ประเด็นปัญหาและอุปสรรคบางประการ - - Islamization of knowledge (3)


ถึงแม้ว่านักวิชาการในขบวนการอิสลามานุวัตร จะมีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการอิสลามานุวัตรมีบทบาทที่สำคัญในการฟื้นฟูอิสลาม และการพัฒนาองค์ความรู้อิสลาม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทัดเทียมกับวิวัฒนาการของโลกสมัยใหม่ ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มุสลิมในทุกสาขาวิชาชีพ ต่างก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับขบวนการอิสลามานุวัตร ทั้งนี้ก็เพื่อจะยกระดับการพัฒนาสังคมมุสลิม และแก้ปัญหาภายในสังคมมุสลิมเองด้วย

ประเด็นปัญหาและอุปสรรคบางประการเกี่ยวกับอิสลามานุวัตรองค์ความรู้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of knowledge) ได้รับการตอบรับจากโลกมุสลิมและโลกตะวันตกทั้งทางบวกและทางลบ ปัญหาและอุปสรรคในแวดวงมุสลิมเองก็มีหลายประเด็นที่ควรจะกล่าวถึง

ประการแรก ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรู้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อิสลามานุวัตรมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ความรู้ถูกแบ่งออกโดยนักวิชาการมุสลิม ตามหลักวิชาฟิกฮ์หรือวิชานิติศาสตร์อิสลามว่า ความรู้ใดเป็นสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) ความรู้ใดเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) ความรู้ใดเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ละทิ้งเสีย (มักรูฮ์) และอีกหลาย ๆ ข้อบัญญัติ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจัดได้ว่า มุสลิมบางคนไม่สามารถที่จะบอกและชี้แจงได้อย่างชัดเจนว่า ความรู้อันใดสมควรเป็นที่อนุญาต หรือความรู้ใดสมควรเป็นที่ต้องห้าม ประเด็นต่อมาจากความไม่รู้ดังกล่าวนี่เอง จะพบว่าในระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่องค์ความรู้อันหลากหลายถูกบรรจุเข้าไปในระบบการศึกษา โดยไม่ได้รับการกลั่นกรองจากผู้รู้ทางการศึกษาอิสลาม หรืออาจจะมีผู้รู้ทางด้านนี้ไม่เพียงพอที่จะสามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง

ประการที่สอง แม้แต่ในวงการนักวิชาการมุสลิมลิมก็ยังคงมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่หลายประเด็น ความไม่ลงรอยกันดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกในหมู่นักวิชาการมุสลิมและกลุ่มผู้สนับสนุน องค์ความรู้อิสลามจึงไร้เอกภาพ ยกเว้นในเรื่องหลักศรัทธาหรือหลักปฏิบัติที่สำคัญ ๆ

ประการที่สาม ก็คือองค์ความรู้อิสลามบางประการ กลายเป็นแค่ความเชื่อความศรัทธา แต่ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้จริงได้ หรืออาจมีข้อจำกัดหรืออาจจะเรียกแบบตรงไปตรงมาว่าเป็นข้ออ้างทางสังคม ทางราชการ หรือข้ออ้างอื่น ๆ อีกมากมายเหล่านี้เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อห้ามการโกหกมดเท็จ ข้อห้ามการติดสินบน หรือในบางกรณีที่การประพฤติปฏิบัติตามประเพณีหรือความชอบทางสังคม กลับมีบทบาทหรือหลักปฏิบัติที่เป็นสิ่งจำเป็น (วายิบ)(31) (เช่น การทิ้งละหมาด การทิ้งการถือศิลอด) เหล่านี้ล้วนเป็นข้อบกพร่องที่มุสลิมเองจะต้องแก้ไขจากภายในสังคมมุสลิม

นักวิชาการชาวอียิปต์ ซัยยิด กุตุบ ผู้ซึ่งเคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาลัยอัล-อัซฮัร ในไคโร ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งเกี่ยวกับความรู้ไว้ว่า "ความรู้คือบางสิ่งที่มากไปกว่าความเข้าใจ...ความรู้เป็นความเข้าใจที่สมบูรณ์และเป็นการปฏิสัมพันธ์กับความเข้าใจในเบื้องลึกของจิตวิญญาณ และปรีชาญาณ ซึ่งจะติดตามมาด้วยการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความรู้นั้น ๆ"(32)

ประการที่สี่ ประเด็นปัญหาที่สำคัญประการต่อมา ในกระบวนการการสร้างองค์ความรู้อิสลามก็คือ ขบวนการอิสลามานุวัตรเองยังไม่เป็นที่ยอมรับ และเป็นเอกภาพในสังคมมุสลิมเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักวิชาการแบบดั้งเดิม (Traditional Ulamas)(33) ซึ่งเหตุผลที่สำคัญที่พอจะสรุปข้ออ้างการปฏิเสธการสร้างองค์ความรู้อิสลามของนักวิชาการกลุ่มนี้ก็คือ

ข้อแรก ขบวนการอิสลามานุวัตรเป็นแค่ขบวนการที่ต้องการปรับเปลี่ยนปรุงแต่ง หรือปฏิรูปหลักการอิสลามให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้สมัยใหม่ (Modern knowledge).

ข้อที่สอง นักวิชาการที่บทบาทในการเปลี่ยนแปลงหรือการทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นองค์ความรู้อิสลามนั้น กลับกลายเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านความรู้ตะวันตกเท่านั้น ในขณะที่บทบาทของนักวิชาการแบบดั้งเดิมมีบทบาทน้อย ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวรังแต่จะสร้างความแตกแยกและความสับสนให้กับปัญญาชนมุสลิมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นเอกภาพเชิงความรู้

หากลองย้อนกลับไปดูยุทธศาสตร์ทางขบวนการอิสลามานุวัตร ซึ่งนำเสนอโดย ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี ก็จะพบว่า ขั้นตอนของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ทั้ง 12 ขั้นตอน ที่ท่านนำเสนอนั้นลดบทบาทนักวิชาการแบบดั้งเดิมให้เป็นแค่เพียงที่ปรึกษาให้คำชี้แนะ และเป็นผู้รวบรวมแหล่งความรู้ทั้งหมดในอิสลาม (Islamic Sources or Turath) และในท้ายที่สุด นักวิชาการมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ จะเป็นผู้สังเคราะห์องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เข้ากับองค์ความรู้ของอิสลาม ซึ่งขั้นตอนที่ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี เสนอ มีขั้นตอนดังนี้(34)

1. สร้างความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาสมัยใหม่
2. สำรวจสาขาวิชาสมัยใหม่
3. สร้างความเชี่ยวชาญในมรดกทางความรู้อิสลาม
4. วิเคราะห์มรดกทางความรู้อิสลาม
5. สร้างความเกี่ยวโยงระหว่างอิสลามกับสาขาวิชาสมัยใหม่
6. ประเมินค่าเชิงวิพากษ์ต่อวิชาสมัยใหม่
7. ประเมินค่าเชิงวิพากษ์ต่อมรดกทางความรู้อิสลาม
8. สำรวจปัญหาที่สำคัญของมุสลิมอุมมะห์
9. สำรวจปัญหาของมนุษยชาติ
10. วิเคราะห์และสังเคราะห์มรดกทางความรู้อิสลามกับสาขาวิชาความรู้วิชาสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์
11. สร้างสาขาวิชาความรู้ใหม่ภายใต้กรอบอิสลาม: ผลิตหนังสือแบบเรียน
12. เผยแพร่องค์ความรู้

จะเห็นได้ว่าขบวนการอิสลามานุวัตรที่ ดร. ฟารุกี นำเสนอให้ความสำคัญกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์มาก

หลังจากการอสัญกรรมของ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี ในปี 1986 โดยการลอบสังหารของกลุ่มผู้ต่อต้านขบวนการอิสลามานุวัตรในอเมริกา ดร.ตอฮา ญาบิร อัลวานี นักวิชาการนิติศาสตร์อิสลาม ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขานิติศาสตร์อิสลาม ณ.มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ไคโร ได้เข้ามาสานต่อขบวนการอิสลามานุวัตร เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในขบวนการอิสลามานุวัตรภายใต้สถาบันที่มีชื่อว่า (International Institute of Islamic Thought) สถาบันนานาชาติเพื่อความคิดอิสลาม ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้งที่มีชื่อเสียงมากมายในวงการมุสลิม เช่น ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี, ดร.อับดุล ฮามิด อบู สุไลมาน, และนักวิชาการในกลุ่มเดียวกันนี้อีกหลายคน เช่น รศ.ดร.ลุอัย ซาฟี, ศาสตราจารย์ ดร.ราชิด โมเต็น ฯลฯ

การเข้ามารับหน้าที่ของ ดร.ตอฮา ญาบิร อัลวานี ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบขบวนการอิสลามานุวัตรที่ตรงกันข้ามกับ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี กล่าวคือ ท่านได้เน้นย้ำการสร้างความเชี่ยวชาญกับองค์ความรู้สมัยใหม่และองค์ความรู้แบบอิสลาม ซึ่งท่านเรียกว่า การทำความเข้าใจหรือการอ่านคัมภีร์สองเล่ม (The reading of two books or the combining of the two readings) การผสมผสานการอ่านหรือการทำความเข้าใจในคัมภีร์สองเล่มดังกล่าว คือ

หนึ่ง คัมภีร์ธรรมชาติ หรือความเป็นจริงในธรรมที่ถูกสร้างโดยอัลลอฮ์

สอง เทวคัมภีร์ หรือ ความรู้ที่มาจากพระเจ้าโดยผ่านท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) หรือที่เรียกกันว่า คัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งนี้รวมถึง ซุนนะห์ หรือแนวทางการปฏิบัติที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้สั่งสอน สาธิต และอธิบายด้วย

ส่วนขั้นตอนในขบวนการอิสลามานุวัตรที่ ดร.ตอฮา ญาบิร อัลวานี ได้เสนอไว้นั้น มีขั้นตอนโดยสรุป ที่แตกต่างกันออกไปจาก ดร. อิสมาแอล ดังนี้คือ(35)
หนึ่ง ให้ความสำคัญกับนักวิชาการแบบดั้งเดิม หรือนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลามมากกว่านักวิชาการสมัยใหม่ (ผู้เชี่ยวชาญทางความรู้แบบตะวันตก)

สอง ให้นักวิชาการทั้งหมดย้อนกลับไปสำรวจและตรวจสอบมรดกทางความรู้อิสลามอย่างจริงจัง และให้นักวิชาการพยายามสร้างองค์ความรู้ของอิสลามขึ้นมาใหม่ โดยให้นักวิชาการพยายามตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงข้อดี ข้อเสียขององค์ความรู้จากคัมภีร์ทั้งสองนั้น

ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าแนวทางของ ดร.ตอฮา ญาบิร เปรียบเสมือนการสร้างองค์ความรู้อิสลาม ตามบริบทและสถานการณ์ ณ ปัจจุบันมากกว่า หรืออาจเรียกว่า "บริปทานุวัตร" (Contextualization)(36)

นอกจากนี้แล้ว ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามจะโต้แย้งว่า ขบวนการอิสลามานุวัตรนั้นเป็นไปไม่ได้ทั้งนี้ เพราะพื้นฐานองค์ความรู้อิสลามนั้นขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับพื้นฐานองค์ความรู้ตะวันตก หรือองค์ความรู้สมัยใหม่ ข้อนี้เป็นปัญหาทางด้านการศึกษาที่มาขององค์ความรู้ (Epistemology)

ในขณะที่นักวิชาการของขบวนการอิสลามานุวัตรที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง ดร. อับดุล ฮามิด อบู สุไลมาน ซึ่งเดิมทีมีความคิดเห็นและแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี ในอันที่จะสร้างองค์ความรู้หรือหลอมรวมองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เข้ากับอิสลาม แต่อย่างไรก็ดี ท่านมีแนวความคิดอันใหม่ในอันที่จะสร้างองค์ความรู้อิสลามตามแนวทางของท่านขึ้นมา

เพราะท่านมองว่าปัญหาการแบ่งแยกระบบทางการศึกษาของโลกมุสลิมเป็นแบบตะวันตก หรือแบบโลกียวิถี (secular) กับการศึกษาแบบดั้งเดิม (traditional) เป็นต้นตอของความล้าหลังทางการศึกษาของโลกมุสลิม ดังนั้นท่านจึงมีความคิดว่า ควรจะมีการศึกษาแบบผสมผสานองค์ความรู้แบบตะวันตกกับองค์ความรู้อิสลาม ตั้งแต่เยาว์วัย คือ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยท่านพยายามเปรียบเทียบการศึกษาที่ท่านนำเสนอ กับการเปลี่ยนแปลงประชาชาติของท่านศาสดามูซา (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) ในการสร้างคนของท่าน โดยการอพยพและอบรมให้การศึกษาอิสลาม โดยกำหนดระยะเวลาในการกล่อมเกลาทางจริยธรรม หรือด้วยกระบวนการอิสลามานุวัตรทางความรู้เป็นระยะเวลา 40 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านศาสดามูซา (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) สามารถทำให้ชุมชนชาวบนีอิสราเอลเข้มแข็งมีเอกภาพ ตามหลักคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า และกระบวนการนี้จึงถูกเรียกขานว่า เป็นตัวแบบของท่านศาสดามูซา (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) (Musa model)(37)

อย่างไรก็ดี ดร.อับดุล ฮามิด อบู สุไลมาน ก็มิได้ปฏิเสธแนวทางอิสลามานุวัตรตามแบบดั้งเดิมของ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี เพียงแต่เพิ่มเติมแนวทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้

ถึงแม้ว่านักวิชาการในขบวนการอิสลามานุวัตร จะมีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการอิสลามานุวัตรมีบทบาทที่สำคัญในการฟื้นฟูอิสลาม และการพัฒนาองค์ความรู้อิสลาม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทัดเทียมกับวิวัฒนาการของโลกสมัยใหม่ ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มุสลิมในทุกสาขาวิชาชีพ ต่างก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับขบวนการอิสลามานุวัตร ทั้งนี้ก็เพื่อจะยกระดับการพัฒนาสังคมมุสลิม และแก้ปัญหาภายในสังคมมุสลิมเองด้วย

....................

นิพนธ์ โซะเฮง : เขียน

http://midnightuniv.org/midnight2545/document9598.html

คำสำคัญ (Tags): #islamization
หมายเลขบันทึก: 39691เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท