shukur2003


ปัจจุบันมีคำอยู่ 2 คำคือญิฮาดและการก่อการร้ายที่จำเป็นสำหรับผู้รู้หรือนักวิชาการมุสลิมจะต้องให้ความกระจ่างต่อสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมมุสลิม ...”
ญิฮาดและการก่อการร้ายตามทัศนะอิสลามในสถานการณ์ความรุนแรงของภาคใต้และโลก พิมพ์ ส่งเมล
เขียนโดย อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ   
วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ www.siamsewana.org
อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
“ปัจจุบันมีคำอยู่ 2 คำคือญิฮาดและการก่อการร้ายที่จำเป็นสำหรับผู้รู้หรือนักวิชาการมุสลิมจะต้องให้ความกระจ่างต่อสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมมุสลิม ...”
 อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)[email protected] ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ปัจจุบันมีคำอยู่ 2 คำคือญิฮาดและการก่อการร้ายที่จำเป็นสำหรับผู้รู้หรือนักวิชาการมุสลิมจะต้องให้ความกระจ่างต่อสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมมุสลิม เพราะมีความเข้าใจผิดกันมากและได้ถูกนำไปใช้กันอย่างผิดๆ

อาจจะมีผู้ถามว่าทำไมศาสนาอิสลามจึงมีการกำหนดการทำสงคราม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าอิสลามมีความเข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงของสังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหรืออนาคตว่าเป็นไปไม่ได้ที่สังคมจะปราศจากสงครามดังนั้นในทางที่ดีเพื่อความยุติธรรมและความเสียหายอาจจะขยายเพิ่มขึ้นดังนั้นอิสลามจึงกำหนดเงื่อนไขและกฏเกณฑ์การทำสงคราม แต่เป็นที่น่าเสียใจมีมุสลิมบางคนบางกลุ่มได้นำเอาแนวความคิดการญิฮาดไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเองหรือต้องการแก้แค้นเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม มีมุสลิมหลายคนที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างผิดๆและมีผู้ที่มิใช่มุสลิมโดยเฉพาะสื่อมวลชนหลายแขนงอธิบายความหมายของคำว่าญิฮาดไม่ถูกต้องทำให้ผู้อ่านไม่สามารถแยกแยะระหว่างญิฮาดและการก่อการร้าย


ความหมายของ'ญิฮาด'

- ในด้านภาษา 'ญิฮาด' เป็นภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า 'ญะฮฺดุน' ซึ่งหมายถึง 'การทำอย่างยากลำบาก,การปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความเหนื่อยล้า' หรือมาจากคำว่า 'ญุฮฺดุน' ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจัง
- ในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการใช้ความพยายามเพื่อบรรลุถึงความดีและการป้องกันความชั่ว ตามพจนานุกรมอาหรับ-ไทย  แปลไว้ ๒ ความหมาย  คือ  การพลีและการต่อสู้ เป็นคำที่บ่งบอกถึงจิตสำนึกอันสะท้อนถึงสัญชาตญาณแห่งการรักษาและปกป้องชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งปวง

ญิฮาดสามารถปฏิบัติได้ในหลายๆด้านโดยวิธีการต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย ความยากจน การไม่รู้หนังสือโรคภัยไข้เจ็บและการต่อสู้ต่อพลังความชั่วในโลกทั้งหมด การต่อสู้นั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการต่อสู้กับตัวเอง เรียกว่า  “ญิฮาดุนนัฟส์ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด คือ ตัวเอง การต่อสู้กับตัวเอง หมายถึงการเอาชนะอารมณ์ของตนเองให้ได้ และอารมณ์ของมนุษย์นั้นถูกแบ่งออกเป็น  อารมณ์  เป็นขั้นพื้นฐาน  นั่นคือ

๑. อารมณ์ใฝ่ชั่ว คัมภีร์อัล-กุรอาน เรียกว่า  “อัมมาเราะตุลบิซซูอ์” เรียกสั้น ๆ ว่า “อัมมาเราะฮ์” หมายถึงอารมณ์ที่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา เช่น โกรธ หลง ริษยา เกลียด หยิ่ง ผยอง เป็นต้น

๒. อารมณ์ใฝ่ดี  คัมภีร์อัล-กุรอาน เรียกว่า “อันนัฟซุนมุฏมะอินนะฮ์” เรียกสั้นๆ ว่า “มุฏมะอินนะฮ์ หมายถึงอารมณ์สงบสะอาดบริสุทธิ์เนียนนิ่ง  เนื่องจากต่อสู้เอาชนะกิเลสต่าง ๆ ได้อย่างราบคราบแล้ว

ศาสดามุฮัมมัดได้บัญชาแก่มนุษย์ทุกคนให้พยายามต่อสู้เอาชนะตัวเองให้ได้  เพื่อบรรลุสู่อารมณ์ มุฏมะอินนะฮ์”  และพระเจ้าทรงเชิญชวนคนที่เอาชนะตัวเองจนอารมณ์สงบบริสุทธิ์ดังกล่าวนั้นให้เข้าสวรรค์ดังบัญญัติในอัลกุรอาน ความว่า

อารมณ์อันสงบเอ๋ย  เจ้าจงเข้ามาหาพระเจ้าของเจ้าโดยความยินดีและได้รับความยินดีเถิด  ดังนั้นเจ้าจงเข้ามาอยู่ในกลุ่มทาส (ผู้จงรักภักดี) ของข้า  และจงเข้าสวรรค์”  (อัลฟัจร์27)

สงครามอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ คือ การต่อสู้เอาชนะตัวเอง  ด้วยวิธีการและยุทธวิธีอันหลากหลายเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑. รู้จักตัวเอง กล่าวคือ ผู้เข้าสู่สมรภูมิรบกับตนเองจะต้องรู้จักตัวเองให้ดี  เรียนรู้ว่ากิเลสของตนเองปัจจุบันมีมากน้อยเพียงใด  สามารถนิยามกิเลสตัณหาที่อยู่ในชีวิตภายในอย่างแจ้งชัด  ผลแห่งกิเลสที่ทำให้ชีวิตต้องอับเฉาและอับปาง  กิเลสเป็นต้นเหตุแห่งความเครียดและความทุกข์อันเป็นพิษร้ายแห่งชีวิต  เมื่อมนุษย์ปล่อยให้กิเลสครอบงำมนุษย์จะอยู่ในความมืดบอดมองหนทางไปสู่สวรรค์ไม่เห็น  กระจกสะท้อนภาพแห่งกิเลสต่าง ๆ คือความศรัทธา (อีมาน)การปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ(อิสลาม)และคุณธรรม(อิห์ซาน) ที่สร้างสมอยู่ในชีวิตอย่างบูรณาการ

๒. สร้างกติกาแห่งชีวิต (มุซาเราะเฏาะฮ์)  กล่าวคือ  การดำเนินชีวิตในแต่ละวันจะต้องกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และกำหนดการประจำวัน และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปตามกติกาที่ตัวเองวางไว้จากคำสั่งที่บัญญัติโดยศาสนา  ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน  แบ่งเวลาของตัวเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แบ่งเวลาสำหรับการทำงานหาเลี้ยงชีพ  นอนพักผ่อน  ออกกำลังกาย  ปฏิบัติศาสนกิจ  ร่วมกิจกรรมทางสังคม

๓. หมั่นเพียรประกอบศาสนกิจอย่างเอาจริงเอาจังและเคร่งครัด (มุญาฮะดะฮ์)  ต้องให้ความสำคัญแก่ศาสนกิจเหนือกว่ากิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น  ศาสนกิจมีทั้งส่วนที่ต้องทำเป็นประจำวัน  เช่น ละหมาดวันละ ๕ เวลา  ละหมาดประจำสัปดาห์  เช่น  ละหมาดวันศุกร์  ละหมาดประจำปี เช่น ละหมาดวันอีด  และศาสนกิจประจำชีวิต เช่น การประกอบพิธีฮัจญ์

๔. ต้องประเมินผลตัวเองทุกวัน  (มุฮาซะบะฮ์)  ในสิ่งที่ตนเองได้กระทำผ่านพ้นไป เพื่อการปรับปรุงตัวเองในวันต่อไป  เมื่อตื่นจากนอน  ชีวิตเริ่มมีกิจกรรมของตัวเองหลังจากพักผ่อนอย่างเพียงพอ  จนถึงเวลาก่อนนอนเป็นเวลาที่ประเมินผลตัวเองในกิจกรรมที่ได้กระทำทั้งวันนั้นได้อย่างสมบูรณ์  อัลกุรอานบัญญัติ ความว่า “…และเจ้าจงพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ได้กระทำไปแล้วเพื่อวันพรุ่ง…” (ฮัซร์18)

การพลีหรือการต่อสู้ ย่อมมีความหมายกว้างขวาง รวมทั้งการเสียสละก็ถือเป็นญิฮาด หากการกระทำเป็นไปตามข้อบัญญัติของพระเจ้า  สิ่งที่ใช้เพื่อการพลีหรือต่อสู้หรือเสียสละในทางของพระเจ้าได้แก่ทรัพย์สินหรือชีวิต

คำว่า ทรัพย์สิน  หมายถึง ทรัพย์สินทั่วไปที่เข้าใจกัน  ส่วนคำว่าชีวิต  หมายความรวมไปหมดทั้งสมอง แรงงาน ร่างกาย และวิญญาณ  ดังนั้น ผู้เสียสละในทางของพระเจ้า จะโดยปัจจัยใด ๆ ก็ตามย่อมได้รับผลตอบแทนจากพระเจ้า  บัญญัติจากอัลกุรอานความว่า “…เจ้าทั้งหลายจงเสียสละทรัพย์สินของพวกเจ้าและชีวิตของพวกเจ้าในทางของอัลลอฮ์เถิด…”  (อัตเตาบะฮ์ :
41) 

จากคำสอนของท่านศาสดาการพูดจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจก็ถือเป็นญิฮาด คือ การต่อสู้หรือการพลีหรือการเสียสละชนิดหนึ่ง  ดังท่านศาสดาสอนไว้ความว่า  “การญิฮาดที่ประเสริฐสุดคือการพูดจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล”  ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงกล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ  เพราะนั่นคือการญิฮาดที่ได้รับกุศลจากพระเจ้า


ญิฮาดที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมโลก
ดังนั้นญิฮาดจึงมีหลายประเภท
สำหรับญิฮาดที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมโลก กล่าวคือญิฮาดที่หมายถึงการต่อสู้และการทำสงคราม จะเรียกว่าญิฮาดชนิดนี้ได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.ถูกกดขี่และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม
2.ถูกริดรอนสิทธิด้านศาสนา
3.จะต้องญิฮาดเพื่อนำสิทธิในข้อหนึ่งและสองกลับคืน
4.อยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงครามเช่น ต่อสู้ต่อบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่อย่าเริ่มการเป็นศัตรูก่อน แท้จริง

อัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน (ดูกุรอาน2:190) ไม่ทำลายศพ ฆ่าเด็กๆ คนแก่ ผู้หญิง หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีสัญญาสงบศึก ไม่ตัดหรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล ไม่ฆ่าสัตว์เช่นแกะวัวหรืออูฐนอกจากเพื่อเป็นอาหาร,ให้ความเมตตาและการเอาใจใส่หรือบริการทางการแพทย์และการพยาบาลต่อเชลยสงคราม เพราะอัลลอฮฺดำรัสความว่า แท้จริงบรรดาผู้ทรงคุณธรรมนั้นจะได้ดื่มน้ำที่ผสมด้วยการบูรหอมจากแก้วน้ำเป็นตาน้ำพุที่บ่าวของอัลลอฮฺจะได้ดื่มโดยทำให้มันพุ่งออกมาอย่างล้นเหลือ เพราะพวกเขาปฏิบัติตามคำสัตย์สาบาน และกลัววันที่ความชั่วร้ายของมันแพร่กระจายออกไป  และพวกเขาให้อาหารแก่คนขัดสน เด็กกำพร้าและเชลยเพราะความรักต่อพระองค์
    พวกเขากล่าวว่า "เราให้แก่พวกท่านโดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้นและเรามิได้หวังการตอบแทนหรือการขอบคุณจากท่านแต่ประการใด" (อัลอินซาน :5-9) และท่านนบีมุฮัมมัดได้สั่งบรรดาสาวกของท่านให้ทำดีต่อเชลยโดยครั้งหนึ่งท่านได้สั่งสาวกของท่านโดยกล่าวว่า "ท่านจะต้องปฏิบัติต่อเชลยด้วยดี" เพราะฉะนั้นสงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศหากไม่ได้อยู่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฏเกณฑ์ดังกล่าวคือการก่อการร้าย (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ)


ญิฮาดจึงมิใช่การก่อการร้าย

อิสลามไม่อนุมัติการก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะโดยการรุกรานหรือโดยวิธีการพลีชีพไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม อิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองและสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า"ฟะซาดภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลามมีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆ ไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเองแต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุนเพราะ อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า :

"เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่าจงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดินพวกเขากล่าวว่า เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆต่างหาก แท้จริงพวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่" (
อัลบะกอเราะห์:11-12)

อิสลาม
ได้วางระเบียบโลกที่มนุษย์ทั้งหมดทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมในความสันติและความสมานฉันท์ อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม  และอิสลามสั่งให้มุสลิมมีมิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก เช่นอัลลอฮได้ตรัสความว่า

"อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (60:8)

จากโองการข้างต้นพบว่า : อัลลอฮ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ใช้ผู้ศรัทธาทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตรไมตรีให้ความช่วยเหลือต่อกัน และให้ความยุติธรรมซึ่งกันและกันตราบใดที่เขาเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิและขับไล่ผู้ต่อเจ้าของกรรมสิทธิ อัลลอฮได้ตรัสอีกว่า : และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์ (อัลลอฮ) แก่คนยากจน กำพร้าและเชลยศึก (76:8)

อิหม่าม al- Zuhaili กล่าวว่า "ผู้เปี่ยมล้นด้วยความศรัทธานั้นเขาจะให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึกไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นมุสลิมหรือต่างศาสนิก"

ในสังคมสมัยใหม่ที่โลกกลายเป็นหมู่บ้านเดียวกันซึ่งผู้ที่มิใช่มุสลิมอาศัยอยู่กับมุสลิมในประเทศมุสลิมและมุสลิมอาศัยอยู่กับผู้ที่มิใช่มุสลิมในประเทศที่ผู้มิใช่มุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เรามีหน้าที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ดีและถูกต้องในหมู่พวกเรากันเองจะต้องทำงานเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมสำหรับประชาชนทั้งหมดและร่วมมือกันในเรื่องคุณธรรมความดีเพื่อที่จะยับยั้งลัทธิการก่อการร้ายการรุกรานและการใช้ความรุนแรงต่อคนบริสุทธิ์ ผู้เขียนคิดว่านี่ต่างหากคือการญิฮาดของเราในปัจจุบัน

สรุป : จะเรียกญิฮาดได้ต้องมีเงื่อนไขที่สมบูรณ์ เจตนาดีและวิธีการถูกต้อง หากมีเพียงเงื่อนไขสมบูรณ์ เจตนาดีแต่ไม่คำนึงวิธีการจะไม่เรียกว่าญิฮาดแต่จะกลับกลายเป็นการก่อการร้ายทันที


แหล่งอ้างอิง:1. Siyid Sabig.1993.Fig Sunnah. Cairo. Dar al-Fath.3/82-83 2. al- Zuhaili,wahbah.1991 al-tafsir al- Munir. Damascus: Dar al-Fikr. 28/135 3. ญิฮาดในอิสลาม http://www.muslimthai.com/contentFront.php?option=content&category=27&id=575  

4. วินัย  สะมะอุน : ญิฮาดในทัศนะอิสลาม จาก http://www.cicot.or.th/  

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 39930เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท