พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (ตอน ๖)


พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

พระมหาสมบูรณ์  วุฑฺฒิกโร,ดร.

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย

 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

๔. วิเคราะห์การตีความศีลห้าของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ

       ศีล ๕ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสมัยพุทธกาล  เป็นการแสดงขึ้นมาท่ามกลางสภาพปัญหาสังคมแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างจากปัญหาสังคมสมัยปัจจุบันมาก  ดังนั้น ศีล ๕ ที่พระองค์แสดงจึงมีลักษณะกว้าง ๆ โดยเน้นไปที่การมีจิตสำนึกแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราว่า คนอื่นเขารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด  เราก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น   คนอื่นย่อมไม่ชอบใจเมื่อของของเขาถูกขโมย  ภรรยาสามีถูกล่วงละเมิด และถูกหลอกลวงด้วยวาจา ฉันใด  เราก็ไม่ชอบใจเมื่อของถูกขโมย  ภรรยาสามีถูกละเมิด และถูกหลอกลวง  ฉันนั้น  จิตสำนึกนี้เองเป็นรากฐานสำคัญในการรักษาศีล ๕ ดังพุทธพจน์ที่ว่า

       อริยสาวก  พิจารณาเห็นดังนี้ ‘เราอยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุขเกลียดทุกข์  ข้อที่บุคคลพึงปลงชีวิตเราผู้อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุขเกลียดทุกข์นั้น  ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของเรา  อนึ่ง  ข้อที่เราพึงปลงชีวิตผู้อื่น  ผู้อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุขเกลียดทุกข์นั้น  ก็ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น  สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา  สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น  สิ่งใดไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของเรา  เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เองด้วย  ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย  กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย[๑]

      ในยุคต่อมาเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาการถกเถียงกันเกี่ยวกับว่าพฤติกรรมอย่างไรผิดหรือไม่ผิดศีล ๕  หรือถ้าบอกว่าผิดหรือไม่ผิดมีหลักอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน  ปัญหาในลักษณะนี้คงจะหาเหตุผลมาอธิบายให้เป็นที่ยุติได้ยากพอสมควร   พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์อธิบายข้อความในพระไตรปิฎก  คงจะมองเห็นว่าปัญหายุ่งยากนี้  จึงได้แสดงองค์หรือเกณฑ์ตัดสินศีล ๕ แต่ละข้อไว้ดังนี้[๒]

        ๑) ปาณาติบาต  มีองค์ ๕ คือ (ก) สัตว์มีชีวิต  (ข) รู้อยู่สัตว์มีชีวิต  (ค) มีจิตคิดจะฆ่า     (ง) มีความพยายามในการฆ่า  (จ) สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

        ๒) อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ (ก)  ของผู้อื่นหวงแหน (ข) รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน (ค) มีจิตคิดจะลัก (ง) มีความพยายามลัก  (จ) ลักของได้ด้วยความพยายามนั้น

        ๓) กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ ๔ คือ (ก) สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด (ข) จิตคิดจะเสพ  (ค) มีความพยายามในการเสพ  (ง) ยังมรรค คือ อวัยวะสืบพันธุ์ให้ถึงกัน

        ๔) มุสาวาท มีองค์ ๔ คือ  (ก) เรื่องไม่จริง  (ข) จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน   

(ค) มีความพยายามที่จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน  (ง) ผู้อื่นเข้าใจความที่พูดนั้น

       ๕) สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน  มีองค์ ๕ คือ (ก) สิ่งนั้นเป็นของเมา (ข) จิตใคร่จะดื่ม    (ค) มีความพยายามในการดื่ม  (ง) กลืนให้ล่วงลำคอลงไป

      นอกจากแสดงเกณฑ์สำหรับตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดศีลแล้ว  พระอรรถกถาจารย์ยังได้แสดงเกณฑ์ตัดสินในแง่ของการผิดศีลที่มีโทษมากและโทษน้อยด้วย  โดยวางเกณฑ์การตัดสินไว้ดังนี้ (๑)  คุณ : ฆ่าสัตว์มีคุณมาก  ก็มีโทษมาก  ฆ่าสัตว์มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ  ก็มีโทษน้อย  เช่น ฆ่าพระอรหันต์มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน  ฆ่าสัตว์ช่วยงานมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย  (๒) ขนาดกาย :  สำหรับสัตว์จำพวกดิรัจฉานทั่วไปที่ไม่มีคุณเหมือนกัน  ฆ่าสัตว์ใหญ่ก็มีโทษมาก  ฆ่าสัตว์เล็กมีโทษน้อย  (๓) ความพยายาม :  ถ้ามีความพยายามในการฆ่ามากก็มีโทษมาก  ถ้ามีความพยายามในการฆ่าน้อยก็มีโทษน้อย  (๔) กิเลสหรือเจตนา :  ถ้ากิเลสหรือเจตนาแรงก็มีโทษมาก  ถ้ากิเลสหรือเจตนาอ่อนก็มีโทษน้อย เช่น ฆ่าสัตว์ด้วยโทสะ   มีโทษมากกว่าฆ่าด้วยป้องกันตัว[๓] 

      แม้ในศีลข้ออื่น ๆ พระอรรถกถาจารย์ก็กล่าวถึงการละเมิดที่มีโทษมากหรือโทษน้อยไว้แนวเดียวกัน  เช่น อทินนาทานมีโทษมากหรือน้อยตามคุณค่าของสิ่งของ  คุณความดีของเจ้าของ  และความพยายามในการลัก  กาเมสุมิจฉาจาร มีโทษมากหรือน้อยตามคุณความดีของคนที่ถูกละเมิด  ความแรงของกิเลสและความเพียรพยายาม  มุสาวาทมีโทษมากหรือน้อย  แล้วแต่ประโยชน์ที่จะถูกตัดรอนเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กน้อย  และแล้วแต่ผู้พูด เช่น คฤหัสถ์จะไม่ให้ของของตน  พูดไปว่าไม่มี  ก็ยังมีโทษน้อย  ถ้าเป็นพยานเท็จมีโทษมาก  สำหรับบรรพชิตพูดเล่นมีโทษน้อย  จงใจบอกของที่ไม่เคยเห็นว่าเห็น  มีโทษมาก  สำหรับการดื่มของเมา  มีโทษมากน้อยตามอกุศลจิตหรือกิเลสในการที่จะดื่ม  ตามปริมาณที่ดื่ม  และตามผลที่จะก่อให้เกิดการกระทำผิดพลาดชั่วร้าย[๔]

       ผู้เขียนมองว่าหลักศีล ๕ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ค่อนข้างจะมีความยืนหยุ่นและมีความหมายกว้างกว่าการตีความของพระอรรถกถาจารย์   โดยเฉพาะถ้ามองในแง่ของการสร้างจิตสำนึกหรือความรู้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ถือว่าเป็นจิตสำนึกที่ตระหนักรู้และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม  ดังข้อความตอนท้ายของพุทธพจน์ที่ยกมาข้างต้นว่า “อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เองด้วย  ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย  กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย” (ในศีลข้ออื่น ๆ ก็มีข้อความอย่างเดียวกันนี้)  ผู้เขียนมองว่า พุทธพจน์นี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับการตีความศีล ๕ แนวใหม่ของพระติช นัท ฮันห์ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  และสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบสากล (universal responsibility) และจิตสำนึกที่หวังประโยชน์เพื่อผู้อื่น (altruistic mind) ขององค์ทะไล ลามะ ด้วย 

        อย่างไรก็ตาม การตีความของพระอรรถกถาจารย์ในยุคหลังพุทธกาลที่เน้นการสร้าง  กฎเกณฑ์ที่รอบคอบรัดกุม   แม้จะมีประโยชน์ในแง่ที่ให้ความสะดวกในการวินิจฉัยหรือชี้ชัดลงไปว่าพฤติกรรมนั้น ๆ เข้าข่ายผิดศีลหรือไม่ผิด  แต่ในขณะเดียวกันกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้ศีลแต่ละข้อมีลักษณะหยุดนิ่งตายตัวและมีขอบเขตคับแคบลงจนกลายเป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละบุคคล  และเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยการละเมิดศีลแต่ละข้อก็มุ่งการตัดสินพฤติกรรมทางศีลธรรมที่บุคคลหนึ่ง ๆ กระทำขึ้นเท่านั้น  บางครั้งการรักษาศีลก็กลายเป็นเพียงการเฝ้าระวังพฤติกรรมของใครของมันไม่ให้เข้าข่ายการผิดศีลตามเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้เหมือนกับการระวังตนไม่ให้ผิดกฏหมายบ้านเมือง  ซึ่งการรักษาศีลแบบนี้อาจจะไม่ได้มาจากจิตสำนึกที่มองกว้างออกไปถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับก็ได้  ในที่สุดจิตสำนึกหรือเจตนารมณ์อันกว้างขวางที่อยู่เบื้องหลังการรักษาศีล ๕ ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ก็หมดความสำคัญลง

        การขยายขอบเขตของศีลหรือวินัยเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ในสังคมไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล  แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงปรับปรุงแก้ไขพระวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้เองบ่อย ๆ ในกรณีที่พฤติกรรมการละเมิดพระวินัยของพระภิกษุมีความซับซ้อนมากขึ้น   เช่น ปาราชิกข้อที่ ๑ ที่ว่าด้วยการห้ามเสพเมถุน  ครั้งแรกบัญญัติขึ้นมาห้ามไม่ให้ภิกษุเสพเมถุนกับสตรีเพศ  โดยปรารภเหตุที่พระสุทินไปเสพเมถุนกับภรรยาเก่าของตน  ต่อมาปัญหาการเสพเมถุนของภิกษุมีความซับซ้อนมากขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงขยายขอบเขตของวินัยข้อนี้ให้ครอบคลุมทั้งการเสพเมถุนกับมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย ซึ่งเรียกว่า“อนุบัญญัติ” [๕]  ถ้ากลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติตีความโดยยึดตามเจตนารมณ์ของศีล ๕  ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในพุทธพจน์ข้างต้น  ผู้เขียนมองว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะสามารถทำได้อย่างนั้น  แต่จะมีปัญหาอย่างหนึ่งตามมา  คือ เนื่องจากว่ากลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ ได้ตีความศีล ๕ ในแง่ของการขยายขอบเขตความหมายของศีลเท่านั้น  โดยไม่ได้สร้างกฎเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยปัญหาเหมือนอย่างที่พระอรรถกถาจารย์เคยทำมาแล้ว  ดังนั้น เมื่อนำเอาไปใช้ในสถานการณ์ของปัญหาจริยธรรมจริง ๆ จะสร้างปัญหาในการตัดสินขึ้นมาทันที  เช่น กรณีการละเมิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์  ถ้าเราเดินเข้าไปในร้านค้าแล้วจงใจขโมยแผ่นซีดี-รอม (CD-ROM) มาแผ่นหนึ่ง  ก็คงจะไม่มีปัญหาในการตัดสิน  เพราะสามารถใช้เกณฑ์ของพระอรรถกถาจารย์มาตัดสินได้ แต่ถ้าเป็นกรณีโปรแกรมคอมผิวเตอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้  บางครั้งที่มีการละเมิดต่อ ๆ กันมาเป็นร้อยเป็นพันทอด  เป็นเรื่องยากมากที่จะเอาองค์ประกอบของอทินนาทานทั้ง ๕ ข้อมาจับแล้วตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด  ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า ตราบใดที่เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ  อาศัยแต่ตีความศีล ๕ อย่างเดียวโดยไม่สร้างเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยปัญหาขึ้นมาด้วย   การตีความแบบนี้จะสามารถนำไปตอบปัญหาทางจริยธรรมในสังคมสมัยใหม่ได้ในระดับภาพรวมกว้าง ๆ เท่านั้น  คือ ให้ยึดเกณฑ์คือเจตนารมณ์พื้นฐานของศีล ๕ เป็นตัวตัดสิน  ถ้าการกระทำใดก็ตามที่ไม่เป็นไปโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของศีลที่มุ่งประโยชน์สุขของบุคคลและสังคม  ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการละเมิดศีล   ต่อไปนี้คือแผนภูมิเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการตีความศีล ๕ ของพระอรรถกถาจารย์ กับการตีความของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ

                                                        

เปรียบการตีความศีลห้าแบบเดิมกับการตีความแบบใหม่

ศีลห้า

การตีความแบบเดิม (อรรถกา)

การตีความแบบใหม่

 

 

๑.ปาณาติบาต

ปาณาติบาต หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งลงมือฆ่าสัตว์อื่นให้ตาย  โดยมีเกณฑ์การตัดสินที่ชัดเจน  ๕ ประการ คือ

๑) สัตว์มีชีวิต 

๒) รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต 

๓) มีจิตคิดจะฆ่า

๔) มีความพยายามในการฆ่า 

๕) สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ปาณาติบาต นอกจากจะหมายถึงการพรากชีวิตของคนอื่นแล้ว ยังครอบคลุมการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การค้าอาวุธสงคราม  การก่อสงคราม  การใช้แรงงานเด็ก  การกดขี่ข่มเหงผู้ใช้แรงงาน  การตัดไม้ทำลายป่า  การทำลายสิ่งแวดล้อม  การเสนอภาพข่าวความรุนแรง

 

 

๒.อทินนาทาน

อทินนาทาน หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไปลักขโมยทรัพย์ของคนอื่น โดยมีเกณฑ์ตัดสิน ๕ ประการ คือ

๑)  ของผู้อื่นหวงแหน

๒) รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน

๓) จิตคิดจะลัก

๔) มีความพยายามลัก

๕) ลักของได้ด้วยความพยายามนั้น

อทินนาทาน นอกจากจะหมายถึงการลักทรัพย์คนอื่นโดยตรงแล้ว ยังหมายถึงการแย่งชิงทรัพยากร การปั่นหุ้น  การเก็งกำไรค่าเงิน  การละเมิดทรัพย์สินทางปัญหา  การขโมยข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับส่วนบุคคล เป็นต้น

 

 

 

๓.กาเมสุมิจฉาจาร

กาเมสุมิจฉาจารเน้นการที่บุคคลหนึ่งประพฤติผิดทางเพศต่อสตรีหรือบุรุษที่เป็นคู่ครองของคนอื่น  มีเกณฑ์ตัดสิน ๔ ประการ

๑) สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด

๒) จิตคิดจะเสพ

๓) มีความพยายามในการเสพ

๔) ยังอวัยวะสืบพันธุ์ให้ถึงกัน

กาเมสุมิจฉาจาร นอกจากจะหมายถึงการละเมิดภรรยาสามีของคนอื่นแล้ว ยังหมายถึงการค้าประเวณี สื่อลามกอนาจาร  ความมัวเมาในการเสพบริโภค  การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากพันธสัญญาและความรับผิดชอบ  และสื่อบันเทิงที่ทำให้มัวเมาหรือยั่วยุกามารมณ์  เป็นต้น 

 

๔.มุสาวาท

มุสาวาท เน้นการพูดเท็จของบุคคลหนึ่งต่ออีกบุคคลอื่น มีเกณฑ์ตัดสิน ๔ ประการ คือ

๑) เรื่องไม่จริง

๒) จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน

๓) มีความพยายามที่จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน

๔) ผู้อื่นเข้าใจความที่พูดนั้น

มุสาวาท นอกจากจะหมายถึงการพูดเท็จแบบตรง ๆ แล้ว ยังหมายถึงการปกปิดข้อมูลข่าวสาร เสนอการเสนอข่าวสารเพียงด้านเดียว การโฆษณาเกินความจริง  การแสวงหาประโยชน์จากความได้เปรียบด้านข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น 

 

 

 

๕.สุราเมรยมัชช-ปมาทัฏฐาน

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน เน้นให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนงดเว้นจากการเสพสุราและของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  มีเกณฑ์ตัดสิน ๕ ประการ คือ

๑) สิ่งนั้นเป็นของเมา

๒) จิตใคร่จะดื่ม

๓) มีความพยายามในการดื่ม

๕) กลืนให้ล่วงลำคอลงไป

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน นอกจากจะหมายถึงการเสพสุราและของมึนเมาแล้ว ยังหมายถึง การหลงมัวเมาในการเสพสื่อบันเทิง  การโฆษณาสินค้าที่มอมเมาประชาชน  การค้าขายของมึนเมา เป็นต้น

 

                     

๕. สรุป

     จากคำถามที่ผู้เขียนกำหนดไว้ในตอนต้น ๓ ข้อ คือ

     ๑) มิติทางสังคมของศีล ๕ ตามทัศนะของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติเป็นอย่างไร ? ผลการศึกษาทำให้ทราบว่า นักวิชาการตะวันตกที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงวิชาการ ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าพระพุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม  เพราะเป็นระบบจริยธรรมที่มุ่งเน้นการปฏิเสธโลกและความหลุดพ้นส่วนบุคคล  ส่วนพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในสังคมปัจจุบัน ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา  หากแต่เกิดจากแรงกดดันของวิกฤตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  และปัญหาทางศีลธรรมของสังคมโลกยุคใหม่  ปัญหาเหล่านี้ผลักดันให้ชาวพุทธต้องปรับเปลี่ยนระบบจริยธรรมให้มีมิติทางสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การผลักดันนโยบายสาธารณะ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม   ทั้งนี้เพื่อทำให้พระพุทธศาสนามีฐานยืนและสามารถตอบปัญหาสังคมยุคใหม่ได้ ส่วนนักคิดหรือนักศาสนาที่เป็นชาวพุทธมาแต่เดิมอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นพระราหุล  อริยรัตนะ  พระติช นัท ฮันห์  องค์ทะไล  ลามะ และพระเขมธัมโม และชาวพุทธไทย เช่น พุทธทาสภิกขุ  พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) สุลักษณ์  ศิวรักษ์ นพ.ประเวศ  วสี   มีความเห็นตรงกันว่าพระพุทธศาสนามีมิติทางสังคมและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างสังคม  โดยเฉพาะพระติช นัท ฮันห์  ประกาศชัดเจนว่า “พระพุทธศาสนาทั้งหมดต้องผูกพันกับสังคม” (All Buddhism is engaged) เพียงแต่รูปแบบการทำงานเพื่อสังคมอาจจะแตกต่างกันบ้างตามสภาพปัญหาของแต่ยุคสมัย  โดยหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับสังคมโดยตรง ได้แก่ ศีล หรือวินัย  เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดวางระบบความสัมพันธ์ทางสังคม  จัดโครงสร้าง และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงสัจธรรม

    ๒) ตามทัศนะของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ  การตีความศีล ๕ ในแนวจารีต  มีข้อจำกัดในการตอบปัญหาสังคมโลกยุคใหม่อย่างไร ?  ผลการศึกษาทำให้ทราบว่า เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ  มองว่า การตีความศีล ๕ ตามแนวจารีตประเพณีเป็นรูปแบบการตีความเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของสังคมแบบเกษตรกรรม  ซึ่งเป็นปัญหาทางศีลธรรมแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา  แต่สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแบบอุตสาหกรรม  เป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร  และปัญหาทางศีลธรรมก็มีความสลับซับซ้อนตามความซับซ้อนของสังคม  ศีลเป็นเรื่องของบัญญัติหรือการออกแบบเพื่อตอบปัญหาสังคม  เราจะออกแบบศีลอย่างไร  ก็ขึ้นอยู่กับว่าสภาพปัญหาทางศีลธรรมในบริบททางสังคมขณะนั้น ๆ เป็นอย่างไรเป็นสำคัญ       

    ๓) เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติได้เสนอวิธีการตีความศีล ๕ แบบใหม่อย่างไร ?  ผลการศึกษาทำให้ทราบว่า เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ  ได้ตีความศีลห้าโดยเน้น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเจตนารมณ์ของศีล และส่วนที่เป็นคำนิยามของศีล  ส่วนที่เป็นเจตนารมณ์ของ หมายถึง เจตนารมณ์ที่มุ่งให้มนุษย์ในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  ไม่เบียดเบียนกัน  ให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา   นอกจากนั้น  เจตนารมณ์ของศีลยังครอบคลุมถึงการจัดระบบโครงสร้างทางสังคม  ความสัมพันธ์ทางสังคมและสภาพแวดล้อมความที่เอื้อต่อการเข้าถึงสัจธรรม   ส่วนการคำนิยามความหมายของศีล  เครือข่ายพุทธฯ มองว่า ศีลห้าต้องมีพลวัตรและมีความหมายที่ยืดหยุ่น   ต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความซับซ้อนของปัญหาในแต่ละยุดสมัย  คือ ศีลข้อห้ามฆ่าสัตว์  ต้องให้ครอบคลุมถึงปัญหาความรุนแรงประเภทต่าง ๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ปัญหาสงคราม  ปัญหาการก่อการร้าย  ปัญหาการใช้สารเคมี ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก  การทำแท้ง  และการติดต่อพันธุกรรมของพืชและสัตว์   ศีลข้อห้ามลักทรัพย์ ต้องขยายความให้ครอบคลุมถึงการลักทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพัฒนาประเทศที่กระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม   การครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มนายทุนหรือผู้มีอิทธิพล  การจ่ายค่าแรงอย่างไม่เป็นธรรม  การละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา  หรือการปั่นราคาหุ้น  เป็นต้น  ศีลข้อห้ามประพฤติผิดในกาม  ต้องขยายให้ครอบคลุมถึงปัญหาโสเภณี  การเผยแพร่สื่อลามกอนาจารที่ยั่วยุให้เกิดความกำหนัดทางเพศ  ศีลข้อห้ามพูดมุสา  ต้องให้ครอบคลุมปัญหาการปิดบังความจริงในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น ปัญหาการโฆษณาสินค้าแบบเกินจริง  การโฆษณาชวนเชื่อของพวกนักการเมือง  และการไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาล   และศีลข้อห้ามดื่มสุราและเมรัย  ต้องให้ครอบคลุมถึงยาเสพติดทุกชนิดและสิ่งมอมเมาในรูปแบบใหม่ๆ  เช่น  สื่อที่มอมเมาประชาชน  ทำให้หลงผิดหรือหลงใหลมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ๆ    โดยสรุป แนวคิดในการตีความศีล ๕ แบบใหม่ของกลุ่มชาวพุทธเพื่อสังคม  คือ ต้องการให้ศีล ๕ มีความหมายครอบคลุมปัญหาสังคมยุคใหม่ได้ทั้งหมด  แทนที่จะเป็นเพียงการละเมิดกันระหว่างบุคคลกับบุคคลแบบตรงไปตรงมาเท่านั้น 

 

 


[๑] สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๑๐๐๓/๕๐๒.

[๒] ข.ขุ.อ. (บาลี) ๒๒.,  ขุ.อิติ.อ. (บาลี) ๒๙๙–๓๐๔.,  มงฺคล.(บาลี) ๑/๑๙๙–๒๒๔/๒๐๐–๒๑๗.

[๓] ข.ขุ.อ. (บาลี) ๒๒.,  ขุ.อิติ.อ. (บาลี) ๒๙๙–๓๐๔.,  มงฺคล.(บาลี) ๑/๑๙๙–๒๒๔/๒๐๐–๒๑๗.

[๔] ข.ขุ.อ. (บาลี) ๒๒.,  ขุ.อิติ.อ. (บาลี) ๒๙๙–๓๐๔.,  มงฺคล.(บาลี) ๑/๑๙๙–๒๒๔/๒๐๐–๒๑๗.

[๕]วิ.มหา. (ไทย) ๑/๓๙–๔๔/๒๗–๓๒.

 

บรรณานุกรม

๑.ภาษาไทย :

                      ก. ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี. ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ, ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

_________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : 

โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

_________.อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา. กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์-

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙. 

                      ข. ข้อมูลทุติยภูมิ

(๑) หนังสือ :

ติช นัท ฮันห์. แปลโดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์.  ศานติในเรือนใจ : เรียนรู้ศิลปะการดำเนินชีวิตอย่าง

                      มีสติและผาสุก. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,  ๒๕๔๓.

_________. ด้วยปัญญาและความรัก. แปลโดยรสนา โตสิตระกูล. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมล

คีมทอง, ๒๕๓๗.

นิธิ  เอียวศรีวงศ์.  คนจนกับนโยบายการทำให้จนของรัฐ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์

                      เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๓.

_________.พุทธศาสนาในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์

                      มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓.

ประเวศ  วสี, ศ.น.พ. ธรรมิกสังคม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๒.

ปรีชา  ช้างขวัญยืน. ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ. กรุงเทพมหานคร :

สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘.

พระดุษฎี เมธงฺกุโร. การพัฒนาสังคมตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์

มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๒.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. กรุงเทพมหานคร:

สำนักพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

_________. นิติศาสตร์แนวพุทธ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท สหธรรมิก จำกัด,  ๒๕๓๙.

พระประชา  ปสนฺนสมฺปนฺโน. เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง,

๒๕๓๕.

พระไพศาล วิสาโล. พุทธศาสนาไทยในอนาคต  แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต. กรุงเทพมหานคร: 

มูลนิธิสัดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๔๖.

พุทธทาสภิกขุ. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์. ไชยา : คณะธรรมทาน ไชยา, ๒๕๒๑.

_________. ปณิธานของพุทธทาสภิ กขุ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๓๓.

พุทธทาส  อินทปัญโญ. ธัมมิกสังคมนิยม .กรุงเทพหมานคร: สำนักพิมพ์สยามประเทศ, ๒๕๓๘.

พุทธินันท์  โพธิ์จินดา. พุทธศาสนากับความคิดทางการเมืองของ ส.ศิวรักษ์. กรุงเทพมหานคร:

สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, ๒๕๒๗.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  มงฺคลตฺถทีปนิยา  ปฐโม  ภาโค.  กรุงเทพมหานคร :

                      รงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๔.

วีระ สมบูรณ์. อริยวินัยสำหรับคริสต์วรรษที่ ๒๑. กรุงเทพมหานคร : โกมล คีมทอง, ๒๕๔๕.

ส. ศิวรักษ์. ศาสนากับสังคม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, ๒๕๒๕.

สมภาร  พรมทา. พุทธปรัชญา  มนุษย์  สังคม  และปัญหาจริยธรรม ธรรม.  กรุงเทพมหานคร: 

โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

สุจิตต์  วงศ์เทศ. บรรณาธิการ. พิเคราะห์ “นิธิ” ปราชญ์เจ๊ก ๆ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน,

                      ๒๕๔๔.

สุนัย  เศรษฐบุญสร้าง. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพุทธศาสนาในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร:

บริษัท  ฟ้าอภัย  จำกัด, ๒๕๔๒.

(๒) บทความ :

ส.ศิวรักษ์  “ประชุมพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่เกาหลี.” เสขิยธรรม ๕๘ (ตุลาคม-ธันวาคม, ๒๕๔๖) : ๑๑.

๒. ภาษาอังกฤษ

(1) Books.

Aitken, Robert. The Mind of Clover: Essays in Zen Buddhist Ethics. San Francisco: North

Point Press, 1984.

Aronson, Harvey B. Love and Sympathy in Theravada Buddhism. Delhi : Motilal Banarsidass,

1980.

Bellah, Robert. Beyond Belief : Essays on Religion in a Post-Traditional World .New York:

                      Harper and Row, 1970.

Gombrich, Richard. Theravada Buddhism : A Social History from Ancient Benares to

Modern Colombo. London and New York: Rout ledge & Kegan Paul, 1988.

Heng-ching,  Shih.  The Sutra on Upasaka Precepts. Berkley, CA: Buddyo Dendo Kyokai,

                      1991.

Hurvitz, Leon. Scripture of the Lotus Blossom of the Fine Dharma (the Lotus Sutra).

New York: Columbia University Press, 1976.

Jones, Ken. Buddhism and Social Action. Kandy: The Wheel Publication, 1981.

Kaplan Robert D. The Ends of the Earth : A Journey at the Dawn of the Twenty-First

                      Century .New York : Random House, 1996

                . An Empire Wilderness: Travels into America’s Future .New York:

                       Random House, 1998.

Keown, Damien . A Dictionary of  Buddhism. New York: Oxford University Press, 2003.

                . The Nature of Buddhist Ethics.  London: Macmillan, 1992.

Keer, Dhananjay (ed.)  Dr.Ambedkar Life and Mission. Bombay: Popular Prakashan, 1971.

Kleinman, Arthur; Das,Veena;  and Lock, Margaret (eds.). Social Suffering. Berkley: University of California Press, 1996.

Krishnan, Asha. Ambedkar and Gandhi: Emancipators of Untouchables in Modern India. Mumbai: Himalaya Publishing House, 1997.

Kratf, Kenneth ed. Inner Peace, Inner World : Essay s on  Buddhism and Nonviolence.

                      New York : State University of New York press.

Kung, Hans. Theology for the Third Millennium: An Ecumenical View. New York:

Doubleday, 1988.

Murti, T.R.V. The Central Philosophy of Buddhism. London: George Allen and Unwin Ltd.,

1955.

Narain A.K. ed. Studies in the History of Buddhism. Delhi : B.R. Publishing Corp., 1980.

Nhat Hanh, Thich. Call Me By My True Names. Berkeley: Parallax Press, 1993.

                . Love in Action: Wrtings on Nonviolent Social Change. Berkeley:

Parallax Press, 1993.

Nhat Hanh, Thich. Peace Is Every Step. New York: Bantam, 1991.

                 . Vietnam : Lotus in a Sea of Fire. New York: Hill and Wang, 1967.

Queen , Christopher S. (ed.). Engaged Buddhism : Buddhist Liberation Movements in Asia

                      Albany: State Ubniversity of New York Press, 1996.

________ .Engaged Buddhism in the West . Boston: Wisdom Publications, 2000.

Rahula Walpola. The Heritage of the Bhikkhu: A Short History of the Bhikkhu in

Educational, Cultural, Social and Political Life. New York: Grove Press, 1974.

                . Zen and the Taming of the Bull : Towards the Definition of Buddhism

Thought. London: Gordon Fraser, 1978.

Sizemore, Russell F.  and Swearer, Donald K. (eds.). Ethics, Wealth, and Salvation : A Study

in Buddhist Social Ethics.  Columbia, SC: University of South Carolina Press, 1990.

Webber, Max . Religion of India : The Sociology of Hinduism and Buddhism. New York:

The Free Press, 1958.

Williams, Duncan Ryuken  and Queen, Christopher S. American Buddhism : Methods and Findings in Recent Scholarship .Surrey, UK: Curzon Press, 1999.

Williams, Paul.  Mahayana Buddhism: The Doctricnal Foundations. London and New York: Routledge, 1989

(2) Articles.

Bond, George D.  “A.T. Ariyatne and the Sarvodaya Shramadana Movement.”  Engaged Budddhism: Buddhist Liberation Movements in Asia, ed. By Christopher S. Queen.  New York: State University of New York Press, 1996.

Goss, Robert E. “Naropa Institute : The Engaged Academy.”   Engaged Buddhism in the West.

                ed. By Queen, Christopher S. Boston: Wisdom Publications, 2000.

Hunt-Perry, Patricia and Fine, Lyn. “All Buddhism Is Engaged : Thich Nhat Hanh And The Order

                Of Interbieng.”  Engaged Buddhism in the West.  ed. By Queen, Christopher S.

Boston: Wisdom Publications, 2000.

King, Winston L. “Judeo-Christian and Buddhist Justice,” Journal of Buddhist Ethics 2 (1995).

Kosakarn, Panadda. “Summary Report of INEB Executive Meeting 1999.”  Seeds of Peace 16

(May-August 2000) : 11.

Kraft, Kenneth . “Engaged Buddhism.” Engaged Buddhist Reader. ed. By Kotler, Arnold

Berkeley : Parallax Press, 1996.

Lama, The Dalai. “Cultivating Altruism,” Engaged Buddhist Reader, ed. By Kotler, Arnold

Berkeley : Parallax Press, 1996.

Queen , Christopher S. “The Peace Wheel: Nonviolent Activism in the Buddhist Tradition.” 

Subverting  Hatred: The Challenge of Nonviolence in Religious Traditions.

Boston: Boston Research Center for the Twenty-First Century, 1998.

SEM. “Report on the Sixth SEM Annual Lecture.” Seeds  of  Peace 17  (January-April 2001): 29.

Smith, Bardwell L.  “Sinhalese Buddhism and the Dilemmas of Reinterpretation.”  The Two

Wheels of Dhamma : Essays on the Theravada Tradition in India and Ceylon, 

ed. By Smith.  Pennsylvania: American Academy of Reeligion, 1972.

Wijesekera, O.H. DeA. “The Symbolism of the Wheel in the Cakravartin Concept,” Buddhist and Verdic Studies. Delhi: Motilal Banarsidass, 1994.

Zelliot, Eleanor. “Gandhi and Ambedkar: A Study in Leadership,”  From Untouchable to Dait: Essays on the Ambedkar Movement. New Delhi: Manohar, 1992.

 

หมายเลขบันทึก: 396207เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท