ชุมชนบล็อก = คลังความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งรวบรวมจากบล็อกที่คัดสรร


ทุกครั้งที่ผู้เขียนบล็อกมีการบันทึกความรู้เกิดขึ้น บันทึกจะถูกคัดลอกไปสู่คลังความรู้ของชุมชนบล็อก

บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ "การใช้ระบบบล็อก GotoKnow.org เพื่อการจัดการความรู้ เขียนจากประสบการณ์ของผู้พัฒนาและดูแลระบบ" โดย ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตีพิมพ์ลงหนังสือนานาเรื่องราวการจัดการความรู้ 


ชุมชนบล็อก (Blog Community)

การจัดการความรู้ไม่ว่าในบริบทใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มต้นด้วยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ในองค์กรที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน มีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นระยะ มีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน มีความพร้อมที่จะ “ให้” และพร้อมที่จะ “รับ” อย่างจริงใจ และมีความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่ม เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice หรือ CoP)

การจัดการความรู้ในชุมชนนักปฏิบัติจะสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนและรวดเร็วคงต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าอำนวยในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ความสามารถที่เด่นชัดของระบบบล็อก GotoKnow.org ในแง่ชุมชนคือ การสร้างและบริหาร “ชุมชนบล็อก” (ดังแสดงในรูป)

เมื่อผู้เขียนบล็อกต้องการค้นหาผู้ชำนาญการ หรือผู้ที่มีแนวคิด ความสนใจ ความถนัดร่วมกัน ก็จะสร้างชุมชนบล็อกขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง และเมื่อผู้เขียนบล็อกต่างๆ เข้ามีร่วมชุมชนแล้ว การรวบรวมบันทึกความรู้ในด้านหนึ่งๆ จากผู้เขียนหลากหลายคนก็จะเกิดขึ้น คือ

"ทุกครั้งที่ผู้เขียนบล็อกมีการบันทึกความรู้เกิดขึ้น บันทึกจะถูกคัดลอกไปสู่คลังความรู้ของชุมชนบล็อก"

นอกจากที่ชุมชนบล็อกจะเป็นการช่วย

  • สร้างคลังความรู้เฉพาะด้านให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยที่จำนวนบันทึกในชุมชนบล็อกจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติตามจำนวนบันทึกที่สมาชิกเขียนขึ้นในบล็อกของตนเองแล้ว
  • ยังช่วยให้การเลือกบริโภคความรู้เฉพาะด้านทำได้ง่ายขึ้น
  • และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

หนึ่งบล็อก-หลากชุมชน (Multi-CoP)

นอกจากนั้น ในความเป็นจริงแล้ว คนแต่ละคนย่อมที่จะมีความสนใจหรือความถนัดในหลากหลายด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในชุมชนหนึ่งๆ ย่อมที่จะมีชุมชนย่อยๆ แฝงอยู่นั่นเอง ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานประเด็นนี้ ผู้เขียนบล็อกใน GotoKnow.org สามารถที่จะเป็นสมาชิกของชุมชนบล็อกได้มากกว่าหนึ่งชุมชน (Multi-CoP) (ดังแสดงในรูป)

โดยทุกครั้งที่ผู้เขียนบล็อกมีการบันทึกความรู้เกิดขึ้น บันทึกจะถูกคัดลอกไปสู่คลังความรู้ของชุมชนบล็อกต่างๆ ที่ผู้เขียนบล็อกเป็นสมาชิกอยู่ได้โดยอัตโนมัติ อันจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ได้หลายต่อจากบล็อกอันเดียวกัน

การประยุกต์ใช้ชุมชนบล็อก 

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์เอาความสามารถของระบบ GotoKnow.org ในด้านชุมชนบล็อกไปใช้ นอกเหนือจากการสร้างคลังความรู้ของชุมชนแนวปฏิบัติแล้วนั้น ปัจจุบัน ชุมชนบล็อกยังถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์ของการสร้างคลังความรู้และแหล่งปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งๆ โดยไม่ได้เน้นถึงคุณสมบัติของชุมชนแนวปฏิบัติ เช่น การนำเอาชุมชนบล็อกไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในจัดการความรู้ในทีมทำงาน (Teamwork) ของแต่ละองค์กรหรือระหว่างองค์กร หรือ การนำเอาชุมชนบล็อกไปใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายนอกชั้นเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือระดับบัณฑิตศึกษา เป็นต้น


ชุมชนในลักษณะนี้มีความแตกต่างในเชิงปัจเจกบุคคล (Individual Differences) มากกว่าชุมชนแนวปฏิบัติ อย่างน้อยก็ในเรื่องความแตกต่างด้านความถนัดเชิงอาชีพ ความสนใจ และอาจรวมถึงทัศนคติอีกด้วย เรียกได้ว่า คนที่มาเข้าเป็นสมาชิกของชุมชนในลักษณะนี้อาจไม่ได้มาด้วย “ใจ” ดังนั้น การดูแลรักษาชุมชนบล็อกให้คงอยู่นานหรือกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างทั่วถึงทั้งกลุ่มอาจจะทำได้ยากกว่าชุมชนแนวปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้บริหารชุมชนบล็อกลักษณะนี้มักจะเจอและพยายามหาหนทางแก้ไข


ทีมงานพบว่าการทำให้สมาชิกชุมชนร่วมมือและเต็มใจ (Commitment) ที่จะร่วมถ่ายทอดความรู้ผ่านทางบล็อกอย่างสม่ำเสมออันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม คงทำไม่ได้ด้วยความสามารถใดๆ ของระบบเทคโนโลยี หากแต่เป็นเรื่องของหลักจิตวิทยาในการบริหารองค์กรหรือชุมชน อันต้องเริ่มต้นที่ผู้นำที่แสดงความตั้งใจในการเขียนบันทึกความรู้ลงบล็อกอย่างแท้จริงและสม่ำเสมอเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สมาชิกชุมชนท่านอื่นๆ และนอกจากนี้ องค์กรหรือชุมชนนั้นๆ จะต้องสื่อสารสู่ผู้เขียนบล็อกในชุมชนให้เห็นถึงนโยบายการจัดการความรู้และสิ่งตอบแทนที่ชัดเจนอันจะได้รับจากการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันเกิดจากการปฏิบัติลงสู่บล็อก

 


 

หมายเหตุ ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนบล็อกได้ที่ http://gotoknow.org/tutorial/communitykeyword/41


 

หมายเลขบันทึก: 4003เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ.จันทวรรณ คะ

   พอดีมีน้องๆฝากถามว่า ถ้าอยากจะเห็นรายชื่อชุมชน (ทั้งหมด) ใน gotoknow  จะต้องไปคลิ๊กที่ไหนคะ  เผื่อว่าจะได้พบกับชุมชนที่เหมาะสมกับบล็อกของเราค่ะ

   ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ

คลิ๊กที่ปุ่ม New Communities ในหน้าหลักคะ หรือ http://gotoknow.org/home/newcommunities คะ

เข้ามาอ่าน เผื่อจะได้ความรู้เกี่ยวกับเว็บบล็อกบ้าง  ทดลองใช้ครับ

สวัสดีค่ะ พอดีว่าสนใจความรู้เกี่ยวกับ cogitive แต่ว่าเข้าไปตามลิงค์ที่โชว์ไว้ไม่ได้น่ะค่ะ อยากทราบว่าจะมีทางอื่นที่จะเข้าไปได้มั้ยคะ

อยากอ่านรายละเอียด และก็เนิ้อหาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท