ความประทับใจจากการมองอนาคต (foresight) สังคมสุขภาวะของผู้สูงอายุ


ภาพอนาคตทำให้เห็นบทบาทของการเมือง ธุรกิจ และเทคโนโลยี อย่างเด่นชัด

ฟ้าครับ เมื่อวานนี้ ได้มีโอกาสไปร่วมจัดกระบวนการมองอนาคต ในหัวข้อเรื่องสังคมสุขภาวะ สำหรับผู้สูงอายุไทย ที่โรงแรมตะวันนา รามาดา ถนนสุริวงศ์

กิจกรรมนี้ริเริ่มขึ้นโดย นพ. วิพุธ พูลเจริญ ร่วมกับ ดร. ชาตรี ศรีไพพรรณ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการ "มองอนาคต (foresight)" ในลักษณะที่เรียกว่า pre-test กับนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณยี่สิบคนเศษ (ที่ล้วนแต่ศึกษาเรื่องผู้สูงอายุมาแล้ว) แล้วดูว่า กระบวนการนี้น่าจะมีส่วนนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายและภาคส่วนของสังคม ให้มุ่งสู่สังคมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุได้หรือไม่

ในครึ่งวันเช้าเราใช้เครื่องมือระดมความคิดที่เรียกว่า "การวิเคราะห์เหตุและผลแบบเป็นลำดับชั้น (causal layered analysis)" ที่พัฒนาขึ้นโดย Prof. Sohail Inayatullah เพื่อมองปรากฏการณ์ปัจจุบันที่เราเห็นได้และได้ยิน ได้อ่าน (ยอดของภูเขาน้ำแข็ง) ลงไปถึงระดับเหตุปัจจัยอย่างขุดลึกลงถึงราก ในส่วนนี้จะคิดทางเลือก ทางออก และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละระดับชั้นร่วมไปด้วย (ดูภาพ)

โมเดลภูเขาน้ำแข็ง causal layered analysis (CLA)

ด้วยการกลั่นกรองความคิด จากพื้นผิวลงลึก และลึกกลับสู่พื้นผิว ทำให้เห็นโจทย์ใหม่ ๆ รวมทั้งแง่คิดที่หลากหลายโดยเฉพาะประเด็นว่า ผู้สูงอายุจะมีบทบาทช่วยเกื้อกูลสังคมได้อย่างไรบ้าง สังเกตดูผู้เข้าร่วมหลายท่านสนใจ และดูพอใจกับการนำกระบวนการนี้มาใช้ เห็นได้จากการถามความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวกระบวนการ หลายท่านบอกว่า ช่วยให้ได้เพ่งมองลึกลงไปในจุดที่ไม่เคยมองมาก่อน และไม่คิดว่าจะเป็นสาเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมผู้สูงอายุ

ประเด็นที่นำเสนอกันไว้ในช่วงเช้า ถูกนำมาผูกร้อยเข้าด้วยกันในช่วงบ่าย ผ่านวิธีการสร้างภาพฉายอนาคต (scenario building) ที่ต้องใช้จินตนาการบวกกับข้อมูลที่มีอยู่ จำลองเหตุการณ์ทั้งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา ที่อาจเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 และลำดับเหตุการณ์ที่พัฒนาจากวันนี้ ไปสู่สถานการณ์ในอนาคตวันนั้น

ภาพอนาคตทำให้เห็นบทบาทของการเมือง ธุรกิจ และเทคโนโลยี อย่างเด่นชัด (ผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญ และเป็นผู้บริโภคเทคโนโลยีเช่น ยาบางชนิด และหุ่นยนต์ น้อง ๆ วัยรุ่นสมัยนี้เลยทีเดียว) นอกจากนี้บางกลุ่มก็ได้นำเสนอทางเลือกหรือ interventions เอาไว้ให้เป็นการบ้านไปคิดต่อ

แต่หลายคนเห็นด้วยว่า นอกจากการเตรียมปัจจัยภายนอกแล้ว ปัจจัยข้างในตัวก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาเราไปสู่สังคมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ นั่นก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่เราพยายามสร้างโมเดลกันอยู่ในเวลานี้ ควรถูกขยายไปถึงระดับ "ปรัชญาพอเพียง" เพราะดูจากสภาพสังคมในเวลานี้และแนวโน้มของต่างประเทศแล้ว โอกาสที่ผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้งจากลูกหลานคงมีสูงขึ้น ถึงสุดท้ายก็คือความตระหนักส่วนตนว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" ดังนั้นถ้าใครเตรียมตัวได้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุก็จะมีโอกาสสูงกว่า ที่จะเข้าสู่ "สุขภาวะ" ฟังดูเหมือนเป็นทางออกแบบกำปั้นทุบดิน แต่การตั้งมั่นว่าจะพึ่งตนเอง (อย่างพอเพียง) คงหลีกหนีไม่พ้น แล้วนโยบายรัฐจะมีส่วนช่วยอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

โจทย์เรื่องการมองอนาคตสังคมสุขภาวะของผู้สูงอายุ มักติดปัญหาอยู่ที่โลกทัศน์ของผู้เกี่ยวข้อง ที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นปัญหา เป็นภาระของสังคม ต้องเร่งหาทางแก้ไข หรือป้องกัน วิธีการมองอนาคตคงเป็นเพียงเครื่องมือสร้างกระบวนคิดและสื่อสารวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยให้เห็น "อนาคตอื่น ๆ" ที่อาจเป็นไปได้ คุณหมอวิพุธคงจะต้องนำไปขบคิดต่อว่า จะนำไปขยายต่ออย่างไรให้เกิดผลสูงสุด

หมายเลขบันทึก: 40356เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากถามว่า การมองอนาคตของผู้สูงอายุในครั้งนี้ จำกัดอยู่เพียงแค่ผู้สูงอายุในสังคมเมืองหรือมองกว้างไปถึง ผู้สูงอายุในสังคมชนบทด้วย ทั้งนี้จากที่ได้อ่านเรื่องราวข้างบน ทำให้รู้สึกว่าเป็นการมองจากมุมมองของผู้ที่มีการศึกษาสูง แนวทางและการวิเคราะห์จึงเป็นไปตามแนวความคิดของผู้ที่มีการศึกษาสูง(ในวันนี้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า)

อย่างไรก็ตาม ในอีกเพียงแค่กว่ายี่สิบข้างหน้านั้นผู้สูงอายุในประเทศไทย มิได้จะมีเพียงแต่ผู้สูงอายุในเมืองใหญ่ที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะความแตกต่างทางชนชั้นและการศึกษาในประเทศเรายังมีอีกมาก จึงอยากฝากให้นำปัจจัยในส่วนนี้มาวิเคราะห์ด้วยค่ะ (หากยังมิได้มีการคำนึงถึง)

ตอบคุณมาหยา

การมองอนาคตผู้สูงอายุครั้งนี้ ได้พยายามมองครอบคลุมทั้งระยะแข็งขัน (มีความพร้อมอยู่ทั้งกายและใจ) ระยะพึ่งพิง (กายหรือใจ หรือทั้งสองอย่าง อยู่ในภาวะถดถอย) และระยะไม้ใกล้ฝั่ง (ต้องการความดูแลอย่างใกล้ชิด)

aging framework

แผนภูมินี้ได้ถูกนำเสนอ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมมองไปถึงปัจจัยด้านความเป็นหญิง-ชาย และถิ่นที่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท

ในภาพฉายอนาคตจึงพูดถึงผู้สูงอายุหลายกลุ่มครับ เช่น "...กรณีคุณตา สุเมธ มีอาชีพแรงงานรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ เมื่อเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ต่อมามีเพื่อนบ้านชักชวนไปเป็นหนูทดลองยาของบริษัทยาข้ามชาติ คุณตาสุเมธได้เงินใช้ แม้ว่าจะเสี่ยงแต่ก็จำเป็น เพราะช่วยทำให้มีกินมีใช้ได้..."

แต่ยอมรับครับว่า กลุ่มผู้ที่มาระดมความคิดครั้งนี้จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีการศึกษาอย่างแน่นอน แต่ก็อย่างที่เรียนคือ ครั้งนี้เป็น pre-test เพื่อดูว่ากระบวนการใช้ได้ไหม คาดหวังว่า คงจะนำไปขยายผลต่อในวงกว้าง ในหลาย ๆ พื้นที่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท