ท่องเที่ยวแบบพอเพียง


ปีที่ผ่าน ๆ มาไม่ค่อยมีปัญหา น้ำมีตลอด ขนาดปีนี้จุดบั้งไฟขึ้นไปแล้ว พญาแผนยังไม่ส่งฝนลงมาเลย , เมืองอุบลฯ เป็นเมืองแห่งเทียนจริง ๆ , การขูดรีดค่าอาหารสำหรับผู้เดินทาง เพราะเขาอาจจะเดินทางกลับไม่ถึงบ้านได้ ถ้ามาทานอาหารก่อนที่จะซื้อตั๋วรถไฟอาจจะตกสูญเสียทรัพย์สินที่ติดอยู่ในตัว ถ้าไม่เงินพอจ่ายค่าอาหาร

 

 

 

 

 

กริ๊ง กริ๊ง.............. โทรศัพท์ดังขึ้นในขณะที่ผมทานอาหารเช้าอยู่ที่โรงอาหารกลาง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

"ไปนั่งรถไฟเที่ยวศรีสะเกษกันไหม"

        โทรศัพท์จากพี่สมทรง ที่เรียนปริญญาเอกด้วยกันครับ พี่เขาโทรมาชวนไปนั่งรถไฟเที่ยวที่ศรีสะเกษ พี่เขาบอกว่าจะพาเพื่อนนักศึกษา "คุณ Att-spy" จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นั่งรถไฟไปเที่ยวศรีสะเกษครับ

         มีหรือครับที่ผมจะปฏิเสธ แต่บอกพี่เขาว่าต้องขอตัวไปส่งบล็อคก่อนครับ เดี๋ยวคุณอ้อมจะว่าเอา กลัวว่าจะกลับมาดึกแล้วส่งไม่ทัน ก็เลยให้พี่เขาเดินทางไปก่อนล่วงหน้า

         พอส่งบล็อคเรียบร้อยแล้ว ผมก็ขึ้นรถโดยสารจากมหาวิทยาลัยอุบลฯ มุ่งหน้ายังสถานีรถไฟ (Home alone)

         ในความคิดตอนแรกผมคิดไว้ก่อนเลยว่า "สถานีรถไฟ" น่าจะอยู่ในเมืองอุบลฯ ครับ เพราะผมสถานีรถไฟส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวเมือง แต่ก็โชคดีครับที่ระหว่างทาง ได้สอบถามกับคุณลุงคนหนึ่งที่นั่งรถสองแถวไปด้วยกันว่า "สถานีรถไฟอยู่ที่ไหนครับ"

         คุณลุงใจดีมาก ๆ เลยครับ นอกจากที่จะบอกเส้นทางไป "สถานีรถไฟวาริน" แล้ว คุณลุงยังเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องการทำนาปีนี้ว่า

"โอ๊ย ปีนี้ฝนมันบ่ค่อยตก ข้าวในนาจะตายสิหมดแล้ว"

         คุณลุงบอกว่า ปีที่ผ่าน ๆ มาไม่ค่อยมีปัญหา น้ำมีตลอด ขนาดปีนี้จุดบั้งไฟขึ้นไปแล้ว พญาแผนยังไม่ส่งฝนลงมาเลย ถือว่าเป็นเทวดาองค์แรกสำหรับการเดินทางในทริปนี้ครับ (ขอยืมคำพูด "เทวดา" ของคุณพี่ 1,500 ไมค์ มาใช้หน่อยนะครับ)

         เมื่อลงจากรถก็ได้พบกับเทวดาอีกท่านหนึ่งครับ เพราะเนื่องจากรถสองแถวที่ผมนั่งอยู่นั้นไม่ได้จอดที่สถานีรถไฟจะต้องเดินไปอีกสัก 200 เมตร ก็เลยได้สอบถามพี่ที่นั่งรอรถอยู่ที่ป้ายรถเมล์แห่งนั้นเกี่ยวกับเส้นทางที่จะเดินไปยังสถานีรถไฟ

 ในระหว่างเส้นทางที่เดินไปยังสถานีรถไฟนั้น ก็ได้พบกับสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับเทียนพรรษาที่สวยงามมาก ๆ ครับ เมืองอุบลฯ เป็นเมืองแห่งเทียนจริง ๆ ครับ

ไม่กี่อึดใจ ผมก็เดินไปถึง "สถานีรถไฟอุบลราชธานี"

พอเดินทางไปถึงก็ได้ทราบว่า พี่เขาได้ซื้อตั๋วรถไฟไว้ให้เรียบร้อยแล้วครับ ซึ่งค่ารถไฟแพงมาก ๆ ครับ "13 บาท" เดินทางจากอุบลราชธานีถึงจังหวัดศรีสะเกษครับ Trip นี้จึงได้ชื่อว่า "ท่องเที่ยวแบบพอเพียง" ครับ

เพราะค่ารถไฟไปกลับ เพียงแค่ 26 บาทเท่านั้น

แต่ความดีใจยังไม่ทันได้จางหาย ความเสียใจเล็ก ๆ ก็ได้เข้ามากล้ำกลาย เมื่อเราทั้ง 3 ชีวิต ได้ไปนั่งทานข้าวระหว่างที่รอรถไฟออกครับ เพราะว่าราคาข้าวที่เราทานแต่ละจาน แพงกว่าค่าเดินทางไปกลับจาก อุบลฯ-ศรีสะเกษ ซะอีกครับผมคิดในใจว่า

"เรื่องนี้ยังมีอยู่ในสังคมไทยอีกเหรอ"

การขูดรีดค่าอาหารสำหรับผู้เดินทาง เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ผมเคยเจอเรื่องนี้หลายครั้งครับ โดยเฉพาะตามสถานีขนส่ง ที่ร้านอาหารไม่ติดป้ายแสดงราคาอาหาร แต่ปัจจุบันผมได้ทราบว่า มีกฎหมายเรื่องนี้ออกมาบังคับใช้แล้ว แต่ทำไมที่นี่ยังถูกปล่อยปะละเลยให้ฉวยโอกาสกันได้อย่างนี้ครับ เพราะราคาค่าอาหารแพงกว่าปกติถึง 1 เท่าตัว แพงกว่าค่าตั๋วรถไฟเกือบ 3 เท่า สำหรับบางคนนั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก แต่สำหรับบางคน เงินเพียงแค่นี้ก็นับได้ว่า       "ยิ่งใหญ่" สำหรับเขานะครับ เพราะเขาอาจจะเดินทางกลับไม่ถึงบ้านได้ ถ้ามาทานอาหารก่อนที่จะซื้อตั๋วรถไฟ หรือไม่อย่างนั้น อาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สินที่ติดอยู่ในตัว ถ้าไม่เงินพอจ่ายค่าอาหาร

ถ้าอย่างไรฝากผู้ที่รับผิดชอบช่วยสอดส่องดูแลด้วยนะครับ

หลังจากนั้น 12.25 น. ล้อหมุน กับรถไฟสายอีสานครั้งแรกในชีวิตของผมครับ เป็นความฝันอีกอย่างหนึ่งที่อยากพบ อยากสัมผัส ชีวิตสองข้างทาง วิถีชีวิตที่มีกลิ่นไอทางวัฒนธรรมไทย และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการเดินทางบนรถไฟก็คือ "อาหารประจำถิ่น" ที่จะมีพ่อค้าแม่ค้า หิ้วขึ้นมาขายบนรถไฟ

"ขนมมัน" ราคาถูกและอร่อยมาก ๆ ครับ ซื้อมา 10 บาท ทานกันได้ 3 คน อิ่มเลยครับ
60 นาที พวกเราก็ถึงจังหวัดศรีสะเกษ

 พวกเราทั้ง 3 ชีวิตก็ได้เดินทางไปที่โรงแรมพรหมพิมาน เพื่อพบ อ.อุทัย และทีมงานของ ม.อุบลฯ ที่จัดการอบรมให้เกี่ยวสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลในที่นั่นครับ และพักผ่อนอยู่ที่นั่นประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ก็เดินทางกลับมายังสถานีรถไฟศรีสะเกษอีกครั้งหนึ่ง

ในระหว่างนั่งรอรถไฟกลับจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้เห็นภาพที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ..

 นักเรียนเป็นจำนวนมากมารวมตัวกันที่สถานีรถไฟเพื่อนั่งรถไฟกลับบ้าน

แต่พอรถไฟถึง ภาพที่สวยงามก็เริ่มจะกลายเป็นภาพที่น่ากลัว  

เพราะเด็ก ๆ ตัวเล็กตัวน้อย รีบวิ่งกรูกันเข้าไปสองข้างรางรถไฟ เพื่อแย่งกันขึ้น

มีพี่คนนึงเล่าให้ฟังว่า

"พอรถไฟมา พวกเด็ก ๆ ก็รีบแย่งกันขึ้นเพื่อจะได้ที่นั่ง บางครั้งก็โยนกระเป๋ากันขึ้นไป โดนหัวคนที่นั่งอยู่ข้างบน"

พี่เขายังเล่าให้ฟังอีกว่า พอดีเห็นผมยืนถ่ายรูปอยู่ ก็เลยขู่เด็กไปว่า เขามาแอบถ่ายรูปไปส่งตำรวจ วันนี้เด็ก ๆ ก็เลยเรียบร้อยผิดปกติครับ

หลังจากซื้อเสบียง (กับข้าวกับปลา) เสร็จเรียบร้อย 17.00 น. ก็ออกเดินทางจากศรีสะเกษ และเวลาอีกไม่อึดใจ ผมก็เดินทางกลับถึงอุบลราชธานีครับ

บันทึกนี้ฝากทุก ๆ ท่านไว้ครับ สำหรับ "ศรีสะเกษไดอารี่" และการท่องเที่ยวแบบพอเพียงครั้งนี้ครับ

ความทรงจำ และความประทับไม่มีวันจางหายกับทุกย่างก้าวที่เคยได้สัมผัส

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 39486เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก็น่าคิดนะสำหรับราคาสินค้าที่ขายตามสถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งจะแพงหูฉี่ ฝ่ายที่เกี่ยวจะจัดการอย่างไรเอ๋ย ช่วยคิดหน่อย ถ้าคุณน้องจะไปเที่ยวครั้งหน้าก็นั่งยาวไปถึงบุรีรัมย์นะ รับรองไม่ต้องจ่ายค่าข้าว (ให้จ่ายค่าอาหารแทน) ล้อเล่น ให้ทานฟรี ๆ จ้า

 ไปก็ไม่ชวนกันบ้างเลย เกาะล้อรถไฟไปก็ยังดี คราวหน้าอย่าลืมชวนไลไปบ้างเด้อ! ไม่เฉพาะขึ้นรถไฟเท่านั้นนะ ขึ้นเขาลงห้วยก็บ่หยั่น ชอบไปอยู่แล้วเห็นอาจารย์ถ่ายรูปขึ้นเขาลงห้วยแล้วอิจฉาจัง สักวันไลต้องหาโอกาสไปอย่างอาจารย์บ้างซะแล้ว แต่ตอนนี้ขอ "ตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้จบก่อนเถอะสาธุ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท