พระพุทธงศาสนาเพื่อสังคม(ตอน ๑)


พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม 

๑. ความนำ

    พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Socially Engaged Buddhism) เป็นชื่อสำหรับใช้เรียกขบวนการพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาสังคมโลกยุคใหม่  หมายถึง ทัศนะที่ว่าพระพุทธศาสนากับสังคมต้องผูกพัน (must be engaged) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ไม่มีการแยกเรื่องศาสนากับสังคมออกจากกัน รวมทั้งความพยายามที่จะตีความพุทธธรรมให้ครอบคลุมปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน  เพราะเห็นว่าการสอนแบบจารีตที่เน้นการแก้ปัญหาของปัจเจกบุคคล ไม่เพียงพอต่อการตอบปัญหาสังคมยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนได้  การแก้ปัญหาความทุกข์ของปัจเจกบุคคลและสังคมสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้[๑] อีกความหมายหนึ่ง พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม หมายถึง ขบวนการหรือกลุ่มนักกิจกรรมชาวพุทธเพื่อสังคม (Engaged Buddhists)  ที่พยายามนำพระพุทธศาสนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาความอยุติธรรมทางสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาความรุนแรง  ปัญหาทางเศรษฐกิจ  ปัญหาทางการเมือง[๒]  

   ขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่โดดเด่นในต่างประเทศ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในประเทศที่เกิดภาวะวิกฤตทางสังคมจากภัยสงครามและความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกมาก่อน เช่น อินเดีย  ศรีลังกา เวียดนาม  ไม่ว่าจะเป็น (๑) ขบวนการชาวพุทธเพื่อสังคมในอินเดียที่นำโดย  เอ็มเบ็ดการ์ (B.R.Ambedkar) ผู้ต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกระบบวรรณะในสังคมอินเดีย โดยชักชวนชนชั้นต่ำต้อย (ศูทร/อธิศูทร)ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาที่ให้ความเสมอภาคทางสังคม (๒) ขบวนการชาวพุทธเพื่อสังคมในเวียดนามที่นำโดยพระนิกายเซนชื่อ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ผู้ต่อสู้เพื่อชาวเวียดนามที่อพยพลี้ภัยสงคราม  (๓) ขบวนการสรรโวทัย (Sarvodaya) นำโดยอริยรัตนะ (Ariyaratne) ในประเทศศรีลังกา ที่พยายามประยุกต์หลักพุทธธรรมมาแก้ปัญหาสังคมตั้งแต่สังคมระดับรากหญ้าจนถึงสังคมระดับประเทศ  และ (๔) ขบวนการชาวพุทธเพื่อสังคมในธิเบตที่นำโดยองค์ทะไล ลามะ  ผู้นำรัฐบาลผลัดถิ่นของธิเบตที่พยายามต่อสู่เพื่อเอกราชของทิเบตบนฐานของอหิงสธรรม (non-violence) และเป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบระดับสากล (universal responsibility) บนฐานของจิตใจที่มุ่งหวังประโยชน์สุขเพื่อผู้อื่น (altruistic mind) เหล่านี้คือตัวอย่างของขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในต่างประเทศที่พยายามนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม  

     แม้สังคมไทยจะไม่เคยประสบภาวะวิกฤตทางสังคมอย่างรุนแรงเหมือนในหลายประเทศที่ยกมาข้างต้น  แต่ภาวะวิกฤตทางสังคมและการเมืองตั้งแต่สมัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นมา และการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา  ได้ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตตามมาอย่างมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาความยากจน  ปัญหาเสื่อมโทรมด้านศีลธรรม  หรือปัญหาการล่มสลายของครอบครัว  ชุมชน และสังคม เป็นต้น   ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวพุทธไทยกลุ่มหนึ่งมองว่าปัญหาวิกฤตเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจโดยละเลยมิติทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม  โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบจารีตในสังคมไทย  นับตั้งแต่รัฐแยกการศึกษาของประชาชนออกจากวัดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา สถาบันศาสนาแทบจะถูกตัดขาดจากการกำหนดทิศทางของสังคมเลยก็ว่าได้   ดังนั้น  ชาวพุทธบางกลุ่มจึงได้เสนอแนวคิดในการฟื้นคืนชีพบทบาทของพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่  เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมปัจจุบัน รวมทั้งการตีความพุทธธรรมแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาสังคมโลกยุคใหม่ บุคคลสำคัญที่พยายามอธิบายคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้มีมิติทางสังคม เช่น พุทธทาสภิกขุ  พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)  พระไพศาล วิสาโล  นพ. ประเวศ  วสี     สุลักษณ์  ศิวรักษ์  

    เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ (พ.พ.ส.) (International Network of Engaged Buddhists-INEB) ถือว่าเป็นขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในระดับนานาชาติที่พยายามบูรณาการพระพุทธศาสนาเพื่อแก้ปัญหาสังคมยุคใหม่  ตั้งขึ้นโดยการนำของสุลักษณ์  ศิวรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐  โดยมีบุคคลสำคัญหลายท่านให้การอุปถัมภ์ เช่น องค์ทะไล ลามะ สมเด็จพระมหาโฆษนันทะแห่งกัมพูชา  พระติช นัท ฮันห์พุทธทาสภิกขุ  นอกจากนั้น ยังมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกกว่า ๕๐๐ ท่านจากประเทศต่าง  ๆ  กว่า ๔๐ ประเทศ[๓]  บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ  คือ การมุ่งพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่มีฐานอยู่บนความมีสติ  ปัญญา และกรุณา  รวมทั้งการตีความศีล ๕  แนวใหม่เพื่อสามารถตอบปัญหาสังคมโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน 

    ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้  ผู้เขียนจึงมองว่า การศึกษาขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในสังคมไทย โดยเฉพาะเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ  จึงมีความสำคัญและสอดรับกับกระแสของพระพุทธศาสนาแนวใหม่ในสังคมไทยปัจจุบันที่กำลังปรากฏตัวขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นปัญหาหลัก ๆ ที่ต้องการจะศึกษาในงานวิจัยเรื่องนี้ คือ กลุ่มนักคิดและนักวิชาการได้ถกเถียงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดเชิงสังคมในพระพุทธศาสนาอย่างไร   โดยเฉพาะกรณีของศีล ๕  ผู้เขียนต้องการศึกษาว่า เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติมองว่าการอธิบายศีล ๕ ตามแนวจารีตประเพณีแบบเดิมมีปัญหาในการตอบปัญหาสังคมยุคใหม่อย่างไร  และเครือข่ายนี้ได้เสนอทางออกด้วยการตีความศีล ๕ แบบใหม่อย่างไร

 

๒. แนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

    ๒.๑ ความหมายและลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

    คำว่า “พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม” (Socially Engaged Buddhism) เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ โดยพระติช นัท  ฮันห์(Thich Nhat Hanh) พระภิกษุมหายานชาวเวียดนาม  ครั้งแรกเรียกสั้น ๆ ว่า “Engaged Buddhism”[๔]  พระติช นัท ฮันห์  ได้ใช้คำนี้โดยหมายถึงการนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปผูกพัน (engage) กับการแก้ปัญหาสังคมโลกยุคใหม่ (โดยเฉพาะปัญหาสงครามเวียดนาม) บนฐานของการมีสติระลึกรู้ถึงสิ่งที่กำลังดำเนินไปภายในตนและในโลก ดังข้อความที่ว่า “สติจะต้องผูกพัน(กับสังคม) เมื่อมีการเห็น  จะต้องลงมือกระทำ…เราจะต้องมีสติระลึกรู้ปัญหาที่แท้จริงของโลก และด้วยสตินี้เอง  เราจึงจะรู้สิ่งที่ต้องทำและไม่ต้องทำ และที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ”[๕]  พระติช นัท ฮันห์เคยให้สัมภาษณ์เฮเลน ทรอคอฟบรรณาธิการนิตยสาร Tricycle  ว่า “สถานการณ์ท่ามกลางสงคราม  คุณไม่สามารถตัดตัวเองออกจากสังคมที่ทนทุกข์นั้นได้  คุณต้องสัมพันธ์กับพวกเขาและทำอะไรก็ได้เท่าที่คุณสามารถช่วยได้  ทุก ๆ คนสามารถหาเวลาที่จะนั่ง  เดิน  รับประทานอาหารอย่างมีสติ  หรือกินอาหารในความเงียบคนเดียวหรือกับชุมชนก็ได้”[๖]

    การก่อตั้ง “โรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม” (the School of Youth for Social Service) ถือว่าเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมของขบวนการพระพุทธศาสนาพุทธศาสนาเพื่อสังคมในแนวทางของพระติช นัท ฮันห์  โรงเรียนนี้จะฝึกเยาวชนให้ปลดเปลื้องทุกข์จากภัยสงครามแล้วขยายไปสู่การทำงานเพื่อประชาชนชาวเวียดนามไม่ยกเว้นว่าจะมีความเชื่อทางการเมืองแบบใด   นอกจากนั้น นักเรียนยังได้รับการฝึกฝนให้ “เตรียมพร้อมที่จะตายอย่างไร้ความโกรธ”[๗]  ดังข้อความที่พระติช นัท ฮันห์ เขียนถึงนักเรียนว่า

    ศัตรูของพวกเรา คือ ความโกรธ ความเกลียด ความโลภ  ความบ้าคลั่ง  และความมีอคติต่อประชาชน  ถ้าคุณจะต้องตายเพราะความรุนแรง  คุณจะต้องเจริญเมตตาภาวนาเพื่อให้อภัยแก่คนที่ฆ่าคุณ  เมื่อคุณตายด้วยการประจักษ์แจ้งสภาวะแห่งเมตตา  คุณก็เป็นพุทธบุตรอย่างแท้จริง  แม้ในขณะที่คุณกำลังจะตายในสภาพความกดดัน  ความอับอาย และความรุนแรง  ถ้าคุณสามารถยิ้มได้ด้วยจิตให้อภัย  คุณก็จะมีพลังยิ่งใหญ่[๘]

   มาติน ลูเธอร์  คิง  จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)[๙]  เคยถามพระติช นัท ฮันห์ ถึงเหตุผลของการเผาตัวตายหมู่ของพระภิกษุชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งที่เมืองไซ่ง่อนซึ่งนำโดยพระติช กวาง  ดุค (Thich Quang Duc) พระติช นัท ฮันห์  เขียนตอบว่า การสละชีวิตเพื่อสังคมด้วยเมตตา-ธรรมถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสูงสุด  ข้อความมีดังนี้

   การเผาตัวตายของพระภิกษุชาวเวียดนามในปี ค.ศ. ๑๙๖๓ (๒๕๐๖) เป็นเรื่องยากที่มโนสำนึกแบบคริสต์ตะวันตกจะเข้าใจได้  หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเป็นการทำอัตวินิบาตกรรม  แต่โดยสารัตถะแล้วไม่ใช่อย่างนั้น  แม้แต่การประท้วงก็ไม่ใช่  สิ่งที่พระสงฆ์เหล่านั้นเขียนไว้ในจดหมายก่อนที่จะเผาตัวเอง คือ การมุ่งที่จะส่งสัญญาณเตือนภัย   มุ่งเขย่าหัวใจของผู้กดขี่  และเรียกร้องชาวโลกให้ความสนใจกับความทุกข์ยากของชาวเวียดนาม[๑๐]

   ตามประเพณีของชาวพุทธในเวียดนาม  ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุจะใช้ไฟเผาร่างกายของตนเป็นจุดเล็ก ๆ ในขณะที่กำลังสมาทานศีล ๒๕๐ ขณะที่กำลังได้รับความเจ็บปวดอย่างหนัก  ผู้บวชจะเปล่งวาจาว่า “จะแสดงออกซึ่งความจริงจังจริงใจภายในจิตใจของตน  และพร้อมที่จะรับภาระอันหนัก”  ดังนั้น การฆ่าตัวตายของพระภิกษุกลุ่มนั้นจึงถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในขั้นอุกฤษฏ์เลยทีเดียว[๑๑]

    การก่อตั้งนิกายเทียบหิน (Tiep Hien, The Order of Interbeing) ของพระติช นัท ฮันห์ ในปี ค.ศ. 1966  ถือว่าเป็นภาพสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมอย่างชัดเจน  คำว่า “เทียบหิน” (Tiep Hien) ประกอบด้วยคำว่า “เทียบ”  หมายถึง การสืบต่อ (continuing) และ การสัมผัส (touching) คือสืบต่อทางแห่งการตรัสรู้ และการสัมผัสความจริงของโลกและความจริงของชีวิต  และคำว่า “หิน”  หมายถึง การรู้แจ้งเห็นจริง (realizing) ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงภายในตนเองและการปรากฏขึ้นของปัญญาและกรุณา  นอกจากนั้น คำนี้ยังหมายถึงการลงมือทำที่นี่และเดี๋ยวนี้ 

    หลักการสำคัญของนิกายเทียบหินมี ๔ ประการ คือ (๑) ความไม่ยึดมั่นในทิฏฐิทั้งหลาย (non-attachment from views)หมายถึงการไม่ถูกคุมขังด้วยทิฏฐิ ลัทธิ  อุดมการณ์  อคติ และความเคยชินที่ไม่ดี  (๒) การทดลองโดยตรง (direct experimentation) คือ การมีประสบการณ์ตรงในธรรมทั้งหลายที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น  ไม่เน้นการคาดเดาหรือการถกเถียงทางปรัชญา  ชีวิตของเราคืออุปกรณ์ที่เราจะใช้ทดลองกับความจริง  เมื่อเราดื่มน้ำส้ม  เราย่อมรู้ว่ามันคือน้ำส้ม  โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลหรือคาดเดาเอา (๓) ความเหมาะสมสอดคล้อง (appropriateness) หากคำสอนไม่สอดคล้องกับสภาพจิตใจของบุคคลและความเป็นจริงของสังคม  คำสอนนั้นย่อมไม่ใช่พระพุทธศาสนาที่แท้จริง  คำสอนของพระพุทธศาสนาที่จะก่อให้เกิดปัญญาและความรักได้ จะต้องเป็นคำสอนที่เหมาะสม  ด้านหนึ่งคำสอนนั้นจะต้องอยู่บนฐานหลักการของพระพุทธศาสนา  ในอีกด้านหนึ่งจะต้องเป็นคำสอนที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างแท้จริง  (๔) กุศโลบาย (skillful means) หมายถึงการสอนโดยอุบายวิธีอันชาญฉลาด เพื่อให้เหมาะกับเหตุการณ์และอุปนิสัยอันแตกต่างของบุคคล[๑๒]

   โดยสรุป ลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาในแนวทางของพระติช นัท ฮันห์ มี ๖ ประการ คือ (๑) การมองว่า “พระพุทธศาสนามีความผูกพันกับสังคมอยู่แล้ว  ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น  ก็ไม่ถือว่าเป็นพระพุทธศาสนา”[๑๓] (๒) การมีปัญญาเห็นแจ้งในธรรมชาติที่อิงอาศัยกัน (interbeing) ของสิ่งทั้งหลายในฐานะเป็นพื้นฐานแห่งการสร้างสันติภาพ (๓) การปฏิบัติธรรมครอบคลุมทั้งการเจริญสติ  การรับใช้สังคม  และการอาสาที่จะลดและหยุดยั้งความอยุติธรรมทางสังคมโดยไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก  (๔) พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมเป็นเรื่องของวิถีชีวิต สันติภาพไม่ใช่เพียงการไม่มีสงคราม  หากแต่ต้องมีอยู่ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา  (๕) คำสอนและการปฏิบัติจะต้องเหมาะสมกับกาลเวลาและสถานที่  (๖) เรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสามารถเรียนรู้จากสรรพสิ่งได้[๑๔] 

    สถาบันนาโรปะ (Naropa Institute) เป็นอีกองค์กรพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในรูปแบบของสถาบันการศึกษา  ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1974  ที่เมืองโคโลราโด  สหรัฐอเมริกา  โดยชาวพุทธทิเบตชื่อเชอเกียม  ตรุงปะ รินโปเช (Chogyam Trungpa Rinpoche) ได้เปิดโครงการศึกษาระดับปริญญาโทชื่อว่า “โครงการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม” (The Engaged Buddhism Program) โดยผู้ที่เข้าศึกษาในโครงการนี้จะต้องเรียนทั้งภาควิชการและออกภาคสนามเพื่อฝึกฝนการทำกิจกรรมทางสังคม ความหมายของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมของสถาบันนี้ คือ “พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมเป็นการประยุกต์เอาหลักศีล สมาธิ ปัญญาของพระพุทธศาสนามาใช้กับความท้าทายในสังคมปัจจุบัน  เพื่อตอบสนองปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก”[๑๕]  

    คริสโตเฟอร์ เอส. ควีน (Christopher S. Queen) มองว่า พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม เป็นการประยุกต์หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อแก้ปัญหาสังคม  เป็นรูปแบบของศาสนาที่เกิดขึ้นในบริบทแห่งการถกเถียงปัญหาระดับโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชน  การกระจายความยุติธรรม  และความก้าวหน้าทางสังคม[๑๖]  จุดร่วมสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคม คือ การถือเอาปัญหาความทุกข์ของชาวโลกเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะทำงานเพื่อสังคม รวมทั้งการตั้งปณิธานแบบพระโพธิสัตว์ของมหายาน ที่จะคุ้มครองรักษาสรรพสัตว์[๑๗]

    โรเบิร์ต อี. กอสส์ (Robert E.Goss) มองว่า พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมปัจจุบันเป็นขบวนการสากลที่อยู่เหนือการสังกัดนิกาย  โดยมุ่งตอบสนองปัญหาของโลกทั้งทางการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม  เป็นรูปแบบของขบวนการปลดปล่อยทางสังคมและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสังคมและการปลดเปลื้องทุกข์ของมนุษย์  โดยประยุกต์ใช้หลักคำสอนเรื่องความเมตตากรุณา  ปัญญา  ปฏิจจสมุปบาท  และศูนยตา  เพื่อแก้ปัญหาสังคม รวมทั้งการใช้วิธีการปฏิบัติกรรมฐาน  ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา  เมตตากรุณาเชิงสังคม  และการสร้างเครือข่ายระดับรากหญ้าเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมอย่างกระตือรือร้น[๑๘]

    องค์ทะไล ลามะ ผู้นำเรียกร้องเพื่อเอกราชของทิเบตจากการยึดครองของจีน ได้เสนอแนวคิด“ความรับผิดชอบสากล” (universal responsibility) และแนวคิดแบบแบบ “จิตใจที่หวังประโยชน์เพื่อผู้อื่น” (altruistic mind) ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความรัก  ความเมตตากรุณา  การให้อภัย  และการอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย  ท่านกล่าวว่า “ทุก ๆ ชาติก็อิงอาศัยชาติอื่น  แม้แต่ชาติที่มีข้อพิพาทกันก็ต้องร่วมมือในการใช้ทรัพยากรของโลก  มนุษย์ทั้งหลายทั้งในชุมชนโลกและครอบครัว  จำต้องสามัคคีกันและร่วมมือกันบนฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน  แนวคิดเรื่องการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น (altruism) จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด”[๑๙]  ท่านกล่าวต่อไปว่า

    หากปัจเจกบุคคลมีสำนึกรับผิดชอบต่อมนุษยชาติ  เขาจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  รวมทั้งทำให้ความเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมและการเพิ่มขึ้นของประชากรชะลอตัวลง  ถ้าเราคิดด้วยจิตใจที่คับแคบและมองเฉพาะสิ่งที่อยู่รอบตัว  เราก็จะไม่สร้างอนาคตในทางบวก…ความหมายของความรับผิดชอบที่แท้จริงจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความเมตตากรุณาและความปรารถนาที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น  เราไม่เพียงแต่จะให้ความเคารพมวลมนุษย์เท่านั้น  หากยังต้องให้การดูแล  การงดเว้นจากการก้าวก่ายแทรกแซงสัตว์สายพันธุ์อื่นและสิ่งแวดล้อม  ในการทำงานเพื่อความสุขและความพึงพอใจของบุคคล  ครอบครัว  ประเทศชาติ  และชุมชนระหว่างประเทศ  กุญแจสำคัญคือจิตใจที่หวังประโยชน์เพื่อผู้อื่นของเรานี่เอง (altruistic mind) [๒๐]

   ความรับผิดชอบสากล (universal responsibility) และจิตใจที่หวังประโยชน์เพื่อผู้อื่นถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมขององค์ทะไล  ลามะ  และรากฐานที่ลึกยิ่งไปกว่านั้น คือ ความตระหนักรู้ในความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันของสิ่งทั้งหลาย  ซึ่งในระบบความสัมพันธ์นี้  จักรวาลถูกมองในฐานะเป็นองค์รวมแห่งอินทรียภาพ สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันและเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน (อิทัปปัจจยตา) ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด  และการกระทำ รวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ล้วนแต่รวมอยู่ในข่ายใยแห่งชีวิตนี้ทั้งสิ้น (the web of life) [๒๑]

     อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว  พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมอาจแบ่งลักษณะโดยรวมเป็น ๓ ประการ ดังนี้ [๒๒]

      ๑)  ความตระหนักรู้  (Awareness)  หมายถึง ความมีสติสำนึกตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง  สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว  รวมทั้งตระหนักรู้ในสภาพความทุกข์ของหมู่สัตว์ในสังคมและโลก  ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การทำกิจกรรมทางสังคม

      ๒) การทำตนให้เป็นหนึ่งเดียวกับโลก (Identification of self and world) ได้แก่ ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว (oneness) การไม่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย (non-dualism) การพึ่งพาอาศัยกัน (independence) และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน  ในขั้นแรก เมื่อได้ตระหนักรู้  ได้เห็น  และได้ยินสภาพความทุกข์ที่หมู่สัตว์ได้ประสบอยู่  จากนั้น  จึงแผ่ความกรุณา (compassion) หรือ ความรู้สึกสงสาร (sympathy) ความรู้สึกร่วม (co-feeling) หรือความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (fellow-feeling) เพื่อทำลายพรมแดนที่ขวางกั้นระหว่างตนเองกับคนอื่น  พระติช  นัท  ฮันห์ ได้รวมเอาพวกโจรสลัดและผู้ลักลอบค้าอาวุธสงครามไว้ในข่ายแห่งความกรุณาของท่านด้วยในฐานะเป็นผู้ลี้ภัยสงครามและผู้ประสบเคราะห์กรรมร่วมกัน

     ๓) การลงมือกระทำ (Imperative of Action) หมายถึง ข้อบังคับที่จะต้องลงมือทำหรือให้การช่วยเหลือทันทีเมื่อเห็นหรือได้ยินผู้อื่นมีความทุกข์  ดังที่พระติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้ว่า “เมื่อมีการเห็น  จะต้องมีการกระทำ” หรือดังที่เบอร์นาร์ด กลาสแมน (Bernard Glassman) มองว่า การมองความทุกข์ของคนอื่นให้เป็นดังทุกข์ของตน  จะนำไปสู่การกระทำอย่างมั่นคง  ดังข้อคำกล่าวของเขาที่ว่า “ถ้าฉันมีแผลที่เลือดกำลังไหล  ฉันจะรักษามันทันที  จะไม่เข้าร่วมกลุ่มถกปัญหาหรือรอให้มีเครื่องมือพร้อม หรือรอจนกว่าจะได้ตรัสรู้  หรือรอจนกว่าจะได้ฝึกฝนตนก่อน  ฉันจะหาผ้ามาพันแผลให้เลือดหยุดไหลทันที  เพราะเลือดของฉันกำลังไหลอยู่ขณะนี้” [๒๓]

  

หมายเลขบันทึก: 396077เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ได้เรียนรู้แนวคิดความเคลื่อนไหวทางพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมอย่างมากมายเลยครับ
ขอบคุณที่แบ่งปันนะครับ

นมัสการเจ้าค่ะ

ได้ความรู้จากบันทึกนี้มาก

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

นมัสการลา

เจริญพรโยมฌัฐรดา

คิดว่ายังจำอาตมาได้อยู่นะ บทความนี้จะมีต่ออีกยาวพอสมควร อาตมาจะพยายามนำมาลงเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ

พระมหาสมบูรณ์

นมัสการเจ้าค่ะ

จำได้เจ้าค่ะ

เข้ามาตามอ่านต่อเจ้าค่ะ

นมัสการลา

ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ

เริ่มจากสร้างสุขที่ตัวเองก่อน

แล้วนำสุขนั้น เผยแผ่สู่สังคม

โลกจะฟื้นคืน สู่ความสุขสงบนะคะ พระอาจารย์

กราบพระอาจารย์เจ้าค่ะ

อ้วน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท