การป้องกันตนเองจากอุทกภัย


อุทกภัย

อุทกภัยคือ ภัยและอันตรายที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมฉับพลัน มีสาเหตุมาจากการเกิดฝนตกหนักหรือตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน

สาเหตุของอุทกภัยในประเทศไทย

1.หย่อมความกดอากาศต่ำ

2.พายุหมุนเขตร้อน ไ้ด้แก่ พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน พายุใต้ฝุ่น

3.ร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำ

4.ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

5.ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

6.เขื่อนพัง

ลักษณะของการเกิดอุทกภัย

ลักษณะของอุทกภัยมีความรุนแรง และรูปแบบต่างๆกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ โดยมีลักษณะดังนี้

1.น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน มักจะเกิดขึ้นในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ภูเขาต้นน้ำ เกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้จำนวนน้ำสะสมมีปริมาณมากจนพื้นดินและต้นไม้ดูดซับไม่ไหวไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงระดับหนึ่ง ที่ทำให้บ้านเรือนพังทลายเสียหาย และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

2.น้ำท่วมหรือ น้ำท่วมขัง เป็นลักษณะของอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก ที่ไหลบ่าในแนวระนาบ จากที่สูงไปยังที่ต่ำเข้าท่วมอาคารบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย หรือเป็นสภาพน้ำท่วมขัง ในเขตเมืองใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนัก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุมาจากระบบการระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ หรือเกิดน้ำทะเลหนุนสูงกรณีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล

3.น้ำล้นตลิ่ง เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ที่ไหลลงสู่ลำน้ำหรือแม่น้ำมีปริมาณมากจนระบายลงสู่ลุ่มน้ำด้านล่าง หรือออกสู่ปากน้ำไม่ทันทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนตามสองฝั่งน้ำ จนได้รับความเสียหาย ถนน หรือสะพานอาจชำรุด ทางคมนาคมถูกตัดขาด

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย

1.น้ำท่วมอาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างและสาธารณสถาน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อย่างมาก บ้านเรือนหรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง จะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพังทลายได้ คนและสัตว์พาหนะและสัตว์เลี้ยงอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตจากการจมน้ำตาย

2.เส้นนทางคมนาคมและการขนส่ง อาจจะถูกตัดเป็นช่วงๆ โดยความแรงของกระแสน้ำ ถนน และสะพานอาจถูกกระแสน้ำพัดให้พังทลายได้ สินค้าพัสดุอยู่ระหว่างการขนส่งจะได้รับความเสียหายมาก

3.ระบบสาธารณูปโภค จะได้รับความเสียหาย เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ไฟฟ้า และประปา ฯลฯ

4.พื้นที่การเกษตรและการปศุสัตว์ จะได้รับความเสียหาย เช่น พืชผล ไร่นา ทุกประการที่กำลังผลิดอกออกผล อาจถูกน้ำท่วมตายได้ สัตว์พาหนะ วัว ควาย สัตว์เลี้ยง ตลอดจนผลผลิตที่เก็บกักตุน หรือไว้เพื่อทำพันธุ์จะได้รับความเสียหาย ความเสียหายทางอ้อม จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทั่วไปเกิดโรคระบาดสุขภาพจิตเสื่อม และสูญเสียความปลอดภัย เป็นต้น

วิธีปฏิบัติในการป้องกันตนเองและบรรเทาจากอุทกภัย

1.การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ควรกำหนดผังเมือง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวเมือง ไม่ให้กีดขวางทางไหลของน้ำ กำหนดการใช้ที่ดินบริเวณพื้นที่น้ำท่วม ให้เป็นพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำ เพื่อเป็นการหน่วงหรือชะลอการเกิดน้ำท่วม

2.การออกแบบสิ่งก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้มีความสูงเหนือระดับน้ำที่เคยท่วมแล้ว เช่น บ้านเรือนที่ยกพื้นสูงแบบไทยๆ เป็นต้น

3.การเคลื่อนย้ายวัสดุจากที่ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วม ให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยหรือในที่สูง

4.การนำถุงทรายมาทำเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม

5.การพยากรณ์และการเตรียมภัยน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมป้องกัน

6.การสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ และถนน เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำหรือเป็นการกั้นทางเดินของน้ำ เป็นต้น

การปฏิบัติตนเมื่อได้รับคำเตือน เรื่องอุทกภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา

ก่อนเกิดอุทกภัยควรปฏิบัติดังนี้

1.เชื่อฟังคำเตือนอย่างเคร่งครัด

2.ติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง

3.เคลื่อนย้ายคน สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และสิ่งของไปอยู่ในที่สูง ซึ่งเป็นที่พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน

4.ทำคันดินหรือกำแพงกั้นน้ำโดยรอบ

5.เคลื่อนย้ายพาหนะ เช่น รถยนต์หรือล้อเลื่อนไปอยู่ที่สูงหรือทำแพสำหรับที่พักรถยนต์ อาจจะใช้ถังน้ำขนาด 200 ลิตร ผูกติดกันแล้วใช้กระดานปูก็ได้

6.เตรียมกระสอบใส่ดินหรือทราย เพื่อเสริมคันดินที่กั้นน้ำให้สูงขึ้น เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงท่วมคันดินที่สร้างอยู่

7.ควรเตรียมเรือไม้ เรือยางหรือแพไม้ไว้ใช้ด้วย เพื่อใช้เป็นพาหนะในขณะน้ำท่วมเป็นเวลานาน เรือเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตได้ เมื่ออุทกภัยคุกคาม

8.เตรียมเครื่องมือช่างไม้ ไม้กระดาน และเชือกไว้สำหรับต่อแพ เพื่อช่วยชีวิตในยามคับขันเมื่อน้ำท่วมมากขึ้น จะได้ใช้เครื่องมือช่างไม้เปิดหลังคารื้อฝาไม้ เพื่อใช้ช่วยพยุงตัวในน้ำได้

9.เตรียมอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำรองไว้บ้าง พอที่จะมีอาหารรับประทานเมื่อมีน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลายๆวัน อาหารย่อมขาดแคลนและไม่มีที่หุงต้ม

10.เตรียมน้ำดื่มเก็บไว้ในขวดและภาชนะที่ปิดแ่น่นๆไว้บ้างเพราะน้ำที่สะอาดที่ใช้ตามปกติขาดแคลนลง ระบบการส่งน้ำประปาอาจจะหยุดชะงักเป็นเวลานาน

11.เครียมเครื่องเวชภัณฑ์ไว้บ้างพอสมควร เช่น ยาแก้พิษกัดต่อย แมลงป่อง ตะขาบ งู และสัตว์อื่นๆเพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมพวกสัตว์มีพิษ เหล่านี้จะหนีน้ำขึ้นมาอยู่บนบ้านและหลังคาเรือน 

12.เตรียมเชือกมนิลามีความยาวไม่น้อยกว่า 10 เมตรใช้ปลายหนึ่งผูกมัดกับต้นไม้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ในกรณีที่กระแสน้ำเชี่ยว และคลื่นลูกใหญ่ซัดมากวาดผู้คนลงทะเล จะช่วยไม่ให้ไหลลอยไปตามกระแสน้ำ

13.เตรียมวิทยุที่ใช้ถ่านไฟฉาย เพื่อไว้ติดตามฟังรายงานข่าวลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา

14.เตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และเทียนไข เพื่อไว้ใช้เมื่อไฟฟ้าดับ

ขณะเกิดอุทกภัย ควรตั้งสติให้มั่นคงอย่าตื่นกลัวหรือตกใจ ควรเตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ด้วยความสุขุม รอบคอบ และควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1.ตัดสะพานไฟ และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อย

2.จงอยู่ในอาคารที่แข็งแรง และอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน

3.จงทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

4.ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก

5.ไม่ควรเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเล่นในขณะน้ำท่วม

6.ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้านและหลังคาเรือน กัดต่อย เช่่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น

7.ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลมฟ้าอากาศ และติดตามคำเตือนเกี่ยวกับลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา

8.เตรียมพร้อมที่จะอพยพไปในที่ปลอดภัยเมื่อสถานการณ์จวนตัว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ

9.เมื่อจวนตัวให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าห่วงทรัพย์สมบัติ

   ตารางแ่ห่งอิสระภาพ        

KV  :  ''พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ในด้านการจัดการ ด้านการศึกษาเรียนรู้ ด้านการบริหาร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการผลิต ไปสู่การพัฒนาจังหวัดชุมพรเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน "

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4015เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2005 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท