คำพูดกระตุ้นความคิดจากเด็กชายไทยที่เรียนภาษาไทยเป็นทางการมาไม่ถึง 1 ปี


ไม่รู้ว่าเป็นเพราะระบบการเรียนที่เขาได้รับมาตั้งแต่เริ่มต้นหรือเปล่า

วันนี้น้องฟุงถามว่า "แม่ ปลอด แปลว่า ไม่มี ใช่ไหม" และ "ภัย แปลว่า เหตุร้าย เรื่องไม่ดี ใช่เปล่า" พอเราพยักหน้าหงึกๆ ว่าใช่ เขาก็จัดแจงแปลคำว่าปลอดภัย ไปตามประสาของเขา

สิ่งที่สังเกตเห็นจากการเรียนรู้ของน้องฟุงก็คือ เขาชอบคิดเอาเอง ไม่ชอบการท่องจำ เขาชอบวิเคราะห์คำต่างๆที่เรียน บางครั้งสิ่งที่เขาพูด ก็เตือนให้เราคิดว่า เราไม่ทันคิดเลยนะ เราแค่รู้และจำไปเลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า วิธีการเรียนของเราตั้งแต่เด็กนั้น เราถูกสอนให้จำ ให้ท่องมากกว่าให้คิดไปหรือเปล่า

เห็นตัวอย่างจากเจ้าตัวโตในเรื่องคณิตศาสตร์ด้วยว่า เขามักจะมาเล่าว่า โจทย์เลขที่เพื่อนบอกว่าง่ายๆ (เพราะเป็นการใช้สูตรที่ต้องท่องจำเพื่อแก้ปัญหา แล้วตัวเขาไม่เคยเรียน เพื่อนเรียนพิเศษมา) เขาจะทำได้ช้ามาก หรือไม่ได้เลย ในขณะที่โจทย์ที่เพื่อนบอกว่ายาก เพราะเป็นการใช้ความคิดวิเคราะห์หาคำตอบ เขาจะคิดได้เร็วและบอกว่าง่าย ซึ่งเป็นเหตุให้เขาคิดว่า ต้องไปหาหนังสือคู่มือที่บอกสูตรวิธีคิดต่างๆมาดู

ฟังเรื่องจากลูก และวิธีการเรียนที่เมืองไทย เมื่อเปรียบเทียบกับที่ออสเตรเลียแล้ว รู้สึกว่าการจัดการศึกษาระดับประถมต้นนั้นยากจริงๆ ในการที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่เด็กๆมีให้เอื้อต่อการเรียนรู้ระยะยาว การเรียนแบบบ้านเรา จะลดทอนความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ซึ่งจริงๆแล้วเป็นธรรมชาติของเด็กที่น่าใช้ให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่การเรียนแบบบ้านเขาก็ไม่ได้ใช้ความจำอันดีเลิศของเด็กๆให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เด็กมัวแต่คิด มากกว่าหัดให้จำเรื่องบางอย่างที่ควรจะได้ท่องจำ ไม่ต้องมัวมาคิดอยู่

ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอันมีศักยภาพของเด็กให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเขาให้มากที่สุด คิดได้ทางหนึ่งก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองคงต้องเสริมในส่วนที่โรงเรียนขาด เสียตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ อย่าปล่อยให้เขาละทิ้งธรรมชาติส่วนที่มีค่าเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเขาไปเพราะไม่มีใครมองเห็น

พูดง่าย...แต่ทำยากนะคะ นอกจากเราต้องสละเวลาของเราให้เขาจริงๆในช่วงหนึ่งของชีวิต

หมายเลขบันทึก: 40345เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ คุณโอ๋-อโณ 

ติดตามอ่านบล็อกของคุณโอ๋เป็นประจำ และสมัครเป็นลูกศิษย์ online บทเรียนการใช้บล็อกด้วยความขอบพระคุณยิ่งค่ะ  ยิ่งนานวันบล็อกของคุณโอ๋ยิ่งมีสีสันและคมคายด้วยความคิด  เหมือนต้นไม้ที่ลำต้นนับวันยิ่งแข็งแกร่งและให้ร่มเงาได้มากขึ้นเรื่อยๆ เลยค่ะ

ด้วยความนับถือ

KPRUQA Team

      ต้องช่วยกันทั้งผู้ปกครองและครูครับ .. ปัญหาสำคัญอยู่ที่ วัฒนธรรม ความเชื่อ ในสังคมไทย ที่ปลูกฝังให้ เชื่อ และ ฟัง ที่จริงก็คือ ให้ ฟัง แล้ว เชื่อ นั่นเอง มีร่องรอยหลายอย่าง เช่น "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" คนดีคือคนที่ "ว่านอนสอนง่าย"  คิดทำอะไรนอกกรอบก็กลายเป็นเรื่องประหลาดไป 
      เรื่องน่าหนักใจที่สุดก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเปิดใจ พ่อ-แม่ และ ครู ให้เกิดความเชื่อ และศรัทธาในการให้โอกาสเด็กได้คิด และแสดงความเป็นตัวเขาออกมามากๆ   เห็นความงดงามของความหลากหลายในความคิดและการกระทำอย่างสร้างสรรค์ของเด็กๆ  เรียกว่าต้องปฏิรูป-ปฏิวัติ วัฒนธรรมในส่วนนี้ให้ได้ ทางหนึ่งก็คือ ช่วยกันพูด  ช่วยกันเขียน และจะเป็นพลังที่สำคัญมากหากสื่อมวลชนทุกแขนงจะมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคม เรื่องการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างถูกวิธี

เรียน พี่โอ๋ครับ

ประสบการณ์เหล่านี้ มีคุณค่ามากครับ การที่พี่ได้สังเกตและใส่ใจนำมาเขียนถือว่าเกิดประโยชน์ในหลายๆกลุ่ม

ผมคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ของเด็กมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ต้องอาศัยการสังเกต

อย่างที่ผมเขียนบันทึกเมื่อวาน  นี่ก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจครับ(ผ่านเรื่องเล่าจากครูครูคนหนึ่ง) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท