shukur2003


เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะระหว่างหลักการของศาสนาทีถูกต้องกับมุสลิมผู้กระทำผิดเพราะเป็นคนละส่วนกันในขณะเดียวกัน เราจะต้องร่วมกันประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบที่กระทำในนามของศาสนาอิสลามและเป็นกำลังใจต่อผู้กระทำความดี ละเว้นความชั่ว
มูลเหตุหรือภูมิหลังแห่งการประทานโองการต่างๆในคัมภีร์อัลกุรอาน

ผู้อ่านคัมภีร์อัลกุรอานจะไม่สามารถเข้าใจความหมายเรื่องราวและบทบัญญัติที่แท้จริงและถูกต้องหากผู้อ่านขาดความรู้เกี่ยวมูลเหตุหรือภูมิหลังของการประทานคัมภีร์ซึ่งศัพท์ทางวิชาการศาสนา เรียกว่า " อัซบาบุนนุซูล " ทั้งนี้เพราะคัมภีร์อัลกุรอานมิได้ถูกประทานลงมาเป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ในที่เดียว เวลาเดียว แต่มันถูกประทานมาแต่ละโองการล้วนแล้วแต่มีสาเหตุและความเหมาะสม ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 23 ปี

ประโยชน์ของการรู้ถึงมูลเหตุหรือภูมิหลัง

ก. ทำให้ผู้อ่านรู้ถึงวิทยปัญญา (ภาษาอาหรับเรียกว่าหิกมะฮ์) ที่ก่อให้เกิดหลักการ

ข. ทำให้รู้ถึงสำนวนและความมุ่งหมายของอัลกรุอานซึ่งบางครั้งมีมาในลักษณะที่กว้าง ครอบคลุมไปถึง สิ่งที่อยู่ในแวดวงเดียวกันทั้งหมด แต่มีหลักฐานบ่งบอกเพียงเฉพาะเหตุการณ์ นั้นๆ

ค. ทำให้รู้ถึงความหมายอันแท้จริง เช่น อัลลอฮได้ดำรัสว่า"ทั้งทิศตะวันออกและตะวันตกนั้นเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮ์ดังนั้นไม่ว่าท่านทั้งหลายจะผินหน้าไปทางทิศไหนท่านก็จะพบกับพระพักตร์แห่งอัลลอฮ์

ตามความหมายของโองการนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ละหมาดไม่จำเป็นต้องผินหน้าไปทางบัยตุลลอฮ (กิบละฮ์) เมืองเมกกะฮประเทศซาอุดิอารเบียแต่เมื่อพิจารณาถึงมูลเหตุและภูมิหลังของการประทานโองการนี้จะพบว่ามีชนกลุ่มหนึ่งไม่รู้แน่ชัดว่า ทางไหนหรือทิศไหนคือตำแหน่งบัยตุลลอฮ์ดังนั้นต่างคน ต่างหันไปยังทิศที่ต่างได้วินิจฉัยด้วยสติปัญญาว่าน่าจะเป็นตำแหน่งบัยตุลลอฮ เพราะช่วงเวลานั้นเป็นเวลากลางคืน ท้องฟ้ามืดมิดและไม่มีเข็มทิศด้วยในสมัยนั้น พอรุ่งเช้าก็เป็นที่แน่ชัดว่า บางคนนั้นวินิฉัยผิด ซึ่งในโอง การนี้อัลลอฮได้แจ้งแก่ศาสดามูฮัมมัดให้ทราบว่าอัลลอฮทรงผ่อนปรน ในการหันไปทางบัยตุลลอฮ เมื่อมีเหตุการณ์ความจำเป็น

นี่เป็นเพียง 1ตัวอย่างจากอัลกุรอานทั้งเล่มว่าการเข้าใจและสามารถอธิบายอัลกุรอานซึ่งเป็นภาษาอาหรับ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ท่านอีหม่ามอัลวาฮิดีย์ ปราชญ์ด้านวิชาการการอธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า ”ไม่เป็นที่อนุญาตให้อธิบายอัลกุรอาน สำหรับผู้ที่ไม่ทราบมูลเหตุแห่งการประทานอัลกุรอาน"


หนังสือศาสนาและวิชาการหรือบทความเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

จากเหตุผลที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าใจอัลกรุอานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้อง ในขณะที่อัลกรุอานเป็นบทบัญญัติที่มุสลิมทุกคนจะ ต้องนำมาปฏิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของปราชญ์มุสลิมสาขาต่างๆ จะต้องแต่งตำราโดยดึงโองการบางโองการที่มีความเกี่ยวข้องมาเป็นหลักฐาน ดังนั้นเราจะพบตำราทางวิชาการหรือบทความซึ่งเขียนโดยผู้รู้มากมายจะมีหลักฐานอัลกรุอานประกอบเพื่อความหนักแน่น ส่วนความถูกต้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพทางวิชาการของผู้รู้แต่ละท่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีมาตั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน


อัลกุรอานสอนความรุนแรงจนนำไปสู่ ปัญหาการก่อการร้ายกระนั้นหรือ ?

มีบางข้อความในกุรอานสอนความรุนแรงจริงเช่นอัลลอฮฺได้ตรัสความว่า “และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่สูเจ้าพบพวกเขา” (กุรอาน 2:191) และ “แต่ถ้าพวกเขาหันหลังให้ ก็จงจับพวกเขาและฆ่าพวกเขา ณ ที่สูเจ้าจับพวกเขาได้ และ (ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม) จงอย่าเอาพวกเขามาเป็นมิตรและผู้ช่วยเหลือ” (กุรอาน 4:89)

ทำไมคัมภีร์กุรอานถึงได้กล่าวเช่นนั้น?

ความเป็นจริงข้อความข้างต้นยังมีข้อความก่อนหน้านี้และข้อความต่อท้ายอีกหลายประโยค หากนำเพียงข้อความข้างต้นอย่างเดียวจะทำให้เข้าใจว่าอิสลามหรืออัลกุรอานสอนให้ฆ่าได้ทุกคน

ข้อความทั้งหมดมีดังนี้

อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า “และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริง อัลลอฮฺมิทรงรักผู้รุกราน และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่สูเจ้าพบพวกเขา และจงขับไล่พวกเขาออกไปจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออกไป เพราะการกดขี่ข่มเหงนั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการฆ่า และจงอย่าสู้รบกับพวกเขาในมัสญิดอัลฮะรอม เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะทำร้ายพวกเจ้าในที่นั้น ถ้าหากพวกเขาต่อสู้พวกเจ้า ก็จงฆ่าเขาเสีย เช่นนั้นแหละคือการตอบแทนผู้ปฏิเสธศรัทธา แล้วถ้าหากพวกเขายุติ แน่นอน อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ และจงต่อสู้พวกเขาจนกว่าจะไม่มีการก่อความวุ่นวายและการกดขี่เกิดขึ้นและจนกว่าความยุติธรรมและการเคารพภักดีทั้งหมดจะเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น แต่ถ้าพวกเขายุติ ก็จงอย่าให้การเป็นศัตรูใดๆเกิดขึ้นเว้นแต่พวกที่สร้างความอธรรมเท่านั้น เดือนต้องห้ามก็ด้วยเดือนต้องห้าม และบรรดาสิ่งที่จำเป็นต้องเคารพนั้นก็มีกฎแห่งความเท่าเทียมกัน ดังนั้น ถ้าผู้ใดละเมิดต่อสูเจ้า ก็จงตอบโต้(การป้องกันตัว)การละเมิดของเขาเช่นเดียวกับที่เขาละเมิดพวกเจ้า แต่จงเกรงกลัวอัลลอฮฺและจงรู้เถิดว่าอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรง” (กุรอาน 2:190-194)

ส่วนข้อความที่สองมีข้อความทั้งหมดดังนี้ :

“พวกเขาชอบถ้าหากพวกเจ้าปฏิเสธศรัทธาเหมือนดังพวกเขา ดังนั้น พวกจะได้กลายเป็นผู้ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จงอย่าได้ยึดเอาใครในหมู่พวกเขาเป็นมิตรจนกว่าพวกเขาจะอพยพในหนทางของอัลลอฮฺ (จากสิ่งที่ต้องห้าม) แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ก็จงจับพวกเขาไว้และฆ่าพวกเขา ณ ที่ที่สูเจ้าพบพวกเขา และไม่ว่ากรณีใดก็ตามจงอย่าเอาผู้ใดในหมู่พวกเขามาเป็นมิตรและผู้ช่วยเหลือ นอกจากบรรดาผู้ที่เข้าร่วมกับกลุ่มที่พวกเจ้ามีสัญญาสันติภาพระหว่างกัน หรือบรรดาผู้ที่เข้ามาหาเจ้าด้วยหัวใจที่ยับยั้งพวกเขามิให้ต่อสู้เจ้าเช่นเดียวกับที่จะต้องต่อสู้กับพวกเขาเอง และถ้าหากอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว พระองค์ทรงสามารถที่จะให้พวกเขามีอำนาจเหนือสูเจ้าและพวกเขาจะต่อสู้เจ้า ดังนั้น ถ้าหากพวกเขาถอนตัวออกไปจากพวกเจ้าและไม่ต่อสู้พวกเจ้าแล้วและให้หลักประกันสันติภาพแก่พวกเจ้าแล้ว ดังนั้น อัลลอฮฺก็มิทรงเปิดหนทางใดสำหรับเจ้า(ที่จะทำสงครามต่อพวกเขา) พวกเจ้าจะพบพวกอื่นๆที่ต้องการจะได้รับความปลอดภัยจากพวกเจ้าเช่นเดียวกับจากพวกเขาเอง คราใดที่พวกเขาถูกส่งกลับไปสู่การล่อลวงอีก พวกเขาก็จะกลับไปสู่สิ่งนั้นตามเดิม ดังนั้น ถ้าหากพวกเขามิได้ถอนตัวออกไปจากพวกเจ้าและมิได้ให้(หลักประกัน)สันติภาพแก่พวกเจ้าและมิได้ยับยั้งมือของพวกเขาไว้แล้ว ก็จงจับพวกเขาไว้และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา ในกรณีของพวกเขาเหล่านี้แหละที่เราได้ให้อำนาจที่ชัดเจนต่อพวกเขา” (กุรอาน 4:89-91)

เมื่ออ่านข้อความจากกุรอานทั้งหมดนี้แล้ว ไม่มีข้อความใดอนุญาตให้ฆ่าใครได้อย่างเสรี และปราศจากเหตุผล

เมื่อพิจารณาภูมิหลังโองการดังกล่าวจะพบว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานข้อความ กุรอานดังกล่าวข้างต้นแก่ท่านศาสดามุฮัมมัดในตอนที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาแห่งมักก๊ะฮฺ (ประเทศซาอุดิอารเบียในปัจจุบัน) โจมตีมุสลิมอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นแล้ว คนพวกนี้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาคมมุสลิมในนครมะดีนะฮฺด้วย มุสลิมจึงได้รับอนุญาตให้ตอบโต้ “ผู้รุกราน” เพื่อป้องกันตัวแต่ต้องอยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม (โปรดดู ญิฮาดหรือก่อการร้าย: อับดุลสุโก ดินอะ, มติชน , 8/04/48,หน้า 6-7)

ข้อความดังกล่าวข้างต้นนั้นมิใช่การอนุญาตให้มี “ลัทธิก่อการร้าย” แต่อย่างใด แต่มันเป็นการเตือน “ผู้รุกรานหรือผู้ก่อการร้าย” ต่างหาก แต่แม้จะเป็นการเตือนก็ตาม ผู้อ่านจะได้เห็นว่าคำสั่งในกุรอานเน้นให้มีการยับยั้งและระมัดระวังในการตอบโต้

ถ้าผู้อ่านศึกษาเนื้อหาคำสอนของอัลกุรอานแล้ว ท่านจะต้องศึกษาเรื่องราวภูมิหลังของคำสอนดังกล่าวด้วย เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญมาก มิเช่นนั้น คำสอนของศาสนาจะถูกนำไปตีความอย่างผิดๆ หรือใช้เพื่อบิดเบือน

เป็นเรื่องจริงที่มุสลิมบางคนและบางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้เพื่อเป้าหมายของตนเอง

เรื่องนี้มิได้เกิดขึ้นกับมุสลิมจากการตีความคำสอนของอัลกุรอานอย่างผิดๆเท่านั้น แต่มันยังเกิดขึ้นกับศาสนิกอื่นๆด้วย แม้แต่ในคัมภีร์ไบเบิล

ผู้อ่านจะเห็นว่ามีข้อความมากมายที่ดูเหมือนว่ารุนแรงมากถ้าหากไม่อ่านควบคู่ไปกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

ชาวยิวและชาวคริสเตียนที่มีแนวคิดรุนแรงและสุดโต่งหลายกลุ่มได้ใช้ข้อความหลายตอนจากคัมภีร์ไบเบิลไปรับใช้เป้าหมายของตน พวกครูเสดได้ใช้มันต่อต้านมุสลิมและชาวยิว

พวกนาซีใช้มันต่อต้านชาวยิว เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ชาวคริสเตียนเซิร์บก็ได้ใช้มันต่อต้านมุสลิมบอสเนีย และขณะนี้พวกไซออนิสต์กำลังใช้มันต่อต้านชาวปาเลสไตน์อยู่

ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างบางข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลทั้งภาคพันธสัญญาเก่าและพันธสัญญาใหม่มาให้เป็นตัวอย่าง ดังข้อความต่อไปนี้

“เมื่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทั้งหลายจะทรงพาท่านเข้าในแผ่นดินซึ่งท่านทั้งหลายกำลังจะเข้ายึดครองและกวาดไล่ประชาชาติหลายชาติให้ออกไปให้พ้นท่าน คือคนฮิตไทต์ คนเกอร์กาชี คนอาโมไรต์ คนคานาอัน คนเปริสซี คนฮีไวต์และคนเยบุสเป็นประชาชาติซึ่งใหญ่โตกว่าและมีกำลังมากกว่าท่าน และเมื่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านจะทรงมอบเขาทั้งหลายไว้ในมือของท่านและท่านจะตีเขาให้พ่ายแพ้ไปนั้น พวกท่านต้องทำลายเขาให้สิ้นทีเดียว อย่าได้กระทำพันธสัญญาใดๆกับเขาเลย และอย่ามีความเมตตาต่อเขาด้วย พวกท่านอย่าสัมพันธ์กับเขาโดยการแต่งงาน อย่ายกบุตรีของท่านให้แก่บุตรชายของเขาหรือรับบุตรหญิงของเขามาให้แก่บุตรชายของท่าน เพราะว่าจะทำให้บุตรชายของพวกท่านหันเหไปจากเรา ไปปฏิบัติพระอื่นๆ พระเจ้าจะทรงพระพิโรธต่อท่านทั้งหลายและจะทรงทำลายท่านโดยเร็ว แต่จงกระทำแก่เขาทั้งหลายอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจงทำลายแท่นบูชาของเขาเสียและหักทำลายเสาศักดิ์สิทธิ์ของเขาเสีย....” (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:1-5)

“เมื่อพวกท่านเข้าไปใกล้เมืองซึ่งท่านจะไปสู้รบนั้น จงเสนอหลักสันติภาพแก่เมืองนั้นก่อน ถ้าเขาตอบท่านอย่างสันติและเปิดประตูเมืองให้แก่ท่าน ก็จงให้ประชาชนทั้งปวงที่พบอยู่ในนั้นทำงานโยธาให้แก่ท่านปรนนิบัติท่าน ถ้าเมืองนั้นไม่ร่วมสันติกับท่าน แต่กลับออกมารบ ก็ให้ท่านเข้าล้อมตีเมืองนั้นได้ เมื่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าประทานเมืองนั้นไว้ในมือท่านแล้ว ท่านจงฆ่าชายทุกคนเสียด้วยคมดาบ แต่ผู้หญิงและเด็ก สัตว์และทุกสิ่งในเมืองนั้นคือของที่ริบไว้ทั้งหมด ท่านจงยึดเอาเป็นของตัว ท่านจงอิ่มใจในของที่ริบมาจากศัตรูของท่านซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่าน ท่านทั้งหลายจงกระทำเช่นนี้แก่ทุกหัวเมืองที่อยู่ไกลจากท่านซึ่งไม่ใช่หัวเมืองของประชาชาติใกล้ๆนี้ แต่ในหัวเมืองของชนชาติทั้งหลายนี้ซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่านเป็นมรดก ท่านอย่าไว้ชีวิตสิ่งใดๆที่หายใจได้เลย แต่จงทำลายเขาเสียให้สิ้นเชิง” (เฉลยธรรมบัญญัติ 20:10-17)

“เพราะฉะนั้น จงประหารชีวิตด็กผู้ชายเล็กเสียทุกคนและประหารชีวิตผู้หญิงซึ่งได้ร่วมกับผู้ชายเสียทุกคน แต่จงไว้ชีวิตเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ได้ร่วมกับผู้ชายไว้สำหรับท่านทั้งหลายเอง” (กันดารวิถี 31:17-18)

แม้แต่ในพันธสัญญาใหม่ เราก็พบข้อความต่อไปนี้ซึ่งอ้างว่าพระเยซูกล่าวแก่สานุศิษย์ของท่าน :

“เราบอกเจ้าทั้งหลายว่าทุกคนที่มีอยู่แล้วจะเพิ่มเติมให้เขาอีก แต่ผู้ที่ไม่มี แม้ว่าซึ่งมีอยู่นั้น จะต้องเอาไปจากเขา ฝ่ายพวกศัตรูของเราที่ไม่ต้องการเราครอบครองเขานั้น จงพาเขามาที่นี่และฆ่าเสียต่อหน้าเรา” (ลูกา 19:26-27)

การฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่ ในอัลกุรอานไม่อนุญาตให้ฆ่าคนบริสุทธิ์โดยไม่คำนึงว่าเขาหรือเธอจะนับถือศาสนาใด ชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีค่าตามคำสอนของกุรอานและทางนำของศาสดามุฮัมมัด

คัมภีร์กุรอานกล่าวถึงเรื่องการห้ามฆ่าไว้ความว่า " และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น ที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่สูเจ้านั้นก็เพื่อสูเจ้าจะได้ใช้สติปัญญา” (กุรอาน 6:151) และอัลลอฮฺยังได้ตรัสไว้อีกความว่า “และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้เว้นแต่เพื่อความยุติธรรม และผู้ใดถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราได้ให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง (ที่จะลงโทษอย่างเท่าเทียมกันหรือให้อภัย) ดังนั้น จงอย่าได้ล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า เพราะเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับความช่วยเหลือ” (กุรอาน 17:33)

และการฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่เหมือนกับการฆ่ามนุษยชาติทั้งหมดและการไว้ชีวิตใครคนหนึ่งถือเป็นความดีเหมือนกับการไว้ชีวิตมนุษย์ทั้งหมด (ดูกุรอาน 5:32)

ความเป็นจริงในคัมภีร์กุรอานมีข้อความมากมายที่กล่าวถึงการส่งเสริมคนทำความดี ละเว้นความชั่วและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างศาสนิกต่างๆ แต่ผู้คนกลับไม่กล่าวถึงและนำมาปฏิบัติ

ในเมื่ออัลกุรอานเป็นคัมภีร์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้านและมิติทีเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบทบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์คือกฏหมายที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติดังนั้นมันจึงเสมือนดาบสองคมที่จะนำสู่สันติภาพของโลกหากนำไปสนับสนุนความถูกต้อง

ในทางกลับกัน มันจะนำไปสู่ “ความรุนแรงและการก่อการร้ายระดับโลก” หากคำสอนของอัลกุอานถูกนำไปตีความอย่างผิดๆหรือใช้เพื่อบิดเบือน อย่างที่มุสลิมบางคนและบางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้เพื่อเป้าหมายของตนเอง

เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะระหว่างหลักการของศาสนาทีถูกต้องกับมุสลิมผู้กระทำผิดเพราะเป็นคนละส่วนกันในขณะเดียวกัน เราจะต้องร่วมกันประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบที่กระทำในนามของศาสนาอิสลามและเป็นกำลังใจต่อผู้กระทำความดี ละเว้นความชั่ว

เรียบเรียงจาก
1.บรรจง บินกาซัน www.thaiislammic.com
2. muslimthai.com
3. หนังสือหลักการพิจารณาอัลกุรอาน จัดพิพ์โดยสมาคมคุรุสัมพันธ์

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 39932เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท