รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2551/2552 (ปฎิรูปประเทศไทย : การศึกษา - พัฒนาผู้นำ โดย วิทยากร เชียงกูล)


ถ้าภาษาไทยอ่อน การเรียนวิชาอื่นจะอ่อนตามไปด้วย ...

ช่วงนี้เป็นการแอบซ่อนตัวทำแผนกลยุทธ์ระยะยาวให้กับคณะฯ ทำให้จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมในแง่ของสถิติการศึกษาที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นที่น่าจะนำมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขอีกหลายอย่างในการปฏิรูปการศึกษาการผลิตครู

ได้หนังสือมาเล่มหนึ่งเขียนโดยอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ชื่อ ปฎิรูปประเทศไทย เล่ม 2 การศึกษา - พัฒนาผู้นำ

 

รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2551/2552

 

ผมอยากสรุปประเด็นและสถิติที่ผมให้ความสนใจไว้ในบันทึก ดังต่อไปนี้

 

 

การศึกษากับการเมือง และเศรษฐกิจ และสถานะของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลก

 

  • การที่รัฐบาลไทยจัดการศึกษาให้ประชากรไม่ทั่วถึงและคุณภาพโดยเฉลี่ยต่ำ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยมีปัญหา รวมทั้งเศรษฐกิจการเมืองที่มีปัญหา ความด้อยพัฒนาก็ทำให้การจัดการศึกษามีปัญหาต่อไป เป็นวงจรที่ชั่วร้ายจนกว่าใครสามารถทลายวงจรนี้ได้

 

 

การจัดการศึกษา งบประมาณ และระดับการศึกษาของแรงงาน

 

  • สัดส่วนของผู้ได้เรียนต่อประชากรวัยเดียวกันในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากปี 2550-2551 เล็กน้อย ...
    • ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มจาก 79.89% เป็น 81.29% ของประชาการวัย 3 - 17 ปี
    • แต่ระดับปฐมวัยและระดับมัธยมปลาย ยังมีสัดส่วนของผู้ได้เรียนต่ำ
    • ปฐมวัย 61% ... เพราะค่าใช้จ่ายสูง/พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญ
    • มัธยมปลาย 64% ... เพราะปัญหาออกกลางคัน ปัญหาถูกสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมดึงออกไปจากโรงเรียน และปัญหาอื่น ๆ)

 

  • ประชากร วัย 3-17 ปี ที่ไม่ได้เรียน มี 2.76 ล้านคน (คิดเป็น 18.71% ของประชากรวัยเดียวกันที่มี 14.79 ล้านคน)

 

  • เด็กเข้า ป.1 ตอนปี 2540 ได้เรียนถึงชั้น ม.6/ปวช.3 เพียงร้อยละ 47.2 คือ ออกกลางคันไปกว่าครึ่งหนึ่ง คิดเป็นจำนวนคน 5.2 แสนคน

 

  • การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี นโยบายพรรครัฐบาลให้เรียนฟรี 15 ปี ไม่เกิดผลจริง เพราะไม่ได้สนใจ/แก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคันที่มีหลายสาเหตุถึงต้นตอของปัญหาอย่างเชื่อมโยงแบบครบวงจร

 

  • คนเลือกเรียนมัธยมสายสามัญ สูงกว่า สายอาชีวะ (61 : 39)

 

  • เลือกอุดมศึกษาสายสังคมมนุษย์ สูงกว่า สายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (70 : 30)

 

  • แรงงานร้อยละ 54.2 (20.11 ล้านคน) ของแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน มีการศึกษาแค่ประถมและต่ำกว่า เนื่องจากไม่ได้เข้าเรียนและปัญหาออกกลางคันมาก
    • สัดส่วนแรงงานที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 13.7% (โดยเฉพาะอาชีวะ 3.3%) ของแรงงานทั้งหมด
    • เป็นสัดส่วนที่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และเทียบกับความต้องการแรงงานในโลกสมัยใหม่ที่ควรมีความรู้และทักษะอย่างน้อยระดับมัธยม

 

  • ผู้ว่างงาน 8.2 แสนคน จบอุดมศึกษามากที่สุด (2 แสนคน)
    • คนจบมัธยมปลายก็ว่างงานมาก แสดงว่า เราผลิตคนได้ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน
    • คนระดับประถมศึกษากลับว่างงานน้อย เพราะพวกเขาไม่ค่อยเลือกงาน แต่ก็ได้ค่าจ้างที่ต่ำ และพัฒนาฝีมือแรงงานได้ยาก

 

การประเมินคุณภาพ/ประสิทธิภาพการศึกษา โดย สมศ. และ สกศ.
 

  • เด็ก 3 - 5 ขวบ มีโอกาสได้เรียนน้อยและสัดส่วนผู้ได้เรียนต่อประชากรวัยเดียวกันลดลงในรอบ 5 ปี สถานศึกษาคุณภาพดีมีน้อย คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกระดับในภูมิภาค จังหวัด และโรงเรียนมีความแตกต่างกันสูง

 

  • คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เช่น คะแนนจากการทดสอบในระดับช่วงชั้น ป.6 ม.3 ม.6 ส่วนใหญ่ได้เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 และส่วนใหญ่ตกต่ำลงจาก 5 ปีก่อน 

 

  • ที่น่าห่วง คือ วิชาภาษาไทย ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ไม่ว่าจะดูจากการอ่านออกเขียนได้

 

  • การสอบระดับประเทศ หรือการทดสอบเทียบวิชาการอ่านภาษาแม่ระหว่างนักเรียนหลายชาติในโครงการ PISA (เดี๋ยวไปหาความหมายมาให้ครับ เจออยู่) โดยกลุ่มประเทศ OECD วิชาภาษาไทยเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้ไปเข้าใจวิชาอื่น ๆ ได้ดี 

 

  • ถ้าภาษาไทยอ่อน การเรียนวิชาอื่นจะอ่อนตามไปด้วย 

 

  • การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 2 โดย สมศ. มีสถานศึกษาที่ผ่านการรับรองเป็นสัดส่วนสูงกว่ารอบแรก (เมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้ว) แต่มาตรฐานที่ยังได้คะแนนต่ำ คือความสามารถของผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

 

  • การประเมินด้านเป็นคนดี มีความสุขได้คะแนนสูง แต่ผลนี้ขัดแย้งกับการเรียนไม่เก่ง การประเมิน สมศ. อาจไม่แม่นยำ เพราะประเมินจากการเตรียมเอกสาร น่าจะต้องประเมินเชิงคุณภาพเจาะลึกมากขึ้น และต้องมีข้อเสนอแนะ และมีการร่วมมือหาทางแก้ไขอย่างจริงจังมากขึ้น

 

  • การที่นักเรียนไทย มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ เรามักอ้างว่า เพราะเรามีปัญหาขาดแคลนครู โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ นั่นเป็นความจริงส่วนหนึ่ง 

 

  • แต่ที่วิชาภาษาไทย สังคมศึกษาก็อ่อนด้วย แสดงว่า มีปัญหาเรื่องการสอนการเรียนยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

 

การประเมินผลการปฎิรูปการศึกษาโดยบุคคลวงการต่าง ๆ

 

  • การปฎิรูปการศึกษาในรอบ 10 ปี ยังไม่ค่อยก้าวหน้า เป็นเพียงการปรับโครงสร้างการบริหารของระบบราชการ เปลี่ยนเฉพาะรูปแบบ ส่วนเนื้อหาการสอน การเรียนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนเป้าหมายให้นักเรียนนักศึกษาเก่ง เป็นคนดีมีวินัย มีความรับผิดชอบ

 

  • การจัดการศึกษายังกระจายอย่างไม่เป็นธรรม มีความแตกต่างด้านคุณภาพสูง โดยเฉลี่ย คือ คุณภาพต่ำ การจัดการศึกษาตัดขาดจากชีวิตจริงและชุมชน เน้นทฤษฎีการท่องจำ, การเลียนแบบ ความรู้ทักษะที่จะไปปฏิบัติงานได้จริงยังจำกัด ไม่สามารถนำความรู้จากสถานศึกษาไปแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างมีคุณภาพ ต้องปฎิรูปด้านคุณภาพประสิทธิภาพครูอาจารย์ ผู้บริหารการศึกษาอย่างจริงจัง

 

 การศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม

 

  • การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่สมดุล ไม่เป็นธรรม คนจนผู้มีรายได้ 40% สุดท้าย มีโอกาสได้รับการศึกษาและพัฒนาตนเองได้น้อย

 

  • โครงการเรียนฟรี 15 ปี หรือ ช่วยออกค่าใช้จ่าย 5 อย่างสำหรับทุกคน ไม่ได้ช่วยคนจนได้แท้จริง ไม่ได้แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน ต้องมีทุนช่วยเหลือค่ากินค่าอยู่ ค่าเดินทาง ให้คนจนด้วย และต้องพัฒนาครูและระบบโรงเรียนให้ช่วยป้องกัน/แก้ปัญหาเด็กที่มีแนวโน้มจะออกกลางคันให้ได้มากขึ้น

 

  • ยังขาดการวางแผนและการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ จัดการศึกษาบางระดับบางประเภท เช่น มัธยมสายสามัญ อุดมศึกษาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์มากไป บางระดับบางประเภท เช่น ช่าง อาชีวศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ยังขาดแคลน

 

  • แรงงานยังขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การรู้จักเรียนรู้ต่อด้วยตนเอง การมีวินัย ความกระตือรือร้นในการทำงาน ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร

 

  • ปัญหาการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่แค่ปัญหาเทคนิคการจัดการและการเพิ่มการลงทุน แต่ต้องแก้ไขพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคมให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เสรีภาพประชาธิปไตยอย่างครบวงจร เป็นระบบองค์รวม ต้องมองอนาคตว่า สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้น วัยทำงานจะต้องแบกรับภาระคนที่ไม่ทำงานเพิ่มขึ้น เด็กวัยรุ่นและเยาวชนที่ได้รับบริการทางการศึกษาและการพัฒนาทางสังคมด้านต่าง ๆ ไม่ทั่วถึงและมีคุณภาพมากพอจะไปแข่งขันสู้ใครได้

 

แนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคแบบคอขวดของการปฏิรูปการศึกษา

 

1. เปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากทุนนิยมผูกขาดที่เน้นการเติบโตของการผลผลิต เป็นการพัฒนาแนวเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมกับระบบสหกรณ์ ระบบรัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ

  • เปลี่ยนจากการจัดการศึกษาแบบแพ้คัดออก เป็นการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น ทั่วถึง มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาคนทุกคนตามศักยภาพอย่างเต็มที่ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน ชุมชน และประเทศ มากกว่าการเพิ่ม GDP

2. ปรับโครงสร้างอำนาจการบริหารแบบรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง (กระทรวงศึกษาฯ) เป็นสำนักงาน+คณะกรรมการการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีภาคี 4 ฝ่ายร่วมบริหารจัดการ คือ กระทรวงศึกษาฯ องค์กรภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ครูอาจารย์ เพื่อลดอำนาจผูกขาดและวิธีบริหารแบบสั่งการจากบนลงล่าง เป็นการบริหารแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม มุ่งสนองความต้องการและประโยชน์ของประชาชน ชุมชนมากกว่าเพื่อข้าราชการ

3. การปฎิรูปครูอาจารย์ให้เป็นครูแนวใหม่ รักการอ่าน การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ ความคิด และรู้จักวิธีสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์สังเคราะห์เป็น

 

(ประเด็นอื่น ๆ อ่านเพิ่มได้จาก รายงานฉบับเต็มที่เว็บไซต์ ชมรมศึกษาผลงาน วิทยากร เชียงกูล www.witayakornclub.wordpress.com)

 


 

นำเนื้อหาแนวความคิดของท่านอาจารย์วิทยากร เชียงกูลมานำเสนอเรียบร้อยแล้วครับ

ลิขสิทธิ์และความคิดทั้งหมดเป็นของท่านอาจารย์ครับ

แต่ยังประโยชน์มหาศาลในการแก้ไขการศึกษาไทยต่อไปในทุกระดับ

 

อนาคตยังมีอีกบทหนึ่งที่ "ตรงเป๊ะ" มากครับ

 

"ต้องปฎิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพจึงจะปฏิรูปประเทศไทยได้"

 

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

 

บุญรักษา ครับ ;)

 


 

แหล่งข้อมูล

วิทยากร เชียงกูล.  ปฎิรูปประเทศไทย เล่ม 2 การศึกษา - พัฒนาผู้นำ.  

          กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2553.

http://witayakornclub.wordpress.com/%e0%b8%94%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b9%8c%e0%b9%82%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%94%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%aa/ (หน้าดาวน์โหลดรายงานสภาวะฯ) 

 

หมายเลขบันทึก: 398822เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สุดยอดมากๆค่ะ...ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ..แล้วจะมาติดตามใหม่ค่ะ...

ข้อมูลหลายๆส่วนที่นำเสนอ น่าสนใจมากครับ

ที่สะดุดๆก็คือ ข้อมูลวิชาภาษาไทย ที่น้อยลง ทั้งๆที่เป็นภาษาประจำชาติ  เเต่กลับกันน่าจะเป็นว่า ภาษาอังกฤษดีขึ้นหรือเปล่าไม่รู้นะครับ เห็นโรงเรียนนานาชาติเปิดกันเกร่อเลย

ข้อมูลเชิงปริมาณ ผมว่าก็น่าสนใจดี เมื่อมาดูข้อมูลเชิงคุณภาพเข้าใจว่า มีเยอะกว่านี้อาจารย์ยังบันทึกไม่หมดนะครับ ผมสนใจข้อมูลเชิงคุณภาพเพราะมองว่าในเรื่องปริมาณวัดอะไรได้ไม่เยอะเท่าไหร่ เท่ากับ คุณภาพของการเรียนการสอน ที่ว่าเด็กไทยอ่อน ก็น่าจะเป็นผลมาจากผู้สอนส่วนหนึ่ง ตรงนี้ต้องพูดกันตรงๆเลยนะครับ ครูในระบบส่วนใหญ่มีปัญหาทักษะการคิดเชิงระบบ การเขียนสังเคราะห์ ทำให้กระบวนการเรียนการสอนดูจะไม่สอดคล้องกับการพัฒนากระบวนการคิดของเด็กสักเท่าไหร่ เมื่อครูคิดไม่เป็น ก็ทำให้เด็กคิดไม่เป็นไปด้วย

 เรื่องใหญ่ๆที่ผมอยากเสนอก็คือ "การพัฒนาศักยภาพครู"  ครับ

เห็นด้วยกับ  การพัฒนาศักยภาพครู  โดยเฉพาะในวิชาภาษาไทย เป็นวิชาทีี่่ยากเพราะมีเนื้อหาที่มาก อีกทั้งครูผู้สอนส่วนมากไม่ได้จบเอกภาษาไทย  อย่างเช่นครูเอเป็นต้นค่ะ  คงต้องมีการพัฒนาอีกมาก ถ้ามาดูสัดส่วนและสำรวจกันจริงแล้ว  ต้องมาดูหลายๆประเด็น เช่น คุณวุฒิของครูผู้สอนที่สอนในวิชาภาษาไทย  อายุครูผู้สอน  ประสบการณ์ในการสอน  และหลักสูตร ที่ปัจจุบันเน้น 8 สาระ  ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราจะเรียนในรายวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์ โดยการอ่านออกเขียนได้  และคิดคำนวนมากกว่า วันหนึ่งแบกหนังสือเกือบ 2 กิโล เห็นแล้วน่าสงสารค่ะ  สมัยก่อนที่ครูเอสอนบนดอย เราเรียน เน้นเรื่องภาษาไทย และคณิตศาสตร์ ให้เด็กเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเน้นการอ่านออก เขียนได้ การคิดคำนวน และการสื่อสาร ขอบคุณค่ะ

มาเพิ่มเติม  ลองมาศึกษาหลักสูตรสาระสังคม  ครูเอไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็กผลการเรียนไม่ค่อยจะดี  เพราะเนื้อหาเยอะมากๆค่ะ และครูต้องสอนเก่งค่ะ

ข้อมูลโดยสรุปนั้น เรียบร้อยแล้วครับ คุณ มาตายี ;)

ลองทบทวนอีกครานะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)

"ปริมาณ" แค่ บ่งบอก แต่ "คุณภาพ" ถึงกึ๋นเลยล่ะครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ;)

ผมอยู่ในหน่วยงานที่ถือว่า ทำหน้าผลิตครู ... กำลังทบทวนตัวเองกันอยู่ครับ

ซึ่งผมโชคดีที่มีโอกาสเข้าไปในทีมงานชุดนี้

คงแต่หวังว่า การเมืองในมหาวิทยาลัยคงไม่เล่นงานเสียก่อนนะครับ

บทหน้าจะมีคำตอบที่คุณเอกคงได้มุมมองที่สะท้อนมากกว่านี้ครับ

ขอบคุณครับ ;)

คุณ ครูเอ ครับ ... ข้อมูลเรื่องวิชาภาษาไทย แม่นยำที่สุดครับ

เด็ก ๆ นักศึกษาที่ผมสอน แม้แต่เอกภาษาไทยนั้น เขียนผิดมากจริง ๆ

สังเคราะห์ วิเคราะห์ไม่ต้องพูดถึงครับ วิจารณญาณ การคาดคะเน ใช้ไม่ได้เลย

เหอ เหอ แก้ไขคนเดียวไม่ได้ครับ ต้องช่วยกันทั้งระบบ

เห็นแต่นักการเมืองเอาใจข้าราชการครู โดยขึ้นเงินเดือนทั้ง ๆ ที่ผลงานที่ออกมาจากการปฎิรูปการศึกษา ล้มทั้งยืน

Copy and Paste ก็เต็มไปหมด ศักดิ์ศรีสู้เม็ดเงินไม่ได้

น่ารำคาญใจแทนอนาคตของชาติจริง ๆ ;(

สวัสดีครับอาจารย์ โรงเรียนไร้ฝา การศึกษาไร้กรอบ วิทยาลัยป้องกันชุมชน กำลังทำทำงานโรงเรียนไร้ฝา การศึกษาไร้กรอบตามที่อาจารย์ชอบในชื่อเรื่อง

PISA ... มีหอเอน ปิซ่า หรือ ผัดฉ่า (ไม่ชอบพิซซ่า) มาส่ง คอยบนดู จ้า

The Programme for International Student Assessment (PISA)

น่าจะใช่เมนูเดียวกัน? ช่วงทำงานเมืองลาวมีรณรงค์การอ่านออกเขียนได้ค่ะ

เห็นด้วยกับการลดปริมาณงานกระดาษ มาเน้นคุณภาพ เวลาสอนเต็มที่ดีกว่าค่ะ

หนูน้อยเสื้อชมพู เธอย้ายตามพ่อจากนครปฐมมาเรียนหนังสือที่เกาะ

 

คำนี้ถูกต้องแล้วครับ คุณ poo ;)... เก่งมาก ๆ เลย

ขอบคุณครับ ;)

ขอบคุณท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ที่ได้แจ้งข่าวเข้ามาครับ

เอ คิดเหมือนผมเลยเนอะ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท