วัฒนธรรมศึกษา


การเรียนรู้ยุทธศาสตร์การจัดการงานวัฒนธรรม และวัฒนธรรมกับการพัฒนา

การเรียนรู้ยุทธศาสตร์การจัดการงานวัฒนธรรม และวัฒนธรรมกับการพัฒนา

จากศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช

วันที่   4  กรกฎาคม  ..  2549

      

พระครูภาวนาสมาธิคุณ

 

                ตามที่นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เสนอ  รูปแบบ (MODEL)  ศึกษากรณีความสำเร็จในการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก  และเครือข่ายเกษตรธรรมชาติ จังหวัดพิจิตร  โดยใช้การวิเคราะห์ตามทฤษฎีระบบ  (System  Theory)  และ  SWOT นั้น ทำให้ทราบจุดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแนวความคิด (Concept)  และเสริมสร้างปัญญาจากการแลกเปลี่ยนความรู้หลายประการ  จะกล่าวเป็นลำดับสืบต่อไป

 

                ประการที่  1    ทฤษฎีรูปแบบ  ประกอบด้วย  INPUT, PROCESS, OUTPUT  และ  OUTCOME  เป็นลักษณะการวิเคราะห์เชิงวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์มากกว่าเป็นการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์

                การวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ จะเน้นไปยังบุคคล หรือชีวิต หรือวิถีชีวิต ซึ่งมีการพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามปัจจัย และสิ่งแวดล้อม  ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ และมีระบบซับซ้อน  จึงควรจะวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีไร้ระเบียบ (CHAOS  THEORY) หรือ  DYNAMIC  COMPLEX  SYSTEM  จะเหมาะสมกว่า

                ทำให้ทราบว่า  คนเป็นผู้สร้างความไร้ระเบียบในสังคม ความเป็นคนย่อมแตกต่างจากความเป็นมนุษย์

 

                ประการที่  2    ปัจจัยนำเข้า (INPUT)  ของทฤษฎีระบบ  เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ต้องแก้ไข  ยังเจาะลงไปไม่ได้ลึกอีกหลายสาเหตุ  ที่ต้องเอาเข้ามาวิเคราะห์ด้วย  เช่น  โครงการของรัฐบาลที่เข้าสู่องค์กร,  การทำงานของหน่วยงาน NGO,  ระบบการทำงานของข้าราชการ  เหล่านี้เป็นต้น  ที่มีผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรทั้งสอง  แต่ใน VCD  ไม่ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ผู้วิเคราะห์ระบบจะต้องเจาะลงไปให้ลึกกว่านี้ โดยนึกถึงสภาพที่เป็นจริงที่เคยพบด้วยตนเอง

                ทำให้ทราบว่า  สรรพสิ่งในสากลโลก  ไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ

   

                ประการที่  3    แนวความคิดในเรื่องวัฒนธรรม  หรือกระบวนการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม  อย่าไปยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีต  ต้องมองวิเคราะห์สภาวะปัจจุบัน  และสืบสาวไปยังอนาคต  เพราะว่า สภาวะการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในสังคมมนุษย์มีการพลวัตอย่างต่อเนื่อง

                ทำให้ทราบว่า  วัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องล้าสมัย  แต่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เพื่อให้เกิดความ          สมสมัยตามยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

                ประการที่  4    การวิเคราะห์โดยใช้  SWOT  ที่วิเคราะห์จุดอ่อน,  จุดแข็ง,  ภัยคุกคาม  และโอกาส ควรจะใช้วิธีคิดเชิงบวกเสริมเข้าไปด้วยในการยกย่อง  เยินยอ  (APPRECIATION)  เข้ามาวิเคราะห์ด้วย ซึ่งมีข้อดีมากกว่า  SWOT  ในแง่ที่มีความยืดหยุ่น  มีลักษณะการค้นหาความสำเร็จมาวิเคราะห์ เป็นการเสริมสร้างแรงบวก เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น และปิติ  นับว่าเป็นจิตวิทยาการกระตุ้นให้ทำงานอย่างภาคภูมิใจ

                ทำให้ทราบว่า การยกย่องเยินยอผู้อื่นมากเกินไป ต้องระวังในการตกขอบอย่างขาดสติสัมปชัญญะ

 

                ประการที่  5    ทุนนิยม  อย่าไปตีความหมายว่า  ทุนคือเงินตรา  แต่ทุนในที่นี้ หมายถึง ความรู้หรือปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน  เสมือนเป็นอริยทรัพย์ หรือทรัพย์ภายในทางหลักพุทธศาสนา

                ทำให้ทราบว่า ทุนนิยม   ในที่นี้  หมายถึง  ทุนทางด้านปัญญา

 

                ประการที่  6    เรื่อง  KM  (KNOWLEDGE  MANAGEMENT)   ถ้าทำได้ผลสำเร็จ  ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการรู้สึกผ่อนคลาย  มีความสุข  เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน  รู้การเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด และสามารถบริหารเวลาทำให้สร้างปริมาณงานได้มากขึ้น

                ทำให้ทราบว่า เรื่อง  KM  ต้องรู้จริงจากการปฏิบัติ  ไม่สามารถเข้าใจได้ภายในวันเดียวฉันใด     พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา  6  พรรษา ในการตรัสรู้  จึงสามารถสอนผู้อื่นได้

 

                ประการที่  7    การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ หรือ เครื่องมือการจัดการความรู้ในบล็อก (BLOG)  โดยผ่านเทคโนโลยี  IT  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ  และการจัดการความรู้ซึ่งกันและกัน  นับว่าเป็น        ขุมทรัพย์ความรู้ไว้ใช้งาน  และหมุนเวียนเกลียวความรู้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

                ทำให้ทราบว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ในยุคนี้  มีการปฏิวัติไปตามยุค  IT  ถ้าสามารถฝืนทวนกระแสในยุคนี้  เรียนรู้ไม่ใช้  IT  นับว่าเป็นเลิศในทักษะการเรียนรู้

  

                ประการที่  8    บทสุดท้าย  คือ  การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้หลังจากทำงานเสร็จแล้ว  (AAR  -  AFTER  ACTION  REVIEW)  โดยตั้งคำถาม  5  ข้อ  และให้ตอบตามความคิดของตนเอง

                ทำให้ทราบว่า “AAR  เป็นเครื่องมือประเมิน หรือ ตัวชี้วัดการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกันและกัน       ชี้วัดถึงประสบสำเร็จหรือล้มเหลว  หลังจากเรียนรู้เสร็จ

 

บทสรุป     

สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ในการเสริมสร้างปัญญา

1.       การใช้ทฤษฎีระบบ

2.       หลักการใช้ทฤษฎีไร้ระบบ

3.       วิธีการคิดในเชิงบวกในการยกย่อง

     เยินยอ

4.       การจัดความรู้ (KM)

5.       เครื่องมือการจัดความรู้ในบล็อก (BLOG)

6.       การแลกเปลี่ยนความรู้หลังจากทำงานเสร็จแล้ว  (AAR)

7.       ความสุขในการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้ตำราเรียน  ฃ

         (TEXT  BOOK)

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 40111เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กระผมอ่านแล้วได้ความรู้มากเลยครับ จะติดตามอ่านต่อไปครับ

นมัสการด้วยความเคารพครับ

โรงเรียนชาวนา   .สุพรรณบุรี

   พระครูภาวนาสมาธิคุณ เกริ่นนำ 

                วันที่  25  กรกฎาคม  .. 2549  นายแพทย์วิจารณ์    พานิช  และคุณอุรพิน  ชูเกาะทวด  ผู้ติดตามจาก กทม.  พร้อมด้วย  นิสิตปริญญาเอก  สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่อง  การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของชาวนาโรงเรียนชาวนา  .สุพรรณบุรี  โดยที่นิสิตแต่ละท่านสมมุติตนเองอยู่ในฐานะต่างๆ  จนมีวิธีคิดหลากหลายทั้งอยู่ในกรอบ และทะลุกรอบ  แต่ยังไม่ทะลุเป้าหมายอันที่ควร  เพราะได้ความรู้ในมิติแนวราบเท่านั้น

   

14  ท่าน  14  ความคิดเห็น

 1.  พระมหาชิต  ในฐานะชาวบ้านธรรมดา

                อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามวัฒนธรรมการเรียนรู้ ตั้งแต่ปราชญ์ชาวบ้าน จนถึงภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น

                เรื่องนี้  ถ้าเรายกย่องความเป็นปราชญ์ชาวบ้านในฐานะสูงเกินไป ก็ทำให้ยากในการติดตามการเรียนรู้ แต่ถ้าปราชญ์ชาวบ้านลดตนเองลงมา ก็ง่ายในการเรียนรู้  ความเป็นอัตตา ตัวกู  ของกู  เป็นตัวขัดขวางในการเรียนรู้

               

2.  คุณอาภรณ์ ในฐานะนักเรียนชาวนา

                อยากปรับเปลี่ยน  หรือปรับปรนวิธีการผลิตโดยใช้ความรู้เดิมบูรณาการกับความรู้ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาหรือทุกข์

                เรื่องนี้   นักเรียนชาวนาในโรงเรียนต้องลองผิดลองถูกหลายครั้ง  ไม่มีคำว่าสิ้นสุด  จนกว่าเอาชนะตัวทุกข์หรือปัญหาไปได้   ในขณะเดียวกัน  ตัวทุกข์หรือปัญหาก็พัฒนาตัวเอง  ไม่มีคำว่าสิ้นสุดเหมือนกัน  อย่าท้อเมื่อมีปัญหาหรือทุกข์  ไม่จนปัญญาถ้ารู้จักคิดยาว

 3.  คุณอุทิศ  ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด

                ต้องมีการประเมินผล  เพื่อแสดงถึง ความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของวัฒนธรรมการเรียนรู้ หรือ ส่งเสริมความสำเร็จของชาวนา

                เรื่องนี้  ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการใช้ทรัพยากรในการบริหารได้เต็มที่   สามารถเชื่อมโยงทุกหน่วยงานให้เป็นระบบ แต่ขึ้นกับเทคนิคในการบริหาร  จงให้ตนเป็นคุณอำนาจ หรือเป็นคุณอำนวย  เท่านั้นเอง

 4.  คุณสุธีรา  ในฐานะ  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร

                ต้องการลงไปคลุกคลีกับชาวนาอย่างมีส่วนร่วม ให้ชาวนาเลี้ยงตนเองได้  มีจิตสำนึกในความเป็นชาวนาอย่างเต็มตัว และในที่สุด ถอยห่างออกมา

                เรื่องนี้  ชาวนาจะทำหรือไม่ทำต่อ  ย่อมมีปัจจัยหลายประการที่เกื้อหนุน  คนไทยมักจะทำอะไรเป็นทีม ไม่ค่อยบรรลุผล  พอมีผลประโยชน์เข้ามา ก็จะขัดกันเอง นอกจากว่าสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และมี ผู้นำที่มีศักยภาพสูง  สามารถพาทีมงานไปได้ตลอดฝั่ง

 5.  คุณพรปวีณ์  ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย

                ความรู้ของนักวิชาการ  ต้องลดตนเองลงมาให้พอเสมอกับความรู้ของชาวบ้าน  ต้องลงไปในพื้นที่ด้วยความจริงใจ และเคารพต่อชาวบ้าน

                เรื่องนี้  ทิฏฐิ   คือ  พระ   มานะ คือ ครูบาอาจารย์  สิ่งนี้ขัดขวางในการเรียนรู้  จะเรียนรู้อะไรให้ลึกซึ้ง  ต้องถ่อมตนเอง และอ่อนน้อม  จนเขาศรัทธาเรา  เหมือนนักการเมืองตอนหาเสียง

 6.  คุณกุณฑลีย์   ในฐานะแพทย์ตำบล/อำเภอ

                จะสร้างกระบวนการเสริมสร้างสุขภาพของชาวนา  โดยมีธงชัยปลายทาง คือ ชาวนาต้องเป็นผู้เยียวยาตนเองก่อน และต้องเสริมสร้างสุขภาพตนเองอย่างมีความรู้

                เรื่องนี้  ถ้าชาวนามีสุขภาพกายและจิตสมบูรณ์ย่อมทำให้กระดูกสันหลังของชาติยั่งยืนได้  อดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคได้รับข้าวเคลือบด้วยสารพิษในสารเคมีมามิใช่น้อย แต่ชาวนาผู้ผลิตฉลาดกว่า รู้จักบริโภคข้าวซ้อมมือที่เคลือบด้วยวิตามิน

 7.  คุณทวัช  ในฐานะครู

                พยายามสร้างตนเองให้เป็นที่พึ่งของชาวนา โดยยกตนเองเสมือนครูบ้านนอก ที่รับอาสาได้หลายเรื่อง

                เรื่องนี้   หากเป็นครูรับใช้ชาวบ้าน หรือชาวนา  ไม่ลืมลูกศิษย์ที่โรงเรียน  นี่คือ  จิตวิญญาณความเป็นครู  พ่อเรือแจว  แม่เรือจ้าง  ที่ส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งโดยไม่หวังผลตอบแทนประการใด

8.  คุณธำรง  ในฐานะ  พัฒนาการ

                ชาวนาต้องสร้างวิธีคิดตามมุมมองของตนเอง เพื่อให้ขบวนการของชุมชนมีอำนาจ และสามารถพัฒนาตัวเองได้

                เรื่องนี้  พัฒนาการมาชี้ให้ชาวนาเดินตามแผนที่  แต่จะเดินหรือไม่เดินขึ้นอยู่กับชาวนาเอง เพื่อปรับวิถีชีวิตของชาวนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง และวัฒนาสถาพรต่อไป

 9.  คุณอันดุสสุโก  ในฐานะครูสอนศาสนาอิสลาม

                พยายามนำหลักธรรมทางศาสนามาเสริมจิตวิญญาณ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน คือ ให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ มีความบริสุทธิ์ใจ และรักต่อกัน

                เรื่องนี้  เป็นการชี้ชัดว่า  ทุกศาสนาย่อมสอนให้คนเราเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง  คือ เข้าถึงแก่น

 10.  คุณวิสุทธิ์  ในฐานะโต๊ะอิหม่าม

                ทางศาสนาอิสลาม  สอนว่า  ผลผลิตข้าวที่ได้มา 100%   ต้องแบ่งให้คนยากจน  5%  เป็นการแสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

                เรื่องนี้  เป็นการชี้ชัดว่า  เมตตาเป็นสิ่งค้ำจุนโลก  ตามหลักพุทธศาสนา

 11.  คุณแน่งน้อย  ในฐานะคุณนาย อบต.

                ปัจจัยหลักในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ อยู่ที่การยกระดับคุณค่า และร่วมชะตากรรมกัน

                เรื่องนี้   วัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เข้มแข็ง  อาจจะจำเป็นต้องมีคุณอำนวยเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชน การทำนาผู้ร่วมชะตากรรมกับชาวนา คือ ธรรมชาติมีหุ้นส่วนอยู่ด้วยมิใช่น้อย  น้ำมากไป  หรือน้อยไป  ต้นข้าวมีผลกระทบกระเทือนแน่นอน  ตายหรืออดร่วมชะตากรรมกับธรรมชาติ 12.  คุณอรพิณ  ในฐานะตัวแทนมูลนิธิข้าวขวัญ

                เป้าหมายของการเรียนรู้โรงเรียนชาวนา คือ  การเปลี่ยนวิธีคิด  โดยเอาต้นทุนการผลิตเป็นเป้าล่อ

                เรื่องนี้   การเปลี่ยนวิธีคิดของคนเรา มิใช่ง่ายอย่างที่คิด ต้องสร้างศรัทธาและผลงานให้เห็น จึงสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณชาวนาได้

 13.  นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ในฐานะผู้สอนแบบไม่สอน

                การเรียนรู้จากความรู้ทุติยภูมิ  เช่น  จากหนังสือ  หรือจากบล๊อค  สู้ความรู้จากปฐมภูมิ คือ ความรู้จากการปฏิบัติไม่ได้

                เรื่องนี้    ของเก่าดั้งเดิม ย่อมมีคุณค่ากว่าของเทียมเลียนแบบ  แน่นอน

 14.  พระครูภาวนาสมาธิคุณ  ในฐานะสมภารวัด

                ในวัฒนธรรมการเรียนรู้  ความรู้ต้องคู่กับคุณธรรม

                เรื่องนี้  ความรู้เปรียบเสมือนปีกนก  คุณธรรมเปรียบเสมือนขนนก   ถึงนกมีปีกแต่ไร้ขน ย่อมบินสูงไม่ได้ฉันใด  คนเรามีความรู้แต่ไร้คุณธรรมย่อมขึ้นสูงที่สูงไม่ได้ฉันนั้น เช่นเดียวกัน

 

สรุป

   

                14  ท่าน    14  ความคิดเห็น  นานาทัศนะ  ในฐานะ  ผู้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก  ขอเคารพ    ชาวนา  ในฐานะ  กระดูกสันหลังของชาติ  และ พระแม่โภสพ  ในฐานะ  เทพเจ้าของชาวนา  เอวัง       ก็มีด้วย ประการฉะนี้ฯ

 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท