อินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา


ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามี ๒ ประเภท ประเภทแรกคือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๘ ก.มาตรา ๓๘ ข. ซึ่งมิใช่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติราชการในสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาขึ้นไป และมาตรา ๓๘ ค.(๑) ข้าราชการครูประเภทนี้อยู่ในบังคับการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับเงินเดือนและเงินวิทยฐานะตามพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ตำแหน่งเหล่านี้ได้แก่ ครูผู้ช่วย ครู รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษานิเทศก์ เป็นต้น เรียกตำแหน่งเหล่านี้รวมกันว่าเป็น “ตำแหน่งที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ”

ตำแหน่งประเภทที่ ๒ ได้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๘ ค.(๒) ข้าราชการครูประเภทนี้ไม่อยู่ในบังคับการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งเหล่านี้ได้แก่ เจ้าพนักงานธุรการ นักวิชาการศึกษา เป็นต้น ปฏิบัติราชการอยู่ในสถานศึกษาที่มีนักเรียนตั้งแต่ ๘๐๐ คนขึ้นไป สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เรียกตำแหน่งเหล่านี้รวมกันว่าเป็น “ตำแหน่งที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ”

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนอกจากมีชื่อตำแหน่งแล้วยังมีวิทยฐานะตามมาตรา ๓๙ ด้วย เช่นตำแหน่งครู มีวิทยฐานะ ๔ ระดับ คือครูชำนาญการ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๒) ครูชำนาญการพิเศษ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๓) ครูเชี่ยวชาญ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔) และครูเชี่ยวชาญพิเศษ (รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๕) แต่ที่น่าแปลกที่สุดในโลกคือวิทยฐานะไม่ถือว่าเป็นระดับของตำแหน่ง ดังนั้นตำแหน่งครูแม้ไม่มีหรือมีวิทยฐานะในระดับใดก็ถือว่าเป็นครูเหมือนกัน จำแนกไม่ออกว่าใครเป็นหมู่เป็นจ่า เพราะ ก.ค.ศ.ตีความว่าวิทยฐานะไม่ใช่ระดับตำแหน่ง

เมื่อจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ได้รับสิทธิบางประการที่ให้เท่ากันไม่ได้ จึงต้องไปควานหาว่าจะจัดให้เป็นหมู่เป็นจ่าได้ด้วยหลักใด สุดท้ายไปงัดเอาการได้รับเงินเดือนตามพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาจำแนก ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดสิทธิตามอันดับเงินเดือนไว้ ๒ เรื่อง คือเรื่องสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการ และเรื่องการประดับอินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการ

สิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น กรมบัญชีกลางได้กำหนดไว้ตามหนังสือที่ กค ๐๔๐๙.๗/๑๐๖๐๓ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๙ ให้เทียบตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับข้าราชการพลเรือน โดยให้

  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วยมีสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ ๓-๕
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๑ มีสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ ๕-๖
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๒ มีสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ ๗
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๓ มีสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ ๘
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔ มีสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ ๙
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๕ มีสิทธิการเบิกจ่ายเกี่ยวกับกฎหมายด้านการเงินการคลังและสวัสดิการเท่ากับข้าราชการพลเรือนระดับ ๑๐-๑๑

ระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนข้างต้นเป็นระบบเดิม ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นระดับตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้ว

สำหรับสิทธิการการประดับอินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการนั้น ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๐๒ ง วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ หน้า ๒๕-๒๖ ซึ่งได้เทียบสิทธิการประดับอินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับเงินเดือนในอันดับต่าง ๆ กับข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ ดังนี้

  • รับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วย และอันดับ คศ.๑ ขั้นที่ ๒ หรือต่ำกว่า เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๑ ตั้งแต่ขั้นที่ ๓ ของอันดับขึ้นไป และอันดับ คศ.๒ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๓ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ
  • รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๕ เทียบกับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ

ดังนั้น อินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จึงสรุปได้ดังนี้

สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) นั้น ใช้อินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูเมื่อแต่งเครื่องแบบราชการเหมือนกับข้าราชการพลเรือนสามัญเพราะกำหนดตำแหน่งแบบเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประการ

 

วิพล นาคพันธ์

๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓

อ่านข่าวสารทั้งหมดของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

 

 

หมายเลขบันทึก: 403183เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 03:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
นายณรงค์ศักดิ์ มหัทธนอภิกรม

อ่านแล้ว เกิดความมั่นใจเฉพาะกลุ่ม ขรก.ครูฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับเงินเดือนใน ค.ศ.ที่สูงขึ้นเมื่อเงินเดือนเต็มขั้นในปลายปีงบประมาณ 2553 แต่ถ้าจะถือปฏิบัติในการแต่งกายชุดเครื่องแบบข้าราชการที่ประดับเครื่องหมายหรืออินทรธนูด้วย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในระดับที่ควรจะสั่งการหรือแจ้งให้ปฏิบัติได้ กลับสงวนท่าที เจ้าหน้าที่ฯที่เกี่ยวข้องกลับแจ้งว่าให้รอไปก่อน กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ประดับอินทรธนูอยู่ หลายหน่วยงานฯ หรือหลายเขตพื้นที่การศึกษาฯ ที่ ผอ.เขตฯ ใจกว้างก็ตีความให้ประดับได้ บางแห่ง ผอ.เขตฯเองประดับให้ด้วย หลายเขตฯ ยังคงสงวนท่าที อาจเพราะคน/ครูส่วนมากไม่อยู่ในกลุ่มนี้ มีเพียงชนส่วนน้อย ได้เทียบ/เข้าแท่งเงินเดือนที่สูงขึ้นเพราะเต็มขั้น (บางคนหลายปีมาแล้ว) ก็โชคดีแล้ว จะเอาอะไรอีกนักหนา..เพื่อนชักจะหมั่นใส้แล้วนะ.... หรือจะรอไปอีก ใครจะเป็นอะไรไป หรือใครจะเกษียณอายุปีนี้ หรืออีกไม่กีปีก็ตาม สิทธิ์เหล่านี้สังคมไทยไม่นิยมเรียกร้องกัน จนกว่า ศาลฯ หรือกฤษฎีกา จะตัดสิน แต่หาผู้กล้าฟ้องฯ หรือยื่นฯให้ตีความ หรือตัดสินในสังคมไทยนี้ยากเสียเหลือเกิน ปล่อยไปเถอะ ไม่ใช่เพื่อนรัก หรือญาติสนิทของเรานี่...ส่วนใหญ่เราคนไทยจะติดโรค "ตาร้อน"กันเกือบหมด สังคมไทยจึงแบ่งพรรค แบ่งพวก ไม่ยอมความ หรือยอมกันบ้าง หรือสมานฉันท์กันเท่าที่ควร พูด/กล่าวมากความไป เหมือนเพ้อฯ...ขอบคุณท่านวิพลฯ ที่ช่วยวิเคราะห์ให้ใจชื้นได้ในหลายคน บุญกุศลขอให้ท่านมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยครับผม

ไม่มีปัญญาจะเสนอขอเครื่องแบบและเครื่องหมายที่เหมาะสมแล้วหรือ

ขอบคุณมากๆ ค่ะ เป็นประโยชน์มากที่สุด

ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลดีๆอย่างนี้

สรุปแล้ว ครูผู้ช่วยที่บรรจุใหม่ต้องประดับเครื่องหมายตำแหน่งตามลำดับที่ 5 ไช่ไหมค่ะ เพราะมีเพื่อนที่บรรจุรุ่นเดียวกันเขาบอกว่าให้เป็น 1 แถบเล็ก แถบบนขมวด (อันนี้ของเดิมใช่มั๊ยค่ะ)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ที่มอบให้ พอจะมีข้อมูลไปแก้ต่างกับครูอาวุโสบ้างแล้วครับ เค้ายังให้ใส่ของเดิม ๆ ขอบคุณครับ

แล้วบุคลากรทางการศึกษาละแต่งแบบใหนลูกจ้างประจำนะครับผู้รู้ช่วยตอบที

ขอบพระคุณมากค่ะ  สำหรับสิ่งที่ควรรู้จะได้ปฏิบัติกันได้ถูกต้องให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าของแผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท