ชายขอบของนักพัฒนา


การมองชุมชน "เป็นชายขอบ" ที่รอ "นักพัฒนา" เข้าไปช่วยให้ "ชุมชน" ให้พ้นทุกข์จากความโง่ จน และเจ็บ , นำชาวบ้านมาลงชื่อ เบิกค่าอาหาร ค่าเดินทาง แล้วก็กลับไปจนไปเจ็บเหมือนเดิม

         จากการศึกษาเรื่องของระบบต่าง ๆ ของโลกตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทุนนิยม สมัยนิยม โลกาภิวัฒน์ จนกระทั่งได้รับฟังการบรรยายจากท่าน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน เรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์ ในระหว่างการประชุมของหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์เมื่อวานที่ผ่านมา ก็ได้พบกับประเด็นที่น่าสนใจอีกมิติหนึ่งที่น่านำมาเป็นประเด็นในการขบคิดสำหรับการทำงานต่อไปอนาคต นั่นก็คือเรื่องของ "ชายขอบ"

         จากการประชุมหลายๆ  ครั้ง นับตั้งแต่สมัยทำงานในอดีตทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงการประชุมของ "พัฒนบูรณาการศาสตร์" ผมก็พยายามนั่งจับและสกัดความคิดเห็นที่ได้ยินและได้สัมผัสจนเจอมิติหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การมองชุมชน "เป็นชายขอบ" ที่รอ "นักพัฒนา" เข้าไปช่วยให้ "ชุมชน" ให้พ้นทุกข์จากความโง่ จน และเจ็บ

          นักพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาโดยตรงหรือพัฒนาโดยอ้อม ทั้งข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ และนักการศึกษา ที่ร่ำเรียนมาทั้งในระบบและนอกระบบ อบรมหลักสูตรพัฒนาชุมชนกันไม่เว้นแต่ละวัน นำความคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่หรูหราจากต่างประเทศเข้าไปจัดการ "ชายขอบ" ของสังคมไทย โดยผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ "นักพัฒนา" ส่งเข้าไปในหมู่บ้านชุมชน ให้กับ "ชาวบ้าน" ที่นักพัฒนามองว่า "เขากำลังรอความเอื้ออาทร" จากพวกเรา "นักพัฒนา" อยู่ ถ้าไม่มีพวกเราเขาคงจะเจริญกันไม่ได้

        ซึ่งนักพัฒนาก็จะทำโครงการต่าง ๆ เข้าไปด้วยระบบและกลไกในนามของ "การศึกษา" "การพัฒนา" "สุขภาพ" "การแก้ไขปัญหา" "การช่วยเหลือ" เพื่อทำให้ "ชายขอบ" เหล่านั้นหายจากความโง่ ความจน และความเจ็บ

          วิธีการดำเนินงานกับ "ชาวบ้าน" ที่ถูกมองว่าเป็นชายขอบก็ไม่มีอะไรมากมายครับ ศึกษา สัมภาษณ์ สังเกต มีปัญหาอะไรบ้าง อยากได้อะไร จัดเวทีประชุม เลี้ยงอาหารว่าง เลี้ยงอาหารกลางวัน การประชุมเชิงปฏิบัติการ Work shop ต่าง ๆ นำชาวบ้านมาลงชื่อ เบิกค่าอาหาร ค่าเดินทาง แล้วก็กลับไปจนไปเจ็บเหมือนเดิม

         สิ่งต่าง ๆ ที่เรานำมาให้นี่ดีนะ "ทฤษฎีจากเมืองนอก" "ระบบโครงสร้างธุรกิจระดับโลก" "แผนการตลาดชั้นเซียน" คุณทำสิ แล้วคุณ (และผม) จะพัฒนา (แต่ส่วนใหญ่เป็นผมพัฒนานะครับ เพราะผมได้ทั้งค่าตอบแทนและผลงาน คุณจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเรื่องของคุณ งานผมเสร็จก็จบกัน)

         จัดการศึกษา อบรม จัดซื้อจัดจ้าง จัดหาอุปกรณ์ อยู่เฉย ๆ เดี๋ยวพวกเราจะเข้ามาช่วย

          "พวกคุณทำอะไรกันไม่เป็นหรอก เรียนหนังสือกันก็น้อย ความรู้ยังด้อยต้องศึกษา เห็นมั๊ยเนี่ยทีวีก็จอเล็ก แอร์ก็ไม่มี คอมพิวเตอร์ก็ใช้ไม่เป็นกัน ไมโครเวฟ เตาองเตาอบอะไรก็ไม่มีกัน ยังใช้เตาถ่ายกันอยู่เลย" 

           พวกเราจบกันมาสูง ๆ ทั้งนั้น พวกเราไปเรียนเมืองนอกเมืองนามากัน เพื่อกลับมาช่วยพัฒนาประเทศชาติของเรานะ พวกคุณทำอะไรก็ผิดหมดแหละ ทำตามฝรั่งสิ จะได้พัฒนาเหมือนอย่างเรา ผมเรียนกันมาหมดแล้ว ท่านโน้นก็มา ท่านนี้ก็มา หน่วยงานโน้นก็มา หน่วยงานนี้ก็มา พวกเราเข้ามาช่วย "พัฒนา" ท่านนะเนี่ย"

ตอบแบบสอบถามสิ มานั่งคุยกันเถอะ มาร่วมเวทีกันนะ

        ชาวบ้านบางคนโดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีวี่แววที่จะประสบความสำเร็จ แทบจะไม่ต้องทำมาหากินกันเลย เพราะว่ามี "นักพัฒนา" เข้าไป "พัฒนา" กันแทบทุกวัน จัดเวที ประชุม มาประชุมในเมือง มีค่าเดินทางให้

"อย่าคิด อย่าคิดครับ เดี๋ยวผมคิดให้"

"อย่าทำ อย่าทำครับ เดี๋ยวผมทำให้"

(เฉพาะในระยะเวลาของการทำโครงการนะ อันนี้คิดในใจไม่ได้บอก)

           โครงการต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง หรือใครต่อใครส่งเข้าไปในแต่ละ "ชายขอบ" มีใครเคยทำสถิติไหมว่า อยู่รอดปลอดภัยกันมากแค่ไหน ถ้ายังอยู่ ก็อยู่แบบในกระดาษของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ถ้าไม่เชื่อลองลงมาดูได้ครับ แต่ต้องบอกก่อนล่วงหน้าสักสองสามอาทิตย์ เดี๋ยวผักชีขึ้นไม่ทัน

           โครงการหนึ่งโครงการเดียวกันหน่วยงานหนึ่งส่งเข้าไป อีกหน่วยงานหนึ่งเข้าไปเจอ

"โอ๊ย มันมั่ว ใครเขาทำกันอย่างนั้น ต้องทำอย่างผมนี่ครับ ถูกต้อง"

อันเดิมยังไม่เข้าใจเลยครับ มีอันใหม่มาอีกแล้ว

            ผมถนัดอันนี้ หน่วยงานผมรับผิดชอบการพัฒนาแบบนี้ พวกคุณ "ชายขอบ" คุณต้องทำการพัฒนาตามโครงการผม ผมจะได้หางบประมาณมาให้พวกคุณ

             ใช้กลุ่มเดิมก็ได้ครับ แต่ต้องเปลี่ยนชื่อท้ายหน่อยนะให้เป็นหน่วยงานของผม จนกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรี หรือกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับชื่อของนักมวยแชมป์โลกหลาย ๆ ท่านในเมืองไทย ที่มีสร้อยต่อท้ายขึ้นอยู่กับค่ายหรือสปอนเซอร์ที่สังกัด

โครงการล้มไม่สำเร็จทำไงดีครับ

มีทางออกที่ดีมากครับ

"พวกเราจะเก็บไว้ไปกรณีศึกษา"

 หลังจากนั้นจัดโครงการเข้าไปศึกษาอีก

"เราจะได้รู้ไงครับ ว่าเขาไม่สำเร็จเพราะอะไร"

จากนั้นก็ "พัฒนากันซ้ำไปซ้ำมา" แล้วแต่ Trend แล้วแต่ยุคสมัย ว่าตอนนั้นเขานิยมอะไรกัน


สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ผมมีสิ่งหนึ่งที่คิดไม่ออกครับ ว่า..........

"ฝากบอกหัวหน้าด้วยนะครับ คราวหน้าไปหมู่บ้านอื่นบ้าง พวกผมไม่ได้เป็นอันทำมาหากินกันเลย"

คำพูดประโยคหนึ่งที่พี่น้องในชุมชนเคยพูดผม เมื่อครั้งยังเป็นนักพัฒนาใหม่ ๆ

ตอนนั้นผมยังไม่รู้ประสีประสาอะไร ทำงานกับชุมชนใหม่ ๆ ก็เริ่มสนุก แต่เมื่อได้ยินพี่น้องในชุมชนพูดอย่างนั้น ก็เริ่มได้กลับมาคิดขึ้นว่า "เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่านี่"

นั่นน่ะสิครับ "ผมทำอะไรผิดไป"

หมายเลขบันทึก: 39878เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

555

 

อนิจจัง

     บันทึกนี้จะเรียกว่าอะไรไปไม่ได้เลย โดนใจ "ชายขอบ" มากครับ ขอบคุณมากนะครับที่สื่อสารถ่ายทอดออกมา
     มีอีกมากมายครับที่เรากำลังทำ ด้วยเพราะเสียงสะท้อนจากชุมชน จากคนชายขอบ เราจึงเลือกเดินอย่างที่ไม่ค่อยมีใครเดินครับใน "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน"

แน่นอนว่าโดนใจผมด้วยเช่นกัน เยี่ยมมากครับ
ชุมชนมีความหลากหลายมากขึ้นครับ ชุมชนมีทั้งในแง่ที่หมายถึงชุมชนทางกายภาพเช่น หมู่บ้าน ตำบล ย่าน ป๊อก และชุมชนทางสังคมวัฒนธรรม เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง แกงค์วัยรุ่นกวนเมือง เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ถือเป็นชุมชนทางสังคมศาสตร์ได้ ผมคิดว่า ชุมชนมีหลายด้าน อย่างน้อยก็มีทั้งสองด้านนะครับ คือ 1. ด้านที่เป็นชายขอบจริงๆ ชายขอบในแง่นี้หมายถึง เป็นกลุ่มที่ยากต่อการเข้าถึงโอกาสทางสังคมต่างๆอย่างทัดเทียมผู้อื่น เช่น การเข้าถึงสถานพยาบาล สถานศึกษา ค่าแรง สวัสดิการสังคม สาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ชุมชนอย่างนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยครับ และก็มีด้านที่2. คือด้านที่เป็นศักยภาพของตัวเอง เช่น การมีภูมิปัญญาเก่าแก่ มีผู้รู้ในเรื่องต่างๆ ปัญหาของนักวิจัยเวลาวิเคราะห์ชุมชนก็คือ เรามักจะไปยึดติดกับภาพชุมชนเชิงเดี่ยว และมองแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition)แบบขาว-ดำ คือ ไม่มองว่าเป็นชายขอบ ก็ต้องเป็นศูนย์กลาง ทั้งๆที่ตัวชุมชนไม่ได้หยุดนิ่งเลยนะครับ แต่เคลื่อนที่ไปมาระหว่างศูนย์กลางกับบริเวณชายขอบอย่างเป็นพลวัต เวลามองชุมชนถ้าคิดว่าชุมชนมีตำแหน่งทางสังคมวัฒนธรรมหยุดนิ่งละก็ ก็จะอธิบายพลวัตและองค์รวมของชุมชนไม่ได้ ก็จะติดกับดักทางความคิดอันนี้อยู่ อันนี้สำคัญครับ

   *โดนมากๆเลย อธิบายได้อย่างชัดเจน  

   *ที่หมู่บ้านหนูก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรดี (จากเด็กที่รักบ้านเกิด)

    *ขอบคุณค่ะ*

ชอบใจบันทึกนี้มากเลยครับ อาจารย์ปภังกรณ์

ทำให้ผมนึกถึงบ้านของผม  ที่ไม่เคยมีทั้งแอร์ และไมโครเวฟใช้ที่บ้านเลยครับ

คุณพ่อผมบอกว่า เรามีต้นไม้รอบบ้านแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องปรับอากาศหรอก ให้ใช้พัดลมแทนเวลาร้อนมากมาก  ส่วนไมโครเวฟ ผมเพิ่งจะมาใช้เป็นตอนเรียนที่นี่เองครับ (ตอนนี้ก็ สามสิบกว่าขวบแล้ว)

ขอบคุณมาก ๆ ครับ สำหรับความคิดเห็นและสิ่งทุกท่านชี้แนะครับ

ตอนที่พิมพ์ครั้งแรกก็เสียว ๆ เหมือนกันครับ ว่าจะมีใครเข้ามา (ด่า) ผมไหม

แต่อย่างไรผมก็ยึดถือ "ความบริสุทธิ์ใจ" ครับ ที่นำสิ่งต่าง ๆ มาสะท้อนหลังจากที่พบเจอสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต

ถ้าท่านใดมีข้อชี้แนะเพิ่มเติม ก็ขอขอบพระคุณล่วงหน้าเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท