ปัญหาของเกษตรส่งออกของไทยภายใต้การแข่งขันเสรี


ปัจจุบันในภาวะที่ระบบตลาดแข่งขันเสรีกำลังขยายตัวออกไปกว้างขวางทั่วโลก ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่มีการส่งออกอยู่ในอันดับต้นของโลก ต้องประสบปัญหาถูกช่วงชิงตลาดโดยประเทศคู่แข่งทางการค้า เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคทางด้านต้นทุนการผลิตอันเนื่องมาจากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ปัญหาสภาพแวดล้อม การกีดกันทางการค้าทั้งในรูปกำแพงภาษี และอุปสรรคที่ไม่ใช่รูปของภาษี (Non-tariff Barrier) นอกจากนี้ยังต้องประสบปัญหาในเรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) เป็นต้น

ปัญหาของเกษตรส่งออกไทยภายใต้การแข่งขันเสรี

         การส่งออกของไทย เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถนำเงินตราต่างประเทศมาสู่ประเทศไทยแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวพันกับเกษตรกร

         ปัจจุบันในภาวะที่ระบบตลาดแข่งขันเสรีกำลังขยายตัวออกไปกว้างขวางทั่วโลก ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่มีการส่งออกอยู่ในอันดับต้นของโลก ต้องประสบปัญหาถูกช่วงชิงตลาดโดยประเทศคู่แข่งทางการค้า เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคทางด้านต้นทุนการผลิตอันเนื่องมาจากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ปัญหาสภาพแวดล้อม การกีดกันทางการค้าทั้งในรูปกำแพงภาษี และอุปสรรคที่ไม่ใช่รูปของภาษี (Non-tariff Barrier) นอกจากนี้ยังต้องประสบปัญหาในเรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) เป็นต้น

          สำหรับปัญหาสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

          ด้านปศุสัตว์ (Livestock)

          ไก่สดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักประเภทปศุสัตว์ ซึ่งทำรายได้เป็นเงินตราเข้าประเทศเป็นอันดับต้น ๆ ในการส่งสินค้าออก แต่แนวโน้มตลาดส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยกลับมีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากปัญหาต่อไปนี้ คือ

          ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นต้นทุนที่เกิดจากค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น อันเนื่องจากปัญหาเรื่องภาษีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) ที่มีการเก็บจากการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์สูงขึ้น จนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายต้องมีราคาสูง ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาของคู่แข่งในตลาดโลกอย่างเข่น จีน และปราซิล เป็ฯต้น ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขัยได้ เพราะนอกจากค่าแรงของประเทศเหล่านั้นจะถูกกว่าแล้วบางประเทศยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์บางประเภทได้อย่างเสรี ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตแล้วไทยมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งอยู่มาก

          การกีดรันทางการค้าจากประเทศคู่ค้า แยกพิจารณาได้ 2 ลักษณะ

          1) การกีดกันทางวิชาการ เป็นมาตรการหนึ่งที่ประเทศคู่ค้ายกขึ้นมาเป็นข้อต่อรองเพื่อไม่ให้สินค้าของไทยเข้าไปในแระเทศได้ เช่น กรณีประเทศอังกฤษบังคับให้ประเทศไทยใช้วัคซีนนิวคาสเซิลแต่ละชนิด หรือมีการกำหนดไว้ว่าเขตพื้นที่นี้จะต้องปลอดโรคทั้งประเทศ ซึ่งเงื่อนไขบางอย่างเหล่านี้ยากต่อการปฏิบัติ แม้ประเทศคู่ค้าเองก็ไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้

          2) การกีดกันทางการเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบการกีดกันที่มีลักษณะตั้งเงื่อนไข หรือข้อกำหนดให้ประเทศไทยปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามแล้วประเทศคู่ค้าก็ยังบ่ายเบี่ยง โดยบอกว่าต้องมีการหารือกับผู้ผลิตภายในประเทศก่อนว่ามีความเดือดร้อนจากการนำสินค้าเข้ามาหรือไม่ ถ้าผู้ผลิตของประเทศคู่ค้าเดือดร้อนก็จะไม่อนุญาตให้มีการนำสินค้าเข้ามาเป็นต้น

          กำแพงภาษีของประเทศคู่ค้า ปัจจุบันปัญหาการเก็บภาษีของประเทศผู้นำเข้าต่อผลิตผลสินค้าการเกษตรที่ส่งออกของไทย นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญโดยเฉพาะไก่เนื้อที่ส่งเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปซึ่งจัดเก็บภาษีค่อนข้างสูง เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เก็บภาษีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งสูงถึงร้อยละ 40 หากคิดถึงต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงก็ยิ่งทำให้อำนาจการต่อรองในการแข่งขันของไทยด้อยลงไป

          การทำงานของรัฐบาล เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาไม่ยิ่งหย่อนกว่าปัญหาอื่นดังกล่าวข้างต้น ในความเป็นจริงภาครัฐมีความพร้อมอย่างมากในเรื่องของการทำงาน แต่ยังขาดการประสานงานที่ดี เนื่องจากลักษณะการทำงานเกี่ยวข้องกันหลายกระทรวง อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ขาดระบบที่จะทำให้การติดต่องานด้านเอกสารอื่น ๆ เกิดความคล่องตัว

          ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture)

          สินค้าส่งออกที่สำคัญของธุรกิจนี้ คือ กุ้งสดแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของการส่งออกทั้งหมด ปัญหาที่เกิดกับธุรกิจการส่งออกกุ้งแช่แข็งนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

          วัตถุดิบมีไม่เพียงพอ ศักยภาพในการผลิตกุ้งสดแช่แข็งส่งออกของไทยในปัจจุบันสามารถผลิตได้ 2 แสนตัน แต่ปรากฏว่ามีกุ้งซึ่งเป็นวัตถุดิบเพียงหนึ่งแสนสี่หมื่นตันเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ

          1) การงดสินเชื่อเกษตรสำหรับเพาะเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากมีการรุกล้ำป่าชายเลน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วป่าชายเลนไม่สามารถใช้เพาะเลี้ยงกุ้งได้ดีอย่างที่เข้าใจกัน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะเลี้ยงได้ เนื่องจากไม่มีเงินทุนเพียงพอ

          2) โรคของกุ้ง โดยธรรมชาติแล้วกุ้งจะเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อโรคมาก เมื่อมีปัญหาเรื่องโรคกุ้งทำให้ปริมาณผลผลิตได้ไม่เพียงพอตามเป้าหมายที่ที่ต้องการ

          3) สารตกค้างในกุ้ง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลี้ยงตามธรรมชาติมาเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนา ปริมาณกุ้งที่เลี้ยงมีมากจนเต็มบ่อ และมีการใช้ยาในการเพาะเลี้ยง ขณะที่เกษตรกรเองขาดความรู้เรื่องยาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังขาดสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำและควบคุม ปัญหาสารตกค้างในกุ้งจึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการขาดแคลนกุ้งเพื่อการส่งออก

          4) ขาดข้อมูลของประเทศคู่แข่ง ทำให้การวางแผนการผลิตกุ้งของไทยขาดประสิทธิภาพเนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าปีใดที่ผลผลิตกุ้งจะมาก และปีใดที่ผลผลิตกุ้งจะน้อย ทำให้ขาดหลักประกันและเสถียรภาพของราคา

          การผลิต ปัจจุบันการผลิตและส่งออกกุ้งของไทยอยู่ในอันดับหนึ่งของโลก แต่ในตาวะการแข่งขันของตลาดโลกที่เป็นอยู่ ทำให้ผลผลิตของไทยมีแนวโน้มที่ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้เนื่องจาก

          1) ต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากวัตถุดิบคือกุ้งมีราคาสูง ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ราคาอาหารกุ้งมีราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ผลผลิตกุ้งในปัจจุบันมีไม่เต็มประสิทธิภาพการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมสูง เพราะมีการลงทุนในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ คือ ที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร นอกจากนี้ค่าแรงก็มีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจ

          2) ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่อพิจารณาถึงประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่นสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกาแล้ว ภาคการเกษตรของประเทศเหล่านี้ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของตนทั้งในรูปของเงินชดเชย และเงินสนับสนุน ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศเหล่านี้มีต้นทุนถูก

          ขั้นตอนในการส่งออก เป็นปัญหาอันเนื่องจากระบบการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างราชการและเอกชน ซึ่งภาคเอกชนต้องการความรวดเร็วในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันในระบบราชการนั้นกลับต้องมีการตรวจสอบกันหลายขั้นตอน ทำให้เกิดความล่าช้า และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าส่งออกของไทย

          การกีดกันจากประเทศคู่ค้า ในเรื่องของสารตกค้าง และการใช้สารปฏิชีวนะที่มักจะเป็นข้ออ้างของประเทศคู่ค้าในการกดราคา และห้ามนำเข้าสินค้าของไทย

          การเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ หลายครั้งที่การเปิดเผยข้อมูลของทางราชการไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตลาดกุ้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือ การที่ญี่ปุ่นตรวจพบสาร Antibiotic ในกุ้งของไทย ซึ่งถือเป็นความลับระหว่างหน่วยงานราชการของทั้งสองประเทศ แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับกุ้งที่ไม่ได้จับจากธรรมชาติ

          ปัญหาดังกล่าวข้างต้นทั้งด้านปศุสัตว์ และด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการส่งออก และรักษาตลาดส่งออกของไทย ทั้งนี้มีผลกระทบไปถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภท หากยังมีการปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ผ่านไปโดยไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ในอนาคตประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีสินค้าเกษตรส่งออกติดอันดับต้นของโลก อาจถูกประเทศอื่นที่มีศักยภาพการแข่งขันดีกว่าช่วงชิงตลาดไปได้ในที่สุด

ที่มา : รวมบทความวิเคราะห์ ข้อตกลง GATT ผลกระทบและการปรับขีดความสามารถของไทย โดย ส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน)

          วิกฤตโลก : แผน WORLD BANK ยึดประเทศไทย                                         

หมายเลขบันทึก: 39743เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท