ความซบเซาตกต่ำซ้ำซากของกิจกรรมเพื่อสังคม


ข้อสังเกตบางประการในกิจกรรมของคนรุ่นใหม่

ความซบเซาตกต่ำซ้ำซากของกิจกรรมเพื่อสังคม 

ข้อสังเกตบางประการ

จากภาพสะท้อนการขยายตัวที่หลากหลายในแต่ละกิจกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่

พิชาน    วรพันวาล    

ผู้เขียน

ถามที่เกิดขึ้นซ้ำ 

กรณีการถามไถ่ และตั้งคำถาม ภายในพื้นที่เฉพาะกลุ่ม หรือในพื้นที่สาธารณะ ที่เกี่ยวกับความตกต่ำซ้ำซากและซบเซาของแวดวงกิจกรรมนักศึกษา หรือขยายความเพื่อให้เกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษา โดยยกมาเพิ่มเติมกับกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น กลายเป็นคำถามยอดนิยม ซึ่งกินพื้นที่ของหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่เราควรตระหนักว่า ได้ใช้ทรัพยากรในการคลี่คลายปัญหา เพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างมากมาย 

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้รับการตอบสนองในแง่ของการขบคิด และร่วมกันหาทางออกอย่างมากมายหลายครั้ง หลายสถานการณ์ที่นำไปสู่การสรุป ถึงการขยายตัว เพื่อให้เกิดความตื่นตัวและให้เกิดมิติใหม่ของการรื้อฟื้นความตื่นตัว ตามแบบอย่างความเชื่อดั้งเดิมในเชิงมายาคติ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีความคึกคักและรุ่งเรืองปรากฏขึ้นในแวดวงกิจกรรม โดยมีงานเขียนสำคัญของ ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นขึ้นภายหลังหลังพ้นจากงาน สนนท.

ซึ่งข้อเขียนชิ้นนี้เริ่มบทนำเพื่อทำลายมายาคติในแวดวงกิจกรรมนักศึกษา โดยระเบิดมุมมองที่น่าสนใจว่า กิจกรรมนักศึกษาที่ผ่านมา ถูกครอบครองด้วยความเชื่อ และภาพแห่งความรุ่งเรืองทางการเมือง ในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ปี 2516

โดยความยิ่งใหญ่เหล่านี้ ได้ครอบครองบทบาทและทิศทางที่ควรจะเป็น ในสถานการณ์ที่แท้จริง ในศักยภาพ และในเป้าหมายของกลุ่มกิจกรรมในแต่ละมหาวิทยาลัย มายาคติในความรุ่งเรืองเหล่านี้ ทำให้ขบวนการนักศึกษา กลุ่มก้อนของชมรม ชุมนุม และกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่สามารถก้าวพ้นเพื่อตั้งคำถามต่อทิศทางที่ควรจะเป็น ภายใต้ความจริงที่ปรากฏ มากกว่าการถามหาตำนานผู้กล้าที่ยิ่งใหญ่ในอดีต 

หลายครั้งหลายคราของกิจกรรมนักศึกษา ในกิจกรรมเพื่อสังคม ถูกกำหนดด้วยการตั้งคำถามต่อตัวเอง ตั้งคำถามต่อชีวิตรวมหมู่ ผู้คนรอบข้าง และสังคมชุมชนในรั้วมหาวิทยาลัยของตัวเอง จนต้องมีการถามหาเป้าหมาย และถามหาความรุ่งเรือง เพื่อก่อให้เกิดคำตอบว่า ทำไมกิจกรรมเพื่อสังคมจึงไม่คึกคักโดนใจประชาคมในรั้วมหาวิทยาลัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกเปรียบเทียบจากความเคลื่อนไหวของกิจกรรมในเนื้อหางานวัฒนธรรม งานบันเทิง และความเคลื่อนไหวในกลุ่มสโมสรองค์กรที่ไม่ต้องการทำงานในเชิงกิจกรรมเพื่อสังคม 

ต้นทุนที่มากมาย 

คำถามมากมายเหล่านี้ ครอบงำความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ภายหลังมายาภาพและมายาคติของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏตัวขึ้น ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ หลังการตั้งคำถามโดยไม่มีความเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวรายกรณี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเร่งด่วนทางการเมืองปรากฏตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงเขื่อนน้ำโจน ประท้วงเขื่อนแก่งกรุง การคัดค้านไม่ให้ พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือกระทั่งในสมัยเคลื่อนไหวคอร์รัปชั่น ของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ในยุคบุปเฟ่ต์คาบิเนต จนเกิดกรณีรัฐประหาร รสช. ที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา 2535 เหล่านี้ คือสิ่งที่สร้างคำถามประเด็นสำคัญเสมอ 

คำถามสำคัญ คือการถามว่า ทำไมกิจกรรมเพื่อสังคมจึงไม่รุ่งเรือง ไม่ได้รับความคึกคัก และไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาคม จากนิสิตนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยคำถามส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นจากแง่มุมจากพูดคุยในกลุ่มเล็กๆ จนกระทั่งเมื่อขยายสู่ภาพงานเคลื่อนไหว เมื่อต้องการได้รับเสียงตอบรับ และการมีส่วนร่วมของงานเคลื่อนไหว

คำถามเหล่านี้ ก็ยังคงดังก้องอยู่อย่างสม่ำเสมอ ใช้ทั้งเวลา กำลังความคิด และงบประมาณเพื่อก่อให้เกิดการถกเถียงแทบทุกปี ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ภาพที่ถูกหยิบยกมาพิจารณา ก็คือ มุมมองของการตีความในเชิงแนวร่วม การพิจารณาถึงความจริงของการทำงาน การทำความเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของบรรยากาศในแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งมุมมองที่ว่า ควรจะต้องมีการคิดถึงบทบาทของการมีส่วนร่วมที่แท้จริง มากกว่าการใช้ภาพของอดีตเป็นตัวตั้ง 

ภาพที่ปรากฏภายหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 คือภาวะการตอบรับของประชาคมในแต่ละมหาวิทยาลัย ที่แม้จะไม่คึกคัก แต่ก็สามารถสร้างภาวะการมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการขยายตัวของแรงสนับสนุน เกิดการสร้างเครือข่าย โดยหากพิจารณาจากภาวะเหตุการณ์ทั่วไป ที่ใช้โอกาสเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการมีส่วนร่วม ก็ต้องประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

แต่หากพิจารณาจากระยะเวลาภายหลัง ปี 2535 ภาวะการตื่นตัวก็กลับคืนสู่ระดับปกติ ที่ไม่มีการสานต่อ หรือกลุ่มที่ทำงานเคลื่อนไหว ทำงานกิจกรรมเพื่อสังคม ก็ยังหดพื้นที่ของการทำงานให้เหลือเท่าเดิม เราจึงต้องถามต่อว่า ในภาวการณ์มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความคึกคักตื่นตัวนั้น เราตีกรอบและสร้างภาพ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายไว้อย่างไร 

ภาพขยายของการตีความชุมชน 

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ในยุคสมัยที่กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม เริ่มต้นเรียนรู้ที่จะถามหาความหมายของชุมชน จนกระทั่งการเปิดตัวของชุมชนออนไลน์ ความหมายใหม่ที่ได้รับการตอบสนองเข้ามา คือแนวคิดในเชิงพื้นที่ ที่ต้องพิจารณาจากความเป็นจริง และสร้างความจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จนกระทั่งมีการพูดกันว่า ความหมายของชุมชน และกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมที่แท้จริงนั้น อาจสอดคล้องกับข้อเสนอที่เบาบาง และเรียบง่าย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาคมในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเลิกยึดติดกับคัมภีร์ และกรอบการเคลื่อนไหวทางทฤษฏีที่ตายตัว 

คำถามในขณะนี้ จึงเริ่มต้นชัดเจนว่า แท้จริงแล้วขบวนการกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น รุ่งเรืองหรือตกต่ำ หรือเพราะการขยายตัวของค่ายชนบทที่เห็นอยู่มากมาย เป็นไปในเชิงปริมาณมากกว่าขยายตัวในเชิงเนื้อหาสาระ และคำถามสำคัญว่า การสร้างให้เกิดการรวมตัว และมีส่วนร่วมกันนั้น จำเป็นต้องมาพบปะพูดจา พูดคุยในห้องชุมนุม ชมรม สโมสร เพียงอย่างเดียวหรือไม่ 

มิติความสำเร็จในการระดมการมีส่วนร่วม โดยใช้โลกออนไลน์ได้รับการตอบสนอง และได้รับการจัดการ จนหลายครั้งที่เห็นความเปลี่ยนแปลง มีการร่วมมือ ร่วมกิจกรรม จนก่อให้เกิดชิ้นงานได้จริงในหลายครั้งที่ผ่านมา หรือกระทั่งมุมมองในฐานะของชุมชนออนไลน์มากมายที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม ก็มีการปรากฏรูปแบบการรวมกลุ่ม และสร้างกิจกรรม ก่อให้เกิดชุมชนแบบใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย  

แต่สิ่งสำคัญคือ โจทย์และคำถามถึงความรุ่งเรืองของกิจกรรมเพื่อสังคม กลับไม่ได้เจือจางของหายไปจากวงพูดคุยแม้แต่น้อย ภาพความรู้สึกและการรับรู้ว่าความตกต่ำของกิจกรรมเพื่อสังคมยังคงดำรงอยู่นั้น เป็นเสมือนบทบาทสมมุติที่แวดวงกิจกรรมสร้างขึ้นมา เพื่อพิจารณาสถานะและทิศทางขององค์กรตนเอง

ขณะที่กลุ่มและกิจกรรมมากมาย ในระดับช่วงวัยของนักศึกษา หรือกระทั่งการจัดกิจกรรมขององค์กรธุรกิจมากมาย ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นและนักศึกษา กลับมีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น ตามกระแส Event marketing ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ใช้ศักยภาพของบุคลากรที่เติบโตขึ้นจากกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นแกนหลักในการทำงาน หรือประกอบจากสาขาวิชาชีพ ทางด้านศิลปะการแสดง นิเทศศาสตร์ ที่ผสมผสานให้เกิดกลุ่มกิจกรรมในกลุ่มวัยรุ่นมหาวิทยาลัย

ทำไมในขณะที่กิจกรรมเพื่อสังคม กำลังตะโกนบอกถึงความตกต่ำ แต่กลุ่มกิจกรรมกลับเพิ่มความหลากหลาย และขยายจำนวนขึ้น  หากมองแบบกำปั้นทุบดินจะพบว่า เพราะกรอบในการพิจารณา กรอบการมองของกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ใช้ในการสร้างแนวร่วม ไม่สามารถรวมกันมองว่า กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษาที่สนใจจะร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับคลื่นวิทยุ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่ต่อเนื่องในการออกค่ายรวมกับตนได้ เท่ากับที่ไม่สามารถประยุกต์การมีส่วนร่วมของชุมชนวรรณกรรมออนไลน์ที่จัดระดมสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร

สิ่งเหล่านี้ คือเรื่องจริงที่สะท้อนออกมาจากกรอบทางวัฒนธรรม ของกลุ่มองค์กรกิจกรรมเพื่อสังคม ที่แข็งกร้าวจนไม่อาจสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มคนที่มีตัวตน มีชีวิต และมีความต้องการกิจกรรมที่แท้จริงได้ โดยเชื่อมั่นเพียงว่า การสร้างภาวะมีส่วนร่วม มีหนทางไม่กี่อย่าง ต้องมีชั้นตอนระดมความคิดเห็น ร่วมลงแรง ร่วมระดมสมอง และขั้นตอนมากมาย จนตกผลึกเป็นคนในค่าย 

มายาภาพเหล่านี้ ไม่เพียงทำลายขั้นตอนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง หรือการจัดแบ่งวาระโอกาสที่เหมาสมให้เกิดขึ้น จนกระทั่งสร้างการมีส่วนร่วมที่พยายามขจัดข้อจำกัดในการเข้าร่วมให้น้อยที่สุด เหล่านี้ คือองค์ประกอบที่คิดว่า กลุ่ม ชุมนุม ชมรม กำลังรื้อกระบวนการถกเถียงภายใต้ความคาดหวัง ที่ยังไม่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาภาวะที่คนอื่นไม่อยากมีส่วนร่วม และไม่อยากเข้าร่วมกับกิจกรรมเพื่อสังคม 

องค์ประกอบเพื่อเปลี่ยนแปลง 

ความหมายหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับกรอบการพูดคุยที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งมีหน่วยงานมากมาย ในแง่มุมมองของอาสาสมัครเพื่อสังคม และกลุ่มเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เติบโตขึ้นมาจากแวดล้อมของกิจกรรมเพื่อสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย พยายามหาทางออกร่วมกับน้องๆรุ่นใหม่ในชุมนุม ชมรมนั้น เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัด ที่ยากปฏิเสธข้อหนึ่ง  คือเมื่อถึงระยะเวลาช่วงหนึ่ง กลุ่มคนทำงานที่เติบโตขึ้นมา ภายหลังเรียนจบ หรือกระทั่งทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ยังมีโอกาสทำงานเกี่ยวเนื่องกับน้องๆในมหาวิทยาลัย ต้องพบกับบทสรุปถึงภาวะการดำรงชีวิต การแก้ปัญหาข้อจำกัดส่วนตัว ข้อจำกัดของครอบครัว การเติบโตในหน้าที่การงาน การเติบโตในสายอาชีพ สายวิชาชีพ จนทำให้ต้องตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเส้นทางการทำงาน หรือหากไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจต้องปรับสถานะตนเอง จนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 

แต่สิ่งที่เราจะสังเกตเห็นได้ก็คือ กลุ่มก้อนที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวในชุมนุมชมรม องค์กรกิจกรรมมากมาย ได้แยกย้ายและเติบโตในหน้าที่การงาน โดยธรรมชาติ โดยขาดการเชื่อมโยงติดต่อ หรือหากเชื่อมโยงติดต่อกันได้ ก็เป็นความสัมพันธ์ในระดับกลุ่ม ระดับบุคคล มากกว่าที่จะมีความเชื่อมโยง ให้รุ่นน้องและรุ่นพี่ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแปลงทัศนะคติ ความคิดเห็น และการเติบโต อย่างต่อเนื่อง

โดยสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นภาวะที่ขาดหายอย่างยากปฏิเสธ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หากถามว่า กระบวนการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการถ่ายทอด จากความคิดเห็น ทัศนะคติ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องมีผลอย่างไร

เราคงต้องมองความเชื่อมโยงสำคัญว่า ขั้นตอนการทำงาน องค์ความรู้ และประสบการณ์เหล่านี้ จะไม่ได้รับการเชื่อมโยงเด็ดขาด หากไม่มีกระบวนการนี้ ซึ่งเมื่อไม่มีก็จำเป็นต้องถกเถียงเพื่อให้เกิดเนื้อหาเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พอเพียงต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการย้ำอยู่ในรอยทางเดิมอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้

คำถามที่ตามมาก็คือ ภาพเหล่านี้ ก็จะยังคงเป็นต่อไป ตามเท่าที่เรายังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการรวมกลุ่มที่แท้จริง ทั้งในรูปของความภาคภูมิใจส่วนบุคคล หรือความภาคภูมิใจเชิงวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มรวมตัวได้จริง คำตอบเหล่านี้ เป็นมุมมองในเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แท้จริงของผู้คน ของกลุ่มคน ที่ต่างประทับใจและอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม

แต่เพราะว่า วิถีชีวิตเป็นสิ่งที่แต่ละคนต่างต้องแบกรับ ต่างต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่การงาน จนบางครั้งไม่สามารถเชื่อมโยงที่จะกลับมานั่งถ่ายทอดแลกเปลี่ยนให้กับรุ่นน้องได้เข้าใจถึงคำถามบางอย่าง จนไม่จำเป็นต้องกลับมาถามซ้ำถามซากให้ยุ่งยาก ภายใต้มุมมองของการสั่งสมประสบการณ์ การเรียนรู้ และองค์ความรู้อันแท้จริง  มากกว่าต้องคิดค้นหากระบวนการใหม่ๆอยู่เสมอ 

บทสรุปสู่ความเปลี่ยนแปลง 

ปัจจัยสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้ อยู่บนพื้นฐานสำคัญ ของการผลิตซ้ำที่เรามักจะพยายามหาข้อสรุป ว่าในขั้นตอนเหล่านี้นั้น ทำไมจึงต้องพูดหลายครั้ง ขุดกระบวนการคิด เพื่อถามหาว่า ควรจะทำอย่างไรอยู่ตลอดเวลาในทุกๆปี ของวิถีชีวิตเด็กกิจกรรมรุ่นใหม่ ที่ต้องการกระทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม แต่ติดขัดว่ากิจกรรมเพื่อสังคมไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่ได้รับความสนใจ ทำงานยาก และผู้คนทั่วไปไม่ค่อยจะเข้าใจ 

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ภายหลังเหตุการณ์สึนามินั้น มีการประเมินว่า อาจจะสามารถนำปรากฏการณ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เข้าใจถึงการเสียสละ การกระทำเพื่อคนอื่น และการเป็นคนดีของสังคม โดยใช้เหตุการณ์ของโศกนาฏกรรมเป็นจุดเชื่อมโยง

แต่เหตุการณ์เหล่านั้น ก็ลางเลือนและสูญหายไปพร้อมกับบาดแผลและรอยของความสูญเสีย  วันนี้เราคงต้องกลับมาคิด ถึงบทบาทการสร้างชุมชน สร้างวัฒนธรรม และสร้างข้อต่อสำคัญรองรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตของเด็กกิจกรรม ที่พร้อมจะเติบโต และต้องเติบโตเพื่อรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง และชีวิตของคนอื่น

โดยสิ่งที่ขาดหายไปนั้น คือข้อต่อสำคัญ ของการถ่ายทอดประสบการณ์ และการร่วมสร้างวัฒนธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานแท้จริงของชุมชน เพราะสิ่งที่เราจะเห็นจากภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็คือ สุดท้ายศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามวันเวลาของคนที่มาจากเด็กตึกกิจ หรือเด็กกิจกรรม คือภาพของนักการเมือง นักเคลื่อนไหว อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักกฎหมาย  ผู้พิพากษา  นักธุรกิจ และผู้คนในแทบทุกวิชาชีพ ที่รอคอยจังหวะของการโคจรมาพบเจอในรูปแบบใดบ้าง จะเป็นการพบเจอในแง่การต่อรอง สนับสนุน คัดง้าง หรือต่อสู้ในรูปแบบใดก็ตาม

แต่หากไล่รุ่นไล่ความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ขึ้นไป ก็จะพบว่า ต่างเติบโตจากหน่ออ่อนแห่งความปรารถนาดี และความต้องการที่จะทำงานเพื่อสังคม ทำกิจกรรมเพื่อสังคมแทบทั้งสิ้น หากพิจารณาในจุดนี้ เราก็จะคำตอบของข้อต่อสำคัญ ก็คือ สิ่งเหล่านี้ เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้นทุนทางความสัมพันธ์ ที่แวดวงกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ได้นำมาสู่การสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์

จนกระทั่งสิ่งเหล่านี้ ลางเลือนไปตามความสัมพันธ์กลุ่มย่อยและส่วนบุคคล มากกว่าจะถูกผลักดันเชื่อมโยงให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างแท้จริง โครงสร้างทางวัฒนธรรมส่วนนี้ คือ ความหลงลืมที่ทำให้เราต้องนั่งถามหา ว่าในแต่ละความจริงของสิ่งเหล่านี้ คือต้นทุนสำคัญที่สูญหายไปตามกาลเวลา เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องใช้ศักยภาพและพลังงานในการสร้างให้การถกเถียงพูดคุยในแต่ละปี อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ด้วยคำถามสุดยอดอมตะ โดยไร้ซึ่งการเชื่อมโยงบทเรียนจากอดีต มาจากพลังงานในอดีต มาสู่การถ่ายทอดของวันนี้

หมายเลขบันทึก: 40170เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท