Shop กันสนุกที่ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย


ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ จะออกแบบให้ทุกคนได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ทั้ง สุ จิ ปุ ลิ Capture C&D การฟัง การอภิปราย การสัมภาษณ์ การเล่าเรื่อง การประกวดคำถาม การประกวดบูท ฯลฯ

         กิจกรรมเรียนรู้ในตลาดนัดความรู้กรมอนามัย

          เมื่อได้เจอเพื่อนร่วมทาง คนคอเดียวกัน อย่างสิงห์ป่าสัก ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ก.ค.49 ก็คุยงานการกันหลายเรื่องมากแต่ผมไม่ลืมที่จะปรึกษาว่าแล้วเราจะเอาอะไรมาแลก มาขาย ที่ตลาดนัดความรู้ครั้งนี้บ้าง เราต้องเตรียมอะไรบ้างหรือเปล่าคุณสิงห์ป่าสักตอบว่า ไม่ต้องเตรียมอะไร เอาตัวไปอย่างเดียวก็พอ การมาร่วมงานครั้งนี้เท่ากับมาเรียนรู้ทักษะการทำงาน โดยยกคำเปรียบเปรยว่า น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก แต่ทั้งนกและปลาไม่เคยเห็นฟ้าและน้ำเลยที่ตัวอยู่อาศัยเลย คุณสิงห์ป่าสักอธิบายคำเปรียบเปรยต่อว่า...ต้องให้นกตกพื้นเสียก่อน แล้วแหงนหน้าขึ้นไปมันจึงจะเห็นฟ้า ..และเช่นเดียวกันต้องให้ปลากระโดดพ้นน้ำเสียก่อน ปลาจึงจะเห็นน้ำได้ คำพูดของสิงห์ป่าสักคำนี้ นับว่ามีค่ามากสำหรับคนที่ต้องการจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ติดกรอบตัวเอง การมาครั้งนี้เท่ากับมาเรียนรู้ เราทั้งสองจึงไม่ได้เตรียมอะไร


         เปิดตลาดด้วยรองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ประเสริฐ หลุยเจริญ ท่านเรียกบรรยากาศ KM บรรยากาศแห่งการเรียนรู้มาทันทีด้วยสรรพนามที่ท่านใช้กับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาว่า พี่ๆ ...น้องๆ  ซึ่งถือว่าท่านถอดหมวกยศฐาบรรดาศักดิ์ได้สำเร็จ  อีกทั้งข้อความทำนองว่าอธิบดีบอกว่าวันนี้มีงานให้เลือก 2 งาน คืองานตลาดนัดควาามรู้ที่มาร่วมในวันนี้กับงานอะไรแล้วผมจำไม่ได้ ให้ท่ารองฯเลือกเอาว่าจะไปร่วมงานใด ในที่สุดท่านเลือกก็เลือกมางานตลาดนัดความรู้ซึ่งเป็นงานที่ท่านชอบมากกว่าในวันนี้ นับว่าเป็น CKO ที่สุดยอดมาก เสียดายที่ท่านต้องรีบไปงานอื่นต่อ ไม่งั้นแล้วตลาดนัดความรู้ก็จะชอปส์กันอย่างสนุกสนานขึ้นไปอีกแน่นอน ผมชอบความตอนที่พูดเน้นถึงความสำคัญของการเรียนรู้และการบันทึกความรู้ที่ว่า .....เอดิสัน ทำไส้หลอดไฟฟ้า ทำอยู่ตั้ง 2,001 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเสีย 2,000 ครั้ง เอดิสันบอกว่า 2,000 ครั้ง ที่ทำไม่สำเร็จคือบทเรียน 2,000 บทเรียน ไม่ใช่ความล้มเหลว 2,000 ครั้ง แต่อย่างใด ท่านชี้ให้เห็นว่า จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จจะต้องมีการบันทึกความรู้ ท่านโยงเข้าเรื่อง KM ทันที ว่าถ้าไม่มีการบันทึกความรู้แล้วเท่ากับทำลายยีนส์ สายตระกูลการกระทำนั้นลงทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่สืบต่อเรื่องนั้นไม่ได้เพียงเพราะไม่มีการบันทึกเรื่องนั้นไว้ และที่สำคัญที่พูดว่าเรื่องเล่าไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องทีทำแล้วประความสำเร็จ Success Story เท่านั้น เรื่องที่ทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จก็เป็นบทเรียน นำมาเล่าได้เช่นกัน

         ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ จะออกแบบให้ทุกคนมีส่วนร่วมหมด ทุกคนได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ทั้ง สุ จิ ปุ ลิ การ Capture C&D การอภิปราย การสัมภาษณ์ การเล่าเรื่อง การประกวดคำถาม การประกวดบูท ฯลฯ ผมว่ารายละเอียดตรงนี้ทางฝ่ายผู้จัด จะเป็นคุณศรีวิภา หรือคุณหมอนนทลี คงอธิบายจะดีกว่าผมครับ

           บนเวทีเสวนา หมอนันทา เป็นผู้นำการเสวนา เสวนากันไปพักหนึ่ง คุณหมอก็ให้ผู้เข้าร่วมฯผ่อนคลายอรยาบท   ด้วยการให้ทุกคนในห้องประชุมทั้งที่อยู่บนเวทีและข้างล่างคลายเครียดด้วยการยืนขึ้นทำสัญลักษณ์ การจัดการความรู้ เป็นเลข 8 บ้าง เพื่อจะสื่อว่าการจัดการความรู้ต้องทำกันอย่างชนิดที่ว่าไม่รู้จบ อินฟินิตี้ ประมาณนี้ และทำอยู่หลายท่า เพราะท่านเชี่ยวชาญเกี่ยวกับท่าออกกำลังกาย เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมเหมือนกันที่ขึ้นเวทีแล้วต้องทำท่าทางด้วย เคยแต่ขึ้นเวทีแล้วใช้ให้คนอื่นทำท่าทางต่างๆ

         ฟังเรื่องเล่าบนเวที นับว่าได้ประสบการณ์มาก เช่น การทำหน้าที่ CKO ของผู้อำนวยการกองคลัง กรมอนามัย ที่หนุนเสริมให้กองคลังที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าตึงเป๊ะ จนใครๆก็กลัว เป็นกองที่ทุกคนเรียนรู้กันหมด ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด เป็นกองทีทีประสิทธิภาพในการทำงาน ได้ความรู้จากศูนย์อนามัยเขต จำไม่ได้เขตใด ว่าต้องอ่านตำรา KM มากมายประกอบการทำงานของท่าน เพราะกลัวจะทำไปแล้วผิดแนวทาง จนเครียดกันไปหมด สบายใจขึ้นเมื่อคุณอำนวยจากกรมอนามัยบอกว่า "ปิดตำราเถอะพี่" ไม่ต้องเคร่งครัดกับมันมาก ทำงานไปเลย ...จากศูนย์อนามัยเขตใดแล้วจำไม่ได้เช่นกัน ว่ามีเทคนิคการล้วงความรู้ในคน สกัดความรู้ในคน ที่สืบแล้วว่าคนนั้นน่าจะเก่งในเรื่องใด สัมภาษณ์มา ใส่ในพัด(พัดมือ) เพื่อการเผยแพร่แลกเปลี่ยนไปคนอื่นๆได้รู้ได้ชื่นชม (ผมได้มาอันหนึ่งดว้ย) พิมพ์ในวารสารทีทำงานด้วย เรียกว่ากิจกรรม KM Spy  ....ได้ฟังเรื่องประสบการณ์การฝึกฝนตนเองเป็นคุณลิขิตของของหน่วยงานหนึ่งเช่นกัน จำไม่ได้ชื่ออะไร ขออภัยจริงๆที่ไม่ได้จดชื่อไว้ เพราะที่นั่งเสวนามันไม่สะดวกที่จะจดได้ครับ

        สำหรับคุณสิงห์ป่าสักแล้ว เครื่องมือในการสกัดความรู้ของท่านก็คือ สมุดโน้ต ท่านเรียกว่าโน้ตบุก ไม่ใช่เครื่อง Notebook อย่างเดี๋ยวนี้นะครับ ผมดูแล้วอย่างกับสมุดจดของนักเรียนไม่มีผิด จะขอลูกมาใช้หรือเปล่านี่ บ่อยครั้งที่ท่านใช้กระดาษเป็นแผ่นๆ คว้าอะไรได้ก็เอาอาจดในกระดาษ ไม่ใช่สมุดนะครับ สงสัยใช้ยามที่ลืมสมุดโน้ต  นึกอะไร คิดอะไร เห็นอะไร ต้องจดทันที มิฉะนั้นก็จะลืม ท่านเรียกกระดาษเป็นแผ่นๆนี้ว่า โน้ตแผ่น ไม่ใช่ โปรแกรม Notepad นะครับ ท่านใช้กล้องถ่ายรูป ท่านใช้ gotoknow ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ Par เพราะการวิจัยเป็นกิจกรรมที่บังคับให้เราต้องบันทึกความรู้ข้อมูล เป็นเครื่องมือ   และที่สำคัญที่สุดคือท่านใช้ตัวท่านเองสกัดความรู้ออกมา ท่านบอกว่าเกือบ 30 ปี ที่ท่านสั่งสมทุนประสบการณ์ตัวนี้เอาไว้ นี่แหละคือเครื่องมือที่ใช้สกัดความรู้ได้อย่างดีที่สุด

        ผมเองก็ร่วมแลกเปลี่ยนกับที่ประชุมสัมมนา ว่าผมเองเป็นครูนอกโรงเรียน งานหน้าตักของผมก็คือส่งเสริมการเรียนรู้ชาวบ้าน  ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีทักษะการเรียนรู้ เช่น นำโครงงานอาชีพมาเป็นนวัตรรมการสำหรับใช้ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพชาวบ้าน ให้ชาวบ้านกำหนดเรื่องที่สนใจเรียนได้เอง รวมทั้งวิธีการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ ที่สอดคล้องตามสภาพ บริบทชุมชน ให้ผู้เรียนที่รู้แล้ว เก่งแล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้รู้ แบ่งปัน แบบเรียนกันเอง สอนกันเอง มีครูอาสาฯ ครู ศรช. ทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ เหมือนกับบทบาทคุณอำนวยในทางการจัดการความรู้  แทนการเรียนรู้จากวิทยากรภายนอกที่สอนตามหลักสูตรวิชาชีพราะยะสั้น ที่เป็นหลักสูตรที่หน่วยงานภายนอกพัฒนาขึ้นแล้วส่งไปให้ใช้ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2546 ผมทำอย่างนี้จนเกิดกลุ่มอาชีพขึ้นมามากมาย รวมกลุ่มอาชีพต่างๆขึ้นเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ซึ่งเป็นวงเรียนรู้ที่ยกระดับสูงขึ้น มีแผนการเรียนรู้ของเครือข่าย นอกจากนี้ก็ขยายวงเรียนรู้ ไปบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ร่วมกับอีก 8 องค์กร ทดลองนำร่องโครงการจัดการความรู้เรื่ององค์กรการเงินชุมชน ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  เมื่อปลายปี 2548 และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ผู้ว่าฯ CEO เห็นด้วยในวิธีการใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ท่านจึงขยายการทำงานเต็มพื้นที่จังหวัด 1,545 หมู่บ้าน เรียนรู้ได้ทุกเนื้อหา เริ่มทำ 400 หมู่บ้านในปี 2549 จนครบทุกหมู่บ้านในปี 2551 ผมอธิบายย่อๆอย่างนี้ ส่วนวิธีการเขียนเรื่องเล่าในบล็อกของผม หลังจากที่ผมทำงานใดๆแล้ว ผมก็บอกว่าผมอาใช้ทั้งข้อเท็จจริงและความรู้สึกหรือจินตาการปนกันในการเขียนบทความ

         ผมเรียนท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมงานทราบว่าผู้เล่าแต่ละคน จะเล่าตามที่ผู้ดำเนินรายการคือหมอนันทา ตั้งประเด็น เรื่องที่ออกมาจึงหลากหลายมาก คนหนึ่งก็จะตอบไปอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ใช้ประเด็นหรือคำถามเดียวกันแล้วให้แต่ละคนที่ร่วมวงเสวนาแสดงความคิดเห็นเหมือนกันหมดนะครับ

         พอตกบ่ายก็เป็นกิจกรรมการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อไปชอบปิ้งชมบูทนิทรรศการ 9 บูทการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันจากที่เก็บรวบรวมได้ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก      ผมคิดว่าทางผู้จัดคงจะได้ทำคลังความรู้ออกมาไวๆนี้ กิจกรรมครั้งนี้คึกคักมาก ผู้มาจับจ่ายทุกคนไม่ได้หยุดนิ่ง active ตลอดเวลา

              ส่วนงานนี้ผมได้อะไร ผมจะเล่าในบันทึกต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 40466เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เป็นบันทึกแบบเรื่องเล่าที่ละเอียดมากครับ 
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกอีกมุมมองหนึ่งเพื่อแบ่งปัน
  • รออ่านตอนต่อไปครับ

คุณครูนงเล่าได้ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ ... ไม่มีผิดเลย และสรุปรวบยอดได้แจ๋วจริงๆ ... ตามเรื่องเต็มๆ ได้ที่เพื่อนร่วมทางนะคะ และถ้าหากว่าสกัดของครูนงผิดละก็ ท้วงด้วยนะคะ

... และขอบคุณครูนง ที่ช่วยขยายตลาดนัดความรู้กรมอนามัยออกไปได้ อย่างน้อยก็ที่ เมือง "นครแห่งการเรียนรู้ เกษตรท่องเที่ยวน่าอยู่ สู่สังคม พัฒนาอย่างยั่งยืน" ละค่ะ

คุณครูเล่าได้ละเอียดและได้บรรยากาศมากเลยค่ะ อ่านแล้วดีใจไปกับประเทศไทยของเราจริงๆ

ขอบคุณคุณครูนงและคุณสิงห์ป่าสักมากที่มาลปรรที่ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย พวกเราชาวกรมอนามัยสัมผัสได้ว่าท่านทั้งสองมาด้วยใจและให้ความรู้ด้วยใจจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท