"มนุษย์"ปัจจัยแรกแห่งการพัฒนา


จุดเริ่มต้นของธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเกิดจาก"มนุษย์"

     ตั้งแต่ยุควิกฤตทางการเงินและวิกฤตทางเศรษฐกิจปี พ.ศ.๒๕๔๐ ณ วันนั้นจนถึงวันนี้ ทำให้ภาครัฐหันมาตระหนักถึงกรอบด้านความมั่นคงของมนุษย์กับแนวทางพัฒนาสังคมไทยมากขึ้น และรัฐเริ่มให้ความสำคัญในความมั่งคงของอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา

     เมื่อย้อนเวลากลับไปในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารซึ๋งเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศ เน้นการพัฒนาโดยมองว่ามนุษย์หรือประชาชนในประเทศมีความสำคัญเพียงแค่ปัจจัยการผลิตหนึ่งที่นำไปสู่ความมั่งคั่ง และความเจริญสูงสุดทางเศรษฐกิจ  แต่หาได้ตระหนักว่ามนุษย์ตาดำๆกว่า ๖๐ ล้านคนนี้ควรจะเป็นศูนย์กลางในการที่รัฐจะกำหนดทิศทางในการดำเนินนโยบายทางการลงทุน การเงิน การค้าและที่สำคัญคือการพัฒนา กล่าวคือ การพัฒนาต่างๆ ต้องล้วนนำไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องจากการพัฒนาความมั่นคงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคงด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงด้านส่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิถีทาง(Means)ที่จะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีและความผาสุกของมนุษย์ทั้งสิ้น

     ผลพวงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับก่อนๆที่ เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยถือว่า มนุษย์เป็นเพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตเพื่อความเติบโตเชิงปริมาณเม็ดเงินหรืมูลค่าการส่งออกอันเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และแม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ จะเริ่มมีแนวโน้มที่จะพัฒนามนุษย์มากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการพัฒนามนุษย์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสำคัญของมนุษย์หรือคนไทยเป็นเพียงแค่วัตถุหรือทรัพยากรอันเป็นปัจจัยในการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้เป็นกอบเป็นกำเข้าสู่ประเทศเท่านั้น ทั้งๆที่การพัฒนามนุษย์เพื่อให้เกิดความมั่งคงและความผาสุกของประเทศชาตินั้นควรจะเป็นการพัฒนาในแง่คุณภาพของคนทั้งชีวิต เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย จึงจะเกิดความมั่นคงในด้านต่างๆ ตามมา  อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับดังกล่าวก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนแนวคิดของการพัฒนามาเป็น "คน"เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็เป็นเพียงวิธีการหรือเครื่องมือประการหนึ่งในการพัฒนามนุษย์และการเพิ่มขีดความสามารถของคนและสภาพทางสังคม เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนไทยทุกผู้ทุกนาม รวมทั้งการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสังคม จึงเป็นการจุดชนวนการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนที่มุ่งเน้นความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบันและนับเป็นครั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ

     การพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์คืออะไร?

เป็นปัญหาพื้นฐานในทางปรัชญาแรกที่ควรพิจารณา คำว่าพัฒนา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.๒๕๒๕ มาจากคำว่า พัฒน-,พัฒนะ เป็นคำกริยา หมายความว่า ทำให้เจริญ  คำว่าการพัฒนาจึงหมายถึงการทำให้เจริญ

คำว่ามั่นคง เป็นคำกริยาวิเศษณ์ หมายถึงแน่นและทนทาน,ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น

ดังนั้นการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์จึงหมายถึงการทำให้มนุษย์เจริญงอกงามและเติบโตในด้านต่างๆอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์อย่างยั่งยืนได้แก่ สุขภาพกายและสุขภาพจิต อนามัยและโภชนการ การศึกษา ชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว การพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และการพัฒนาประชารัฐ

     ทำไมต้องพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์?

เนื่องจากมนุษย์เป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิและมีหน้าที่ตามกฎหมายในทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินอันเป็นต้นทุนในการก่อให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจเป็นต้น นอกนี้มนุษย์มีหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตในการพัฒนา เป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีกด้วย ความมั่นคงของมนุษย์จึงเป็นปัจจัยในการสร้างรากฐานและส่งเสริมอันมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน 

     สิ่งใดเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์?

ข้อจำกัดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและการพัฒนาประเทศในระยะยาว คือ

๑. ปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่สะสมมานานและการที่ทุกฝ่ายไม่ได้แก้ไขอย่างจริงใจและจริงจัง

๒.การบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจมหาภาคที่ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยมีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือ

การเปิดการค้าเสรีหรือตลาดเสรีเพื่อเร่งรีบในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยปราศจากการใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น  จนเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปิดเสรีทางการเงินโดยขาดการกำกับดูเเละตรวจสอบประสิทธิภาพของรัฐ

โครงสร้างการผลิตที่อ่อนแอ เนื่องมาจากการพึ่งพาเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากต่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยไม่พยายามที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นอกจากนี้ด้านพลังงาน ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมันจากต่างประเทศจำนวนมากจากต่างประเทศโดยไม่พัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

๓.ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบรวมศูนย์ และความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของภาครัฐ เกิดปัญหาสมองไหลไปสู่ภาคเอกชนและต่างประเทศ

๔.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่มีค่านิยมทางวัตถุและสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น ชนชั้นกลางสะสมเงินไว้และประหยัด และระมัดระวังค่าใช้จ่ายสินค้าที่เป็นปัจจัยสี่ในชีวิตประจำวัน เช่น พฤติกรรมในการับประทานอาหาร และการจับจ่ายใช้สอย ที่เลือกราคาถูกและมีคุณภาพ เพื่อไปซื้สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รองเท้า เครื่องสำอาง กระเป๋า ทำให้ตลาดระดับกลางได้รับผลกระทบ(เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง.หมุนตามโลก.มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๓๐ มิถุนายน ถึง ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ปี่ที่ ๒๖ ฉบับที่ ๑๓๕๐)

 

     อะไรคือยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความมั่งคงของมนุษย์?

การกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งเชิงนโยบายโดยเฉพาะด้านกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการแก้ปัญหาได้เร็วที่สุดเนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ในการจัดระเบียบทางสังคมและมีสภาพบังคับให้ปฏิบัติตาม เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นต้น เพื่อการพัฒนาคนที่ยั่งยืนได้แก่การเพิ่มศักยภาพคน การกระจายรายได้และการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ภูมิภาคและชนบท 

     ๑.การเพิ่มศักยภาพคน ได้แก่

การพัฒนาด้านการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยแรกที่เป็นพลวัตรหรือแรงขับเคลื่อนในเกิดขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน เพราะทุนของมนุษย์ที่จะติดตัวพวกเขาตลอดไปก็คือทุนทางปัญญาอันได้แก่ความรู้ ทักษะ และค่านิยมที่จะนำไปสู่รายได้หรือผลผลิตที่มีประโยชน์อื่นๆทั้งต่อบุคคลและสังคมในระยะยาว และการศึกษายังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์(right to education)ตามมาตรา ๔๓ วางหลักเรื่องการศึกษาขึ้นพื้นฐานว่าต้องไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและมาตรา ๘๑ วางหลักว่าการจัดการศึกษาอบรมดังกล่าวต้องก่อให้เกิดความรู้คู่คุณธรรมและการปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการรับรองของปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติซึ่งได้วางหลักไว้ว่า"การศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่การศึกษาในระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้โดยอยู่บนพื้นฐานของความสามารถ"  อันเป็นการยืนยันหลักที่ว่ารัฐควรที่จะพัฒนาทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปพร้อมๆกับการพัฒนาสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธจึงควรจบรรจุมีเรื่องคุณธรรมและศีลธรรมเพิ่มเติมเข้ามาในนโยบายในการพัฒนาประเทศตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้คนมีความรู้คู่คุณธรรมเพื่อเป็นการศึกษาที่มีลักษณะกล่อมเกลาสังคม  และการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพที่เท่าเทียมกันเพื่อลดการทิ้งถ่นฐาน และการส่งเสริมการใช้ข้อมูลสารสนเทศเข้ามาช่วย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

การส่งเสริมและพัฒนาด้านสุขภาพ อนามัย สุขภาพจิต  ด้านสุขภาพกายและโภชนการ ด้านสุขภาพกายต้องลดการใช้เทคโนโลยี รัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้สมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนคุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูประบบสุขภาพประชาชนกระจายไปสู่ภาคชนบทให้มีแพทย์ บุคคลกรทางสุขอนามัย และอุปกรณ์ทางการเเพทย์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการรักษาพยาบาลสุขภาพอนามัยผู้ป่วยในชุมชน นอกจากนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจัดบริการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดต่อและดูแลสุขภาพของตนเบื้องต้นและส่งเสริมการออกกำลังกาย ด้านสุขภาพจิต ส่งเสริมให้มีการฝึกจิตใจโดยการฝึกสมาธิและปฏิบติธรรม ตามศาสนาของตน ทั้งกิจกรรมร่วมกันเช่น การแข่งขันกีฬาภายในชุมชนเพื่อให้เกิดความผูกพันใกล้ชิดและก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เนื่องจากสุขภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นรากฐานของมนุษย์ที่จะเป็นแรงกำลังในการก่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่างๆ ตามมา ส่วนด้านโภชนาการ หรือการบริโภคอาหารนั้น มีการอบรมและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการให้คนในชุมชนบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะและเสนอแนะว่าอาหารชนิดใดเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและชี้ให้เห็นโทษของอาหารที่ก่อให้เกิดโรคหรือผลเสียต่อร่างกาย เช่น บริโภคอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ เป็นต้น

ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรส่งเสริมให้มีการจัดสภาพแวดล้อมและสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับสภาพของงาน สอดคล้องกับสุขอนามัยและถูกสุขลักษณะและมีการประเมินการจัดการและปรับปรุงสภาพแวดล้อมตลอดเวลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งควรจัดคณะเเพทย์และพยาบาลในสถานประกอบการหรือหน่วยงานดูแลสุขภาพจิตควบคู่กับการดูแลสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน

ด้านชีวิตครอบครัวและความปลอดภัยในชีวิตของเด็กและสตรี รัฐควรส่งเสริมและให้ความรู้ในการวางเเผนครอบครัว เช่น การสมรสกันเมื่อพร้อม มีบุตรเมื่อพร้อมทางด้านการเงน เป็นต้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาครอบครัวซึ่งเกิดจากปัญหาความยากจนและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และพยายามปลูกฝังค่านิยมว่าหญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน ทั้งหญิงและเด็กมิใช่เหยื่อของความรุนแรงและหญิงยังมีบทบาทสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัวได้เช่นเดียวกับชาย จึงควรอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและจุนเจือกันเพื่อสร้างรากฐานครอบครัวที่มั่นคงและสงบสุข

     ๒. การกระจายรายได้และการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ภูมิภาคและชนบท โดยเริ่มจากการส่งเสริมสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักในการร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน สร้างกระแสท้องถิ่นนิยม ตลอดจนการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสังคม ปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องและเอื้อต่อการคุ้มครองและบังคับภายในชุมชนได้จริง เช่น การสร้างองค์การบริหารส่วนตำบลที่เข้มแข็งทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีความรู้เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาอย่างแท้จริง เป็นต้น  ทั้งนี้รัฐต้องเปิดโอกาสให้มีการวิจัย ค้นคว้าและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและมีการส่งเสริมภาคธุรกิจในชุมชนอย่างเหมาะสม เช่น ส่งเสริมการผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและมั่งคง เพื่อก่อให้เกิดเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ยังรัฐยังต้องสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น เพื่อเป็นพื้นฐานให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้  รัฐควรให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในชุมชนให้สามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดเสรีโดยการให้การช่วยเหลือด้านเงินทุน ข่าวสารและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการและบริหารธุรกิจของตน

      ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนนั้นต้องพิจารณาและดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวมกล่าวคือการพัฒนาทั้งตัวคน พฤติกรรม จิตใจและปัญญาควบคู่ไปในขณะเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเชิงวัฒนธรรมเข้ามาหลอมรวมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์(ผู้ประเสริฐ) และการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยกรมนุษย์ มองมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อันเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมไทยที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับปัจเจก ระดับชุมชน และระดับประเทศในการสร้างความคุ้มกันจากภายในตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปสู่ระดับประเทศ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนซึ่งเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่ยั่งยืน

     บทความอ้างอิง:

พัชราวลัย วงศ์บุญสิน และเกื้อ วงศ์บุญสิน,ศ.ดร.วิกฤตเศรษฐกิจกับความมั่งคงของมนุษย์.เอเชียปริทัศน์ ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ มกราคม ถึงเมษายน ๒๕๔๒

วีรบูรณ์ วิสารทสกุล.กระบวนการหารือกับภาคประชาสังคมเพื่อกำหนดเเนวทางการสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยของธนาคารโลก. กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ๒๕๔๔

วงออน พัวพันสวัสดิ์.บทบาทของเศรษฐกิจโลกในวิวัฒนาการนโยบายการศึกษา.รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๓ กันยายนถึงธันวาคม ๒๕๔๙,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 40151เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • อยากเห็นพัฒนาที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง
  • ใช้ชุมชนเป็นฐาน ไม่ใช่รัฐบาลใช้เงินล่อ สั่งทำโน่นทำนี้ ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืนเลย

     จริงค่ะ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มจากการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ก่อน และเราย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นชุมชน หรือเรียกได้ว่า"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม"  ชุมชนนี่เองที่เป็นสังคมพื้นฐานที่หลวมรวมเอาความกลมกลืนทางด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนศีลธรรม ภูมิปัญญาอันดีงามที่สั่งสมร่วมกัน

     ดังนั้นการพัฒนาจึงควรต้องมองไม่เพียงแค่มนุษย์หรือชุมชนเป็นฐานการผลิตเท่านั้น แต่ควรจะพัฒนาลึกไปถึงความต้องการพื้นฐานของชุมชนและสิทธิชุมชนที่จะกำหนดแนวทางของตนในด้านการประกอบอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน ตลอดจนความเป็นอยู่อันสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของเขา  เงินหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน

     แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องมาจากการที่มนุษย์ที่อยู่ร่วมในเป็นชุมชนนั้นมีจิตสำนึกที่จะพัฒนาชุมชนของตนตามสิทธิที่ตนมีอยู่และรัฐควรส่งเสริมภูมิปัญญาชุมชนและส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นแนวทางตามพระราชดำริของในหลวงเพื่อความสอดคล้องกับการพัฒนาของชาติไทยของเรา

เห็นด้วยคะที่ว่ามนุษย์ถือเป็นปัจจัยแรกแห่งการพัฒนาเพราะว่ามนุษย์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นบ่อเกิดของปัจจัยต่างๆเกือบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้นั้นโลกของเราไมการพัฒนาไปอย่างมาก ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เป็นอย่างนี้ นั่นก็คือการรู้จักคิด รู้จักค้นคว้าของมนุษย์นั่นเอง แต่ถ้ามองให้ลึกซึ่งแล้วจะพบว่าแม้ว่าความเจริญทางด้านวัตถุของมนุษย์นับวันก็มีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ความเจริญทางด้านจิตใจทำไม่มันไม่พัฒนาและเติบโตมันไม่เจริญเติบโตไปพร้อมๆกัน สังเกตได้ง่ายๆคะ  ตามพาดหัวของหนังสือพิมพ์ทุกเช้า หัวฮิตประจำหน้าหนังสือพิมพ์ ก็คือข่าว ฆ่า และข่มขืน ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกวัน

   เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆกันด้วยนะคะ

มนุษย์ปัจจัยแรกแห่งการพัฒนายังไม่จบเพียงเท่านี้ เดี๋ยวจะมีต่อเพิ่มเติมในบล็อกนี้ค่ะ

ไม่ มี อะ ไร ครับ มา เล่ม เฉยๆๆ ครับ อิอิ 55

ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท