เมื่อกลุ่มล้ม...เราจะช่วยกันได้อย่างไร?


       ผลจากการประชุมเครือข่ายฯเมื่อวานนี้  ผู้วิจัยได้รับการบอกเล่าจากผู้เข้าร่วมประชุม (บางคน) ว่าตอนนี้มีกลุ่มที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯอยู่ 1 กลุ่มที่ทำท่าว่าจะมีปัญหา  บางคนบอกว่าประธานกลุ่มกำลังจะถูกชาวบ้านในชุมชนเหยียบตาย (ไม่รู้ว่าพูดเล่นหรือพูดจริงค่ะ) เมื่อผู้วิจัยได้รับทราบข่าวเช่นนี้ก็รู้สึกไม่สบายใจเลย    เพราะ  รู้จักกับประธานกลุ่มกลุ่มนี้เป็นอย่างดี  เห็นว่าประธานกลุ่มเป็นคนเอาจริงเอาจัง  มาร่วมประชุมทุกนัด  มาตรงเวลาด้วย  แต่กลุ่มนี้เท่าที่ทราบ  คือ  มีปัญหาตรงที่มีสมาชิกน้อย  (ประมาณ 90 คน)  รวมทั้งประธานทำงานคนเดียว  ไม่ค่อยมีกรรมการมาช่วย  เวลามาประชุมก็จะมาคนเดียว  สาเหตุที่ทำให้มีสมาชิกน้อยนั้น  เท่าที่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ไปลงพื้นที่มาเห็นว่าน่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ  คือ  ประธานชุมชนไม่เห็นด้วยกับการออมเพื่อสวัสดิการ  แต่เห็นด้วยกับการออมเพื่อกู้มากกว่า  ดังนั้น  ประธานชุมชนจึงรณรงค์ให้คนในชุมชนไปออมเงินกับเครดิตยูเนี่ยนที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ๆชุมชน

       หลังจากผู้วิจัยได้พยายามหาเบอร์โทรศัพท์ของประธานกลุ่มนี้จากคนที่รู้จักตั้งแต่เมื่อคืนนี้    วันนี้ตั้งแต่เช้าผู้วิจัยก็ได้โทรศัพท์ไปหาประธานกลุ่ม  ซึ่งโชคดีมากที่ประธานรับสาย  จากการพูดคุยกันทำให้ผู้วิจัยได้ข้อมูลโดยสังเขปว่า

       กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเป็นเวลาปีกว่าๆแล้ว  โดยพัฒนามาจากกลุ่มเกษตร  มีสมาชิกสมัครครั้งแรกเมื่อตอนตั้งกลุ่มประมาณ 50-60 คน  (ตอนนั้นเครือข่ายฯมีเงื่อนไขว่าหากระดมสมาชิกได้ 50 คนขึ้นไปก็จะสามารถตั้งกลุ่มาสวัสดิการได้) ประธานกลุ่มเข้าร่วมประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม  2549  หลังจากนั้นก็ไม่เข้าร่วมประชุมอีกเลย 

       สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุมนั้นมาจากว่าในเดือนพฤษภาคมมีสมาชิกของกลุ่มเป็นเด็กอายุประมาณ 10 ปี  เป็นสมาชิกตั้งแต่แรกๆ  เกิดประสบอุบัติเหตุพลัดตกนำ  ทำให้จมนำเสียชีวิต  ซึ่งจะต้องได้รับสวัสดิการเป็นเงิน 10,000 บาท  ประธานกลุ่มจึงได้นำหลักฐานมาขอรับเงินสวัสดิการเสียชีวิตจากเครือข่ายฯ  แต่คณะกรรมการที่ดูแลในส่วนนี้กลับบอกมาว่าทางกลุ่มยังค้างเงินค่าเฉลี่ยศพเป็นเงิน 20,000 กว่าบาท  ประธานกลุ่มจึงตอบไปว่า 

        "แล้วผมจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย  เงินทุกบาททุกสตางค์เมื่อหักการจ่ายสวัสดิการที่กลุ่มแล้ว  ผมได้ส่งมาที่เครือข่ายฯจนหมด  แม้แต่เงินกองทุนธุรกิจชุมชนซึ่งต้องอยู่ที่กลุ่ม  ผมก็ต้องเอาเงินส่วนนี้มาช่วยจ่ายค่าฉลี่ยศพด้วย  ตอนนี้ไม่มีเงินเหลือที่กลุ่มแล้ว"

       ประธานได้บอกกับผู้วิจัยว่าตนส่งเงินเข้าไปที่เครือข่ายฯทุกเดือนไม่เคยขาด  แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นหนี้เครือข่ายฯถึง  20,000 กว่าบาท  ตนเองได้ถามถึงค่าเฉลี่ยศพในแต่ละเดือนแล้วลองมานั่งคิดคำนวณดูก็เห็นว่าไม่มากถึงจำนวนที่เครือข่ายฯบอก  พอถามไปที่คณะกรรมการอีก  เขาก็ให้คำตอบที่ไม่ชัดเจน  ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร   โดยสรุปในวันนั้น  ประธานต้องจ่ายค่าศพ 10,000 บาทให้กับสมาชิก  แต่สามารถเบิกเงินจากเครือข่ายฯมาได้ประมาณ 2,400 บาท   ประธานไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  จึงตัดสินใจขายกบซึ่งตนเองเลี้ยงเป็นอาชีพไป  รวบรวมเงินได้อีก 2,000 กว่าบาท  รวมที่ได้มาจากเครือข่ายฯ 2,400 บาท  เป็นเงิน 5,000 บาท  นำเงิน 5,000 บาทนี้ไปมอบให้กับพ่อแม่ของเด็ก พร้อมกับอธิบายให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น  พ่อแม่เด็กจึงบอกว่าเอาแค่ 5,000 บาทก็พอ  ส่วนที่เหลือไม่เอาแล้ว    เมื่อแก้ปัญหานี้ได้ประธานจึงเรียกประชุมสมาชิกเพื่อทำความเข้าใจ  ในที่สุดทุกคนก็หาทางแก้ไขปัญหา  โดยการยกเลิก "กองทุนสวัสดิการชุมชน"  สมาชิกได้เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรซึ่งประธานท่านนี้ก็เป็นประธานกลุ่มนี้ด้วย

       นอกจากนี้แล้วประธานยังได้บอกกับผู้วิจัยว่า  เครือข่ายฯมีแต่บอกว่าให้กลุ่มส่งฐานะการเงินมาที่เครือข่ายฯ  พร้อมกับส่งเงินต่างๆมาให้ครบ  จึงจะสามารถทำเรื่องขอยืมเงินจากกองทุนกลางไปได้  รวมทั้งค่าศพด้วย  ซึ่งประธานบอกว่า 

       "ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  เงินก็ส่งไปหมดแล้ว  ผมจะเอาเงินที่ไหนมาส่งอีก  ตอนนี้ผมมาคิดบัญชีดู  ตั้งแต่ผมตั้งกลุ่มมาปีกว่าๆ  ผมเก็บเงินจากสมาชิกได้ 30,000 กว่าบาท  แต่รวมค่าใช้จ่ายทั้งภายในกลุ่มกับส่งไปที่เครือข่ายฯตอนนี้เป็นเงิน 60,000 กว่าบาทแล้ว  เท่ากับว่าผมเอาเงินส่วนตัวออกไป  แต่ก่อนผมไม่รู้เลย  พอมานั่งคิดอย่างละเอียด  เอาหลักฐานมาดู  ผมจึงเพิ่งรู้"

       ประธานยังบอกกับผู้วิจัยต่อไปว่า 

        "ตอนนี้ที่ชุมชนมีชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่มั่นใจในกองทุนสวัสดิการ  เพราะ  มีคนมาปล่อยข่าวว่าเป็นกองทุนที่ไม่มั่นคง  เป็นกองทุนเถื่อน  ประธานชุมชนก็ไม่เห็นด้วย  เขาประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านไปเข้ากลุ่มเครดิตยูเนี่ยนกันหมด"

        "ตอนนี้กลุ่มเกษตรของชุมชนเก็บเงินจากสมาชิกเดือนละ 20 บาท  หากใครมีความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพก็สามารถมากู้เงินในส่วนนี้ได้  คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน  ตอนนี้มีสมาชิกแล้ว 100 กว่าคน  แต่ยังไม่มีคนมาขอกู้  เขาไปกู้กองทุนหมู่บ้านกันหมด   ต่อไปผมคิดว่าจะขอเก็บเงินออมเพิ่มจากสมาชิกเป็นคนละ 50 บาทต่อเดือน"

       "ผมไม่อยากให้ชาวบ้านเป็นหนี้  ไปกู้กับกองทุนหมู่บ้านก็เป็นหนี้  ไปกู้กับเครดิตยูเนียนก็เป็นหนี้  ผมอยากให้ชาวบ้านออมเพื่อสวัสดิการมากกว่า  แต่ก็มีปัญหาอย่างนี้  ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร"

        จากการรับฟังปัญหา  ความคิดเห็น  รวมทั้งความรู้สึกของประธานท่านนี้แล้ว  ผู้วิจัยรู้สึกเห็นใจมาก  แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะช่วยอย่างไร  จนกระทั่งคุยไปคุยมา  ผู้วิจัยก็เกิด "ปิ๊งแว๊ป" ความคิดขึ้นมาก็เลยลองเสนอกับประธานกลุ่ม 

       1.ระยะสั้น  ต้องรีบเข้าไปเคลียร์กับทางเครือข่ายฯ  อย่าหายไปเฉยๆ  เพราะ  นอกจากปัญหาของกลุ่มจะยืดเยื้อแล้ว  ยังเป็นการทำให้เครือข่ายฯจัดการกับปัญหาไม่ได้อีกด้วย  ถ้าหากตัดสินใจได้แล้วว่าจะไม่ทำกลุ่มต่อ (ซึ่งตอนนี้ก็ตัดสินใจไปแล้ว) กลุ่มต้องรีบทำฐานะการเงินไปเคลียร์กับเครือข่ายฯ  เพื่อที่จะเอาเงินส่วนเกินที่กลุ่มส่งไปที่เครือข่ายฯกลับคืนมา  นอกจากนี้แล้วกลุ่มยังค้างส่งค่าคอมพิวเตอร์กับเครือข่ายฯ  ต้องรีบเข้าไปเคลียร์ว่าจะคืนเครื่อง  หรือ  ซื้อขาดจากเครือข่ายฯเลย  (เท่าที่ลองคำนวณดูคร่าวๆคิดว่าคงจะสามารถหักลบกลบหนี้กันได้ค่ะ)  ในส่วนนี้พี่นก  ยุพิน  ได้ทราบเรื่องแล้ว  และอาสาจะเข้ามาช่วยกลุ่มนี้ในเรื่องบัญชีค่ะ

       ในกรณีนี้ผู้วิจัยเห็นว่า   ความคิดของชาวบ้านกับความคิดของเครือข่ายฯยังไม่ตรงกัน   ที่เห็นง่ายๆ  คือ  ชาวบ้านคิดแค่ว่า "เลิก" คือ  ไม่เก็บเงิน  กลุ่มไม่ดำเนินการแล้ว  เป็นอันจบ  แต่ชาวบ้านลืมนึกไปว่า  ตัวเองได้ไปทำนิติกรรมกับเครือข่ายฯอะไรบ้าง  อย่างในกรณีนี้กลุ่มได้ไปขอกู้เงินเครือข่ายฯมาซื้อคอมพิวเตอร์  ซึ่งยังผ่อนไม่หมด (เหลืออีกหลายเดือน) ถ้ากลุ่มล้มไปเฉยๆ  ไม่มีใครติดต่อไปที่เครือข่ายฯ  เกิดวันดี  คือนดี  เครือข่ายฯลุกขึเนมาฟ้องโดยเอาสัญญาเงินกู้มาเป็นหลักฐาน  กลุ่มจะทำอย่างไร

       2.ระยะยาว  เมื่อแก้ปัญหาในข้อหนึ่งได้แล้ว  ค่อยมานั่งคิดกันว่าชุมชนจะยังต้องการ "กองทุนสวัสดิการ" อยู่อีกหรือไม่  เท่าที่ผู้วิจัยได้คุยกับประธาน  เห็นว่า  ประธานยังมีความต้องการที่จะทำอยู่  (แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นๆเห็นอย่างไร) ในเรื่องนี้ผู้วิจัยเห็นว่ายังพอมีทาง

       หากกลุ่มเกษตรเรียกเก็บเงินออมจากสมาชิกคนละ 50 บาท  ผู้วิจัยเห็นว่า  สามารถนำมาจัดสวัสดิการพร้อมไปกับการให้กู้ได้  โดยเงินส่วนหนึ่งกันเอาไว้สำหรับให้กู้  อีกส่วนหนึ่งกันเอาไว้จัดเป็นสวัสดิการ  แต่สวัสดิการของกลุ่มนี้ในระยะเริ่มแรกไม่ต้องจัดให้ครบก็ได้  สวัสดิการที่สามารถทำได้โดยไม่เป็นปัญหา  คือ

       - เกิด   (เงิ่อนไขเดิมของเครือข่ายฯ)

       - เจ็บ  (เงื่อนไขเดิมของเครือข่ายฯ)

       - ตาย  (คิดอีกที  แต่อาจทำอย่างกลุ่มพ่อชบ หรือ  พระอาจารย์สุบิน  ก็ได้)  ห้ามเอากติกาเดิมของเครือข่ายฯเด็ดขาด  เพราะ  จ่ายมากเกินไป  และ  ระยะห่างน้อยเกินไป

       ในส่วนของการชราภาพและการศึกษาตัดออกไปก่อนก็ได้ค่ะ  เพราะ  ยังไม่แน่ใจว่าสถานะของกองทุนจะเป็นอย่างไร  ส่วนกองทุนธุรกิจชุมชนก็ดูความเหมาะสมอีกที  อาจเอาไปรวมกับเงินกู้แล้วให้สมาชิกมากู้  คิดดอกเบี้ยในอัตราตำก็ได้ค่ะ

      อีกส่วนหนึ่ง  คือ  กองทุนกลาง  อาจเอาไปเชื่อมกับทางโซนใต้  หรือ  เก็บไว้ที่กลุ่มก็ได้ค่ะ

      ความคิดในส่วนนี้ของผู้วิจัยเกิดขึ้นมาจากการที่ผู้วิจัยเห็นว่า  ไม่จำเป็นที่ทุกกลุ่มจะต้องคิดเหมือนกัน  หรือ  ทำเหมือนกัน  แต่ถ้าเรามีอุดมการณ์เดียวกัน  เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้  อย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนของลำปาง  ไม่จำเป็นที่ทุกกลุ่มจะต้องเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ  รวมทั้งบริหารจัดการแบบเครือข่ายฯ  หรือ  แบบโซนใต้  หากกลุ่มแต่ละกลุ่มคิดการบริหารจัดการของตัวเองได้  ทำแล้วไม่เกิดปัญหา  เราก็สามารถร่วมเป็นพันธมิตรกันได้  ผู้วิจัยเชื่อว่า ณ ขณะนี้  วิธีนี้เป็นวิธีการหนึ่ง (แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นวิธีการเดียวหรือเปล่า) ที่จะทำให้ปรัชญา  แนวคิด  เกี่ยวกับกองทุนสวัสดิการชุมชนของจังหวัดลำปางเคลื่อนไปได้  จนกลายเป็นนโยบายสาธาณะในที่สุด  หากยังติดยึดที่ระบบการบริหารจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือติดยึดที่แนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง  ผู้วิจัยรับรองได้ว่าในจังหวัดลำปางคงจะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างแน่นอน  นอกจากนี้ปแล้วผู้วิจัยยังเห็นว่าแนวทางนี้น่าจะทำให้หน่วยงานสนับสนุนทำงานได้ง่ายขึ้น  ครอบคลุมขึ้นด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 39261เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าเห็นใจมากครับ

นก(ยุพิณ)น่าจะช่วยเคลียร์เรื่องเก่าให้จบ(โครงการวิจัยพอจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้บ้างไหม?)

จากนั้นชวนประธาน+สมาชิกสรุปบทเรียน                  (เป็นกระบวนการ/ขั้นตอนสำคัญของการเรียนรู้) เพื่อเป็นบทเรียนของตนเองและกลุ่ม และเพื่อหารือกันว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร อาจจะชวนประธานไปเรียนรู้ในเวทีโซนใต้ก็ได้ จะมีกำลังใจ คิดอะไรได้มากขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท