QA ทำลายความสัมพันธ์เชิงแนวราบ


เมื่อมี QA สิ่งที่ QA ต้องการคือ หลักฐาน เมื่อไม่มีหลักฐาน คราวต่อไปก็ต้องการหลักฐาน เมื่อต้องการหลักฐานก็ต้องประชุมแบบเป็นทางการ ใช้โครงสร้างแนวดิ่ง ลดการประสานงานแนวราบลง

           วันนี้ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ขอรับการประเมินตนเอง ซึ่งมีหลายๆ เรื่อง ที่ทางภาควิชาขาดหลักฐานอ้างอิง แต่ทางคณะกรรมการประเมินพบว่ามีการทำงานดังกล่าว แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาได้ เช่น ภาควิชามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ไปเป็นผู้บริหาร และที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานหลายองค์กรภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งการไปทำงานดังกล่าวให้ผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับภาควิชา เช่น อาจารย์ไปเป็นวิทยากร ไปเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ แต่ทั้งนี้การไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ในบางครั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายนอกกับภาควิชา ไม่ได้มีการประสานงานในทางดิ่งกับคณบดี กับภาควิชา แต่เป็นการประสานงานโดยตรง เป็นการประสานงานในเชิงแนวราบ  ซึ่งถามว่าดีไหม ตอบได้ว่าดีในแง่ความรวดเร็ว ความสะดวก แต่หลักฐานข้อมูลจะไม่ค่อยมี 
        ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ถ้าถามว่าการประชุมบ่อยๆ คุยบ่อยๆ ดีไหม ตอบได้ว่าดี ยิ่งคุยกันมากทำให้ทำงานได้สะดวก เข้าใจกันมากขึ้น แต่ถามว่ารายงานการประชุมอยู่ไหน การประชุมที่ลากโต๊ะคุยกัน ถ้าถามหาวาระการประชุม ถามหารายงานการประชุมคงยาก แต่เมื่อมี QA สิ่งที่ QA ต้องการคือ หลักฐาน เมื่อไม่มีหลักฐาน คราวต่อไปก็ต้องการหลักฐาน เมื่อต้องการหลักฐานก็ต้องประชุมแบบเป็นทางการ ใช้โครงสร้างแนวดิ่ง ลดการประสานงานแนวราบลง แล้วอย่างนี้ถามว่า เราจะเชื่อ หรือใช้วิธีการใดดีระหว่าง หลักฐาน กับ ผลของงาน ใครมีแนวคิดดีๆ ช่วยแนะนำแนวคิดดีๆ ให้หน่อยครับ

หมายเลขบันทึก: 39519เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ในความคิดของผมนะครับอาจารย์ ผมชอบและเชื่อมั่นในผลของงานมากกว่าหลักฐานครับ อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาคือการที่เรายังยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ การให้ความสำคัญกับหลักฐานน่าจะเป็นเรื่องของงานประจำเสียมากกว่า การพัฒนางานคือการคิดและลงมือปฏิบัติที่แตกต่างจากสภาพปัจจุบัน และถ้าจะดูหลักฐานในยุคนี้ก็ต้องมีความแตกต่าง เช่นหลักฐานในการประชุมอาจไม่ใช่บันทึก และวาระการประชุม แต่เป็นบรรยากาศของการประชุมที่มีทั้งภาพและเสียง มีวันที่มีเวลากำกับไว้พร้อมสรรพ มีความน่าเชื่อถือมากกว่า อะไรที่เป็นทางการมากไปผลที่ได้มักเป็นการเสแสร้งหรือทำตามมารยาทเสียมากกว่า ส่วนความจริงแท้มักหล่นหายไประหว่างทาง............(ก่อนจะถึง) การ ครับ

 

 

 

ต้องทำทั้งงาน   บันทึกหลักฐานการทำงาน    และบันทึกหลักฐานผลงานด้วย    โดยทำอย่างง่ายๆ ตามความเป็นจริง    เอาไปใช้เป็นหลักฐานได้ครับ    ผมเคยทำมาแล้วเมื่อ ๒๐ ปีก่อน

  • ดีใจที่ได้อ่านเรื่องของอาจารย์
  • บางครั้งเราทำงานมากจนลืมเก็บผลงานไว้
  • อาจารย์บันทึกไว้มากๆเลยครับเป็นหลักฐานที่ติดตัวเราไปตลอด

บางครั้งหลักฐานที่ได้อาจไม่จริงเสมอไป เพราะสร้างหลักฐานเท็จได้ วงการครูเห็นมาเยอะแล้ว  แต่ไม่ได้หมายความว่าเหมือนกันทุกคนนะ เพราะจริง ๆ แล้ว การทำงานควรเริ่มต้นตั้งแต่วางแผน มีโครงการรองรับ มีการปฏิบัติจริง และสรุปรายงานผล ส่วนใหญ่ทุกองค์กรทำงานจริงแต่หลักฐานจะหายากที่สุดคือหลักฐานในขั้นตอนของการสรุปรายงานผล และอีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ การประสานงานระหว่างองค์กรในแนวดิ่งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมุมมองของผู้มีอำนาจมองไม่เหมือนกัน บางท่านไม่เห็นความสำคัญและไม่ให้ความร่วมมือ แต่อยากได้ผลงาน นี่คือปัญหาสำคัญที่สุด

ตามความคิดเห็นและประสบการณ์ของผมที่ทำงานด้าน QA ของ มน. ติดต่อกันมาประมาณ 5-6 ปี (ปี 2544 ถึงปัจจุบัน) โดยภาพรวม ๆ ผมมีความรู้สึกว่า QA มิได้ทำลายความสัพันธ์ในแนวราบอย่างที่ใช้เป็นชื่อบันทึก แต่ในทางตรงกันข้าม ผมกลับมีความรู้สึกว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของ QA ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในแนวราบให้มีมากและดียิ่งขึ้นเป็นลำดับด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องหลักฐานการทำงาน เราเน้นหลักฐานที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งอาจจะประกอบด้วย ส่วนที่เป็นเอกสาร และส่วนที่ไม่ได้เป็นเอกสาร (ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ และวิจารณญาณของผู้ประเมิน) ส่วนที่เป็นเอกสารก็เน้นให้เป็นเอกสารที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริง และเก็บไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ให้สะดวกต่อการเรียกใช้งาน ไม่สนับสนุนอย่างยิ่ง ที่จะต้องไปจัดทำเอกสารใด ๆ เพิ่มเติมโดยที่ไม่สมควรต้องทำ

เราทำความเข้าใจและเน้นกันเป็นเช่นนี้มาตลอด แต่ในบางกรณี บางสถานที่ ก็ยังอาจจะหลงลืมหรือเข้าใจผิดได้ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ผมพยายามพูดเพื่อให้เกิดความเข้าใจทำนองนี้มาตลอดเวลา จึงอยากให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสื่อสารต่อ ๆ ไปกันไปด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งครับ

 

  • ผมเข้าใจว่าทั้งสองสิ่งสำคัญพอๆกัน ทั้งหลักฐาน และการทำงานเชิงแนวราบ ผมพบว่าจริงๆ แล้วการประเมินแต่ละครั้ง ผลของการประเมินไม่สามารถจะเทียบเคียงกันได้ หรือดูที่ตัวคะแนนการประเมิน เพราะเราใช้ผู้ประเมินที่แตกต่างกัน การตีความของผู้ประเมิน และมุมมองของผู้ประเมินที่แตกต่างกัน
  • ดังนั้นผมว่า QA มีประโยชน์และช่วยในการพัฒนา และ QA เป็นเครื่องมือของผู้บริหารในหารบริหารงานอย่างแท้จริง QA เหมือนกระจกสะท้อนการทำงานของผู้บริหารในหลายๆเรื่อง หลายประเด็น

             ขอบคุณทุกท่านที่ทำให้ตัวเองลดความกังวลเพราะใกล้วันจะได้รับการประเมิน   เคยมีประสบการณ์ที่เป็นผู้ถูกประเมินและผู้ประเมิน ทั้งสองบทบาทมีวัตถุประสงค์เดียวกับคือให้เกิดการพัฒนา

           

        

                                     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท