เรื่องเล่าชาวอิสานฟันดี 6 : พัฒนาเครือข่ายทันตาภิบาลใน รพ.สต.


ย่างก้าวของเครือข่ายทันตแพทย์ผู้นำด้านสร้างเสริมสุขภาพช่องปากภาคอิสาน พัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดตลาดนัดความรู้โดยสมาชิกทันตาภิบาล 6 จังหวัด อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม วันที่ 9 - 10 กันยายน 2553 ณ โรงแรมนาข่าบุรี จ.อุดรธานี
ยังไม่นอนค่ะ....รอบนี้สนุกสนาน  แรงบันดาลใจล้นเหลือ  ต้องรีบเขียน  ไม่งั้นทิ้งไว้นาน...ลืม

มีภาพเดียวที่เห็นเบื้องหลัง...ช่างภาพ  คุณหมอมิ้ง  ภูกระดึง  ทันตแพทย์รุ่นผู้นำสร้างเสริมสุขภาพช่องปากอำเภอ  ไม่ได้ขอความรัก...เพราะเรามีให้กันเปี่ยมล้นพี่ ๆ น้อง ๆ  แล้ววัยอย่างพี่สุรัตน์  สำนักทันตฯ  พี่ฝนหนองบัวลำภู...แฮ่ม !!!! ขอไปก็ไม่มีประโยชน์

ทีมจังหวัดหนองคายมาเช้า....ขอรางวัลได้ที่พี่ล่า  วัชรพงษ์  ทันตแพทย์รุ่นพี่เลี้ยง  ณ วันนี้  อย่างไรพี่ไพรพรรณ  รพ.สต.ชัยพร  อ.บึงกาฬ ก็ยังไม่แยกจากเรานะคะ

ตื่นตัวด้วยเกมส์เป็ด  กว่า Chaos ไร้ระเบียบจะเข้าที่เข้าทาง  ใช้เวลา  9  รอบ  และอีก 1 รอบซ้อมไม่นับ  ต้องใช้เป็ดถึง  2  ตัว  เป็ดอ้อ (ศูนย์เขต 6) และเป็ดมิ้ง (ทำหน้าที่ทั้งช่างภาพ  วิทยากร  พิมพ์งาน  ยกของ  ขับรถฯ  สารพัดบทบาท) ยอมแพ้  เพราะกลุ่มมีผู้นำและภาวะผู้นำ  ผู้ตามรู้บทบาท  ปรับกระบวนการวางแผนเป็นระยะ ๆ  การสื่อสาร 2 ทางชัดเจน  มีการหามติ  ซักซ้อมความเข้าใจและทดลองทำ  ในที่สุด...สติมา  นิ่ง  ไม่ลนลาน....ฝ่าฟันความไม่เข้าใจมาได้  ความสำเร็จก็เป็นของเรา  บรรลุตามความคาดหวังของผู้เข้าประชุมที่ร่วมระดมสมองกันมา 

กิจกรรมต่อไป...ชอบมาก  Sensing dance  จากคู่รวมกลุ่ม  6  คนเป็นวง  จะเต้นรำไปทั่ว ๆ ห้อง  โดยใช้ประสาทสัมผัสที่ปลายนิ้ว  ไม่มีเสียงพูด...ได้อย่างไร  จะจัดสมดุลตัวเองและกลุ่มเพื่อนให้พอเหมาะพอดีได้ไหม
จาก  6  หาร  2  แยกเป็นกลุ่มละ  3  คน  คนที่ 1  บทบาท คือ ผู้ฟัง (Listener)  คนที่ 2 บทบาท คือ ผู้สังเกต (Observer)  คนที่ 3  บทบาท คือ ผู้เล่า (Talker)  เรียกว่า  เทคนิก LOT  พี่สุรัตน์ให้เล่าความภาคภูมิใจ  3  นาที  มีประชุมที่ไหนชวนอ้อด้วยนะคะ...ชอบเคาะระฆังแห่งสติ...จับเวลา  แล้วกลุ่มจึงสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้  คืนนี้เล่าแค่บรรยากาศที่ยังกรุ่นในความทรงจำ  พวกเก็บรายละเอียดเป็นข้อความ  ไม่ต้องห่วงนะคะ  กำลังฝึกเคล็ดการจับประเด็น  รออ่านก็แล้วกัน
หลังอาหารเที่ยงพื้นบ้านแสนอร่อย...อ่อมไก่  น้ำพริกปลา...อิ่มแล้วผ่อนพักตระหนักรู้
ตื่นแล้วนั่งเป็นจังหวัดก่อน  นับ 1 – 6  ไปเรื่อย ๆ  ครบทุกคนทุกจังหวัดแล้ว  จะได้  6  กลุ่มที่มีสมาชิกครบทุกจังหวัด   ถึงเวลาโฆษณางานที่แต่ละจังหวัดเตรียมมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง  จุดประกายเริ่มแรก  รพ.สต.ชัยพร  อ.บึงกาฬ  โดยพี่ไพรพรรณ  รพ.สต.คอกช้าง  อ.สระใคร  จ.หนองคาย  โดยน้อง Aob คนน่ารัก....พี่ต๋อย  สสจ.อุดรถามว่า  ทำนวัตกรรมอะไรมาเหรอ ?
1  ชั่วโมงครึ่ง  ผ่านไปไวมาก  หลังจากไปล้วง  แหวก  แคะ  แกะจากเจ้าของเรื่องเล่าและสื่อที่นำมา  9  เรื่อง  จึงกลับมารวมกลุ่มคุยกัน  สรุป 
1.  ชื่อเรื่อง 
2.  ทำไมถึงทำเรื่องนี้หรือแรงบันดาลใจ 
3.  ชอบอะไร 
4.  แก่นของเรื่องนี้หรือได้เรียนรู้อะไร  
ทุกกลุ่มเขียนในกระดาษ A4  แล้วกลับไปติดที่ข้าง ๆ บูธต้นเรื่อง  ตัวแทนทุกกลุ่มฝึกทักษะที่ Facilitator ต้องมี  รวมจาก  6  กลุ่มย่อย  ให้เป็นเรื่องราวเดียว  นำเสนอคืนให้เจ้าของเรื่องและพวกเราทั้งหมดฟัง  สุดท้าย...ไม่ลืมขอบคุณเจ้าของเรื่องราวที่นำสิ่งดี ๆ มาแบ่งปัน  แล้วจึงถึงเวลาพักผ่อน   กินข้าวแลง...ตำบักหุ่ง  ตำแตง  ไข่ต้ม  แตงกวาสดกรอบเย็น  ผักลวก  ป่นปลา...น้ำยายไหย
เช้าวันที่สองเสียงพูดคุยจอแจทักทายข้ามจังหวัดเพิ่มมากขึ้น  ทักทายไถ่ถามกิจกรรมละลายพฤติกรรมภาคค่ำพอหอมปากหอมคอ  เริ่มต้น...ระฆังแห่งสติ  พร้อมเพรียงทั่วหน้า  หลังจากเข้ากลุ่มคละจังหวัดตระเวน Shopping เมื่อวานแล้ว  เช้านี้กลับมานั่งเป็นกลุ่มจังหวัด  พูดคุยเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนและสิ่งที่ต่างจากจังหวัดเรา  พร้อมบอกสิ่งที่จะทำต่อไป 

ส่วนกลุ่มจังหวัดนี้  นนทบุรี (พี่สุรัตน์)  หนองบัวลำภู (พี่ฝน)  ขอนแก่น (อ้อศูนย์เขต)  หนองคาย (พี่ล่า , อ้อสระใคร)  เมืองเลย (มิ้งตากล้อง)  ต่อเนื่องจากโรงพิมพ์เมื่อคืนยังไม่เสร็จ  มีเวลาระหว่างกลุ่มจังหวัดคุยกัน  เราก็คุยกันมั่ง  คุยไปพิมพ์สรุปไป  เป็น Note taker ที่เก็บเป็น Electronic file ให้เหลืองานหลังวันประชุมให้น้อยที่สุด....ใช้เวลาให้คุ้มค่า  แต่ละคนคิวงานยาวมาก  ได้ file แล้วหมออ้อศูนย์เขตจะส่งให้น้องหลง  รพ.สต.เพีย  เมืองเลย  ส่งต่อให้เพื่อน ๆ โดยเฉาะทาง Mail group อีกทีนะคะ   

กลุ่มสกลนครเข้มข้น

กลุ่มนครพนมเฮฮา

กลุ่มอุดรเข้มแข็ง  นำเสนอโดยน้องปู  นายูง

กลุ่มหนองคายสดใส  นำเสนอโดยน้องเฟิร์ส  รพ.สต.วังหลวง  อ.เฝ้าไร่

กลุ่มหนองบัวลำภูอบอุ่น

กลุ่มเลยรักกัน

หลายจังหวัดบอกจะเริ่ม  “เชิงรุก”  ให้มากขึ้น  การทำความเข้าใจแนวคิดให้กระจ่าง  น่าจะเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ....คลิกนิดเดียว  ชีวิตเปลี่ยนได้นะคะ   สมาชิกพวกเราช่วยกันพูด  นำเสนอตัวอย่าง  ทำความเข้าใจร่วมกัน

อันนี้เข้าใจง่าย  การให้บริการเคลือบหลุมและร่องฟัน  (Sealant) เป็นบริการทันตกรรม  ฐานคิดจากงานบริการสุขภาพ (Service based)  เป็นบริการด้านป้องกัน (Prevention)

การทาฟลูออไรด์วานิชที่คลินิกทันตกรรม  เป็นงานบริการทันตกรรมด้านป้องกัน  เมื่อเราให้บริการที่ รพ.สต.  ศพด.  ไปทำให้ที่บ้านหรือที่ไหน ๆ เรา (ทันตบุคลากร) ยังคงลงมือทำ  ก็ยังเป็นงานบริการสุขภาพ   เพียงแต่เรา “ลุก” จากเก้าอี้ในห้องทำฟัน  ไปนั่งที่เก้าอี้ที่ ศพด.  แคร่หน้าบ้านแม่ลูกอ่อน  พื้นของศาลาวัด  เป็นต้น  เป็นการ “รุก” เอางานบริการสุขภาพไปให้ถึงผู้ใช้บริการง่ายขึ้น  แง่มุมดี ๆ ก็คือ การเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวกขึ้น

มีน้องเสนอเรื่อง  การเข้าให้ถึงชุมชน  ศึกษาชุมชน  เข้าใจชุมชน  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยกลุ่มหรือชุมชนตนเองเป็นคนทำ 

พี่ฝนเสนอว่าควรจะ “รุก” แบบหาต้นตอสาเหตุรากเหง้าของปัญหาให้พบ  แล้วหาวิธีจัดการที่ต้นตอ  โดยเจ้าของสุขภาพมีส่วนร่วมทำเอง 

พี่สุรัตน์เสนอ  ทำอย่างไรจะทำร่วมกับชุมชน  เน้นการส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน  ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยพึ่งตนเอง  ปัญหาเชิงพฤติกรรม  ต้องดูแลตนเองได้ในระยะยาว  กระบวนการเชิงรุก คือ การจัดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ทำรายบุคคลได้ผลทีละคน  ในที่ตั้งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย  คนส่วนใหญ่มีความรู้  แต่ปฏิบัติยาก  ถ้าไม่มีเพื่อน  ไม่มีกลุ่ม  จึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนวิธีคิดของชุมชน  สังคม 

ตัวอย่าง เรื่อง ลดน้ำหนัก  ทุกคนมีความรู้  แต่เพื่อน ๆ ซื้อของกินมาล่อตาล่อใจ  อยากอดกินแต่ห้ามใจไม่ได้  จึงต้องมีวิธีจัดการในกลุ่มเพื่อนด้วย  เรื่อง ลูกอม  จัดการที่เด็ก  ผู้ปกครอง  และเพื่อน ๆ ของเด็กด้วย  เป็นการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อ  โดยกระตุ้นชุมชนลุกมาจัดการ 

กระบวนการทำงานชุมชนมีส่วนร่วม  ชุมชนดูแลตนเอง  จัดการง่าย ๆ  บ้านฉัน  บ้านเธอ  คุ้มบ้านฉัน  อสม.รับผิดชอบ  10  หลังคาเรือน  แล้ว  10  หลังคาเรือนที่เหลือจะตามมา  ตัวอย่างพี่สุรัตน์เคยทำที่อำเภอกันทรารมย์  ศรีสะเกษ  ตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ แม่ลูกอ่อนพาลูกมาป้อนข้าวรวมกัน  เป็นวงโสเหล่ตามธรรมชาติ  แค่ อสม.และกลุ่มแกนนำสตรีถามว่า  “วันนี้กินผักหรือยัง”  และ “วันนี้แปรงฟันหรือยัง”  สามารถกระตุ้นคนเลี้ยงอย่างได้ผล

การเริ่มที่การปรับพฤติกรรมการกินอาจจะยาก  เริ่มสิ่งที่ง่าย  หัดดูแลตนเอง  สิ่งที่ทำได้จริง  ความสม่ำเสมอจะตามมา เช่น กระตุ้นการแปรงฟันให้เด็ก  ไม่ต้องท่องไปบอก  แปรงฟันวันละ  3  ครั้งหลังอาหาร  ทำในสิ่งที่ทำได้จริง ๆ  ขอให้แปรงสะอาดก่อน  อย่างอื่นค่อย ๆ ปรับไป

ในความหมายของพวกเราพอสรุปได้ว่า  การทำงานเชิงรุก  หมายถึง การทำงานโดยชุมชนมีส่วนร่วม (เจ้าของสุขภาพ) ลุกขึ้นมาทำเอง  หาสาเหตุรากเหง้าของปัญหา  จัดการที่ต้นตอ  ชุมชนตัดสินใจทำกิจกรรมของชุมชนเอง  โดยอาศัยศักยภาพของชุมชนเป็นพื้นฐาน (พึ่งตนเอง)  ถ้ามาแนวนี้ภาษาอังกฤษใช้ว่า Community based  พอได้ไหมคะ

เย้ ๆ ๆ ไม่ต้องหวงงานไว้ทำเองเยอะ ๆ หรอกนะคะ  ไม่กลัวตกงานด้วย  คนที่ป่วยแล้วมีให้เรารักษามากมาย...ทำจนเกษียณก็ไม่หมดหรอก

ต่อไปเป็นรายการติดตามงาน  กลุ่มใหญ่กว่า คือ รพ.สต.ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภาคีเครือข่ายระดับตำบล  ด้านการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย  โดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (Strategy Route Map:SRM)  เป็นเครือ่งมือ  พี่ฝน  พี่ลา  น้องอ้อศูนย์เขตพาชวนคุย

กลุ่มเล็กกว่า รพ.สต.ทั่วไป  พี่สุรัตน์  อ้อสระใครและมิ้งชวนคุยต่อ  พวกเราจะต่อยอดงานที่ชอบ  อยากจะทำงานที่ใช้แนวคิด Community based  งานที่ศักยภาพตนเองพอจะทำได้  เล่าเสร็จเขียนส่ง  รวบรวม file  ส่งให้ทั่วถึงต่อไป  (แอบนินทาภูกระดึง  เอาคำถามที่ตนเองต้องตอบหมอมิ้ง  มาถามในวงนี้ด้วย...ฉลาดจริง ๆ)  น้องอื๋ว  จ.เลย  เริ่มสร้างกลุ่มแกนนำผู้ปกครอง  อสม.  ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ดูแลเด็กไว้แล้ว  ต่อไปจะพัฒนาศักยภาพแกนนำให้ดูแลลูกหลานที่บ้าน  ที่ศูนย์เด็กได้เอง....มาถูกทางแล้วค่ะ

แล้วตัวแทนทั้งสองกลุ่ม  ผลัดกันมาเล่าสรุปสิ่งที่แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มย่อย  ให้ทั้งห้องฟัง  จบแล้วตามธรรมเนียม...ที่ยังเหลือด้วยกันจนนาทีสุดท้าย

ขอขอบคุณกลุ่มหลังห้อง....เบื้องหลังการจัดการประชุม  บริหารโครงการ  พี่โอ๊ะสันติ  พี่โต่ง  พี่ต๋อย  พี่เป้า สสจ.อุดร  พี่หลิว  สสจ.หนองบัวลำภู  พี่โขง สมาคมทันตาภิบาลร่วมแจม

ไปตลาดสดทั่วไปจ่ายเงินแล้วได้สินค้า  มาตลาดนัดความรู้ยิ่งแบ่งปันความรู้ออกไป  ก็ยิ่งได้รับคืนมา  จากเพื่อนสนิทมิตรสหาย  ยิ่งให้ยิ่งได้  ยิ่งให้ยิ่งแน่นแฟ้น.....มิตรภาพและความรัก  เป็นประตูแรกของการจัดการความรู้และการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร

จบจริง ๆ  แล้วพบกันอีกนะคะ
ธิรัมภา
หมายเลขบันทึก: 392879เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 01:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

สวัสดียามเช้าค่ะคุณหมอ

แวะมาเยี่ยมค่ะ มาชมกิจกรรมดีๆ บรรยากาศผ่อนคลายดีนะค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอ ทิรัมภา

"กิจกรรมนำมาให้สนุก

ได้ ลุก-นั่ง-เดิน-เพลิน-เต้นได้เห็นทีม

นักกระบวนกร ซ่อนกระบวนผ่านรอยยิ้ม

ค้นหาทีมจากกิกรรมก่อนทำงาน"

ชื่นชมนักกระบวนกรครับคุณหมอ ก่อนจะสั่งจะสอนต้องสร้างใจก่อน แล้วสรุปรวบยอดให้เห็นจากเล่น ที่สนุก

ขอบคุณครับหมอที่นำมาแบ่งปัน

อ่านแล้วยังงงๆ ต้องย้อนไปอ่านที่เคยบันทึกไว้แต่เดิม น่าสนใจครับ

สวัสดีค่ะคุณถาวร

  • ขอบคุณนะคะที่ติดตาม
  • มีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้
  • ผ่อนคลาย...เรียนรู้ง่ายค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่านลุงบังวอญ่า

  • ขอบคุณค่ะที่มาเพิ่มข้อคิดดี ๆ
  • เล่นสนุกได้สาระ...ใจมาทีมเกิด
  • ผู้นำดีทีมดี...ร้อยรักถักเป็นสายใย...เครือข่าย
  • ชื่นชมท่านลุงเช่นกันค่ะ....ที่ทำงานเพื่อชุมชนยาวนาน

สวัสดีนะคะ  ยินดีที่ได้รู้จักอาจารย์วัลลภค่ะ

  • ความสุขกำลังเปี่ยมล้น....คำพูดจึงพรั่งพรู
  • ขออภัยที่ทำให้งงค่ะ
  • ขอแก้ตัว....วันนี้จะแก้ไขบันทึกเพิ่มเติมนะคะ
  • อาจารย์จะอ่านรู้เรื่องไหมหนอ ?

สวัสดีครับ คุณหมอ...

มาชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ครับ

เพิ่งรับรู้กิจกรรมของทันตแพทย์ที่อยู่ภูธร

ไม่ธรรมดาเลยนะครับ

อ่านบันทึกนี้แล้วก็คิดถึงหมอนนท์

บันทึกมีลักษณะคล้ายกัน เป็นบันทึกที่เก็บเรื่องราวไว้เป้นประวัติศาสตร์

มีประโยชน์อย่างยิ่งในการสรุปบทเรียนเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า ชื่นชมมาก ๆ ครับ

สงสัยผมต้องหัดมีนิสัยแบบนี้บ้างแล้ว

สวัสดีค่ะ  คุณหนานเกียรติ

  • ขอบคุณนะคะที่มาเยี่ยมและชื่นชม
  • มีเรื่องราวจากกระบวนการเรียนรู้ที่จัดในชุมชนต่อเนื่อง  อีกหลายโอกาสนะคะ  แฮ่ม !!! แต่นิ่งสงบในสมุดโน้ต
  • วันที่  10  กันยายน  2553  เขียนได้เร็ว...ทันที่ที่ถึงบ้าน  หลังหมดภารกิจส่วนตัว เพราะความสุขของตนเอง  และสัมผัสจากผู้ร่วมกระบวนการที่พูดขอบคุณคณะผู้จัดน่ะค่ะ...รู้สึกดีจัง
  • ที่สำคัญ คือ พบดารา G2K  เป็นแรงบันดาลใจมากมาย  คิดว่าสักวันต้องได้พบตัวจริงอยู่แล้ว...แต่ไม่นึกว่า "ความบังเอิญ" จะลิขิตให้ได้พบไวขนาดนี้
  • ขอบคุณนะคะที่อนุญาตให้บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน  ดีใจจัง  ดีใจจัง...ยังดีใจอยู่เลย  ฝากเล่นสนุกกับน้องน้องเฌวาด้วยนะคะ

สวัสดีทุกท่านนะคะ

มาแล้ว ๆ ๆ Version ละเอียด....สำหรับมืออาชีพผู้ชื่นชอบลงลึก  เอาไปวิเคราะห์  เลือกดี ๆ ที่เข้ากับเรา  ปรับใช้ได้.....

ป้าด ๆ ป๊าด ๆ ๆ ....อ่านจบ  พวกเฮาซะแมนเก่งหลายเด้อ....ขนลุก....ทวีคูณ คูณ จริง ๆ แบบยกกำลังเลยน่ะ

อย่างนี้ต้องมีรางวัล....ใช่ไหมคะ ?

ขอบคุณคุณหมออ้อ ทพญ.ปิยะนุช  เอกก้านตรง  (ศูนย์เขตขอนแก่น)  พี่ล่า  หนองคาย  ที่ส่งมานะคะ

สรุปการเรียนรู้จากการศึกษางาน 

 

1.   การส่งเสริมทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย

 

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

                    -เห็นสภาพปัญหาเด็กมีฟันผุมาก

                    -ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงยังไม่ตระหนักถึงปัญหา

                    -หากเด็กฟันผุมาก เราจะช่วยอะไรไม่ได้นอกจากจ่ายยาบรรเทาอาการ

                    -เริ่มต้นที่ศูนย์เด็กเล็กจะง่าย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

                    -อยากให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมและรับรู้ถึงปัญหา และสนับสนุนงบประมาณ

                    -เคยทำงานแต่เชิงรับกับทันตแพทย์ที่โรงพยาบาล รู้สึกเหนื่อย อยากทำงานแบบเชิงรุก

                    -ต้องการให้ชุมชนค้นหาปัญหา และวางแผนแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

                    -การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

                    -การทำงานร่วมกับชุมชน การให้ชุมชนมีส่วนร่วม

                    -ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

                    -มีการคืนข้อมูลให้ชุมชนทราบ

                    -มีการบรรจุแนวทางการแก้ปัญหาด้านทันตสาธารณสุขลงในแผนยุทธศาสตร์ระดับตำบล

                    -มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้/มาตรการ/ข้อตกลงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยภาคีมีส่วนร่วม

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

                    -การมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น

-การทำให้ท้องถิ่น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก เห็นปัญหา เห็นความสำคัญของงานทันตฯ และมี
  แนวทางดำเนินงานเพื่อแก้ไขและป้องกันได้อย่างเป็นระบบ

-การได้รับการสนับสนุนจากอปท.อย่างต่อเนื่อง

-ความยั่งยืนของโครงการ

-เป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพได้

-การทำงานเชิงรุกร่วมกับชุมชน

-ชุมชนรู้ปัญหาของตนเอง

-การจะทำงานได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ต้องมีภาคีต่างๆมีส่วนร่วม

 

2. โครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากเด็ก 0-6 ปี บ้านทุ่งโปร่งพัฒนา ต.กุดจิก อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

-ต้องการลดปัญหาการเกิดโรคฟันผุ

-ต้องการให้ประชาชนมีควมรู้ด้านทันตสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

-ต้องการให้ประชาชนสามารถตรวจฟันและดูแลสุขภาพช่องปากได้

-ต้องการให้ชุมชนมีจุดมุ่งหมาย มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพเด็ก 0-6 ปี

-ต้องการให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพช่องปาก

-เป็นโครงการต่อเนื่องจากผู้รับผิดชอบงานคนก่อน

-ปัญหาทันตสุขภาพมีความสำคัญ ถ้าเด็กมีสุขภาพช่องปากดีจะมีผลดีกับเด็ก

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-มีการจัดตั้งกลุ่มหมอฟันประจำครอบครัว

-สร้างความเข้มแข็งของชุมชน ชุมชนรู้ปัญหา แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

-ชุมชนคิดค้นปัญหา เขียนแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ฯ ได้

-ดูแลทันตสุขภาพตั้งแต่ ANC แบบ 100%

-ในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยใช้กลุ่มผู้นำชุมชน อสม. ผู้ดูแลเด็ก รวมถึงการมีหมอฟัน ประจำบ้าน (ตัวแทน 1-2 คน จาก 1 หลังคาเรือน ผ่านการอบรมให้ความรู้จนสามารถ ตรวจฟันแก่สมาชิกในครอบครัวได้) แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพเด็ก 0-6 ปี

-มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดูแลสุขภาพช่องปาก -สร้างความตระหนักให้ครอบครัวเรื่องการดูแลทันตสุขภาพ

-การแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชน โดยความต้องการของชุมชน และกระตุ้นการ ดูแลทันตสุขภาพตั้งแต่ตั้งครรภ์

-มีหมอฟันประจำบ้าน และ อสม.ที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพช่องปากแก่สมาชิกทุกคน ทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ

3. งานส่งเสริมสุขภาพช่องปาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลธาตุ อ.เชียงคาน จ.เลย

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

-เป็นคนในพื้นที่ สถานที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน การทำงานง่าย สะดวก คุ้นเคยกับคนในพื้นที่

-พบปัญหาสุขภาพช่องปาก

-อยากเห็นคนในชุมชนสุขภาพช่องปากดี

-งานทันตสาธารณสุขต้องมีการดำเนินงานเชิงรุก เข้าถึงชุมชน จะเป็นการวางแผนระยะยาว

-สุขภาพช่องปากจะดีได้ ประชาชนต้องมีความรู้ สามารถป้องกันก่อนเกิดโรคได้

-เอาลูกเป็น Idol ถ้าลูกฟันไม่ผุ จะส่งผลต่อสุขภาพทุกๆ ด้าน

-เป็นงานที่ทำอยู่แล้วทั้ง 9 กลุ่ม (หญิงตั้งครรภ์ เด็ก 0-2 ปีในคลินิกเด็กดี กลุ่มเด็ก 3-5 ปี

กลุ่มประถมศึกษา กลุ่มมัธยมศึกษา กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง และกลุ่ม

ผู้พิการ)

-ทำงานด้วยใจ รักบ้านเกิด

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-การทำงานเชิงรุก สร้างความคุ้นเคย การเยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

ช่องปาก เพื่อให้คนในชุมชนมีความสนใจในการดูแลสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น

-การติดตามดูแลสุขภาพช่องปากคนในชุมชนเชิงรุก

-การทำงานด้วยใจ แม้ไม่มีงบ เลือดทันตาฯ แรง

-การออกไปพบประชาชน พูดคุย เล่าประสบการณ์ บางคนไม่เคยพบหมอฟัน

-การทำงานด้วยใจ ทุ่มเทกับการทำงาน ทำงานครอบคลุม 9 กลุ่มอายุ

-มีกระบวนการวางแผนงานที่ดี

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-เป็นการทำงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ

-ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานในแต่ละกลุ่ม

-การทำงานส่งเสริมสุขภาพครบทุกกลุ่มตาม KPI

-งานส่งเสริมสุขภาพช่องปากใน รพ.สต.

-การทำงานแบบไม่มีโครงการและแผนการปฏิบัติงาน และการเก็บข้อมูลการทำงานต่างๆ อาจ

จะเป็นปัญหาต่อการทำงานในภายหน้า และในด้านงบประมาณต่างๆ ไม่มีการสนับสนุน

เช่น กองทุนสุขภาพระดับตำบล สปสช. และในงบของ PPA

4. การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากแม่และเด็ก ภายใต้โครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว

รพ.สต.ชัยพร อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

-พบปัญหาฟันผุในเด็กเล็กเพิ่มขึ้น ต้องการให้ความรู้กับพ่อแม่ในการดูแลสุขภาพช่องปาก

เด็ก เพื่อให้พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากอย่างดีที่สุด

-ต้องการบรรลุ KPI เด็กอายุ 3 ปี ปราศจากฟันผุร้อยละ 40

-ใช้แนวคิดจะบรรลุ KPI ได้ ต้องดำเนินงานส่งเสริมทันตสุขภาพตั้งแต่หญิงมีครรภ์ WBC

ศูนย์เด็ก

-พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับทันตสุขภาพ เพื่อให้ลูกที่คลอดออกมาได้รับการดูแลทันต

สุขภาพ และมีอนามัยช่องปากที่ดี

-ANC มาฝากครรภ์ ไม่เจอทันตบุคลากร จึงไม่ได้ตรวจฟัน

-มีทีม อสม. ที่เข้มแข็ง

-ต้องการสร้างเครือข่ายในการดูแล (อสม.)

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-มีการติดตามตรวจสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ หลังคลอด WCC

เด็ก 0-4 ปี ที่มารับวัคซีน และศูนย์เด็ก

-มีเครือข่าย อสม. ช่วยเยี่ยมบ้านที่เข้มแข็ง

-นำอสม.เข้ามามีบทบาท 1 คน/1 หลังคาเรือน เป็นการเยี่ยมบ้าน (งานเชิงรุก) โดยอสม.

แนะนำให้มาฝากท้องที่สถานีอนามัย ให้ความรู้พื้นฐานในการดูแลช่องปากขณะตั้งครรภ์

และหลังคลอด

-สามารถนำไปใช้กับพื้นที่อื่นได้

-ชอบพี่ไพพรรณ ทำงานดีมาก เก็บหลักฐานดี ใส่ใจกับชาวบ้าน อยากให้เขามาต้องเจอหมอ

-มีการบริหารจัดการที่ดี

-มีการวางแผนดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุม เพื่อป้องกันการไม่ได้รับบริการ งาน

สำเร็จ

-มีการทำงานที่ชัดเจน ต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-มีการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากแม่และเด็กอย่างจริงจัง

-มีความต่อเนื่องของข้อมูล

-มีการติดตาม case อย่างต่อเนื่อง

-ชุมชนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพช่องปาก

-มีการทำงานแบบสหวิชาชีพ

-ได้แนวทางในการดำเนินงาน

-การดูแลตั้งแต่เริ่มต้นดี ต่อไปจะต้องดีแน่ๆ

-ต้องทำงานอย่างเป็นระบบ เก็บรายละเอียด ถึงเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็คืองานเด้อ

-การทำงานควรมีเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานและเกิดการเชื่อมโยง

-ANC :

-ตรวจให้คำแนะนำ

-ฝึกแปรงฟัน ทดสอบประสิทธิภาพ โดยใช้เม็ดสีย้อมฟัน

-เยี่ยมหลังคลอด

-WCC : -ตรวจฟัน ให้คำแนะนำ

-แจกแปรง

-ฝึกผู้ปกครองแปรงฟัน

-บันทึกข้อมูล

-เยี่ยมบ้านร่วมกับ อสม.

5. เครือข่ายคนตำบลคอกช้างสุขภาพดี เสริมสร้างสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย รพ.สต.คอกช้าง

อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

-เริ่มแต่เล็กเด็กสุขภาพดี ปลูกฝังเด็กในการดูแลสุขภาพ ต้องการสร้างสุขภาพช่องปากและปลูก

จิตสำนึกในกลุ่มเด็ก เพราะเด็กคือจุดเริ่มต้น หากมีการสร้างสุขภาพช่องปากตั้งแต่เด็ก ทุกคน

มีสุขภาพช่องปากดีตั้งแต่เด็ก จะทำให้สุขภาพช่องปากในอนาคตดีขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป

การรักษาจะลดลง

-มีภาคีที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ทีม

-ต้องการหาเครือข่ายในชุมชน เพื่อให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ได้ทำเฉพาะช่องปาก จะรวมถึง

สุขภาพด้วย

-การทำงานประจำด้านทันตฯ หรือการส่งเสริมสุขภาพก็ต้องทำอยู่แล้ว เน้นกลุ่มเด็กปฐมวัย

ถ้าเด็กสุขภาพดีแล้ว คนในชุมชนเห็นความสำคัญ การทำงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากจะดีขึ้น

เกิดความยั่งยืนในการดูแลสุขภาพ การสร้างความยั่งยืนในการดูแลสุขภาพตัวเองนั้นต้องอาศัย

เครือข่ายที่เข้มแข็ง ได้แก่ เด็กปฐมวัย ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก อปท. ผู้นำชุมชน อสม.

เจ้าหน้าที่ทีมสหวิชาชีพ (รพ.สต.)

-ต้องการให้เครือข่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพในเด็กก่อนวัยเรียน

-เน้นการทำ Home ward Home visit

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-เป็นงานที่สามารถเคลื่อนต่อไปยังกลุ่มอื่น เรื่องอื่นๆ ได้

-เป็นการทำงานที่เน้นความต้องการของชุมชน

-เหมือนเป็นการเยี่ยมบ้านไปในตัว ชุมชนให้ความร่วมมือดี สามารถพูดคุยถึงปัญหา ชุมชน

เป็นคนบอกสิ่งที่เขาต้องการให้ทราบ

-การทำงานในชุมชน ได้รู้จักชุมชนอย่างแท้จริง

-ภาคีเครือข่ายที่ดี ผู้ปกครอง อปท. ทุกส่วน ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้ใจประชาชนใน

ชุมชน ไม่ต้องนั่งรับอย่างเดียว

-แนวทางการดำเนินงาน โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน

-บูรณาการงานสุขภาพองค์รวม

-การทำงานร่วมกันเป็นทีมของสหวิชาชีพ มีทีมงานเข้มแข็ง

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-เกิดเครือข่ายสุขภาพในชุมชนยั่งยืน ภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งทุก ๆ ภาคส่วน การทำงาน

ส่งเสริมสุขภาพที่มีภาคีเครือข่ายที่แข็งแรง ชุมชนแต่ละชุมชนมีความเข้มแข็งในตัวอยู่แล้ว

เพียงแต่เรายังไม่ค้นพบ การทำงานที่มีภาคีเครือข่าย ถ้าสามารถหาภาคีเครือข่ายที่ดีได้

การทำงานจะง่ายมากขึ้น การจะให้ชุมชนให้ความร่วมมือ เราต้องเดินเข้าไปในชุมชน

-เครือข่าย คือ การมีส่วนร่วม

การทำงานตามแผน

การทำงานเป็นทีม

การแก้ไขปัญหาในพื้นที่

-การทำงานอย่างต่อเนื่อง และตรงกับความต้องการของชุมชน

-การมีพื้นฐานที่ดี มีทีมที่ร่วมกันทำงาน (การทำงานอย่างเป็นทีม) และทำงานแบบทุ่มเทพลังใจ

และพลังกาย จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

6. โครงการชุมชนร่วมใจ เพื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโพนงามฟันดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

-ที่ทำงานอยู่ใกล้กัน แต่กลับมีปัญหาเกี่ยวกับทันตสุขภาพใน ศพด. ทำให้ท้าทายว่าจะทำงานให้

ศพด. มีปัญหาทันตสุขภาพลดลงได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.กับ ศพด.สนิทกันมาก แต่ไม่ได้

ทำงานร่วมกันเลย น่าจะทำงานยากด้วย จึงท้าทายอย่างยิ่งในการทำโครงการนี้

-ออกตรวจฟันเด็กที่ ศพด.โพนงาม ข้อมูลพบมีฟันผุจำนวนมาก ตรวจดูสภาพแวดล้อม

มีที่แปรงฟัน ที่เก็บแปรงสีฟัน จากการสังเกตพบว่า ร้านค้าบริเวณใกล้ ๆ ศพด.มีเพิ่มขึ้น

ทำให้เด็กซื้อขนมอย่างสะดวก ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครอง ผู้ปกครองให้ความสนใจที่จะดูแล

สุขภาพช่องปากบุตรตนเอง

-ต้องการสร้างเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพ

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-การนำเสนอปัญหา การนำปัญหามาแก้ไข เมื่อมีปัญหากลับเห็นปัญหาเป็นเรื่องที่ท้าทาย

อยากแก้ปัญหาโดยไม่หนีปัญหาหรือเก็บปัญหาไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร เป็นสิ่งที่น่านับถืออย่างยิ่ง

-เจ้าหน้าที่ทุกคนให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกัน

-ผู้ปกครองให้ความสนใจในการเข้าร่วมอบรม มีแกนนำ (ผู้ปกครอง) ดูแลสุขภาพช่องปากเด็กเล็ก

-มีการคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

-การชักจูง ผดด.ให้สนใจงานตนเองได้ หลังจากกระตุ้น ผดด.หลายครั้ง ผดด. ผู้ปกครองให้

ความร่วมมือและสนใจเป็นอย่างดี

-หลังจากแนะนำร้านค้าให้งดขายขนม ร้านค้าก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับฟังคำแนะนำ แต่จะงดขายคง

ไม่ได้ จึงขอเปลี่ยนเป็นวางไว้สูงๆ ให้เด็กมองไม่เห็น

-มีเทคนิคในการดำเนินงานส่งเสริมทันตสุขภาพ และมีกิจกรรมต่อเนื่อง

-ผดด.สังเกตเห็นถุงขยะลดน้อยลง

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-การสร้างเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ปัญหาทันตสาธารณสุข

-การร่วมกันทำงานแบบบูรณาการระหว่างองค์กร (ศพด. + รพ.สต.) ได้เรียนรู้การทำงาน

ร่วมกับองค์กรอื่น

-ต้องสร้างความคุ้นเคยกับชุมชน

-สอบถามผู้ปกครองช่วงที่มาส่งและรับกลับบ้าน

-กระตุ้นผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญของฟันน้ำนม โดยการอบรมให้ความรู้ เช่น เป็นกลุ่ม

หรือให้คำปรึกษาถึงบ้าน

-ประสานงานกับ ผดด.เป็นประจำ

-พูดคุยให้คำแนะนำกับ อสม.ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพช่องปาก ในเขตบริเวณที่รับผิดชอบ

7. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ่อนหวาน ประสานพลังเครือข่าย รพ.สต.โคกม่วง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู

เหตุผลที่ทำ/แรงบันดาลใจ

-ความไม่เป็นระเบียบในศูนย์ มีการนำขนมมากินที่ศูนย์มาก มีการขายขนมที่ศพด.มาก

-เด็กชอบทานขนมหวานจากแม่ค้าขาย

-ผลการตรวจสุขภาพช่องปากย้อนหลัง ปี 2549–2551 มีอัตราฟันผุสูง

-เด็กมักดื่มนมขวด

-ต้องการมีมาตรการทางสังคม อยากให้ชุมชนอยู่ภายใต้กฎกติกาในการเข้าร่วมโครงการในศูนย์

พัฒนาเด็กเล็ก

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-พ่อค้าแม่ค้ามาขายขนมที่ ศพด. เมื่อเข้าไปทำโครงการพูดคุยกับชุมชน ทำให้ไม่มีพ่อค้าแม่ค้า

มาขายขนมอีก

-ชุมชนให้การยอมรับ ร่วมมือ ภายใต้กฎกติกาของชุมชนเอง ทำประชามติกลุ่มย่อย กำหนด

กฎและการเข้าร่วมโครงการ (ไม่นำขนมมาขาย ไม่ให้เด็กดูดนมขวด ออมทรัพย์)

-เน้นการทำงานโครงการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่าย ได้รับการสนับสนุนจากภาคี

เครือข่าย เช่น ชาวบ้าน ผู้ปกครองเด็ก ผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบการร้านค้า หน่วยงานราชการ

เช่น ครู อบต. มาระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้านกำลังคนและงบประมาณ

มีการจัดประชุมชี้แจงครูพี่เลี้ยง ชุมชน อบต. และพาครูพี่เลี้ยงไปศึกษาดูงาน (งบ อบต.)

-ไม่ให้เด็กดูดขวดนม เด็กเลิกดื่มนมจากขวด

-อัตราการเกิดโรคฟันผุลดลง

-เด็กรู้จักการออมทรัพย์ การออมเงินไว้ คือ การฝากเงินของเด็ก ๆ ในแต่ละวัน เด็กนำเงินมา

ฝากครู ผู้ปกครองมีสมุดบันทึกการจ่ายเงินเด็ก ทุกวันศุกร์ครูจะนำเงินไปฝากที่ธนาคาร

(ลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง)

-เป็นแหล่งศึกษาดูงานของจังหวัด

-มีการนำเสนอโครงการกับอบต.ที่ต้องรับการประเมินโบนัส ได้รับความสำคัญ

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-การจัดตั้งกติการ่วมกันของชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ชุมชนให้การ

ร่วมมือ ทั้งผู้ปกครองเด็ก ครูผู้ดูแล อบต. ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้าแม่ค้า

-เน้นการทำงานเชิงรุก มุ่งพัฒนาที่ตัวบุคคล

-การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กและผู้ปกครอง เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปาก

-เน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก ทำงานต่อเนื่องและยั่งยืน

-เด็กลดความถี่การบริโภคขนมหวานลงได้

8. การใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (SRM) ในงานส่งเสริมในงานส่งเสริมทันตสุขภาพแม่และเด็ก

รพ.สต.เชียงพิณ จ.อุดรธานี

เหตุผลที่ทำเรื่องนี้/แรงบันดาลใจ

-ต้องการให้ภาคีเข้ามีส่วนร่วม

-ทำให้เราทำงานเป็นระบบติดตามได้

-เป็นงานที่อยากเรียนรู้

-เป็นงานที่ครอบคลุม

-การพบปัญหาในเด็กปฐมวัย 0–5 ปี คือ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กดูดขวดนม อมข้าว

กินขนมหวาน โดยผู้ปกครองซื้อให้ เป็นต้น

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-การจัดทำแผนโดยองค์กร ภาคีท้องถิ่นมามีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมของชุมชน

-อยากทำโครงการนี้เพราะรับผิดชอบในส่วนเด็ก 0 – 5 ปี

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-การส่งเสริมงานทันตสุขภาพโดยภาคีเครือข่ายในชุมชน

-การวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน

-การมีส่วนร่วมของชุมชน

-การมีเวทีประชาชนร่วมกัน

9.รพ.สต. ดอนนางหงส์ จ.นครพนม

เหตุผลที่ทำเรื่องนี้/แรงบันดาลใจ

-ชุมชนสามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้

-มีเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

-ชุมชนตระหนักเรื่องสุขภาพช่องปาก

-บุคลากรต้องการให้เรื่องช่องปากเข้าถึงประชาชน

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

-สร้างความเข้มแข็งของชุมชน

-มีระบบการบริหารจัดการที่ดี

-ชุมชนเห็นปัญหาและเสนอโครงการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองได้

แก่นของเรื่อง/สิ่งที่ได้เรียนรู้

-การบริหารจัดการในรพ.สต.ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน

-มีการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง

-มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน

หมออ้อ (สระใคร) และหมอสุรัตน์ (สำนักทันตฯ) เติมเต็ม

คำถามชวนคิด “ความหมายของคำว่า เชิงรุก”

• อยู่ใน สอ.เป็นตั้งรับ เชิงรุกหมายถึงลงในพื้นที่ ที่เราบูรณาการเยี่ยมบ้านในรูปแบบของสหวิชาชีพ ลงชุมชน ไปทำความเข้าใจในชุมชนเกี่ยวกับงานทันตฯ (อุดร)

• รุกไปที่ภาคี ไปนำเสนอภารกิจของเราในส่วนที่จะบูรณาการของเขา รุกไปส่วนงบประมาณ รุกไปที่ อบต. รร. คนที่เกี่ยวข้อง รุกไปที่ต้น ไม่ใช่เราของเราอย่างเดียว เราต้องเห็นเขาด้วย ไปงานบุญ ให้เขามองเห็นว่าเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชน สุดท้ายฟันจะเข้าไปทุกที่ (รุกไปตามสถานที่ต่างๆ ) วัดได้ใจ อบต.ได้เงิน สาสุขได้งาน (นครพนม)

• เน้นให้ภาคีเครือข่าย ปลูกสร้างจิตสำนึก เห็นความสำคัญของปัญหาทันตสุขภาพ โดยกระจายแนวคิดให้เขาเผยแผ่ ให้เขาทำงานเหมือนกับเรา ถ้าเขามีปัญหาอะไรเราจะออกไปช่วย พยายามหาแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างภาคีเครือข่าย (สกลนคร)

• พยายามหาภาคีเครือข่ายและหาแนวร่วม ก่อนอื่นต้องรู้บริบท เข้าหากลุ่มเป้าหมายเพื่อหาข้อมูล ออกไปหาปัญหา ต้องคืนข้อมูลให้ชุมชนรับทราบว่าปัญหาสุขภาพช่องปากในกลุ่มอายุต่างๆ

(เด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ) มีปัญหาระดับไหน เป็นปัญหาไหม “เราต้องเข้าถึงเขาให้ได้” และหาแนวทางร่วมกัน และติดตามต่อเนื่อง ร่วมกับสหวิชาชีพ เยี่ยมบ้าน และรุกให้ถึง (หนองคาย)

คำถามชวนคิด “เอาฟลูออไรด์วานิช ไปทาให้ที่บ้าน เป็นการทำงานเชิงรุกหรือไม่”

• ถ้าเรายกยูนิตทันตกรรมออกไปให้บริการ เป็นอะไร ตอบ เหมือนกับรุกเข้าไปรักษา ก็เป็นการรักษา

• น่าจะเป็นรุกเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่รุกเข้าไปเพื่อรักษา ตอนนี้รุกเข้าไปในโรงเรียนเพื่อรักษา (ขูดหินปูน sealant อุดฟัน ไม่มีเวลาให้ทันตสุขศึกษา)

• ทำอย่างไรจะให้เจ้าของสุขภาพได้ดูแลตัวเขาเอง

• งานเชิงรุก เน้นส่งเสริมสุขภาพ มากกว่ารักษา ปลูกฝังจิตสำนึก ให้พฤติกรรมค่อยๆ เปลี่ยน (เจ้าของสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยตัวเอง)

• รุกไปที่สาเหตุของปัญหา เมื่อเข้าใจสาเหตุแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงจะเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

• การให้บริการถึงบ้าน ตามความหมายของฝรั่ง Outreach service

• กระบวนการเชิงรุก จะต้องคิดให้ถึงว่าเชิงรุกคือ การจัดการให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ต้นตอ หรือสาเหตุ

• การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล สามารถทำในระดับสอ. คลินิก แต่การให้ความรู้ การปรับเปลี่ยนเป็นรายคนจะยาก ถ้าไม่มีกลุ่มคน ชุมชนมาช่วย จึงจำเป็นต้องใช้มีกระบวนการให้ชุมชนได้มามีส่วนช่วยกัน เช่น การลดความอ้วน ทำรายบุคคลจะทำยาก ต้องจัดการที่กลุ่ม ดังนั้นถ้าจะให้ผู้ปกครองไปจัดการการกินของลูกหลาน ต้องจัดการที่สิ่งแวดล้อม (เพื่อนเด็ก ร้านค้า) ต้องไปกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการช่วยกัน (ชุมชนมีส่วนร่วม) ทำงานเชิงรุกเข้าสู่ชุมชน ให้ชุมชนรุกเข้ามาดูแลตัวเอง

การนำเสนอด้วยโปสเตอร์

• ไวนิลที่มานำเสนอ ส่วนมากจะมีแต่ภาพ ตัวไวนิลเป็นเพียงสื่อที่ดึงให้คนมาดูภาพให้เจ้าของเรื่องได้เล่าให้ผู้ฟัง เจ้าของเรื่องจะต้องอยู่ด้วยตลอดผู้ฟังจึงจะเข้าใจ ถ้าเราต้องการบอกเล่าเรื่องราว มักจะใส่ตัวอักษรมากมาย เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ ตัวหนังสือต้องใหญ่ เนื้อหาให้มี 1 ประเด็น 1 เรื่อง กรณีที่มานำเสนอรอบนี้ ถ้าจับ keyword ของแต่ละการประชุม งานภายใต้ รพ.สต. ต้องคิดว่ารอบนี้อยากโชว์อะไร ให้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเลยว่าทำอะไรบ้างที่เป็นจุดเด่นของเราเอง

• เนื้อหาควรเขียนสรุปให้ได้ใจความ อาจมีภาพที่เด่นประมาณ 1-2 ภาพ

• การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ มักจะให้พื้นที่จำกัด 90 Cm. X 2M ไม่ต้องใส่ตัวหนังสือจนหมดกระดาษ เพราะไม่มีใครเขาคุกเข่าไปอ่าน

• สิ่งที่ต้องมีในโปสเตอร์ จะขึ้นด้วยหัวข้อที่ฟังดูแล้วน่าสนใจ (เช่น แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ส่งผลต่องานทันตฯ...) หรือทำอย่างไรท้องถิ่นจะเห็นความสำคัญของงานทันตฯ หรือความร่วมมือของท้องถิ่นกับ รพ.สต.

สรุปองค์ประกอบของโปสเตอร์

• ชื่อเรื่องที่น่าสนใจ

• วัตถุประสงค์หลักของเรื่องนั้น ของการนำเสนอครั้งนี้ (ประเด็นที่เรากำลังนำเสนอ) (รอบนี้เรากำลังจะเสนออะไร)

• วิธีการ (บอกเล่าว่าเราทำอย่างไร เพื่อให้เกิดงานนั้น)

• ผลลัพธ์

การเก็บข้อมูล

• รพ.สต.ชัยพร เป็นพื้นที่ที่เก็บข้อมูลให้ละเอียด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เห็นความต่อเนื่องของงาน สามารถต่อยอดในเชิงระบาดวิทยา ถ้านำข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์ก็จะได้ผลงานวิชาการ

• ข้อมูลในชุมชนที่เก็บโดยคนในชุมชน เป็นการเฝ้าระวังในชุมชน ถ้าเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นการเฝ้าระวัง (ไม่ใช่ทำครั้งเดียว) ถ้าให้ดีก็ให้ชุมชนช่วยกันคิดว่าอยากเก็บข้อมูลอะไร ถ้าได้ทำงานร่วมกับชุมชน เขาจะเป็นคนเสนอเอง ถ้าเขาทำด้วยตัวเองเขาจะรู้สึกดีว่าเป็นข้อมูลของตัวเขา ชุมชนเขาเอง

สรุปการเรียนรู้รายจังหวัด

เมื่อเปรียบเทียบงานของจังหวัดตนเอง กับงานในตลาดนัดวิชาการครั้งนี้

จ.อุดรธานี

ความเหมือน

-มีการทำงานส่งเสริมทันตสุขภาพตามกลุ่มอายุ CANDO

-มีการทำงานร่วมกันในกลุ่มสหวิชาชีพ

-มีการสร้างเครือข่ายการทำงานทันตฯในพื้นที่

ความต่าง

-กลวิธีในการหาข้อมูล

-ความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย ความใกล้ชิดของคนในพื้นที่

-งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน

สิ่งที่อยากทำต่อ

-นำรูปแบบการดำเนินงานเชิงรุกไปปรับใช้ในพื้นที่

-กระตุ้นและสร้างกระแสให้ภาคีเครือข่ายมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เช่น ที่ดอนนางหงส์

-ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และความคิดทัศนคติที่ดีของประชาชน

จ.เลย

ความเหมือน

-มีเครือข่าย

-มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มอายุ

-ทันตบุคลากรมีความตั้งใจในการทำงาน

-มีเป้าหมายเดียวกัน

ความต่าง

-กระบวนการทำงาน (วางแผน ประสานงาน รวบรวมข้อมูล)

-ความเข้มแข็งของเครือข่าย

-การนำเสนอ/คืนข้อมูล

-การดำเนินงานที่ต่อเนื่อง

-การติดตามและประเมินผล

สิ่งที่อยากทำต่อ

-พัฒนาภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง

-พัฒนารูปแบบ/กระบวนการให้เข้ากับชุมชน

-มีการดำเนินงาน ติดตามอย่าต่อเนื่อง

-มีการนิเทศติดตามงานอย่างต่อเนื่อง

-มีการสนับสนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอ จากทุกภาคส่วน

จ.หนองคาย

ความเหมือน

-การส่งเสริมสุขภาพช่องปากครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ

-การทำงานเชิงรุกร่วมกับสหวิชาชีพ

-บูรณาการงานกับงานสุขภาพทั่วไป

-มีเครือข่ายในชุมชน

-มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยน เป็นเจ้าของ

ความต่าง

-กระบวนการทำงาน เทคนิคการทำงานที่แตกต่างกัน

-ความร่วมมือของสหวิชาชีพ

-งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน

-ภาระงานอื่นนอกจากงานทันตฯ

สิ่งที่อยากทำต่อ

-จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในรพ.สต.อย่างต่อเนื่อง

-กระตุ้นให้มีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

-กระตุ้นให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญของการให้บริการทันตกรรมในรพ.สต. เช่น สนับสนุน

ผู้ช่วยฯ

-พัฒนางานที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น มีความต่อเนื่อง

-ให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ เป็นเจ้าของงาน ดูแลระบบงานเฝ้าระวังทันตสุขภาพ

-มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน

จ.นครพนม

ความเหมือน

-มีการทำงานโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการรู้ปัญหา/แก้ปัญหาทันตสุขภาพด้วยตนเอง

-มีการวางแผนจัดการในงานส่งเสริมและป้องกันทันตสุขภาพ

-ภาคีเครือข่ายมีแกนนำ

-มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือประชาชนมีทันตสุขภาพที่ดี

ความต่าง

-นครพนมมีกรอบแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

-มีกรอบแนวทางการดำเนินงานทันตฯ ในรพ.สต.โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ โดยทำทุกอำเภอ

-นครพนมมีการบริหารจัดการ โดยเวียนทันตาภิบาลออกไปตามเครือข่าย หมุนเวียน

-มีงบสนับสนุนผู้พิการ

สิ่งที่อยากทำต่อ

-พัฒนากลุ่มภาคีเครือข่ายงานทันตฯ ทุกกลุ่มอายุ เพื่อให้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ทันตสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

-อปท.สนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร คน

-ภาคประชาชน กำหนดมาตรการทางสังคม นโยบายสาธารณะ

-ภาคเอกชน สนับสนุนงบประมาณ เช่น สถานที่แปรงฟัน แปรงสีฟัน ฟลูออไรด์

-ขับเคลื่อนการทำงานทันตฯ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคีเครือข่าย

-ชุมชนวางแผน แก้ไขปัญหาโดยชุมชน

-บูรณาการกับงานอื่นๆ

จ.สกลนคร

ความเหมือน

-มีการดำเนินงานรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู ในทุกกลุ่มอายุ

ความต่าง

-การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

-การติดตามเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง

-โครงการให้บริการฟันเทียมที่สอ. เพื่อลดอัตราการรับบริการที่รพ.

-มีการตรวจ นัด ส่งต่อ ให้บริการทันตกรรมในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง

สิ่งที่อยากทำต่อ

-การให้บริการทันตกรรมในกลุ่มผู้พิการ

-การสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งกว่าเดิม

-การบูรณาการงานร่วมกับสหวิชาชีพ

จ.หนองบัวลำภู

ความเหมือน

-การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย

-การทำงานส่งเสริมทันตสุขภาพตามกลุ่มอายุ

-มีกระบวนการทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ความต่าง

-การควบคุมแผ่นคราบจุลินทรีย์ในผู้สูงอายุ

-การสนับสนุนงบประมาณจาก อปท.

สิ่งที่อยากทำต่อ

-สร้างเครือข่ายทันตสุขภาพในชุมชน

-ส่งเสริมทันตสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ

-หาแหล่งสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม โดยเฉพาะจาก อปท.

วงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

1. สรุปกลุ่มรพ.สต.

1.การสร้างความสัมพันธ์กับคนใน รพ.สต.

-สังเกต บันทึก การทำงานของคนใน รพ.สต.

-ร่วมงาน/ตามไปเยี่ยมบ้านกับจนท.อื่น ค่อยผนวกงานทันตฯเข้าไป

-ช่วยคนอื่นก่อนแล้วเขาจะช่วยเรา

-ทำให้พี่เขาเห็นว่าเราทำได้

-งานใน สอ. เราต้องช่วยกันทำงานแบบสหวิชาชีพ บูรณาการงานไปกับการสร้างเสริมสุขภาพ

ทั่วไป เช่น เบาหวาน

2.สร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน

-เราไม่ได้อยู่ประจำ ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยผ่านคนในชุมชน แม่ค้า อสม. ผดด.

-การไปเยี่ยมบ้าน พูดจาทักทาย คุยเรื่องอื่นๆในชีวิต

-ปรับเวลาให้เข้ากับชุมชน เช่น ช่วงการทำนา เก็บหน่อไม้ กรีดยาง

3. การทำประชาคมกับชุมชน

-เวทีที่ประชาชนเสนออยากให้เราทำอะไร เช่น การจัดทำแบบฟอร์มการแปรงฟันโดย

ผู้ปกครอง เพิ่มการติดตามงาน

-นำสิ่งที่ประชาชนสนใจ/อยากได้ เสนอก่อน เช่น ออกเสียงตามสาย พูดเรื่องจัดฟันแฟชั่น

4.การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน

-จัดกลุ่มโสเหล่ในหญิงตั้งครรภ์ แม่ที่เลี้ยงลูกเล็ก

-พัฒนาโครงการสร้างเสริมทันตสุขภาพเด็กเล็กโดยผู้สูงอายุ

-กิจกรรมเสริมแรงในศพด. เช่น ดาวดำ ดาวแดง การคัดแยกอาหารขยะ ตะกร้าอาหารขยะ

ตะกร้าอาหารดี รวมดาวแดง ให้รางวัลรายเดือน ทำสติ๊กเกอร์ให้ผู้ปกครองในสมุดบันทึก

การแปรงฟัน

-ประชุมผดด. โดยการพัฒนาศักยภาพผดด. ด้วยการเสริมแรง

-เสวนากลุ่มผู้สูงอายุ

-การสร้างเครือข่ายการทำงาน พยาบาลวิชาชีพ (ตรวจฟัน่ให้เราได้ แจกแปรง WBC

ให้สุขศึกษา) นวก.สธ. เครือข่ายในชุมชน ควรจะให้คนอื่นมาช่วย

2. สรุปกลุ่ม SRM

รพ.สต.เชียงพิณ จ.อุดรธานี

1.สิ่งที่ได้ดำเนินการ :

-ประชุมทีม ทบทวน ทำความเข้าใจ วางแผน นำเสนอแผนให้จังหวัดอนุมัติ

-รพ.สต.เชียงพิณ อ.เพ็ญ ประชุมทีมรพ.สต. ชี้แจงงานของเราให้เค้ามาช่วยงาน กำหนดแผนประชุม

ภาคีเครือข่าย ได้แก่ สอบต. ผญบ. ผดด. ผปค.(เลือกจากศพด.ที่มีปัญหาเด็กฟันผุมากที่สุด) อสม.

แกนนำผู้สูงอายุ ให้ภาคีเครือข่ายร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ส่วนใหญ่อาศัยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ

ทันตฯ ดำเนินการ โดยก่อนประชุมได้มีการวิเคราะห์ สำรวจสภาพปัญหาเด็กในศพด. เสนอให้

แกนนำรับทราบ (ศพด.มีเด็กกี่คน มีฟันผุกี่คน)

-รู้สึกดี เพราะแกนนำที่มาร่วมประชุม แสดงความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วม

-ทำตามกระบวนการ ระดมความคิด วิเคราะห์บริบท 4 มุมมอง ทำ AIC แสดงความคิดเห็น

กำหนดจุดหมายปลายทาง ทำ SRM SLM จนถึงตาราง 11 ช่อง ใช้เวลา 2 วัน

-ได้ 5 โครงการ ได้แก่

1) อบรมผู้นำนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 ให้ดูแลน้องและสอนผู้ปกครองได้ รณรงค์ประกวดฟันสวย

เรียงความ ให้ความรู้ทางเสียงตามสาย

2) อบรมผู้ปกครองในศพด.

3) พัฒนา อสม. ให้ดูแลเด็ก 0-5 ปี

4) เฝ้าระวังทางทันตสุขภาพในชุมชน

5) แม่ลูกฟันสวย

2.สิ่งที่จะทำต่อ

-สานต่อตามแผน

-ทำโครงการรองรับแผนปฏิบัติ

-เจ้าหน้าที่ทันตฯ รู้สึกดี เพราะได้โครงการมาจากการแสดงความคิดเห็นของทุกคน และเมื่อเรา

นำเสนอโครงการเข้ากองทุนตำบล ก็จะได้รับการตอนสนองที่ดี

รพ.สต.คอกช้าง

-ทำได้ 20% ลงใน 1 หมู่บ้านจาก 13 หมู่บ้าน

-เลือกหมู่บ้านที่คิดว่าจะเป็น model ได้ แล้วค่อยให้หมู่อื่นมาดูงาน

-เลือกหมู่บ้านที่อยู่ใกล้รพ.สต. ทีม อสม.เข้มแข็ง

-ดำเนินการโดย

1) สำรวจชุมชน

2) นัดกลุ่มผู้นำ ผู้ทรงคุณวุฒิ มาสนทนากัน

3) เก็บข้อมูลอีกรอบ

4) นัดผดด. ผปค. เสวนากลุ่มเล็กๆ

5) เข้าไปตรวจฟันเด็ก

6) นัดตัวแทนผปค. อสม. อบต. คืนข้อมูลให้เค้ารู้

7) ทำ Mind map วิเคราะห์บริบท จุดหมายปลายทาง ทำวันละ 2 ชม. ทยอยไปเรื่อยๆ

สอ.เชียงแหว จ.อุดร

-ได้แผนงานโครงการแล้ว

-ประชุมจนท.สอ. ประสานงาน ผดด. ครู นวก.ศึกษา อปท. ผญบ. กำนัน

-จัดประชุม คืนข้อมูล นำเสนอโครงการที่เราทำมาแล้ว (ฟันสวยด้วยมือผู้ปกครอง)

-จัดทำแผนที่ทางเดินฯ เชิญ ผช.สสอ.กุมภวาปี เป็นวิทยากร

-ได้โครงการ 5 โครงการ (ตามกลุ่มอายุ)

-วันแรก ทำ SRM วันที่สอง เวทีประชาคม เลือกโครงการที่จะทำก่อน ได้เป็นโครงการเด็กปฐมวัย

พร้อมทั้งเลือกหมู่บ้านที่จะทำเป็น model

จ.อุดร (เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม)

-หลังจากทำแผน SRM สามารถเสนออบต. เข้าข้อบัญญัติ ปี 2554ได้แล้ว

-SRM ทุกพื้นที่มีการดำเนินการเกือบ 100% แล้ว

-สิ่งที่แตกต่าง ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพเอง จะเป็นนวก.ในสอ.

-สิ่งที่ภูมิใจคือ ดีใจที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ เพราะทำให้ผู้บริหารเห็นผลงานของงานทันตฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่

เคยอยู่ในสายตาของ CUP การทำโครงการนี้ ทำให้งานทันตฯ เป็นงานแรกที่ทำได้ เลยได้รับโบนัส

จากผู้บริหาร

จ.หนองบัวลำภู

-อบรมแล้ว คิดว่าความรู้ยังไม่เพียงพอ จึงเชิญวิทยากรจากจังหวัดมาช่วยดำเนินการ

-ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ผู้นำชุมชน ผปค. ครูศพด. อสม.

-ดำเนินการถึงจุดหมายปลายทาง ขณะนี้รอวิทยากรว่าง

จ.สกลนคร

-จะมีนวก.ที่ทำ SRM ของอำเภออยู่ เลยรอนวก.คนนี้อยู่ คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงตุลาคม

-ระหว่างนี้ ดำเนินการโดย ประสานงานอย่างไม่เป็นทางการกับ อบต. ครูศพด. เตรียมข้อมูล (3 ปี

ย้อนหลัง) เพื่อคืนชุมชน

รพ.สต.ชัยพร จ.หนองคาย

-ทำ SLM ที่จังหวัด ได้ Road map ที่ชัดเจน เป้าหมายคือ เป็นต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก

เด็ก 0-12 ปี นำ SLM Road map ที่ได้ มาใช้เลย ไม่ได้เริ่มทำใหม่

-แนวคิด จะต้องให้ชุมชนเค้ามีมาตรการในชุมชนให้ได้

-ดำเนินการใน ศพด.ที่อยู่ใกล้รพ.สต. และขึ้นตรงกับ อบต.

-ดึง อสม. ผปค.เด็ก ที่มีบทบาท แต่งตั้งคำสั่ง โดยมีทพ.เป็นที่ปรึกษา ประสาน อบต.

-ออกแบบสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเด็ก (น้ำหนัก การดูแลสุขภาพช่องปาก การเลี้ยงดู การกินนม กิน

ข้าว) เก็บเท่าที่ได้ ทั้งที่มาสอ. และตอนเยี่ยมบ้าน

-คืนข้อมูล เน้นรูปถ่าย ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาในศพด. เสริมองค์ความรู้

-ให้น้องนวก.มาช่วยดำเนินกระบวนการ

-เป้าประสงค์ กลยุทธ์ กำหนดจากจังหวัด แต่วิธีการให้ภาคีเครือข่ายคิดเอง เช่น กลยุทธ์จังหวัดคือพัฒนา

ศูนย์เด็กเล็กให้น่าอยู่ วิธีการ ให้ชุมชนคิดว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะเป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่

-พัฒนาตาราง 11 ช่อง

จ.เลย (ภูกระดึง)

-เน้นการกระตุ้นในชุมชนมากกว่า ยังไม่ได้ทำ SRM

-ให้ชุมชนหาแกนนำ อบต. อสม. ผู้นำ จนท.เน้นทำความรู้จักกับกลุ่มแกนนำนี้ก่อน

-ในพื้นที่ มีผู้ที่รู้เรื่อง SRM อยู่ แต่ไม่ได้ทำตามรูปแบบที่ได้รับการอบรมมา เน้นการใช้คำถาม ให้

เค้าแสดงความคิดเห็น แล้วสามารถนำความคิดเห็นนั้นมาลงแผนที่ได้ และบรรยากาศไม่เครียด

จ.เลย (หนองหิน)

-ร่วมกันหาข้อมูลพื้นฐานทุกเรื่อง

-รับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้เกิดความสนิทสนม (กินข้าวฟรีทั้งเดือนมิถุนายน)

-ที่ผ่านมา มีการออกหมู่บ้าน ศพด. อยู่แล้ว จึงมีข้อมูลพื้นฐานของเด็กในหมู่บ้านอยู่แล้ว

-คืนข้อมูลให้ชุมชน ที่เราไปออกด้วยกัน เค้าได้อะไรบ้าง คิดว่ายังไม่รู้อะไร อนาคตอยากให้เป็นยังไง

-เลือกเป้าหมาย ผญบ. สอบต. กรรมการกองทุน ผดด. ครูประถมที่มีชั้นอนุบาล

-อบรม 2 วัน วิทยากรเดียวกับภูกระดึง

-ความต้องการสนับสนุน อยากได้งบเพิ่ม

จ.เลย (ภูหลวง)

-มีกรรมการกองทุน 14 คน ต้องการให้เค้ารับรู้ว่า ชาวบ้านมีความต้องการอะไรบ้าง

-เป้าหมาย ศพด. 5 แห่ง ได้ตาราง 11 ช่อง นำโครงการเสนอเข้ากองทุนได้รับการอนุมัติ

-กิจกรรมได้แก่ เฝ้าระวังทางทันตสุขภาพ

-มาตรการทางวิชาการ ได้แก่ จนท.ให้ความรู้ สาธิตเรื่องโภชนาการ ครูให้ความรู้

-มาตรการทางสังคม ได้แก่ ผู้ปกครองร่วมมือไม่ซื้อขนม จัดหาอุปกรณ์แปรงฟันให้เด็ก ดูแลเด็ก

แปรงฟันหลังอาหาร จัดหาสถานที่แปรงฟัน รณรงค์ด้านทันตสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ร้านค้าร่วมมือไม่

ขายขนม

จ.อุดร (เพิ่มเติม)

-ที่จังหวัดอุดร ทำได้สำเร็จเกือบทุกพื้นที่ เพราะจนท.รพ.สต.ส่วนใหญ่ทำอยู่แล้ว มีพี่ๆ ที่รู้ SRM อยู่

แล้ว เพียงเติมงานทันตฯ เข้าไป รวมทั้ง สสจ.มีแรงจูงใจคือเพิ่มงบให้อีก 5,000 บาทเมื่อนำ

ผลงานมาแลก

หมอฝน (สสจ.หนองบัวลำภู) และหมออ้อ (ศูนย์อนามัยที่6 ขอนแก่น) เติมเต็ม

-แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการทำงาน ให้ภาคีเครือข่ายได้มาพูดคุยกัน

-หัวใจสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ได้ทำแผน แต่อยู่ที่ประชาชนลุกขึ้นมาแสดงบทบาทในการจัดการสุขภาพของ

เค้าเอง

-การทำงานสร้างสุขภาพ ต้องยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

-จุดแรกที่จะทำให้เกิดการเข้าใจ เข้าถึง ซึ่งพวกเราได้เริ่มทำแล้ว คือ การทำความรู้จักชุมชนอย่าง

แท้จริง ฟังมากขึ้น เข้าหามากขึ้น และเน้นการทำงานบนพื้นฐานของข้อมูล มีการรวบรวมข้อมูล และ

คืนข้อมูลให้ชุมชนทราบ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

-เมื่อหัวใจไม่ได้อยู่ที่ ให้ได้แผน ดังนั้น การทำงานแบบ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จึงไม่สามารถแล้วเสร็จ

ได้ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ต้องใช้เวลา ค่อยๆทำ สร้างฐานความคิดร่วมกันให้แน่น บางครั้ง

อาจต้องแล้วแต่บริบทชุมชน เช่น ทำได้ครั้งละ 2-3 ชม.

-ไม่จำเป็นต้องเริ่มทำ SRM SLM ใหม่ สามารถใช้ยุทธศาสตร์ของจังหวัด หรืออำเภอก็ได้

แต่สิ่งที่ควรต้องทำคือ ขั้นวิเคราะห์บริบทชุมชน ภายใต้ข้อมูลของชุมชน

-การอบรมที่ผ่านมา เน้นให้เกิดทีมวิทยากร จึงต้องเรียนรู้ทุกขั้นตอน บางคนอาจยังไม่เข้าใจในครั้ง

แรก และรู้สึกว่ายาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก บางครั้งต้องผ่านการอบรม 2-3 ครั้ง จึงจะเข้าใจ ส่วน

วิธีการนำไปดำเนินการในชุมชน สามารถปรับประยุกต์ได้ตามความเหมาะสม แต่แนวคิดหรือหัวใจ

สำคัญของแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ ต้องยึดไว้

-โอกาสในการเกิดงานของเรา บางครั้งอาจไม่ได้เริ่มที่งานของเรา เช่น มีชุมชนทำเรื่องจัดการขยะใน

ชุมชน เมื่อชุมชนวิเคราะห์บริบทปัญหา พบว่า ขยะที่มากส่วนหนึ่งคือ ซองขนมถุงของเด็ก จนนำมา

ซึ่งการลดการบริโภค นั่นหมายความว่า มีผลทางอ้อมต่องานของเรา อยากให้พวกเราเห็นโอกาสของ

ช่องทางที่จะเริ่มงาน โดยไม่ต้องเริ่มที่งานเราก็ได้

ตัวแทนกลุ่มสรุปในวงใหญ่ (ปู อุดรธานี)

-แต่ละจังหวัดจะมีการทำงานไปตามบริบทที่แตกต่างกัน

-อุดร อาศัยความพร้อมเพรียง หนองคาย แบบค่อยเป็นค่อยไป เลย เริ่มทำ

-การทำ SRM ตอนอบรม เหมือนว่ายาก เพราะเค้าต้องการให้เราเป็นวิทยากร เมื่อทำในพื้นที่เรา

สามารถประยุกต์ในพื้นที่ได้

-ในตอนเริ่มต้น เราอาจยังไม่ถนัด เราอาจจะให้พี่ๆ ในรพ.สต.ที่มีประสบการณ์มาช่วยทำก่อนได้

-สิ่งที่ทำให้เราไม่ได้ลงมือทำ ส่วนหนึ่งคือ กลัว ไม่กล้า แต่ที่อุดร ไม่ค่อยกลัว เลยได้เริ่มลงมือ อาจ

เป็นเพราะอยู่ในพื้นที่มานาน

หมอสุรัตน์ เติมเต็ม

-การทำงานเชิงรุก ต้องมีชุมชนมามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา

-สิ่งที่จะทำต่อ สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ชุมชน ใครจะมีส่วนร่วมกับงานเราบ้าง

-เสริมแรงให้เกิดความคิด ศักยภาพ

-การเข้าชุมชน ต้องเริ่มที่ตัวเรา ชุมชนรู้จักเราหรือยัง เรามีบทบาทอะไร ถ้ายังไม่มีประสบการณ์ ก็

ทำงานบริการไปก่อน พร้อมๆกับเข้าชุมชน ทำความรู้จักชุมชน เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ

-การเสริมแรงบวก เช่น กิจกรรมต่างๆที่เค้าทำอยู่ เรามีส่วนขาดหรือส่วนเติมเต็มได้ตรงไหน เช่น ใน

ศูนย์เด็ก ผดด. ต้องการส่วนสนับสนุนอะไร ปัญหาของเค้าคืออะไร เค้าอยากทำอะไร ค่อยๆเริ่มจาก

1 เป็น 2 3 จนเป็น 10 เป็น 100

เพิ่งกลับถึงบ้าน...กลับจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม  ไปเชื่อมเครือข่ายกับพี่น้อง.....เครือข่ายเด็กเล็กสารคามฟันดี

น่าตื่นตาตื่นใจ....ที่จ.สารคาม พี่ฝนใหญ่ (ทพญ.นวลนิตย์  บุตรดีสุวรรณ) ให้งบแต่ละอำเภอไปทำ ปี 52  แต่ปี 53  แต่ละอำเภอใช้งบ PP บ้าง  แต่ส่วนใหญ่เสนอแผนเข้า อบต./เทศบาล  หลาย ๆ อำเภอได้งบมาทำต่อยอด  บางตำบลพหุภาคีทำได้เองโดยไม่ต้องใช้งบ....ประหยัดสมกับเป็นพี่ฝนใหญ่เลยนะคะ 

จากที่พี่ฝนใหญ่จัดกระบวนการให้พหุภาคีของแต่ละตำบล  มาร่วมเรียนรู้การทำแผนแบบมีส่วนร่วม  ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสุขภาพช่องปากเด็กเล็ก  ตั้งแค่  2  ปีก่อน....บัดนี้  ลำต้นแข็งแรง  เริ่มออกดอกเห็นผล  ชูช่อสวยงาม....นาดูน  ยางสีสุราช  กันทรวิชัย  แกดำ  เชียงยืน  บรบือ  นาเชือก  กุดรัง...จาระไนไม่หมด  แต่ละอำเภอมีจุดเด่น  จุดแข็ง  เหมือนบ้างต่างกันบ้าง  ได้ฟัง  คิดตาม  แลกเปลี่ยนกันในจังหวัด  กับ อ.ปราณี  อ.อรณต  และกับเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  ของ อ.สระใคร  หนองคาย

สักวันคงมีโอกาสที่คนทำงานประเด็นใกล้เคียงกัน....ได้มาพบกันตัวเป็น ๆ...พูดคุยสื่อสารตัวต่อตัว  ผ่านกระบวนการสนุกสนานผ่อนคลาย...และรื่นรมย์

พวกเรา  6  จังหวัด  ก็จะได้เพื่อนเพิ่มอีก  1  จังหวัด...ดีไหมคะ ?

สวยงามและมีคุณค่ามากค่ะพี่อ้อ

cheer up....

  • สวัสดีค่ะ...ขอบคุณค่ะหมอโอที่แวะมา
  • เดี่ยวเราก็จะได้ไปแลกเปลี่ยนและชื่นชมกับน้ำพองและที่อื่น ๆ ของอิสาน  แถมมีบางส่วนจากภาคกลางมาร่วมวงด้วย  ที่สบายโฮเต็ล  โคราช  17 - 19 พ.ย. 53  นี้
  • แล้วพบกันนะคะ

เห็นว่ามีรายการแจกหลายอย่างเลยเข้ามาร่วมงานเพื่อได้รับแจกอะไรกลับไปบ้างครับ อิอิ

  • สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ Ico32 
  • ไม่ได้หลอกนะคะ....มีรางวัลจริง ๆ
  • กลุ่มที่นำเสนองานที่เวทีนี้  จะได้ไปอัมพวา  สมุทรสงครามค่ะ
  • ไปแลกเปลี่ยนกับผู้นำชุมชนที่ อบต.เหมืองใหม่  ด้านการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (Strategy Route Map: SRM) ไปเรื่องงานนะคะ
  • ไปศึกษาวิถีชุมชนชาวตลาดน้ำ
  • ไม่ได้ตั้งใจไปนั่งเรือกินก๋วยเตี๋ยวตอนกลางวัน  ลัดเลาะริมคลองชมหิ่งห้อยตอนกลางคืนเล้ยยยย....สาบาน

หมอธิรัมภา ขยันมากค่ะตอนนี้พี่เริ่มโรยแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท