อาชีพ...ชาวบ้านมีแล้วต้องจัดการ


"บางอย่างมันมีอยู่แล้วและรอคนที่เข้าไปจัดการ"

            การทำงานของครูอาสาสมัคร กศน. ที่ต้องลงไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่  ทำให้เราได้รู้ข้อมูล รู้วิถีการดำเนินชีวิตชุมชน รู้ถึงการประกอบอาชีพต่าง ๆ มีหลายเรื่องที่น่าทำและพัฒนาให้มันดีขึ้นกว่าเดิม  ดีที่ว่าคือดีกับชาวบ้านตาดำ ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ
            ในแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน  มีการประกอบอาชีพต่าง ๆ มากมาย  ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ แต่คนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ นั้นทำกันแบบตัวใครตัวมัน  มันไม่เกิดการเรียนรู้  ประชาชนหมู่ที่ 4 ตำบลไชยมนตรี  มีประชาชนที่เลี้ยงวัวเป็นอาชีพเสริม  อยู่  56  ครัวเรือน  ผมคิดว่า หากเราสามารถนำ  ผู้เลี้ยงโคทั้ง  56  ครัวมานั่งคุยกันได้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะนำไปสู่ระบบกลุ่ม
            ที่ร้านน้ำชา  ผมนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุยในร้านน้ำชากลางหมู่บ้าน (ร้านน้ำชาบ้านลุงแนม) หลายคนที่เลี้ยงโคมีความเห็นตรงกับผม  หลายคนไม่เห็นด้วยซึ่งก็ไม่ว่าอะไรผมนัดคนที่มีความเห็นตรงกัน ในครั้งแรก  10  คนมานั่งคุยเป็นการทำเวทีเล็ก ๆ  ตาแลน 
(นายสุชาติ  เรืองรุก) บอกว่า ต้องการที่จะมีแบบนี้มานานแล้ว อย่างน้อยมีเพื่อนคุยปรึกษาหารือ  ตาแลนเล่าว่า  “วันก่อนวัวป่วย ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ไม่ได้ หาหมอมาฉีดยาเสียเงินไป พันกว่าบาท  เข็มหนึ่งตกสองร้อยกว่าบาท” ผมถามต่อว่าที่ผ่านมาอาชีพเลี้ยงวัวมีปัญหาอะไรอีกบ้าง  ทุกคนนำ  เสนอเป็นเสียงเดียวกันว่าเรื่องหญ้าที่ใช้เลี้ยงวัว  ตอนนี้ที่สำหรับ เลี้ยงวัวลดน้อยลง  ทำให้ไม่ค่อยมีหญ้า  ผมก็รุกต่อทันทีว่าแล้ว   ต่อไปนี้ถ้าทุกคนจะเลี้ยงวัวต้องเลี้ยงอย่างไร  “ต้องปลูกหญ้า”  นี่คือคำตอบ 
            อีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา ผมได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนา สายพันธุ์โคพันธุ์พื้นเมือง ที่  บ้านน้ำพุ  หมู่ที่ 4 ตำบลไชยมนตรี  มีสมาชิก  11  คน  ให้ทุกคนเตรียมที่สำหรับทำแปรงหญ้าตามที่ ตนเองพึงทำได้  และใช้งบประมาณการศึกษาอาชีพ กศน. จัดซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้า ให้กับสมาชิกทุกคน และจัดซื้อ ยาถ่ายพยาธิ ยาบำรุง และติดต่อ  น้องบัญ(บัญญัติ  เนียมสงค์)  และน้องเอ็ม   อัมรินทร์  แซ่ฮ่อ(เพื่อนรุ่นน้อง) ซึ่งทำงานเป็นปศุสัตว์อาสา  มาให้ความรู้ถึงวิธีการปลูกหญ้าพืชอาหารสัตว์  โรคสัตว์   วิธีการ  ดูแลรักษา  การบ้านที่สั่งให้สมาชิกทำวันนั้นคือให้สมาชิกมาช่วยกัน ทำ พลี  (ซองสำหรับฉีดยาให้กับวัว) และนัดวันให้นำวัวมาฉีดยาใน วันอาทิตย์ถัดไป
           วันอาทิตย์  ที่กลางทุ่ง  พลีวัว เสร็จแล้ว  ยามีแล้ว  หมอก็มาแล้ว  สมาชิกจูงวัวกันมาเป็นแถว  ทุกคนพาวัวของตนเองเข้าพลี(ซอง) ทีละตัวเพื่อรับการฉีดยาถ่ายพยาธิ และยาบำรุง  ดูเป็นที่สนใจ ของคนเลี้ยงวัวที่ไม่เห็นด้วยในตอนแรกที่ผ่านไปผ่านมา  และบางคนซักถามว่าทำอะไรกัน  สมาชิกบอกว่าหมอมาฉีดยาวัว  เสียงบอกมาว่าบอกหมอด้วยว่าเดี๋ยวจะจูงวัวมาให้ฉีดด้วย  ตาแลน  บอกว่า   “ฉีดไม่ได้เพราะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก”          ผมนึกชมตาแลนอยู่ในใจ  แสบมาก  บางคนถามว่ารับสมาชิกใหม่อีก หรือไม่ ตาแลนบอกว่า  ถามน้องสำราญ
           หลังจากฉีดยาเสร็จ  สมาชิกก็มานั่งกินกาแฟ คุยกัน ประเด็นก็คือ ต่อไปหากวัวป่วย จะเอายาจากใหน  การคุยวันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้คำว่า กลุ่ม สมบูรณ์ขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่อง ทุน  สมาชิกตกลงที่จะลงหุ้น คนละ 100 บาทต่อปี สำหรับเก็บไว้ซื้อยาในคราวที่ฉุกเฉิน และเป็น ประเด็นในการเปิดรับสมาชิกใหม่ด้วย  ทุกคนช่วยกันประชาสัมพันธ์ รับสมาชิกใหม่ โดยทุกคนต้องมาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มและเสีย เงินเข้ากองทุนยาของกลุ่ม ปีละ 100 บาท                          
            ตอนนี้ผู้เลี้ยงวัวในหมู่ที่ 4  ตำบลไชยมนตรี  บางคนเป็น  สมาชิกโดยไม่รู้ตัว  เพราะว่าเมื่อวัวป่วย  ก็โทรศัพท์บอกครูอาสา กศน. ผมก็โทรหาน้องบัญ  ไปฉีดยา  เรียกเก็บเงิน  100  บาท ก็เท่ากับ เข้าเป็นสมาชิกใหม่แล้ว กลุ่มมันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ครับ “บางอย่างมันมีอยู่แล้วและรอคนที่เข้าไปจัดการ” อาทิตย์หน้าจะมีการประชุมกลุ่มน้ีแล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ…..

หมายเลขบันทึก: 40077เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทุกคนสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้หมด ถ้าได้ทำอย่างที่ อ.สำราญ ทำ ผมมีบันทึกเกี่ยวกับการเรียนรู้ในร้านกาแฟแก้จนว่าต้องเรียนความรู้และความรู้สึกกันไม่ใช่มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว และต้องนำกรณีของตาแลนไปเล่าต่อนะครับ น่าสนใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท