โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๔)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๔)


            ตอนนี้ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าแค่มองทิวทัศน์ของพื้นที่    ซึ่งเป็นการวิเคราะห์อย่างหยาบที่สุด    ก็พอจะบอกได้ว่าดินในนาของชาวนาของ ๔ โรงเรียนชาวนาแตกต่างกันมาก     การบำรุงดินของแต่ละแห่งจึงทำเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวไม่ได้    นี่แหละครับเป็นหัวใจของการจัดการความรู้  --- ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

ตอนที่  3  สภาพแวดล้อมรอบๆโรงเรียนชาวนา

             ในช่วงเช้าๆ  หมอกและละอองจะก่อตัวกันเบาบางดุจม่านสีขาวใส  ระโยงระยางไปตามทิวทุ่งท้องนา  อากาศในช่วงเช้าพอจะให้ความชุ่มชื่นแก่สรรพสิ่ง  แลเห็นแมงมุมชักใยจนเป็นฝ้าขาวๆ  อยู่ทั่วในทุ่งนาตามต้นข้าวอันสีเขียวขจี  ใยฝ้าอุ้มหยดน้ำค้างที่เกาะตัวบนปลายยอดข้าว  เมื่อเวลาในช่วงเช้าผ่านพ้นไป  พอสายๆ  แล้ว  แสงแดดของพระอาทิตย์สาดส่องไปทั่วบริเวณ  และแล้ว     ความร้อนก็ปกคลุมแทนความชุ่มชื่นจากช่วงเช้า  เหม่อมองบนนภา  ก็เห็นฝูงนกน้อยใหญ่โบยบินอย่างอิสระเสรี  เห็นเจ้านกปากห่าง  บ้างบินเป็นฝูงๆ  วนไปวนมา  บ้างบินดิ่งลงมาแล้วก็เดินในท้องทุ่งเพื่อหากิน  จนถึงเที่ยง  จนถึงบ่ายคล้อย  ความร้อนยังมิลดแรงระอุ  กระทั่งยามเย็น  แดดร่มลมตก  ได้ยินเสียงนกเขาขันร้องมาแต่ไกล  นกหลายฝูงต่างบินกลับรัง  ค่ำแล้วอากาศจึงคล้ายร้อนเป็นเย็นบ้าง  วันหนึ่งผ่านไปข้าวเขียวต้นน้อยกำลังเติบโต

             ยามที่ขับรถไปโรงเรียนชาวนา  ผ่านไปผ่านมาในแต่ละพื้นที่  มองไปทางใดก็เห็นแต่ท้องทุ่ง  สมกับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำจริงๆ  โรงเรียนชาวนาทั้ง  4  แห่ง  ใน  4  อำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี     อันได้แก่  โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์  ตำบลบ้านโพธิ์  อำเภอเมือง     โรงเรียนชาวนาวัดดาว  ตำบล วัดดาว  อำเภอบางปลาม้า     โรงเรียนชาวนาบ้านดอน  ตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  และโรงเรียนชาวนาหนองแจง  ตำบลไร่รถ  อำเภอดอนเจดีย์  ในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง  เมื่อขับรถเข้าไปถึง..

             เริ่มต้นที่โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์  สภาพโดยทั่วไปในตำบลบ้านโพธิ์  (อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี)  นั้น  พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เขียวขจีไปด้วยต้นข้าวเป็นทิวทุ่งเขียว  เป็นบ้านที่คลองเข้าไปถึง  น้ำส่งเข้าไปถึง  ทำนาปีนาปรังกันไปตามปกติ 

 


     
 

ภาพที่  9 – 10  สภาพแวดล้อมรอบๆ  โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์

             ต่อจากนั้น  ลองมาแวะเที่ยวดูแถวๆ  ตำบลวัดดาว  (อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี)  สภาพโดยทั่วไปในพื้นที่รอบๆ  โรงเรียนชาวนาวัดดาว  ก็ยังคงอุดมสมบูรณ์  คลองเข้าไปถึง  (นานแล้ว)  น้ำก็ส่งไปถึง  (ตั้งนานแล้วเช่นกัน)  นักเรียนชาวนาทำนาปีนาปรังได้สบาย  น้ำท่าค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์  แม้ในหน้าแล้ง  ปริมาณน้ำก็ลดน้อยลง  แต่ก็ยังมีใช้สำหรับทำนากันอยู่

 


      
 

ภาพที่  11 – 12  สภาพแวดล้อมรอบๆ  โรงเรียนชาวนาวัดดาว

             จากนั้นค่อยมาแวะดูแถวๆ  ตำบลบ้านดอน  สภาพโดยทั่วไปในพื้นที่ของโรงเรียนชาวนา  บ้านดอน  ตำบลบ้านดอน  (อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี)  ที่ตำบลบ้านดอนนี้  ในช่วงต้นปี  (พ.ศ.2548)  ทางการได้ปรับปรุงคลองชลประทานให้ใหม่  จากเดิมเป็นคลองดิน  ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นคลองคอนกรีต  พร้อมกับปรับปรุงถนนเรียบคลองสองฝั่ง  นักเรียนชาวนาจักได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที  ในท้องทุ่งจึงแลเห็นข้าวเต็มดงเต็มดอน  นาปีนาปรังพรั่งพร้อมผลิตข้าวสู่ตลาด

 


       
 

ภาพที่  13  คลองชลประทานใหม่

แบบคอนกรีต  (เดือนกุมภาพันธ์  2548)

 

ภาพที่  14  ในนามีข้าว

นาข้าวได้รับน้ำจากคลองชลประทาน

 

             และพื้นที่สุดท้าย  แถวๆ  โรงเรียนชาวนาหนองแจง  ที่ตำบลไร่รถ  (อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี)  สภาพโดยทั่วไปของตำบลไร่รถออกจะต่างไปจาก  3  พื้นที่  3  อำเภอที่ได้กล่าวผ่านไปในข้างต้น  ที่บ้านหนองแจงนี้ระบบชลประทานยังเข้าไปไม่ถึง  นักเรียนชาวนาทำนาน้ำฝนกัน  พอเข้าหน้าแล้ง  ท้องทุ่งนาจึงว่างเว้นจากข้าว  คงแลเห็นแต่ตอซังข้าวเต็มดอนท้องทุ่ง 

 


       
 

ภาพที่  15 – 16  สภาพความแห้งแล้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน

             ที่บ้านหนองแจงนี้ลมแรงดีนัก  จึงนั่งพักคลายร้อนให้หายร้อนรุ่ม  สอบถามบรรดานักเรียนชาวนา  ต่างคนก็บอกว่า  “หลังจากเดือนสิบสอง  (ประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม)  นาก็ขาดน้ำมาตลอด  จวนจะครึ่งปีแล้วละมั้ง” 

             สภาพแวดล้อมรอบๆโรงเรียนชาวนา  3  พื้นที่  คือ  ตำบลบ้านโพธิ์  อำเภอเมือง  ตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  และตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  นาอยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน  การทำนาจึงสามารถทำนาได้ทั้งนาปีและนาปรัง  ส่วนสภาพแวดล้อมรอบๆโรงเรียนที่ตำบลไร่รถ  อำเภอ      ดอนเจดีย์นั้น  ยังไม่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน  การทำนาจึงสามารถทำได้ปีละหน  เป็นนาน้ำฝน 

             ในฤดูกาลนี้  จึงมีโรงเรียนชาวนา  3  แห่งที่สามารถทำนาได้ตลอดปี  แต่กิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนาของทุกแห่งก็ยังดำเนินกระบวนการต่อไป  เพียงแต่กระบวนการเรียนรู้ใน       โรงเรียนชาวนาหนองแจงจักต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการกันไปให้เหมาะสม  เพราะหยุดทำนาช่วงระยะหนึ่ง  จึงไม่มีพื้นที่นาให้ได้ปฏิบัติกัน  แต่การหยุดทำนาไปชั่วระยะหนึ่ง  ก็มิได้เป็นเหตุให้  การเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาหยุดชะงักไปด้วย  ยังมีการทบทวนการเรียนรู้จากที่ผ่านมา  พร้อมๆกับการเตรียมความพร้อมกับสาระการเรียนรู้ชุดใหม่

              เพราะโรงเรียนชาวนา ๔ แห่งมีความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้แหละครับ    ที่ทำให้การเป็นเครือข่ายเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำนาในต่างสภาพแวดล้อม    เกิดผลให้มีการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ในกลุ่มนักเรียนชาวนา


วิจารณ์ พานิช
๑๗ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3942เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2005 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท