ต้นฉบับ KM


การออมอย่างมีสัจจะ นำสู่การตั้ง "สถาบันการเงินของชุมชน" ที่กะหรอ

วันนี้หลังจากใช้เวลาช่วงเช้า ร่วมประชุมประจำสัปดาห์กับทีม สคส. ซึ่งก็ได้รับความรู้กลับมาเติม "ถัง"ความรู้ของตัวเองที่ไม่เคยเต็ม กลับมาถึงโต๊ะทำงานในช่วงบ่ายก็ลงมือเขียนต้นฉบับ ตัวอย่างการจัดการความรู้ในภาคประชาชน ให้กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  โดยในวันเสาร์นี้เขียนต่อเป็นตอนที่ 3 ของเรื่อง การจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ที่สืบเนื่องมาจากการจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้ สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน  ตั้งใจว่าจะเขียน 4 ตอน เพราะอยากนำเสนอทุกกรณีศึกษาของงานวิจัยนี้ ที่ทำให้เห็นภาพการเชื่อมโยงการทำงานของกลุ่มคนทุกระดับ ตั้งแต่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ผู้สูงอายุ เด็ก พระ นักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนา เข้ามาทำงานร่วมกัน ต่างบทบาทแต่เสริมซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมสร้างเป้าหมายและไปสู่ฝันของออม จากการลดรายจ่าย (มันคือการเพิ่มรายได้) พัฒนาคุณภาพชีวิต (กาย ใจ) และไปจนถึงการมีสถาบันการเงินของชุมชนเอง  โดยมีกลไกจัดการความรู้เป็นตัวช่วยสร้างความชัดเจนในแต่ละขั้นตอนให้เกิดความตระหนักและมองเห็นเป้าหมายร่วมกันอันเกิดจากการปฏิบัติ   โดยมีนักวิจัยชุมชนเป็นพระเอก นักวิชาการจากหน่วยจัดการองค์กรการเงิน ม.วลัยลักษณ์ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานและคุณอำนวยที่ดี  

งานวิจัยนี้ได้ผลงานดีและมีตัวอย่างรูปธรรม ได้รับการเคลื่อนต่อ  มีหน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับนโยบายอยากเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อหาความเป็นไปได้ในการขยายผลให้กว้างขวาง

ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์วันเสาร์นี้  ดิฉันจึงเขียนต่อในเรื่อง การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ตำบลกะหรอ กิ่งอ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช  ที่นี่เขามีทุนทางสังคมอยู่เยอะทีเดียวในหลาย ๆ เรื่อง และที่สำคัญมีกลุ่มการเงินอยู่ทุกหมู่บ้าน ซึ่งเกิดและดำเนินกิจกรรมแตกต่างกันไป รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน ที่เกิดขึ้นตามนโยบายรัฐบาล  และเป็นแหล่งทุนสำคัญในชุมชน แต่กลุ่มการเงินเหล่านี้ก็ยังมีจุดอ่อน ปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้เกิดผลเต็มที่  ภายใต้โครงการวิจัย "การจัดการความรู้" เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้าไปช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการทำงานและเกิดการพัฒนาต่อในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีด้วยกัน 5 เรื่อง ที่พวกเขาบอกว่าถ้าทำได้ก็น่าจะถือว่าเป็นที่สุดของการพึ่งตนเองของภาคประชาชน นั่นคือ การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ  การส่งเสริมให้กองทุนมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมเรื่องอาชีพเสริม ส่งเสริมและเรียนรู้เรื่องสุขภาพ จัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน  ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้และน่าสนใจอย่างยิ่งคือ แทบทุกหมู่บ้านมีการจัดสวัสดิการกันแล้ว มีการออม (จากการลดรายจ่าย) ขยายผลทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยชรา  มีคณะทำงานมีระบบบริหารงานที่ได้รับการยอมรับ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้  และที่สำคัญตอนนี้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านมีสัมพันธ์ที่กระชับแน่นและสามารถ "จัดตั้งสถาบันการเงินตำบลกะหรอ" เป็นสถาบันการเงินของชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีการทำระบบบัญชีที่เหมือนกัน มีโครงสร้างการบริหารที่ โปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจาก "กระบวนการเรียนรู้"ที่เป็นการจัดการความรู้ซึ่งพวกเขา "นักปฏิบัติ"ทั้งหลายร่วมกันพัฒนาขึ้น  ....  และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือเป้าหมายสูงสุดของการทำเรื่องนี้หรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ ก็ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ  ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ 

ยิ่งเขียนยิ่งยาว เพราะ case นี้มีการดำเนินการที่ดีมาก (ในความเห็นดิฉัน) ใครสนใจติดตามอ่านได้ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 39665เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท