซับเอาทรัพยากร และความมั่งคั่งมาจากชายขอบ โดยใช้หลากหลายวิธี เช่น เก็บภาษี ควบคุมกรรมสิทธิ์ จัดการและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ การใช้กลไกตลาดแบบซื้อถูกสินค้าเกษตรและหัตถกรรมพื้นบ้าน ขายแพงสินค้าอุตสาหกรรม บริการข้อมูลและข่าวสาร เป็นต้น ทำให้พลังชายขอบอ่อนแอ ร่อยหรอลงในทุนทางเศรษฐกิจ จะสะสมฟื้นฟูอย่างไรก็ไม่ฟื้น ไม่ว่าจะบนการทำมาค้าขายแบบเอกชน หรือบนการรวมตัวแบบสหกรณ์ หรือแม้กระทั่งยุทธวิธีแบบ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ก็ตามที ท่ามกลางสถานการณ์นี้รัฐส่วนกลางและรัฐกลไกทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ก็ยังไม่สามารถกลืนกินพลังชายขอบทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง มิใยที่จะทุ่มทุนวัฒนธรรมส่วนกลาง  และวัฒนธรรมทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ประดังประเดเข้ามาอย่างท่วมท้นก็ตาม พลังชายขอบก็ยังคงสามารถลอยคอยื่นจมูกพ้นกระแสเชี่ยวกราก ของทุนทางเศรษฐกิจ และทุนวัฒนธรรม ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ มาได้โดยตลอด มิหนำซ้ำยังปฏิเสธที่จะเป็นเหยื่ออย่างสมบูรณ์ ผลักตัวเป็นผู้กระทำในแทบทุกเรื่อง เนื่องจากมีทุนทางวัฒนธรรมที่กลมกลืนเหนียวแน่น

              เข้าใจกระบวนการกลายเป็นคนชายขอบมากขึ้น หลังจากที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการกลายเป็นคนชายขอบจากท่าน ผศ.ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทำให้ผมได้รับรู้ และมีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องสังคมวิทยาว่าด้วยการเรียนรู้ (Sociology of Knowledge)ภายใต้กระบวนการพัฒนาในยุคโลกไร้พรมแดน (Globalization) จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการจะศึกษาอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความสมดุลในสังคมไทย ตลอดทั้งเกิดสังคมสมานฉันท์และสังคมเอื้ออาทร

        “จากสังคมคนชายขอบ สู่สังคมเป็นธรรม  ผลกระทบและความบอบช้ำของผู้คนที่ได้รับจากการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยม (Neoliberalism)ที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าของสังคมไทยนั้น บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายควรให้โอกาสซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในกำมือ เพื่อจะก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ กลายเป็นสังคมเอื้ออาทรและมีความเป็นธรรม  จากประสบการณ์อันน้อยนิดของกระผมใคร่ขอเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจากสังคมคนชายขอบ สู่สังคมเป็นธรรม ดังนี้ครับ

1. “ กระบวนการมีส่วนร่วม (Participation  process )ในกระบวนการการพัฒนานั้นต้องเปิดโอกาสให้คนในชุมชน สังคมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทุกระดับ ไม่ควรมองข้ามคนด้อยโอกาสเป็นอย่างยิ่ง

          2. “ไม่สร้างกระแสแยกขั้วทางจิตสังคม(Polarization) จิตใจเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ดังนั้นไม่ควรมีการแบ่งชนชั้น หรือชาติภูมิ เพราะในบางครั้งการกำหนดนโยบายต่างๆได้มีการหยิบยกเรื่องชาติภูมิมาพูดจึงทำให้เกิดความไม่พอใจ เช่น คนจีน(เจ๊ก) อีสาน (ลาว) คนใต้ (มุสลิม)เป็นต้น อีกทั้งต้องไม่มีความเดียดฉันท์ในเรื่องของชนชั้น (Class Prejudice) และเดียดฉันท์ทางเชื้อชาติ (Race  Prejudice)

            3. มีหลักประกันที่จับต้องได้และเป็นจริง ในแง่ของบริบท ตัวบทกฎหมายที่รัฐกำหนดออกมาใช้ประกันสิทธิให้กับคนในสังคมเป็นสิ่งที่ดี เช่น คนพิการ คนชรา คนด้อยโอกาส เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติไม่ทั่วถึงจึงเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ หากสามารถแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ได้ก็จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ในสังคม

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 40473เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท