การหวนคืนแห่งสัมพันธภาพของกายและจิตในเวชปฏิบัติ


เราน่าจะรวบรวม "ความรู้ปฏิบัติ" ในเรื่อง Mind-Body ของผู้ป่วย

วันนี้ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ดิฉันเข้าร่วมประชุมในเวทีเครือข่ายการสร้างและใช้ความรู้เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด เรื่อง Mind-Body Medicine ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมี ฯพณฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานที่ประชุม และ รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ผู้จัดการชุดโครงการวิจัยเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำหน้าที่เป็นเลขานุการที่ประชุม มีผู้เข้าประชุมรวม ๑๓ คน

ผู้ที่ทบทวนวรรณกรรมและนำเสนอในครั้งนี้คือ นพ.วิโรจน์ เจียมจรัสรังษี จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอวิโรจน์ตั้งชื่อหัวข้อเรื่องได้น่าสนใจว่า "การหวนคืนแห่งสัมพันธภาพของกายและจิตในเวชปฏิบัติ The Revival of Mind-Body Connection in Medical Practice" วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมในเรื่องนี้มี ๓ ข้อคือ

๑. เพื่อทราบรูปแบบต่างๆ ของกิจกรรมในกลุ่ม Mind-body medicine (MBM) ที่มีการนำมาใช้ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง 
๒. เพื่อทราบกลไกทางชีววิทยา ที่อธิบายหรืออาจอธิบายฤทธิ์ของกิจกรรมในกลุ่ม MBM ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง  
๓. วิเคราะห์ประสิทธิผล ข้อเด่น ข้อด้อย และความรู้ที่ยังขาดอยู่ของกิจกรรมในกลุ่ม MBM ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง  

เนื้อหาการนำเสนอประกอบด้วย ความเป็นมาและความหมายของ MBM ประเภทของมาตรการในกลุ่ม MBM กลไกการออกฤทธิ์ของ MBM หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของ MBM คุณหมอวิโรจน์เรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ ติดตามและทำความเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ใจเย็น แม้จะมีผู้เข้าประชุมให้ความเห็นเพิ่มเติมหรือขัดจังหวะการนำเสนอเป็นระยะๆ แต่คุณหมอก็ยังมีท่าทีสงบและสามารถดำเนินการนำเสนอต่อจนครบตามที่เตรียมมา

ดิฉันได้ขออนุญาตคุณหมอวิโรจน์นำ PowerPoint (มี ๘๙ สไลด์) ที่เป็นไฟล์ pdf มาเผยแพร่ในบล็อก แต่ปรากฎว่าไฟล์มีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถอัพโหลดได้ ลองทำเป็น zip file แล้วก็ยังใหญ่เกินไปอยู่ดี (ท่านใดสนใจไฟล์นี้ กรุณาแจ้งมาและให้ e-mail address ด้วยนะคะ จะลองส่งไปให้ หรือถ้าอาจารย์ ดร.จันทวรรณอ่านพบช่วยแนะวิธีอัพโหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ด้วยค่ะ)

ในด้านการรักษาถือว่า MBM เป็น complementary medicine มีอยู่หลายประเภท แต่ที่คุณหมอวิโรจน์นำมาเสนอในรายละเอียดมี ๓ อย่างคือ การทำสมาธิแบบ Transcendental Meditation (TM) การทำสมาธิแบบ Mindfulness และเทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation technique) เทคนิคต่างๆ เหล่านี้เข้าได้กับหลักทางศาสนา

ประสิทธิผลของ MBM จากงานวิจัยต่างๆ  พบว่ามีหลักฐานที่ชัดเจนว่า MBM ได้ผลดีในกลุ่ม After myocardial infarction และกลุ่มมะเร็ง ในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผลการวิจัยมีทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ส่วนในกลุ่มเบาหวานยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปผลได้

แม้จะฟังการบรรยายว่าเทคนิควิธีการทำสมาธิแบบ TM, แบบ Mindfulness และเทคนิคการผ่อนคลาย มีขั้นตอนการฝึกการทำอย่างไรบ้าง ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่จริงๆ ไม่รู้ เข้าข่าย "ไม่ทำ ไม่รู้" เหมือนกับเรื่อง KM เลย ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็ไม่รู้ว่าการเข้าสมาธิเป็นอย่างไร  อย่างไหนที่เรียกว่าเกิดการผ่อนคลาย ต้องอาศัยความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ปฏิบัติมาแล้ว (คุณน้ำคงช่วยบอกได้)

ท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ตั้งคำถามกับดิฉันว่าในกรณีผู้ป่วยเบาหวานมีหลักฐานการใช้ MBM อย่างไรบ้าง

ดิฉันตอบว่าในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เราไม่ปฏิเสธความสำคัญของจิตใจ และมีการใช้ Cognitive Behavioral Intervention หลายรูปแบบ แต่เรายังไม่เคยรวบรวมไว้ว่ามีใครใช้อะไรที่ไหนบ้าง ดิฉันคิดเอาเองว่าผู้ป่วยเบาหวานอาจจะมีวิธีการของตนเอง เราน่าจะรวบรวม "ความรู้ปฏิบัติ" ในเรื่อง Mind-Body ของผู้ป่วย

รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร กล่าวสรุปในตอนท้ายการประชุมว่า จะมีวิธีการอย่างไรที่จะส่งเสริมให้มีการปฏิบัติ MBM (อย่างยั่งยืน) เพราะโรคเรื้อรังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้วย เรายังขาดความรู้เรื่องวิธีการ implement ทั้งในผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และใน rehabilitation ซึ่งต้องคิดออกมาให้เป็นรูปธรรม

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘

 
หมายเลขบันทึก: 3951เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2005 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
สนใจครับ  ช่วยส่งให้ผมที่ [email protected]  ด้วยครับ
หมอวีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์ รพ.หาดใหญ่

สนใจ ไฟล์ กรุณาช่วยส่งให้ด้วยน่ะครับ  

ที่ รพ.หาดใหญ่   เรามีสอน นศพ.  ปี 5 หัวข้อ การแพทย์ พหุลักษณ์  คงจะได้ประโยชน์ จาก ข้อมูลใหม่ที่รวบรวมเป็นะบบ

ผมมีประสบการณ์ฝึกฝน ส่วนตัว  ฝึก  MBM  

ที่หาดใหญ่ มีโครงการ  จะพัฒนา ชุดวัดการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่แพงนัก   ผป.เห็นภาพ จากจอภาพ         ไม่แน่ใจว่า  จะช่วยกระตุ้น การพัฒนาแวดวงวิชาการ  สู่ การปฎิบัติ ระหว่าง ผู้ให้บริการ กับ ผู้สนใจ

ขอบคุณ

คุณหมอวีรพัฒน์คะ ช่วยบอก e-mail address ด้วยค่ะ เพราะข้อมูลที่คุณหมอกรอกเวลาเขียนข้อคิดเห็นจะไม่แสดง e-mail address ค่ะ หรือคุณหมอจะแจ้งไปที่ [email protected] ก็ได้ค่ะ
น้ำไม่รู้จักการนั่งสมาธิแบบ TM จริงๆ ค่ะ และตอนนี้อยากรู้มากๆ ว่าเป็นอย่างไร แตกต่างจากการนั่งสมาธิเพื่อทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายอย่างไร กำหนดจิตอย่างไรเพื่อบำบัดโรค น่าสนใจมากๆ ค่ะ น่าจะนำผู้ป่วยที่ทดลองแล้วได้ผลมาเล่าให้ฟังและฝึกปฏิบัติดูกันจริงๆ น่ะ ค่ะ ในสคส.สนใจเรื่องการนั่งสมาธิการหลายคนค่ะ เช่น อ.ประพนธ์ อ.กรกฎ น้องเพร็ช คุณแกลบ และน่าจะมีอีกที่น้ำไม่ทราบ ลองทำKM "ตลาดนัดความรู้meditation" ดูบ้างน่าสุนุกค่ะ

มาแล้วคะดร.วัลลา เพิ่งอ่านเจอคะ :) ตอนนี้ GotoKnow.org ได้เพิ่มขนาดไฟล์ที่ upload ได้เป็น 1MB แล้วนะคะ แต่ถ้าไฟล์ pdf ของอาจารย์ใหญ่เกินกว่า 1MB คงต้องใช้การ Split ไฟล์คะ

ดิฉันเพิ่ง post บันทึกเกี่ยวกับการ split ไฟล์ pdf ไว้ที่นี่คะ http://gotoknow.org/archive/2005/09/17/00/05/52/e4010
รบกวนอาจารย์วัลลา ช่วยส่งให้ผมด้วยนะครับ ส่งที่ [email protected] นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก ขอบคุณล่วงหน้าครับ
คุณหมอพิเชฐ สามารถ download file pdf ได้ที่ http://gotoknow.org/archive/2005/09/19/10/13/22/e4063 ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท