การเขียนขอบเขต


การวิจัย

สวัสดีค่ะมีเรื่องที่น่าสนใจมาฝากกันอีกแล้วค่ะ!!!!!!!!!!!!!!!!!!! ติดตามต่อนะคะ

การเขียนขอบเขตการวิจัย

                 เนื่องจากการทำวิจัยในแต่ละเรื่องเราไม่สามารถที่จะศึกษาได้ครอบคลุมในทุกประเด็น  การกำหนดขอบเขตของการวิจัย  จะทำให้งานวิจัยมีความชัดเจน  และเป็นไปตามวัตถุประสงค์การวิจัยที่ได้กำหนดเอาไว้  ซึ่งในส่วนของขอบเขตการวิจัยนั้น  จะประกอบด้วย

                1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ซึ่งผู้วิจัยต้องระบุว่าประชากรเป็นใคร  ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวนเท่าไร   และกลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีใด

2.  ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา  ผู้วิจัยต้องระบุตัวแปรอิสระและตัวแปรตามที่ใช้ในการศึกษาทั้งหมด

                ในงานวิจัยบางเรื่องอาจจะระบุขอบเขตด้านเนื้อหาเข้าไปด้วย เพื่อให้มองเห็นของเขตในการวิจัยได้มากขึ้น    การเขียนขอบเขตการวิจัยนี้  ผู้วิจัยจะต้องครอบคลุมว่าจะศึกษาตัวแปรอะไรบ้าง  ซึ่งควรสอดคล้องกับกรอบความคิดของการวิจัย ( Research  framework )  ควรมีการระบุเหตุผลที่เรานำเอาตัวแปรเหล่านั้นเข้ามาศึกษา  ในกรอบความคิด  ไม่ควรระบุแต่ชื่อตัวแปรที่ศึกษาว่าคืออะไรเท่านั้น  แต่ต้องขยายความให้เห็นแนวคิดเบื้องหลัง  เพื่อให้ผู้อ่านรายงานการวิจัยเข้าใจวิธีคิดหรือทฤษฎีที่ผู้วิจัยใช้เป็นฐานในการกำหนดกรอบแนวคิด

                ส่วนขอบเขตประชากรนั้น  ผู้วิจัยต้องอธิบายว่ากลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องจริง  แล้วครอบคลุมคนกลุ่มใด   ทำไมเราจึงสนใจที่จะศึกษาเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย        

 นิยามศัพท์เฉพาะ (Definitions of specific terms)   เป็นการให้ความหมายของตัวแปร หรือ คำศัพท์  ที่นำมาใช้ในการวิจัย  ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้อ่านงานวิจัยกับผู้วิจัย   คำที่ควรเขียนเป็นนิยามศัพท์เฉพาะ   ควรเป็นตัวแปร หรือคำที่ผู้วิจัยเขียนบ่อยมากในงานวิจัยครั้งนั้น

          1. หลักการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

              1.1 ไม่ขัดแย้งกับหลักทฤษฎี  หรือ ข้อเท็จจริงทั่วไป

              1.2  ควรเป็นนิยามที่ผู้วิจัยเขียนขึ้นเอง  โดยศึกษาจากเอกสาร งานวิจัย และทฤษฎี

              1.3  ควรนิยามตามตัวแปรที่จะศึกษา  และ เนื้อหาที่วิจัย

              1.4  มีความชัดเจน  เข้าใจได้ง่าย   และผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกัน

              1.5  ควรเป็นนิยามเชิงปฏิบัติการ (ตัวแปรวัดด้วยอะไร  ผลเป็นอะไร)

         2. เทคนิคการกำหนดนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

             เนื่องจากในการทำวิจัยแต่ละเรื่อง ผู้วิจัยอาจมีคำเฉพาะที่ใช้ในการวิจัย เนื่องจากคำที่ใช้มีความหมายคลุมเครือหรือแปลความได้หลายความหมาย หรือคำบางคำที่ผู้วิจัยคิดว่าถ้าไม่บอก หรืออธิบายคำ นั้น ๆ  ก่อน  อาจจะทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นต่อผู้อ่านงานวิจัยได้   จึงจำเป็นต้องให้คำจำกัดความไว้  เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจได้ตรงกับผู้วิจัย  เช่น  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการอ่าน  คำว่า “ทักษะการอ่าน”   ถ้าไม่ทำการนิยามศัพท์เฉพาะแล้ว  ผู้อ่านสามารถคิดได้หลายประเด็น  เช่น  คิดว่าเป็นทักษะการอ่านคำที่ยากมาก ๆ    หรือ  อ่านบทร้อยแก้ว  หรือ อ่านหนังสือพิมพ์  ฯลฯ  ทั้ง ๆ ที่ผู้วิจัยต้องการให้นักเรียนอ่านคำที่กำหนดให้เท่านั้น  และคำที่ให้อ่าน   ก็เหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียนด้วย   สำหรับคำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ไม่ค่อยได้ใช้กันแพร่หลาย   ก็ควรนิยามศัพท์ หรือให้คำจำกัดความไว้เช่นกัน   การนิยามศัพท์เฉพาะไม่ควรให้ความหมายที่แตกต่างมากไปจาก   ความหมายโดยทั่วไปของคำนั้น  เนื่องจากจะทำให้  ผู้อ่านตีความหมายของผู้ทำการวิจัยผิดพลาดได้

การเขียนประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

        1. เขียนประโยชน์ที่ได้รับโดยตรงมากที่สุด ไปหาประโยชน์น้อยที่สุดจากการวิจัย

        2. เขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และสิ่งที่วิจัย ไม่เขียนล้อเลียนวัตถุประสงค์  แต่ควรเขียนในลักษณะว่า  เมื่อทราบความแตกต่างแล้ว  จะก่อให้เกิดประโยชน์  ในแง่การเสริมสร้างความรู้ หรือการใช้ผลอย่างไร

        3. ไม่ขยายความเกินความเป็นจริง  ต้องอยู่ในขอบข่ายของวัตถุประสงค์ที่ศึกษาเท่านั้น

การเขียนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                   ในส่วนนี้เป็นการเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้วิจัยได้มาจากการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นในส่วนนี้จึงประกอบไปด้วย  แนวคิดทฤษฎี  หลักการ  ข้อเท็จจริง  แนวความคิดของผู้รู้  และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้จะต้องสัมพันธ์กับปัญหาการวิจัยของตนเอง  การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัยหลายประการ  ( บุญชม  ศรีสะอาด.2543)

                1.  ช่วยให้เข้าใจทฤษฎี  แนวคิด  ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย

                2.  ช่วยป้องกันการทำวิจัยซ้ำซ้อนกับคนอื่นๆที่วิจัยไปแล้ว

                3.  ช่วยให้ทราบผลงานวิจัยที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะวิจัยว่ามีการศึกษากว้างขวางมากน้อยแค่ไหน  ในแง่มุมใด  ผลการวิจัยเป็นเช่นไร  ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำมาประกอบเหตุผลในการตั้งสมมติฐานของผู้วิจัยและนำมาประกอบเหตุผลในการอภิปรายผลการวิจัย

                4.  เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย  เลือกตัวแปรที่จะศึกษา  ออกแบบการวิจัย  สร้างเครื่องมือ  วิเคราะห์ข้อมูล  แปลผล  สรุปผลและเขียนรายงานการวิจัย

                5.  เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของเรื่องที่จะวิจัย  เพราะในการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยอย่างกว้างขวางจริงจังจะช่วยให้เข้าใจในเรื่องที่จะศึกษาอย่างลุ่มลึก  ในการศึกษาผลการวิจัยต่างๆ  ทำการพิจารณาถึงจุดอ่อนและจุดดีของแต่ละเรื่อง  แล้วหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดดีเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในงานวิจัยของตน

                แหล่งที่ใช้ในการค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยงข้อง

                1.  ตำรา  (Text book)

                2.  รายงานวิจัย  (Research  Report)

                3.  วิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ (Thesis)

                4.  สารานุกรม (Eveychopedia)

                5.  หนังสือคู่มือ (Handbook)                          

                6.  หนังสือรายปี  (Yearbook)

                7.  หนังสือดรรชนี (Indexes)                         

                8.  เอกสารรวมบทคัดย่องานวิจัยและปริญญานิพนธ์

                9.  วารสาร (Journal)                        

                10.  การสืบค้นจาก  Internet

รูปแบบการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                1.  เสนอแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะศึกษา  แล้วตามด้วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                2.  ควรจัดลำดับแนวคิดทฤษฎีที่เราจะนำเสนอโดยแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยลงไป

                3.  ไม่ควรนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมาเขียน

                4.  เขียนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตามทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเขียนสมมติฐานการวิจัย

การพิจารณาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                1.  ค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด  ในทุกแง่ทุกมุม

                2.  เอกสารและงานวิจัยควรจะมีความทันสมัย  ไม่เก่าเกินไป

                3.  การนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้นำเสนอเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราจะนำเสนอเท่านั้น

                4.  พิจารณาดูว่างานวิจัยที่เรานำมาอ้างอิงนั้นมีคุณภาพหรือไม่

                5.  ศึกษาระบบอ้างอิงต่างๆ  ทั้งที่เป็น primary  sources  และ  secoudary  sources  การอ้างจากหนังสือ  วารสาร  หรือจากเว็บไซด์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                ข้อผิดพลาดหรือปัญหาที่พบบ่อยในการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของนิสิต  นักศึกษาที่พบบ่อยนั้นมีอยู่หลายประการ

                1.  การคัดลอกเอกสารที่ได้ไปค้นคว้ามานั้น  มักจะเป็นการคัดลอกทุกคำ  ไม่มีการเรียบเรียงใหม่ให้เป็นภาษาของตนเอง  บางครั้งถึงกับลอกมาเป็นหนังสือหลายหน้า  แล้วมีการอ้างอิงเพียงแห่งเดียว  ซึ่งการทำเช่นนี้ถือว่าไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมในการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

                2. การอ้างต่อๆกันโดยไม่ดูจากต้นฉบับ  ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นได้บ่อยในงานวิจัยของนิสิต  ซึ่งมักจะถือเอาความสะดวกของตนเป็นหลัก  หลายครั้งที่พบว่า การอ้างอิงนั้นผิดพลาดเพราะต้นฉบับที่ตนเองคัดลอกมานั้นมีการพิมพ์ผิดพลาดโดยไม่ได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะ  เอกสารและงานวิจัยที่เป็นของต่างประเทศ มักจะมีชื่อ  ปี ค.ศ.  หรือเลขหน้าผิดอยู่เป็นประจำ  และที่สำคัญ บางครั้งพบว่า แนวคิดและทฤษฎีเปลี่ยนไปจากเจ้าของเดิม

                3. นำเสนอเอกสารและงานวิจัยแบบแยกส่วน  เช่น เขียนเอกสาร  แนวคิด  ทฤษฎี  และตัวแปรที่จะศึกษาไว้อีกที่หนึ่ง แล้วเขียนงานวิจัยไว้อีกที่หนึ่ง  ในงานวิจัยที่ต้องการทดสอบสมมติฐานแต่กลับนำเสนอเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยแยกตัวแปรอิสระกับตัวแปรตามออกจากกัน  หรือร้ายแรงกว่านั้น งานวิจัยบางเรื่องอาจไม่ได้พูดถึงตัวแปรอิสระด้วยซ้ำไป  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จะนำไปเขียนสมมติฐานได้อย่างไร

                4. นำผลการวิจัยมาเขียนเรียงต่อๆกันแบบขนมชั้น ซึ่งมีชั้นใหญ่ๆ 2 ชั้นคือ  ชั้นแรกเป็นผลการวิจัยในประเทศ  ชั้นที่สองเป็นผลการวิจัยต่างประเทศ  ในชั้นใหญ่ๆก็จะมีชั้นย่อยๆของใครของมัน คือ เสนอผลการวิจัยที่พบนั้นของใครของมัน  โดยไม่ได้โยงให้เห็นความสัมพันธ์ถึงผลการวิจัยเหล่านั้น  วิธีการที่เหมาะสมก็คือ เสนอผลการวิจัยตามประเด็นหรือหัวข้อที่เรากำหนดไว้โดยไม่แยกงานวิจัยในประเทศและต่างประเทศออกจากกัน

                5. นิสิต นักศึกษามักจะนำผลการวิจัยนั้นมาเขียนทั้งหมด โดยแยกเขียนเป็นของใครของมันตามชื่อผู้วิจัย  ซึ่งในกรณีที่ผลการวิจัยที่มีความสอดคล้องกัน สามารถนำเสนอผลการวิจัยเพียงเรื่องเดียวแล้วอ้างอิงหลายคนได้

อ้างอิง

รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 399983เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท