มาตรฐานการศึกษาของชาติ


การศึกษา พัฒนาชาติ
มาตรฐานการศึกษาของชาติ
ความจำเป็นที่ต้องมีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 31 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม และกำกับดูแลการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผนและมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษา มาตรา 33 กำหนดให้สภาการศึกษามีหน้าที่พิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติ และพิจารณาเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และมาตรา 34 กำหนดให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา และคณะกรรมการอุดมศึกษา มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐาน และ/หรือหลักสูตรแต่ละระดับ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ
มาตรฐานการศึกษาของชาติ เป็นสาระเกี่ยวกับอุดมการณ์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของชาติที่พึงประสงค์ มีไว้เป็นหลักสำหรับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา และคณะกรรมการอุดมศึกษา นำไปใช้กำหนดแนวทางการพัฒนาและจัดการศึกษา เพื่อประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เต็มตามศักยภาพและตรงตามความต้องการ อย่างคุ้มค่า เสมอภาคและเป็นธรรม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการศึกษาของชาติ มีแต่มาตรฐานสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกของสถาบันการศึกษาทุกระดับ จำเป็นต้องมีมาตรฐานการศึกษาของชาติที่ครอบคลุมมาตรฐานการศึกษาทุกประเภท (การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย) และทุกระดับ (การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอาชีวศึกษา และการศึกษาระดับอุดมศึกษา) 
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของชาติ มีดังนี้
1. หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และเอกชน ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาแต่ละประเภทและแต่ละระดับ ใช้มาตรฐานการศึกษาของชาติเป็นหลักในการกำหนดนโยบาย แผนการพัฒนาและจัดการศึกษา รวมทั้งมาตรฐานการศึกษาแต่ละประเภทและแต่ละระดับ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาอย่างมีมาตรฐานในภาพรวม และมีการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล 
2. กระทรวงศึกษาธิการมีประเด็นสาระสำคัญ และตัวบ่งชี้ เป็นแนวทางสำหรับการกำกับดูแล การติดตามตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพการจัดการศึกษา
3. ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีความมั่นใจว่าจะได้รับการศึกษาตามสิทธิ และมีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการศึกษาของชาติ และมีแนวทางในการร่วมตรวจสอบการจัดการศึกษาของชาติ
4. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีข้อมูลเป็นฐานอย่างหนึ่งในการพิจารณากำหนดเป้าหมายและมาตรฐานการศึกษาของชาติในช่วงเวลาต่อไป
5. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มีข้อมูลเป็นฐานสำหรับการกำหนดวิธีการ การกำหนดเกณฑ์ และการดำเนินงานการประเมินคุณภาพสถานศึกษา
www.onec.go.th/
มาตรฐานการศึกษาของชาติ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประเด็น
มาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลกคนไทยเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข
มาตรฐานที่ 2 การจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียน และการบริหารที่เน้นสถานศึกษาเป็นสำคัญ
มาตรฐานที่ 3 แนวการสร้างสังคม แห่งการเรียนรู้ หรือสังคมแห่งความรู้
มาตรฐานที่ 1 
1. กำลังกาย กำลังใจที่สมบูรณ์
2. ความรู้และทักษะที่จำเป็นและเพียงพอในการดำรงชีวิต 
3. ทักษะการเรียนรู้
4.ทักษะทางสังคม
5. คุณธรรม จิตสาธารณะ และจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
มาตรฐานที่ 2 
1.การจัดหลักสูตรการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทางธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
2. มีการพัฒนา ผู้บริหาร ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ
3. มีการบริการจัดการที่ใช้สถานศึกษาเป็นฐาน
มาตรฐานที่ 3
1 การบริหารวิชาการและสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้หรือสังคมแห่งความรู้
2 การศึกษาวิจัย สร้างเสริม สนับสนุน แหล่งการเรียนรู้ และกลไกการเรียนรู้
3 การสร้างและการจัดการความรู้ในทุกระดับทุกมิติของสังคม
การเรียนรู้ ความรู้ นวัตกรรม สื่อ และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาสู่สังคมแห่งความรู้ การส่งเสริมและสร้างกลไก เพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสและทางเลือกที่จะเข้าถึงปัจจัยและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตด้วยรูปแแบบและวิธีการที่หลากหลาย 
 
หมายเลขบันทึก: 40428เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท