ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 1


งานช่วยคนพิการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้พิการไม่ได้เป็นผู้อยากพิการ ถ้าไม่ช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จึงทำให้เกิดสิ่งที่หนักแก่ครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำคือ ช่วยให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม


          “งานช่วยคนพิการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้พิการไม่ได้เป็นผู้อยากพิการ ถ้าไม่ช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จึงทำให้เกิดสิ่งที่หนักแก่ครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำคือ ช่วยให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เมื่อวันศุกร์ที่ 22  มีนาคม พุทธศักราช 2517


     จากแนวพระราชดำรัสฯ ที่ยกขึ้นเหนือเกล้า เหนือกระหม่อม คงจะไม่ต้องพรรณนาความอะไรเพิ่มเติม เพราะสมบูรณ์ มีเหตุมีผล ชี้ทางสว่างในการดำเนินงานอย่างไม่เคยล้าสมัยเลย แม้จะผ่านมาแล้วถึง 31 ปี
     ก่อนอื่นต้องขออภัยที่เรียกท่านทั้งหลายว่า “คนพิการ” แต่เป็นชื่อนี้ผมเรียกตามแผนงาน/โครงการ และตามกฎหมายที่บัญญัติไว้เท่านั้น หาได้เรียกเพื่อตอกย้ำใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วยเข้าใจว่าคำว่า “คนพิการ “ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ท่านทั้งหลายก็คือผม เหมือน ๆ กัน ไม่แตกต่างกัน
     “คนพิการเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของประเทศ  แต่เนื่องจากสภาพของความพิการทำให้เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม จึงเป็นการสมควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้คนพิการได้มีโอกาสในด้านต่าง ๆ สามารถดำรงชีวิต ประกอบอาชีพและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยให้คนพิการได้รับการคุ้มครอง การสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีการทางการแพทย์  ทางการศึกษา  ทางสังคมและการฝึกอาชีพตลอดจนแก้ไขปัญหาและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่คนพิการ”
     ข้อความข้างต้นเป็นเจตจำนงที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 อันสะท้อนให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้จริงที่จะพัฒนากระบวนสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม แม้จะมีความแตกต่างกันของบุคคลเพราะความพิการ

     ท่านทั้งหลายโดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผมมีข้อมูลที่จะพูดถึงได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงปีที่ผ่านมา และในปีหน้า ผมพูดถึงปีก็จะหมายถึงปีงบประมาณตามระบบราชการครับ คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนกันยายน ปีนี้ แล้วไปสิ้นสุดที่วันที่ 31 ของเดือนตุลาคม ปีถัดไปครับ โดยในปีนี้ตั้งแต่เกิด “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้านการแพทย์จังหวัดพัทลุง” โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ(ประจำปี 2546) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาจำนวน 1,042,647 บาท แยกเป็น ร้อยละ 95.00 (990,515 บาท) เพื่อใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาล (ให้หน่วยบริการฯ ขอเบิกมาเมื่อให้บริการไปแล้ว) และร้อยละ 5.00 (52,132 บาท) เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งในครั้งแรกแทบจะทำอะไรไม่ค่อยได้เลยนอกจากการนำเสนอข่าวสารนี้ไปยังท่าน ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปแล้วหลาย ๆ ทาง เช่นการจัดทำแผ่นปลิวแนบไปกับหนังสือพิมพ์รายวัน การแจกจ่ายไปยังสถานบริการต่างๆ รวมไปถึงการฝากข่าวไปยัง อบต. หรือผู้นำฯ เพื่อที่จะได้ช่วยกันแพร่กระจายข่าว พบว่าผ่านมาครึ่งปี เงินกองทุนฯ ส่วนที่เป็นร้อยละ 95.00 หรือวงเงิน 990,515 บาท ถูกใช้ไปเพียง 200 บาท เท่านั้น คนพิการไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูฯ เลยหรือ เป็นคำถามที่ผมรวมถึงผู้บริหารสงสัย ก็ได้รับคำตอบจากการออกนิเทศงานฯ ว่าการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้ให้บริการอยู่เป็นประจำ แต่เป็นไปในลักษณะการตั้งรับ และมักจะเป็นคนพิการรายใหม่เท่านั้น โดยขอเบิกค่าใช้จ่ายและสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ จากศูนย์สิรินธรฯ ในส่วนของคนพิการแต่กำเนิด หรือเป็นมาก่อนการมีกองทุนฯ มักจะไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เนื่องจากนโยบายเชิงรุกในการออกให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชนยังไม่ชัดเจน

     วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 สปสช.ได้แจ้งเพื่อขอปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้จ่ายเงิน โดยส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้เป็นไปเพื่อจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิฯ ณ วันนี้หน้าตักของกองทุนฯ เหลือวงเงินทั้งสิ้น เท่ากับ 992,447 บาท หลังหักที่ถูกใช้ไปแล้ว 50,200 บาท (ดำเนินการประชุมองค์กรคนพิการ-ญาติ, ผู้รับผิดชอบที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่คนพิการโดยตรง รวมถึงค่าจัดทำเอกสารเผยแพร่)
     ผ่านมาถึงวันนี้ที่บันทึกความภาคภูมิใจนี้ไว้ ในฐานะที่ได้ร่วมรับผิดชอบ ร่วมผลักดัน และร่วมดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ เท่าที่ทำได้ ก็ภูมิใจแล้วที่ได้ทำลงไป และที่ภูมิใจมากคือ ผู้บริหารเห็นความสำคัญมากพร้อมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จะเล่าให้อ่านว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
     อำเภอเขาชัยสน เป็นพื้นที่ที่เกิดกรณีจุดประกายขึ้นโดยมีผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ นอนอย่างเดียว แต่รับรู้ได้ทุกอย่าง ผู้เป็นแม่ได้เรียกร้องขอให้ช่วยเหลือในการฟื้นฟูฯ ไม่งั้นจะเกิดแผลกดทับ จึงได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวและมีการจัดทำโครงการฯ ขึ้น โดยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และสถานีอนามัยทุกแห่ง ซึ่งมีเหตุผลประกอบเพิ่มเติมคือเพื่อให้คนพิการได้ขึ้นทะเบียนสิทธิให้ครอบคลุมมากขึ้น
     ผลการดำเนินงานซึ่งได้ร่วมกับเครือข่ายคนพิการในอำเภอ พัฒนาเป็นยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการ ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่น่ายกย่อง อีกทั้งอำเภออื่น ๆ ก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดย น.พ.ยอร์น  จิระนคร จึงได้สนับสนุนให้เครือข่ายหน่วยบริการเขาชัยสน เป็นหน่วยงานนำร่องในการดำเนินการต่อไป และได้อนุมัติงบประมาณจากกองทุนฯ ให้ไปดำเนินการทั้งสิ้น 100,000 บาท ผลที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือคนพิการในอำเภอได้รับการค้นพบเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนรายใหม่ (พิการนานแล้วแต่ไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับรองความพิการ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่เคยเขาถึงสิทธิ ใด ๆ มาก่อน) จำนวนมากถึง 124 ราย จากที่ตั้งไว้เพียง 34 รายเท่านั้น ทำให้ต้องทบทวนการดำเนินงานและมีมาตรการเร่งรัดในพื้นที่อื่น ๆ อีกมาก ทั้งนี้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิฯ อย่างรอบด้านเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านด้วย (รายละเอียดจะได้นำมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง หลังวันที่ 22 กันยายน 2548 นี้ ซึ่งผมจะได้ไปเป็นวิทยากรนำการประชุมกลุ่มเพื่อระดมสมองในการเตรียมการฯ)

     สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง โดย น.พ.ยอร์น  จิระนคร จึงได้เห็นชอบและให้เรียกประชุมผู้รับผิดชอบในแต่ละอำเภอโดยด่วน เพื่อเร่งดำเนินการ ซึ่งทั้ง 9 อำเภอ กับอีก 1 กิ่งอำเภอ ก็ได้รับไปดำเนินการ โดยใช้แนวทางตามที่อำเภอเขาชัยสนได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งได้อนุมัติเงินงบประมาณให้ไปดำเนินการอีกรวมทุกพื้นที่เท่ากับ 141,425.00 บาท ประกอบด้วย อำเภอเมืองพัทลุง รวมกิ่งอำเภอศรีนครินทร์ จำนวน 52,525.00 บาท อำเภอกงหรา จำนวน 15,000.00 บาท อำเภอตะโหมด จำนวน 9,800.00 บาท อำเภอควนขนุน จำนวน 7,800.00 บาท อำเภอปากพะยูน จำนวน 16,700.00 บาท อำเภอศรีบรรพต จำนวน 5,900.00 บาท อำเภอป่าบอน จำนวน 16,750.00 บาท อำเภอบางแก้ว จำนวน 12,000.00 บาท และอำเภอป่าพะยอม จำนวน 4,950.00 บาท ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการดำเนินการกันอย่างคึกคัก และคนพิการก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว สอบถามข่าวคราวกันเป็นระยะ ๆ (หลังจากที่ผมเดินทางไปเป็นวิทยากรฯ ในแต่ละพื้นที่ แต่ละครั้งแล้ว จะได้นำกลับมาเล่าให้อ่านต่อเป็นคราว ๆไป จนกว่าจะสรุปได้ในภาพรวม)

     ล่าสุดเมื่อวาน (14 กันยายน 2548) น.พ.ยอร์น  จิระนคร ได้อนุมัติให้ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านเกาะเรียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอตะโหมด ได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการ โดยการจัดการอบรมหมอนวดพื้นบ้าน (ที่มีประสบการณ์ และเคยผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานมาแล้ว) ตามหลักสูตรเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับคนพิการ วงเงินรวม 59,040 บาท การได้มาของโครงการนี้เกิดจากการพูดคุย ครั้งแล้วครั้งเล่า และเดินมาสู่ขั้นตอนกระบวนการพัฒนาร่วมกันทั้งจากภาคีหมอพื้นบ้านในอำเภอตะโหมด จำนวน 10 คน และจากอำเภอเขาชัยสนซึ่งได้ขอเข้าร่วมในโครงการด้วยอีก 2 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในศูนย์สุขภาพชุมชนฯ ระดับอำเภอ และงานแพทย์แผนไทย รพ.ตะโหมด งานแพทย์แผนไทย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และงานทะเบียนฯ และการประเมินผล กลุ่มงานประกันสุขภาพ ด้วยการสนทนากลุ่มจนได้ข้อยุติเป็นแผนฯ และหลักสูตรเบื้องต้น

     โครงการดังกล่าวเน้นที่พัฒนาหมอนวดพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ และเคยผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานมาแล้ว ให้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้น เพื่อช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งยังไม่มีที่ใดได้ดำเนินการเช่นนี้มาก่อน ถือได้ว่าเป็นนวตกรรมสำหรับจังหวัดพัทลุง จึงได้มีแนวคิดในการประเมินและให้การรับรองหลักสูตรฯ นี้ขึ้นโดยผมได้รับอนุมัติในหลักการแล้วให้เป็นหัวหน้าทีมประเมิน งานนี้ก็ต้องแสวงหาความร่วมมือจากผู้รู้อีกหลายท่าน เช่นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการด้านแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้าน และแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วย คนหนึ่งที่คิดถึงตอนนี้ คืออาจารย์หมอวีรพัฒน์  เงาธรรมทัศน์ ครับ
     สรุป ณ วันนี้เงินกองทุนฯ เหลืออยู่ 692,182 บาท ซึ่งคาดว่าเครือข่ายคนพิการจากอำเภอต่าง ๆ จะได้พัฒนาแผนงาน/โครงการเข้ามาขอรับการสนับสนุนหลังจากที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวในเร็ว ๆ นี้
     หมายเหตุท้ายบันทึกนี้ ขอได้โปรดทราบโดยทั่วกันว่าขณะนี้คนพิการทุกคนสามารถเข้ารับบริการเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ ณ หน่วยบริการสาธารณสุขตามความจำเป็นที่ควรจะต้องได้รับ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมถึงการได้รับกายอุปกรณ์ด้วย ทั้งนี้หากเป็นผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหน่วยบริการฯ สามารถขอเบิกจ่ายได้จาก สปสช.ได้โดยตรง ส่วนสิทธิอื่น ๆ ก็เบิกจากหน่วยงานนั้นที่ให้สิทธิครับ
     คืบหน้าอย่างไรจะได้นำมาเสนอต่อท้ายไว้อีกคราวถัดไป ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และด้วยความจริงใจ     

          อนุชา  หนูนุ่น บันทึกไว้เมื่อ 15 กันยายน 2548

หมายเลขบันทึก: 3937เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2005 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท