การถ่ายภาพ


เนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายภาพบุคคล

   เทคนิคการถ่ายภาพบุคคล    

                                                                                         ประวิทย์   สิมมาทัน

                   สำหรับนักถ่ายภาพ ทั้งมือใหม่และมือสมัครเล่น คงไม่มีใครไม่เคยถ่ายภาพบุคคล ทั้งบุคคลที่เป็นที่รักที่ เคารพ ตลอดจนบุคคลที่ประทับใจ เอกสารเล่มนี้จะช่วยแนะนำท่านตั้งแต่การเตรียมตัว เตรียมเครื่องมือตลอดจน เทคนิคการถ่ายภาพ บุคคลทั้งจากแสงธรรมชาติ และแสงไฟประดิษฐ์ เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสวยงาม น่าสนใจ ตลอดจนมีคุณค่า หากศึกษา และฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะช่วยลดความสูญเสียทั้งเวลา และเงินทอง และบางทีการถ่ายภาพที่ถูกวิธีจะทำให้ ไม่พลาด โอกาสที่ประทับใจ ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก มาเริ่มต้นกันเลยนะครับ

  1. การเตรียมตัว ทั้งผู้ถ่ายภาพและผู้เป็นแบบ ผู้ถ่ายภาพเองต้องมีความละเอียดรอบคอบ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์ถ่ายภาพ หลักการถ่ายภาพ ศึกษารูปแบบการถ่ายภาพใหม่ ๆ อยู่เสมอ หมั่นดูแลและเอาใจใส่อุปกรณ์ในการถ่ายภาพให้พร้อมที่จะใช้งานได้เสมอ อีกทั้งมีมุมมองที่มีศิลปะสามารถถ่ายทอดความงามที่พบเห็นลงบนแผ่นฟิล์มเพื่อเก็บเป็นผลงานไว้ชื่นชมและอวดสายตาคนอื่น ๆ ได้อย่างไม่อายใคร

    ำความรู้จักกับผู้เป็นแบบ   ผู้ถ่ายภาพควรต้องทำความรู้จัก พูดคุยกับผู้ที่เป็นแบบ ทำให้ทราบถึงภูมิหลัง นิสัยใจคอ บุคลิกเฉพาะตัวของผู้ที่เป็นแบบ ควรพูดคุยในเรื่องที่ผู้เป็นแบบชอบ เช่น เพลงที่เขาชอบ ดาราคนโปรด จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเอง ลดความเขินอายของผู้ที่เป็นแบบได้เป็นอย่างดี และสามารถบอกให้แสดงท่าทางต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

    การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม   สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย บรรยากาศที่เป็นมิตร ให้ผู้เป็นแบบ และผู้ถ่ายภาพรู้สึกปลอดภัย ขจัดสิ่งที่จะมารบกวนสมาธิ เช่น เสียงดัง ผู้คนที่มาห้อมล้อม วิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นการทำลายสมาธิของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก

    หลีกเลี่ยงคำสั่ง   เช่น  การสั่งให้หน้าตรง ยิ้มเพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ อีกทั้งยังสร้างความกดดันให้กับผู้ที่เป็นแบบ และที่สำคัญคือ อย่าตำหนิผู้ที่เป็นแบบเป็นอันขาดถ้าไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เกิดความหวาดกลัว ขาดความมั่นใจ ทำให้ภาพที่ได้ออกมากระด้าง ต้องรู้จักหยุดพัก รอช่วงเวลา สภาพแสงที่เหมาะสม แม้กระทั่งนักถ่ายภาพอาชีพ ยังต้องใช้เวลาในการบันทึกภาพแรมเดือน ถ่ายภาพหลายร้อยภาพ เพื่อคัดเลือกให้เหลือภาพเพียง 5-6 ภาพเท่านั้น

  2. การเตรียมอุปกรณ์ อุปกรณ์ในการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น คำว่าอุปกรณ์ที่ดีไม่ได้ หมายถึงเพียงแค่อุปกรณ์ที่มี ราคาแพงเท่านั้น แต่หมายถึงอุปกรณ์ที่พร้อมที่จะใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ชำรุด เสียหาย หรือมีข้อบกพร่อง ใน การทำงาน ซึ่งผู้ถ่ายภาพต้องศึกษา และทำความเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพ นั้นมีราคาแพงและบอบบาง เป็นอย่างมาก

            ในที่นี้จะขอแนะนำให้ใช้กล้อง 35 มม. สะท้อนเลนส์เดี่ยว ที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ และสามารถปรับรูรับแสง เพื่อ กำหนดระยะชัดลึกชัดตื้นได้
                เลนส์ที่ดีที่ควรใช้ คือ เลนส์มาตรฐานที่ติดมากับตัวกล้อง แต่ต้องระมัดระวังอย่างมากเพราะถ้าถ่ายภาพ ในระยะใกล้อาจทำ ให้สัดส่วนของภาพผิดเพี้ยนไปได้ หากมีความจำเป็นต้องถ่ายภาพระยะใกล้มาก หรือต้องการสัดส่วนที่ถูกต้อง ควรใช้เลนส์ถ่ายภาพ ระยะไกล (Tele photo) ขนาด 105 มม. หรือ 135 มม. จะเหมาะมาก แต่เลนส์ชนิดนี้ก็มีข้อจำกัดคือ ให้ระยะชัดลึกต่ำ คือภาพฉากหลังอาจจะไม่ชัดเท่าใดนัก และต้องปรับโฟกัสให้แม่นยำ เพราะถ้าปรับโฟกัสหรือระยะชัดพลาด ไปนิดเดียวอาจทำให้ ภาพขาดความคมชัดไปอย่างน่าเสียดาย หรืออาจใช้เลนส์ซูมหรือเลนส์ต่างระยะเพื่อความสะดวกและประหยัด แต่ภาพที่ได้อาจ มีความคมชัดน้อยกว่าเลนส์เทเลโฟโต เล็กน้อย 
            

                ฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายภาพ      ควรใช้ฟิล์มที่ตรงตามจุดประสงค์ในการบันทึกภาพ ควรเลือกความไวแสงที่ต่ำปานกลาง เช่น ISO 100 เพราะจะทำให้ภาพมีความละเอียดมากกว่า ยกเว้นกรณีที่ต้องใช้ภาพในการขยายภาพขนาดใหญ่ ควรใช้ความไวแสง ที่ต่ำมากพิเศษ เช่น ISO 64 ISO 50 (ทั้งสองชนิดนี้มีเฉพาะสไลด์สีเท่านั้น) เพราะความไวแสงยิ่งต่ำ เท่าใดความละเอียด ของ ภาพยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ข้อควรระวังในการใช้ฟิล์มที่มีค่าความไวแสงต่ำก็คือ จะต้องใช้ความเร็ว ชัตเตอร์ที่ต่ำลงอาจทำ ให้ภาพสั่นไหว ได้  ก่อนใช้ฟิล์มควรต้องเลือกซื้อฟิล์มที่ใหม่ ไม่ควรใช้ฟิล์มที่ใกล้หมดอายุหรือหมดอายุไปแล้วเพราะ จะทำให้ภาพสีไม่สดใส เท่าที่ ควร ควรเลือกฟิล์มที่มีอายุการใช้งานอีกมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป

ฟิล์มขาว ดำ    เป็นฟิล์มที่นิยมใช้มากในอดีตและปัจจุบัน ข้อดีของฟิล์มชนิดนี้ คือ ให้ภาพที่เป็นสีโทนเดียว ที่มีความงามแบบคลาสสิก หรือร่วมสมัย เก็บไว้ได้นานนับร้อยปี แต่ข้อจำกัดคือ ไม่สามารถถ่ายทอดสีสันต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังต้องใช้ความชำนาญ และทักษะในการถ่ายภาพประเภทนี้เป็นอย่างมาก

          ฟิล์มสี     เป็นฟิล์มที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะใช้ง่ายสีสันสดใสเป็นธรรมชาติ สามารถล้างอัด ขยายภาพด้วย เครื่องที่ทันสมัย จึงเป็นที่นิยมมากที่สุด แต่ต้องระวังคือ ต้องเก็บรักษาภาพให้ดี ไม่เก็บในที่ร้อน หรือแสงแดดส่องถึง เพราะจะทำให้ภาพซีดจางและหายไปในที่สุด

          ฟิล์มสไลด์สี    เป็นที่นิยมมากรองจากภาพสีเพราะสามารถนำเสนอด้วยจอขนาดใหญ่ได้ และเป็นต้น ฉบับในการพิมพ์ได้ดี ช่างภาพอาชีพส่วนใหญ่ใช้ฟิล์มชนิดนี้ แต่ข้อจำกัดคือ การอัดขยายภาพลงบนกระดาษค่อนข้างยุ่งยาก และราคาแพง แต่ภาพที่ได้มีความคมชัดมากกว่าฟิล์มสี และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของสไลด์สีคือ เก็บได้นานกว่าภาพสีมาก

          การบันทึกภาพด้วยระบบดิจิตอล   กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันเพราะสะดวก สามารถพิมพ์ภาพ ผ่านเครื่อง คอมพิวเตอร์ได้ แต่ต้นทุนต่อภาพค่อนข้างสูง อีกทั้งความละเอียดของภาพยังไม่เท่ากับฟิล์มสี ยกเว้นใช้กล้องที่มีความละเอียดสูง และเครื่องพิมพ์ทีคุณภาพสูงเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีราคาสูงมาก จึงใช้เฉพาะนักถ่ายภาพอาชีพเท่านั้น

           อุปกรณ์อื่น ๆ    บางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ไฟแวบ หรือไฟแฟลช สำหรับกรณีที่ต้องถ่ายภาพย้อนแสง หรือลบเงาที่ไม่พึงประสงค์บนใบหน้า หรือใช้แก้สีในกรณีที่ถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีอุณหภูมิแสงต่ำ เช่น ตอนเช้า หรือเย็น เพราะจะทำให้ภาพที่ได้มีสีแดงอมเหลือง หรือการถ่ายภาพในอาคารที่สภาพแสงไม่พอ

           ขาตั้งกล้อง ใช้ในกรณีที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ หรือใช้ตั้งเวลาสำหรับการถ่ายภาพตนเองซึ่งจะทำ ให้กล้องมีความนิ่งขณะบันทึกภาพ รวมทั้งฟิลเตอร์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดลักษณะพิเศษอื่น ๆ ของการบันทึกภาพ

            

การจัดภาพในการถ่ายภาพบุคคล

          การถ่ายเฉพาะใบหน้า     การถ่ายภาพใบหน้าคนแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ หน้าตรง (Full face) ด้านข้าง (Profile) และใบหน้าทำมุม 3/4 ของกล้อง (Three-quarter face)

 

การถ่ายภาพเฉพาะใบหน้าแบบหน้าตรง (Full face)โดยให้ผู้เป็นแบบมองตรงเข้าหากล้องถ่ายภาพ อาจตัดส่วนที่ไม่จำเป็น หรือส่วนที่มาแย่งความจนใจของภาพออกเช่น ทรงผม ท่าทาง สิ่งที่ต้องการเน้น คือ ดวงตา และใบหน้า ของผู้เป็นแบบ

 

 

การถ่ายภาพด้านข้าง (Profile) เป็นการเน้นอารมณ์ ของแบบมากกว่าลักษณะของใบหน้า แต่ควรคำนึงถึงรูปหน้าของผู้เป็นแบบด้วย เหมาะสำหรับผู้มีจมูกโด่ง ใบหน้าคมเข้มมากกว่า


ใบหน้าทำมุม 3/4 ของกล้อง (Three-quarter face) สำหรับแสดงท่าทางที่เป็นบุคลิกเฉพาะ ตัวที่เป็นธรรมชาติ ภาพแบบนี้จะรู้สึกสบายกว่า 2 แบบแรกที่ค่อนข้างเป็นทางการ

 

          การถ่ายภาพครึ่งตัว    การถ่ายภาพลักษณะนี้ นิยมถ่ายภาพในแนวตั้งมากว่าแนวนอน นอกจากผู้เป็น แบบจะสามารถแสดงลักษณะของใบหน้าแล้วยังแสดงออกถึงกริยาต่าง ๆ รวมถึงเสื้อผ้ามาเป็นส่วนประกอบให้ภาพดูน่า  
สนใจยิ่งขึ้น อาจจัดท่าทางได้ 3 ลักษณะเหมือนแบบเฉพาะใบหน้า

            การถ่ายภาพลักษณะนี้ควรจัดภาพให้กระชับ ให้ระดับสายตาของผู้เป็นแบบค่อนด้านบน ประมาณ 3/4 ของภาพ ไม่ควรจัดภาพให้ต่ำ หรือสูงจนเกินไป หรือคับจนรู้สึกอึกอัด ควรจัดพื้นที่ว่างให้พอเหมาะ และท่าทางให้เหมาะสม เช่น หญิงสาววัยรุ่นควรจัดท่าทางให้น่ารัก มือ แขน วางในตำแหน่งที่พอเหมาะไม่ฝืนธรรมชาติ ส่วนชายหนุ่มอาจจะใช้มือกอดอก หรือท่าทางอื่นให้ดูทะมัดทะแมง ผู้สูงอายุอาจให้แสดงท่าทางตามวัย ดูน่าเคารพ โดยถ่ายในมุมต่ำเล็กน้อย

         การถ่ายภาพเต็มตัว    การถ่ายภาพแบบเต็มตัวอาจจัดภาพได้ทั้ง แบบเดี่ยวแบบคู่ และถ่ายเป็นหมู่คณะ มักนิยมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ในโอกาสต่าง ๆ การถ่ายภาพในลักษณะนี้อาจไม่เน้นที่ตัวบุคคลมากนัก อาจมีสถานที่ หรือเหตุการณ์อื่น ๆ เข้ามาประกอบ ผู้ถ่ายภาพ ควรจัดองค์ประกอบให้ดีว่าผู้ที่เป็นแบบ หรือผู้ที่ถ่ายภาพต้องการอะไรมากกว่า อาจต้องการแสดงรูปร่างของตัวบุคคล หรือต้องการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ

 

        

การถ่ายภาพบุคคลในสตูดิโอ

             โดยทั่วไปการถ่ายภาพบุคคลที่ได้คุณภาพดีดี มักจะมีการจัดไฟถ่ายในสตูดิโอถ่ายภาพ ด้วยเหตุผล ในการควบคุมทิศ ทางของแสงได้ง่ายกว่าการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ ลักษณะของสตูดิโอต้องกว้างขวางพอสำหรับการวางไฟในจุดต่าง ๆ และพื้นที่สำหรับผู้ที่เป็นแบบ รวมถึงฉากหลังของภาพ

แบบของการจัดแสง

แบบของการจัดแสงโดยทั่วไป มีการจัดแสงอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ การจัดแสงแบบไฮคีย์ (High Key) โลว์คีย์ (Low Key) และ กราดูเอทโทน (Graduated tonality)

1. การจัดแสงแบบไฮคีย์ (High Key)     การจัดแสงแบบนี้จะให้ส่วนที่เป็นสีขาวมาก ภาพจะดูสว่าง นุ่มนวลมีเงาน้อย หรือให้เงาจางที่สุด ซึ่งการถ่ายภาพแบบนี้อาจใช้วิธีการวัดแสงให้ค่าเท่ากันทุกจุด หรือวัดแสงแบบเฉลี่ย ภาพจะดูอบอุ่น ร่าเริง สนุกสนาน การถ่ายภาพจะใช้ไฟ 3-5 ดวง เพื่อให้แสงกระจายมากที่สุด โดยอาจใช้ร่มสะท้อน หรือใช้กล่องถ่ายภาพนุ่ม (Reflex) การวัดแสงอาจให้ฟิล์มรับแสงมากกว่าปกติเล็กน้อย 1-2 สต็อบ

2.การจัดแสงแบบโลว์คีย์ (Low Key)   การจัดแสงแบบนี้ใช้ไฟ 1-2 ดวงเท่านั้น จะมีส่วนที่เป็นเงา หรือส่วนผสมของสีดำมาก การวัดแสงใช้วิธีการวัดแสงเฉพาะจุดที่กระทบกับแสงเท่านั้น ส่วนที่เป็นเงาจะปล่อยให้ Under หรือเป็นเงามืดไป ภาพลักษณะนี้ จะให้ความรู้สึกที่ลึกลับ น่ากลัว เงียบเหงา

3. การจัดแสงแบบกราดูเอทโทน (Graduated tonality)     เป็นการจัดแสงที่ผสมผสานระหว่างแบบไฮคีย์ และโลว์คีย์ เป็นแบบที่นิยมมากทีสุด การจัดแสงสามารถจัดได้โดยการใช้ไฟ 3-5 ดวง โดยวัดแสงแบบเฉลี่ย ให้ค่าใกล้ เคียงกันทุกจุด แต่เปิดรูรับแสงน้อยกว่าน้อยกว่าแบบไฮคีย์ โดยวัดแสงให้แสงกระทบกับฟิล์มพอดี หรือน้อยกว่าปกติประมาณ 1/2 - 1 สต็อบ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3991เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยครับ...นำความรู้ดีๆมาแชร์กัน

จริงๆแล้วผมก็เรียนเรื่องการถ่ายภาพมาบ้าง

แต่พอไม่ได้สัมผัสมันนานๆ ก็เริ่มไม่คุ้นชินกับการจับกล้องเท่าใดนัก ยิ่งสมัยนี้กล้องดิจิตอลเข้ามาครองตลาดมากขึ้น กล้องฟิมล์จึงแทบจะไม่ได้ใช้เลยก็ว่าได้

ผมเองพึ่งมาทำงาน สคส. เข้าเดือนที่ 4 แล้ว แต่ก็ยังใช้กล้องดิจิตอลอยู่ เนื่องจากข้อจำกัดของเงื่อนเวลา แลกล้องดิจิตอลยังได้เรื่องความสะดวกรวดเร็ว

ขอบคุณ คุณทวีวัฒน์ ที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำของผมในเรื่องถ่ายภาพ แถมยังได้เทคนิคดีๆในการถ่ายภาพบุคคลด้วย เพราะผมต้องอาศัยมุมภาพมากเวลาถ่ายภาพบุคคล โดยเฉพาะงานที่ผมกำลังทำงานอยู่นี้ เป็นการทำงานกับคน และสื่อสิ่งพิมพ์ซะเยอะ

หากมีเทคนิดดีๆ เอามาฝากเราชาวบล็อคอีกนะครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ และจะติดตามอ่านครับ

"แขก" ประชาสัมพันธ์ สคส.

ผมรู้สึกดีใจมากนะครับ ที่ข้อมูลที่นำมามีประโยชน์ สำหรับคุณแขกนะครับ ขอบคุณมากครับที่เข้ามาอ่าน และผมต้องขอขอบคุณสำหรับเว็บต้นฉบับที่ผมนำเนื้อหามานี้ บล็อคเล็กๆอันนี้ เสียดายที่ผมไม่ได้นำภาพลงไป แนะนำให้ไปที่นี่ครับ  

http://www.rmu.ac.th/~prawit/web/sara/protrait.htm

ของราชภัฏมหาสารคามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท