ขอแจมด้วยคน! (ค่ะ)


ช่วงนี้กำลังหัวหมุนอยู่กับเรื่องการเตรียมสอนและการสอน ทำให้ไม่มีเวลาไปลงพื้นที่เลย ได้แต่โทรศัพท์คุยเท่านั้น ก็พอจะทราบข่าวคราว ความเคลื่อนไหวบ้าง แต่ถ้าได้เห็นหน้าเห็นตา ได้สัมผัสบรรยากาศก็คงจะดีกว่านี้ค่ะ เอาล่ะ! มาเข้าเรื่องกันดีกว่า โครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ได้ดำเนินการมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ในวันที่ 22 กันยายน 2549 จะมีการนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2549 นี้ จะมีการประชุมนักวิจัยทั้ง 5 พื้นที่ ดังนั้นในช่วงนี้จึงต้องมีการติดตามข่าวคราว ความเคลื่อนไหว จากทีมกลาง ซึ่งผู้ประสานงานก็พยายามส่งข่าวสมำเสมอ แต่ผู้วิจัยไม่ค่อยจะได้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นอะไรหรอกค่ะ เพราะ ไม่รู้ว่าจะตอบหรือแสดงความคิดเห็นอะไร รู้สึกว่ามึน (ข้อมูล) ไปหมด จากการที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นเข้ามา ผู้วิจัยเห็นด้วยกับความคิดเห็นเหล่านั้นค่ะ เช่น ท่านอาจารย์สีลาภรณ์ เสนอในเรื่อง "ทุนทางสังคม" ท่านอาจารย์ปัทมาวดี เสนอในเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยหลัก-ปัจจัยเสริม เป็นต้น ผู้วิจัยเข้าใจว่าดูเหมือนงานวิจัยนี้จะเน้นไปที่ "ทุนทางสังคม" มากกว่า "ทุนเงินตรา" ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ผู้วิจัยไม่อยากจะให้ทิ้งประเด็นในเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการพูดถึงเรื่อง "ทุนเงินตรา" ด้วยแน่นอน ทั้งนี้เพราะ ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก (แม้ว่าตัวเองจะเรียนและสอนทางด้านสังคมก็ตาม) โดยเฉพาะในองค์กรภาคประชาชน (บางองค์กรนะคะ ไม่ได้เหมาทั้งหมด) ที่ยังไม่มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร หากเรามุ่งไปที่การชูประเด็นเรื่อง "ทุนทางสังคม" มากเกินไป จนละเลยหรือไม่กล่าวถึงหรือไม่ให้ความสำคัญกับ "ทุนเงินตรา" ผู้วิจัยเกรงว่าหากผลการศึกษาได้รับการเผยแพร่ออกไป (ทั้งทางคำพูดและลายลักษณ์อักษร) อาจเป็นปัญหาสำหรับที่อื่นๆที่นำหลักการบริหารจัดการ (ที่เป็นปัญหา) ไปใช้ประโยชน์ได้ค่ะ แม้ "การจัดการความรู้" เรามักจะพูดถึงแต่สิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่สำหรับผู้วิจัยแล้ว "การจัดการความรู้" ที่ดี มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ต้องไม่ละเลยการกล่าวถึงสิ่งที่ผิดพลาดหรือสิ่งที่เป็นมุมมืดด้วย การพูดถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ต้องการที่จะเย้ยหยัน ถากถาง หรือประจาน แต่เป็นสิ่งที่ควร "พึงระวัง" หาทางป้องกัน แก้ไขด้วย "ความรู้" เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซำรอยจะดีกว่าไหมคะ?
หมายเลขบันทึก: 39894เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยครับว่า ต้องดูทุนชุมชนทั้งหมด

เราทำวิจัยเรื่องนี้เพื่อ ใช้องค์กรการเงินชุมชนซึ่งเป็นทุนทางสังคม(หรือเป็นกระบวนการที่ใช้ทุนทางสังคมจัดตั้งขึ้น) พัฒนาทุนชุมชนทั้งระบบ

แต่องค์กรการเงินชุมชนจะทำเรื่องนี้ได้ต้องมีประสิทธิภาพหรือมีการบริหารจัดการที่ดี มิฉะนั้นก็เป็นการทำลายทุนทางสังคมในชุมชน เกิดการทะเลาะกันเช่นที่การเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ซึ่งประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจแบบไทยๆ    ต้องใช้ทุนทางสังคมแลกมา(ทั้งใช้และทำลาย)

เราใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพราะเชื่อว่าเป็นตัวสร้างความเป็นองค์กรเรียนรู้ซึ่งหรือทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
แต่งานนี้เป็นงานวิจัย เราจึงสังเกตผลจากปฏิบัติการ ที่เราลงไปร่วมกระทำด้วยมุมมอง"ตาหนอน" โดยใช้มุมมอง"ตานก" สังเกตและวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมใช้แบบจำลองปลาทูว่ายฝ่ากระแสน้ำเป็นแนวทางอธิบาย
(ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็น"แบบจำลอง"จึงไม่ใช่ของจริง  ถ้าใครเห็นว่าใช้แบบจำลอง(การเปรียบเทียบ)อธิบายแล้วเห็นภาพ ทำให้เข้าใจง่าย ก็เอาไปใช้ ถ้าดูแล้ว มันดึงปรากฏการณ์เข้าหาแบบนี่หว่า ก็เลิกใช้ )
เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนให้ดียิ่งๆขึ้นต่อไป
ประเด็นหลังนี้เกี่ยวข้องกับภาคีที่มีบทบาทหน้าที่ทาบซ้อนอยู่ในการพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งมีความสำคัญหรือมีส่วนเกี่ยวข้องลดหลั่นกันไป

เราเป็นนักวิจัย ก็จะพยายามทำบทบาทของเราอย่างมีเกียรติ/ศักดิ์ศรีและมีคุณค่ามากที่สุด

ดีใจมากที่ได้อาจารย์อ้อมและอาจารย์พิมพ์มาเป็นเพื่อนร่วมงาน

กล่าวถึงสิ่งที่ผิดพลาดเพื่อหาทางแก้ไข มิใช่เพื่อหาว่าใครคือคนทำผิดคือสิ่งที่งดงามมากครับ องค์กรภาคประชาชนที่ยังไม่มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เราจะช่วยเหลือเขาเหล่านั้นได้อย่างไรครับ

มีข้อเสนอว่าถ้าเขาทำกันเองก็คงมีระบบตรวจสอบของเขาเอง เรื่องการเงิน ของๆใครใครก็หวง

ที่ผ่านมาใช้วิธีล่อ คือให้แบบมีเงื่อนไข และการใช้เครือข่ายเสริมแรง แต่ก็อาจพังเพราะเครือข่ายก็ช่วยได้ไม่มาก
สัจจะที่ตราด ใช้เครือข่ายช่วยกันเอง

พช. พอช. สทบ.ก็พยายามใช้แนวทางนี้ เพราะทุ่นแรงที่สุด
มักจะใช้การอบรม และระบบมาตรฐาน เป็นเครื่องมือหลักเพราะลงทุนน้อยที่สุด
การเรียนรู้ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ต้องการ        พี่เลี้ยงและใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก
ที่น่าสนใจคือเครือข่ายพระสงฆ์ที่ประยุกต์ธรรมกับชีวิตทางโลก
ระบบการศึกษา ทั้งกศน. และโรงเรียน   ถ้าเข้ามาเชื่อมโยงการเรียนรู้ในหลักวิชากับการทำงานจริงแบบเนียนเข้าด้วยกันก็จะเป็นกลไกเสริมการจัดการของชุมชนได้อย่างมหาศาล
สรุปคือเป็นงานที่ตรงตามชื่อ ผอ.บวร เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท