“ไตรภาคีร่วมพัฒนา” ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพชุมชน #2


เชื่อมั่นว่าจะสำเร็จตามที่คาดไว้ทุกอย่างครับ คือ พี่ ๆ ที่อยู่ตำบล อำเภอ และชาวบ้านในชุมชน จะได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ และสุขภาพ

ปาร์ตี้ "ไตรภาคีวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน"

     ได้ฤกษ์เบิกชัย ที่สมาชิกของเครือข่ายจะได้พบกัน พร้อมหน้า พร้อมตา กันสักที เกือบ 1 ปี แล้วที่ไม่ได้เจอกันแบบครบถ้วน และเป็นเรื่องเป็นราว 21 ก.ย. 2548 นี้ เวลา 17.00 น. ณ สวนไผ่ ริมถนนสายเอเชีย (ปั้มฉีเฉี้ยว หรือ ปตท.) และวันนี้ (17 ก.ย. 2548) ก็ได้ประสานจนครบถ้วนแล้ว แฮ้... 

     นี่เป็นจดหมายที่ส่งให้หมอ (เมล์) เพื่อบอกกล่าวเล่าเรื่องความก้าหน้าในฐานะคุณอำนวย ทีมงานฯ ทุกคนควรจะได้รับรู้รับทราบอย่างเปิดเผย (จริงใจ) และนำมาลงไว้ที่นี่ครับ

    เรียน  นพ.ยอร์น จิระนคร ที่เคารพ ตามที่ สวรส.ภาคใต้ มอ. ได้แนะนำให้ปรับ web blog เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อวิจัยฯ ซึ่งผมจะขอใช้เป็นฐานปฏิบัติการสำหรับการเก็บเกี่ยวและรวบรวมวรรณกรรม ข้อค้นพบจากพื้นที่ด้วยนั้น รวมถึงจะเปิดเป็นช่องทางให้เครือข่ายที่ร่วมวิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย จึงอยากให้หมอได้ทราบและพิจารณาให้คำแนะนำด้วยครับ ว่าควรจะได้ดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติมอีกบ้าง ดังนี้ ชุมชน: วิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข URL: http://gotoknow.org/hsrd หรือถ้าเป็นคำหลักก็จะเป็น "สุขภาพชุมชน" จะได้ URL: http://gotoknow.org/tri-paki/blogkeyword/714  หรือถ้าเป็น blog งานนี้ (ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน) โดยเฉพาะก็จะเป็น http://gotoknow.org/tri-paki แต่ทั้งหมดอยู่ในชุมชนที่ยกขึ้นข้างต้นครับ
          เนื่องจากผมเองก็ห่าง ๆ จากความรู้สึกของพี่ ๆ ที่อยู่ตำบลมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้นัดแกนหลัก 3 คน มาพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปและเตรียมการเรื่องนี้  เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2548 ที่ผ่านมา ก็พบว่าทีมที่เป็นแกนหลัก (รวมผมด้วย เป็น 4 คน) มีความกังวลในประเด็นเหล่านี้ครับ
          1. ไม่อยากให้คำว่า "เป็นเครื่องมือ..." แต่ขอเป็นคำว่า "เป็นกลไกสนับสนุน..." เป็นต้น (เช่นโครงการฯนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นโครงการนี้เป็นกลไกหนึ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนาตนเองของเจ้าหน้าที่ฯ)  เพราะจะ sensitive ด้าน negative กับ จนท.ระดับตำบลมากกว่าด้าน positive
          2. ไม่อยากให้ใช้คำว่า "มีเงิน มีงบประมาณ หรือมีแหล่งทุนให้" แต่ขอเป็นคำว่า "จะพยายามหาวิธีการเท่าที่ผม (ท่าน) จะทำได้ เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อย่างเช่นวันนี้อีก" เพราะเรื่องเงิน งบประมาณ หรือแหล่งทุน เข้าใจว่ามีความจำเป็นสำหรับการดำเนินงานทุกอย่าง แต่คนที่มาในรอบแรกนี้ 20 กว่าคน (นำเสนอชื่อ 37 คน และคัดโดยแกนนำหลักเพื่อรอบแรกนี้เหลือเพียง 23 คน) จะไม่ค่อยสนใจ และบางคนมีประวัติเคยปฏิเสธกลุ่มบางกลุ่มที่เอาเงินมาล่อเพื่อให้ทำโครงการฯ ในพื้นที่ (แต่มีข้อแม้เรื่องการเชิญเขามาเป็นวิทยากรเท่านั้นถึงจะเบิกจ่ายได้) มาแล้ว คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีใจและมีอุดมการณ์ ทำงานอยู่เงียบ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง (ผมประเมินเอง)
          3. ไม่อยากให้ใช้คำว่า "การวิจัย" มากนัก ถ้าไม่ใช้เลยจะดี แต่น่าจะใช้คำว่า "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนระหว่างกัน" เพราะเมื่อพูดคำว่าวิจัย พี่ ๆ ที่อาวุโสแล้วบางคน (ที่มาด้วย) จะรู้สึกเครียด ยาก ความสามารถไม่ถึง ฯ ทั้ง ๆ ที่โดยประวัติแล้วเป็นนักพัฒนาสุขภาพชุมชนตัวยง ไม่อยากให้คนเหล่านี้ออกไปจากทีม (เสียดาย)         
          อนึ่งจากเหตุผลข้างต้น ในวันที่ 21 ก.ย. 2548 นี้ เวลา 17.00 น. ณ สวนอาหารสวนไผ่ สี่แยกเอเซีย แกนหลักและผมด้วย จึงอยากจะให้หมอได้พิจารณาดังนี้ครับ
          ก. กล่าวกับสมาชิกในฐานะ หมอจะเป็นเพื่อนร่วมทีมพัฒนาสุขภาพ "เครือข่ายวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" (partner of Tri-Parki) หรือเป็นคุณอำนวยฯ ตามแนวคิด KM ของหมอวิจารณ์ฯ
          ข. กล่าวแนะนำให้สมาชิกเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ web blog
http://gotoknow.org ด้วยเหตุผล... (up to you)
          ค. เปิดโอกาสให้ทุกคนได้กล่าวสั้นสั้น ถึงสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในการพัฒนาสุขภาพชุมชน (ผมจะนำพูดคุยเอง แต่ให้หมอได้เสริมให้ทุกคน เพื่อเป็นกำลังใจ)
          การเจอกันในวันดังกล่าว จะมีการระดมทุนกันคนละเล็กละน้อย ตามความสมัครใจ ซึ่งได้เปิดบัญชีไว้แล้วภายใต้ชื่อ "กองทุนวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" เพื่อความสะดวกในการดำเนินการเรื่องที่ไม่ใหญ่นักวันหลัง โดยพี่นันทา ด้วงวงศ์ รับไปเปิดบัญชีไว้ให้ก่อน (ให้เงินไว้แล้ว 1000 บาท) จากนั้นค่อยหาคนที่จะมาจัดการจากสมาชิก และค่าใช้จ่ายในวันแรกจะใช้วิธีอเมริกันแชร์ (เพื่อวัดใจกันด้วย ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ได้ประสานกัน คิดเห็นตรงกัน) พี่อนุกูล ทองมี จะเป็นคนจัดการเรื่องนี้ในครั้งแรกครับ สำหรับแม่บ้านที่จะคอยประสานแทนผมคือ พี่อวยพร ดำเกลี้ยง (ผมไม่อยู่วันที่ 19-20 และ วันที่ 21 กลางวันผมเป็นวิทยากร "คนพิการ" ที่ คปสอ.กงหรา) ซึ่งพี่เขาจะทำหน้าที่นี้ให้ในครั้งต่อ ๆ ไปด้วยครับ (พี่อวยพรฯ ยินดีและเต็มใจที่จะคอยช่วยเหลือตรงจุดนี้ให้ครับ ซึ่งเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน เป็นศูนย์กลางการประสาน และจะสะดวกสำหรับทีมมากในอนาคต)
          จากการที่ผมได้โทรประสานเพื่อนัดหมายฯ จะพบว่าเกือบทุกคนรู้สึกดีใจที่หมอจะมาร่วมพูดคุยด้วย แต่เกือบทั้งหมดจะรู้สึกเกร็ง ๆ สิ่งนี้ผมเชื่อมั่นว่าหมอจะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นบรรยากาศแบบกันเองสบาย ๆ ได้อยู่แล้ว จึงไม่เป็นห่วงอะไรครับ
          เชื่อมั่นว่าจะสำเร็จตามที่คาดไว้ทุกอย่างครับ คือ พี่ ๆ ที่อยู่ตำบล อำเภอ และชาวบ้านในชุมชน จะได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ และสุขภาพ 

จาก...อนุชา  หนูนุ่น ลงวันที่ 17 ก.ย. 2548

     สิ่งหนึ่งที่ทีมงานเริ่มร้องหาบ้างแล้ว (แต่ยังไม่ได้พูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวนัก) คือ การสัมมนาเพื่อการจัดการความรู้ และอยากเจอทีมงานของ สคส หรือ อ.จันทวรรณ แห่ง มอ. เพื่อแนะนำ และสอนเทคนิคการจัดการความรู้ ทั้งตัวทฤษฎีและการปฏิบัติ (อันนี้ผมก็งูๆ ปลาๆ) เลยรับว่าจะนำไปพูดคุยกัน ซึ่งอาจจะเป็นเวทีวันที่ 21 นี้เลย (ขอหาข้อมูลก่อน) และวันนี้ผมได้สรุปเป็น (ร่าง) ข้อตกลงหลวม ๆ ของเครือข่ายไว้ แต่ยังไม่ได้นำกลับไปพูดคุยกับใครเลย แค่สรุปจากบันทึกที่บันทึกไว้แต่ละคราวที่พูดคุยกันเท่านั้น

     (ร่าง) ข้อตกลงหลวม ๆ เครือข่าย ซึ่งสรุปจากการพูดคุยเรื่อยเปื่อยกับทีมฯ ในแต่ละครั้ง แต่ละหน
     1.) คุยกันได้ในทุกเรื่องที่เป็นปัญญาไม่มีจำกัดแขนงของศาสตร์ และเป็นกัลยาณมิตร
     2.) ไม่อ้างอิงข้อมูลวิชาการที่ไม่มีจริง (อวดรู้)คือไม่รู้/ไม่แน่ใจก็ให้เปิดใจพูดกัน
     3.) ไม่มีสายบังคับบัญชา แต่มีสายแห่งความผูกพันธ์ฉันท์เพื่อน พี่ หรือน้อง
     4.) ไม่มีคำว่าเลิกพูดคุย (เสวนา) พร้อมกัน (จะอยู่หรือไปก็ได้ตามสะดวก)
     5.) ไม่มีเหล้า ไม่มีการพนัน ในระหว่างการเสวนา หรือพบปะพูดคุยกัน ()
     6.) ไม่มีการกลัวว่าใครจะรู้มากกว่าใคร (มัวแต่กลัวก็ไม่ได้รู้ซิ)
     7.) งานของเครือข่ายที่เป็นสาธารณะคืองานของเรา
     8.) หากสมาชิกอย่างน้อย 2 คนทัก (ท้วงติง) ก็ให้สมาชิกคนนั้นหยุดดำเนินการ และทบทวนก่อน
     9.) รู้สึกโกรธได้ (สั้น ๆ) แต่ต้องไม่ผูกใจ และเปิดโอกาสให้กันและกันเสมอที่จะทบทวนกันใหม่

 

หมายเลขบันทึก: 4031เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2005 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท