วิตามินเสริมจำเป็นแค่ไหน


วิตามินเสริม
วิตามินเสริมจำเป็นแค่ไหน ฟังเสียงและภาพประกอบจาก Manager Multimedia
โดย เอมอร คชเสนี 29 มิถุนายน 2549 10:09 น.
                     วิตามินมีความสำคัญอย่างไร
       

       วิตามินเป็นสารอินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับสารอาหารอื่นๆ แต่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น กระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อสร้างพลังงาน การเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต การสร้างเม็ดเลือดแดง การแข็งตัวของเลือด การสร้างกระดูก การมองเห็น การทำงานของระบบประสาท และการสร้างภูมิต้านทานโรค เป็นต้น
       
       วิตามินแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
       

       1.วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินบี1 บี2 บี3 บี5 บี6 บี9 บี12 ไบโอติน โคลีน และวิตามินซี วิตามินประเภทนี้ถูกทำลายด้วยความร้อนได้ง่าย ไม่สะสมในร่างกาย จึงต้องบริโภคอย่างสม่ำเสมอ หากร่างกายได้รับมากเกินไปจะถูกขับออกทางปัสสาวะและเหงื่อ
       
       2. วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค วิตามินประเภทนี้ทนความร้อนได้ดี สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ จึงไม่จำเป็นต้องบริโภคทุกวัน หากได้รับในปริมาณมากเกินไป จะสะสมไว้ในไขมันของร่างกายและตับ ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้

              วิตามินส่วนใหญ่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ยกเว้นบางชนิด เช่น วิตามินดี แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงต้องบริโภคจากอาหาร ร่างกายต้องการวิตามินในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละวัน หากได้รับไม่เพียงพอติดต่อกันไปนานๆ จะทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติขึ้นได้
       
       ความต้องการวิตามินในแต่ละวัน
       

       The Committee on Nutritional National Research Council ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เสนอคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณวิตามินที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน เรียกว่า Recommended Dietary Allowances เรียกย่อๆ ว่า RDA เป็นค่าที่แสดงถึงความต้องการวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นๆ ของคนที่มีสุขภาพปกติ โดยแบ่งตามความเหมาะสมของอายุและเพศ
       
       ค่า RDA สำหรับวิตามินและแร่ธาตุมีประโยชน์มาก เนื่องจากใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาว่าปริมาณวิตามินและแร่ธาตุในอาหารที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ และในกรณีที่จำเป็นต้องเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุในรูปของอาหารเสริม ควรพิจารณาให้อีกเท่าไร
       
       Megavitamin Therapy
       
       คือการใช้วิตามินในปริมาณตั้งแต่ 10 เท่าของ RDA ขึ้นไป การใช้วิตามินในปริมาณสูงๆ มาจากแนวความคิดที่ว่า แค่ปริมาณน้อยยังให้ประโยชน์มาก ยิ่งเพิ่มปริมาณก็น่าจะเพิ่มประโยชน์เป็นทวีคูณ ผู้ใช้มักมีความหวังว่าวิตามินจะช่วยรักษาความเจ็บป่วยที่แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลชะงัด เช่น โรคสมอง โรคมะเร็ง หอบหืด ปวดข้อ นอนไม่หลับ สิว และการชะลอความแก่ เป็นต้น
       
       มีการกล่าวอ้างผลการทดลองในสัตว์ การศึกษาในกลุ่มคนจำนวนไม่มาก โดยใช้การทดลองที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีการควบคุมที่ดีพอ ทำให้การแปรผลมีความเอนเอียงได้ รวมถึงการกล่าวอ้างประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ป่วยที่หายจากโรคต่างๆ
       
       อย่างไรก็ตาม การใช้วิตามินในปริมาณสูงกว่าค่า RDA มากๆ ควรใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น และยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียง และพิษของวิตามินที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติและบริโภคอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุเสริมอีก
       
       หลักเกณฑ์การให้วิตามินเสริม
       

       1.ได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ อาจเนื่องมาจากความยากจน การจำกัดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การกินเจหรือมังสวิรัติ การเบื่ออาหารที่มักพบในผู้สูงอายุ การรับประทานอาหารประเภทเดียวนานๆ หรือรับประทานอาหารสำเร็จรูปบ่อยๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
       
       การขาดวิตามินเอ บี1 และบี2 มักเกี่ยวข้องกับความยากจนและขาดแคลนอาหารที่มีคุณค่า ส่วนอาหารที่ผู้สูงอายุรับประทานมักจะขาดวิตามินเอ ซี บี1 และโฟเลต

              2.ภาวะการดูดซึมสารอาหารบกพร่อง โรคที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพในระบบทางเดินอาหารมีผลต่อการดูดซึมวิตามิน ความผิดปกติในการหลั่งหรือผลิตน้ำดีทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันบกพร่อง โรคตับอ่อนมีผลต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันและวิตามินบี12 เด็กคลอดก่อนกำหนดและเด็กน้ำหนักแรกคลอดต่ำจะดูดซึมวิตามินอีได้น้อย การอักเสบเรื้อรังของสำไส้จะทำให้ขาดวิตามินบี12 กรดโฟลิก และวิตามินที่ละลายในไขมัน
       
       การใช้ยาบางชนิดก็มีผลต่อการดูดซึมวิตามิน ผู้ที่ใช้ยาต่อไปนี้เป็นประจำควรเสริมวิตามิน ได้แก่ ยาลดระดับไขมันในเลือด ยาระบายพาราฟิน ยาลดกรดที่ผสมเกลืออะลูมิเนียม เป็นต้น
       
       3.ความบกพร่องในการนำวิตามินไปใช้ประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความบกพร่องในการใช้วิตามินซี ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้วิตามินบี1 ได้เท่าที่ควร โรคมะเร็งทำให้เกิดการขาดวิตามินได้ โรคตับทำให้เมตาบอลิซึ่มของกรดโฟลิกและวิตามินเอเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีโรคทางพันธุกรรมซึ่งทำให้เมตาบอลิซึ่มของวิตามินบางชนิดบกพร่อง แต่โรคดังกล่าวพบได้น้อยมาก
       
       4.การขับวิตามินออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น อาจเนื่องมาจากการเป็นไข้เรื้อรัง และสภาวะที่ทำให้เกิดการสลายของเนื้อเยื่อ เช่น วัณโรคทำให้ร่างกายขับวิตามินบี2 และวิตามินเอมากขึ้น การฟอกไตเพิ่มการสูญเสียวิตามินซีและบี1 โรคไตเรื้อรังทำให้มีการสูญเสียวิตามินเอและดี
       
       5.การทำลายวิตามินเพิ่มขึ้น ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงในการทำลายหรือลดปริมาณวิตามิน ผู้ป่วยโรคไตมีผลข้างเคียงในการทำลายหรือลดปริมาณวิตามินบี6 เนื่องจากสารที่คั่งค้างอยู่ในเลือดสามารถทำลายวิตามินบี6 ได้ นอกจากนี้การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ก็ทำลายวิตามินเช่นกัน
       
       6.ความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นไข้ การผ่าตัด การติดเชื้อ ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น เพื่อนำมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อและรักษาภาวะสมดุลในเลือด การออกกำลังกายเพิ่มจะมีความต้องการวิตามินบี2 และบี1 การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้อนเกินไปจะเพิ่มความต้องการวิตามินซี หรือในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกชนิดเพิ่มขึ้น รวมทั้งวิตามิน
       
       

       
        ติดตามฟังรายการ “สภาพสุข สุขภาพ”
       
 ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-12.00 น.
        ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com
คำสำคัญ (Tags): #แหล่งเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 39446เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท