ชีวิตที่พอเพียง : 70. เป็นบรรณาธิการวารสาร (๔)


        พอผมเป็นคณบดีตอนปลายปี ๒๕๒๔ และเปิดโรงพยาบาลได้ในต้นปี ๒๕๒๕     ทีมอาจารย์ของคณะแพทย์ก็คบคิดกันว่าต้องเริ่มจัดทำวารสารทางการแพทย์ ชื่อว่าสงขลานครินทร์เวชสาร     คนผลักดันคือ อ. หมอสุเมธ พีรวุฒิ     และมาเกณฑ์ให้ผมเป็นบรรณาธิการ

       ผมก็ต้องยอมรับ    โดยตอนนั้นผมชักจะเป็นมวยบ้างแล้ว    ก็ตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า อ. หมอสุเมธ ต้องเป็นบรรณาธิการรอง และเมื่อทำได้ราบรื่นแล้วผมขอลาออกให้ อ. หมอสุเมธ เป็นต่อ

       เราใช้สูตรเดิมที่ใช้กับวารสารสงขลานครินทร์ คือรับคนเข้ามาทำงานนี้เต็มเวลา   เอามาฝึกจนมีความชำนาญ

       การเป็นบรรณาธิการในสมัยนั้นงานหนัก    ต้นฉบับที่ส่งมามักเขียนแบบไม่สละสลวย     นอกจากส่งไปตรวจความถูกต้องแม่นยำและนวภาพของผลงานวิจัย โดยส่ง reviewer แล้ว    บรรณาธิการต้องเป็นผู้แก้ถ้อยคำสำนวนให้สละสลวยราบรื่น    บางกรณีต้องเขียนให้ใหม่ทั้งเรื่อง    โดยต้องตรวจสอบความหมายกับเจ้าของต้นฉบับ    ผมลงทุนทำงานนี้เพื่อฝึก อ. หมอสุเมธ และเจ้าหน้าที่ คือคุณสุภาพรรณ ไปในตัว

       เรื่องภาษาในการเขียนบทความรายงานผลการวิจัยนี้ ผมได้ครูดี    คือ ศ. พญ. สุภา ณ นคร กับ ศ. นพ. ประเวศ วะสี     และผมก็เอามาถ่ายทอดต่อให้ผู้ร่วมงานในภายหลัง

        พอสงขลานครินทร์เวชสารออกมาได้ไม่ถึงปี    ทางศิริราชจัดงานประชุมเรื่องการทำวารสารวิชาการทางการแพทย์    และยกย่องสงขลานครินทร์เวชสาร ว่าเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ใช้ภาษาไทยได้ดีที่สุด    ทำให้เรามีชื่อเสียงมาก    วารสารนี้ดำเนินการต่อมาอย่างสม่ำเสมอ และผมก็ยังได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาของวารสารทั้งสอง    

วิจารณ์ พานิช
๑ กค. ๔๙
พัทยา

หมายเลขบันทึก: 39721เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท