เก็บตก...จากห้องสอบวิจัย


ข้อสอบ ... ข้อสุดท้าย

         บ่ายของวันศุกร์ที่ไม่ค่อย(สุข) ของ ป.เอก หลักสูตรและการสอน มากนัก  วันนี้พวกเราสอบวิชาระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง กันค่ะ  เมื่อออกจากห้องสอบ  มีพี่ถามว่า "Max Min Con" มันเป็นยังไง  วันนี้จึงทบทวนอีกครั้งเพื่อให้พวกเราเข้าใจยิ่งขึ้นค่ะ

หลักการ Max Min Con Principle

        1.  Maximinzation of experimental or systematic variance  เพิ่มความแปรปรวนของการทดลองหรือความแปรปรวนอย่างเป็นระบบให้มากที่สุด เพื่อให้ผลวิจัยที่เกิดในตัวแปรตามเนื่องจากอิสระหรือเงื่อนไขการทดลอง  โดยการจัดให้ตัวแปรอิสระมีความแตกต่างกันมากที่สุดเพื่อทำให้เกิดความแปรปรวนจากการทดลองในตัวแปรตาม

        2.  Minimization of error variance  ลดความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนให้น้อยที่สุด  ซึ่งความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนนี้ คือ ความคลาดเคลื่อนจากการวัด (Measurement error)  และความคลาดเคลื่อนจากการสุ่ม (Sampling error) 

             ความคลาดเคลื่อนจากการวัด (Measurement error)  มีสาเหตุมาจาก 1)  การควบคุมสถานการณ์ในการวัดไม่ดี  และ  2)  เครื่องมือที่ใช้ไม่มีคุณภาพ

             ความคลาดเคลื่อนจากการสุ่ม (Sampling error)  มีสาเหตุมาจาก  1)  ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม  และ  2)  ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเกินไป          

        3.  Control extraneous variable  ควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน  การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนไม่ให้มีผลต่อตัวแปรตามหรือเข้ามาแทรกซ้อนร่วมกับตัวแปรอิสระจนส่งผลต่อตัวแปรตาม

     วิธีการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน 

            3.1  Elimination  การกำจัดออก  คือ   การทำให้ตัวแปรแทรกซ้อนนั้น หมดสภาพเป็นตัวแปรหรือทำให้เป็นตัวคงที่สำหรับการวิจัยในครั้งนั้น

            3.2  Randomization  การสุ่ม  ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน  วิธีการสุ่มจะอาศัยหลักการทำให้โอกาสที่จะเกิดตัวแปรแทรกซ้อนเป็นไปอย่างสุ่ม มากบ้างน้อยบ้างในกลุ่มตัวอย่างจนหักล้างกันหมดไปหรือมีผลรวมของความคลาดเคลื่อนเท่ากับศูนย์ตามกฏจำนวนขนาดใหญ่  การสุ่มจะมี 2  ขั้นตอน (กรณีการวิจัยเชิงทดลอง)  คือ  1)  การสุ่มตัวอย่างจากประชากร เรียกว่า  “Random selection”  หรือ “Random sampling”   และ  2)  การสุ่มตัวอย่างอีกครั้งเพื่อสุ่มเงื่อนไขการทดลองให้กับกลุ่มตัวอย่าง  เรียกว่า “Random assignment”

             3.3  Build into the design as an independent variable  เพิ่มให้เป็นตัวแปรอิสระในแบบแผนการวิจัย  โดยการนำตัวแปรแทรกซ้อนที่นักวิจัยมีข้อมูลหรือ เหตุผล  ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลร่วมกับตัวแปรอิสระให้เป็นตัวแปรเพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่งนอกเหนือจากตัวแปรอิสระที่เป็นตัวแปรการทดลอง

               3.4 Matching subjects  การจับคู่  คือ  การทำให้ตัวอย่างในการวิจัยมีอิทธิพลจากตัวแปรแทรกซ้อนเท่าเทียมกันโดยการจับคู่  ทำได้ 2  ลักษณะ  คือ  1)  จับคู่เป็นกลุ่ม (Matching  group )  และ 2) จับคู่เป็นรายตัว (Matching pair)

               3.5 Physical control  ควบคุมทางกายภาพ  เป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนที่เป็นสิ่งแวดล้อมขณะทำการวิจัย เช่น  แสง  เสียง  เป็นต้น  โดยดารทำให้สิ่งแวดล้อมมีความคงที่หรือเท่าเทียมกันในแต่ละครั้งและในแต่ละกลุ่มตัวอย่างขณะดำเนินกรวิจัย

               3.6 Statistical control  ควบคุมทางสถิติ  เป็นการใช้วิธีการทางสถิติบางประเภทมาวิเคราะห์กำจัดอิทธิพลหรือค่าการวัดตัวแปรแทรกซ้อนออกจากตัวแปรอิสระและตัวแปรตามที่ต้องการศึกษา  การควบคุมทางสถิติที่นิยมใช้  คือ  1)  การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (Analysis of covariance : ANCOVA)  และ  2)  การวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบแยกส่วน (Partial correlation coefficient)

       จากหลัก “Max Min Con”  ที่กล่าวมาจะเห็นว่าเป็นหลักการที่จะทำให้เกิดความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย  โดยเฉพาะกับการวิจัยเชิงทดลองนั้นจะเป็นงานวิจัยที่มุ่งใช้หลักนี้มากที่สุด   เพราะงานวิจัยเชิงทดลองมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเชิงสาเหตุและผลระหว่างตัวแปรทดลองกับตัวแปรตาม  จึงต้องการคำตอบอย่างมั่นใจเกี่ยวกับความเป็นสาเหตุและผล  โดยมิให้ตัวแปรอื่นๆ ที่มิได้ศึกษาเข้ามาแทรกซ้อนส่งผลร่วมกับตัวแปรที่เราต้องการศึกษา  ดังนั้นเราจึงอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า เราออกแบบแผนการวิจัย (Research design)  เพื่อก่อให้เกิดความตรงภายในและความตรงภายนอก (Internal and External validity)  ของการวิจัย โดยอาศัยหลัก “Max Min Con” 

 

คำสำคัญ (Tags): #con#max#min
หมายเลขบันทึก: 402017เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเยี่ยม มาอ่าน มาหาความรู้ครับ max min con พอจำได้แค่นี้แล้วครับบ

ขอบคุณมากค่ะ ที่ตามเข้ามาอ่านและให้กำลังมาโดยตลอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท