การจัดการความรู้กับแก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง


การเรียนรู้จึงต้องทำให้เกิดลักษณะของทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน คนเก่งจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตนเอง แต่คนฉลาดจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนเก่ง
การจัดการความรู้กับแก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง

ในสังคมปัจจุบันจะพบเห็นปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมากมายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน เกิดสุขภาวะที่ถดถอยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและเชาว์ปัญญา สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคมที่ทับถมก่อตัวมากขึ้นทุกวันเปรียบได้กับคนที่เจ็บป่วยจากโรคเอดส์(AIDS)ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเกิดโรคฉกฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงจนร่างกายทรุดโทรมและเสียชีวิตในที่สุด สังคมไทยก็เช่นกันกำลังเกิดภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง(Social Immunodeficiency SyndromesหรือSIDS) จนทำให้ร่างกายของสังคมแย่ลง ผลของสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นจากการล้มเหลวของระบบต่างๆ(เทียบกับระบบในร่างกายคน)ของสังคมทั้งด้านชุมชน(โครงสร้างสังคมเสียไป) ศาสนา(พระเดินขบวน ผิดวินัยสงฆ์ สอนงมงาย) วัฒนธรรม(ทิ้งของเดิม) สุขภาพ(ค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่สุขภาพแย่ลง หลอกขายยาหรืออาหารสร้างสุขภาพ) การศึกษา(ครูข่มขืนศิษย์ ขายปริญญา เด็กตีกัน รับน้องเสี่ยงๆ) ชีวิตความเป็นอยู่(ต่างคนต่างอยู่ ดิ้นรนหาเงิน ครอบครัวแตกแยก) สิ่งแวดล้อม(ป่าเสื่อมโทรม ภัยแล้ง น้ำท่วม)รวมทั้งเศรษฐกิจ(บริโภคนิยม ก่อหนี้สิน ฟุ่มเฟือย บูชาเงิน) ที่แสดงออกเป็นอาการต่างๆของปัญหาออกมาทั้งที่ทำให้คนไม่ไว้ใจกัน(คนห่างคน)เช่นกลัวติดโรคเอดส์ ซาร์ส วัณโรค  คนระแวงกัน ฆ่ากันตาย สามีภรรยานอกใจกัน มีกิ๊ก มีชู้ ทำแท้ง ทิ้งลูก มั่วเพศ  ทำให้คนไม่ไว้ใจสัตว์(คนห่างสัตว์)เช่นกลัวติดโรคทั้งไข้หวัดนก ไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย วัวบ้า  ทำให้คนไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อมเช่นสารพิษในน้ำอาหารพืชผัก น้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ  และทำให้คนไม่ไว้ใจตนเอง จิตใจไม่เข้มแข็ง ไม่พึ่งตนเองเช่นโรคจากความเครียด อดอาหาร อ้วน กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฆ่าตัวตาย  ยาเสพติด หลอกลวง  จากสิ่งที่เกิดขึ้นหากเราปล่อยไปตามยถากรรมสังคมก็คงจะทรุดโทรมลงจนอาจยากที่จะแก้ไขได้และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ไม่สามารถที่จะอยู่เย็นเป็นสุขหรือกินอิ่ม นอนอุ่นได้ คุณภาพชีวิตก็คือสุขภาพในความหมายที่กว้างนั่นเองที่มีสุขภาวะทางสังคมเป็นองค์ประกอบหนึ่ง  ในการแก้ไขปัญหาสังคมซึ่งมีความซับซ้อนสูงมากเช่นนี้ก็เหมือนการที่แพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยในโรคที่ยากๆ จะต้องหาสมมติฐานของโรคโดยการหาสาเหตุที่แท้จริงหรือแก่นแท้ของปัญหาออกมาให้ได้ก่อน เราจึงจะแก้ไขได้ถูกทางอย่างเป็นระบบและบูรณาการอย่างแท้จริง การแก้ที่ปลายเหตุหรือผลของปัญหานอกจากจะแก้ไขไม่ได้แล้วยังอาจซ้ำเติมให้อาการหนักลงไปได้ หากจะวิเคราะห์แก่นแท้ของปัญหาสังคมที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องแล้วจะพบได้ว่าเกิดจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการคือ

  1. ความไม่รู้ เกิดวงจรชั่วร้ายโง่ จน เจ็บ  เมื่อไม่รู้ ก็ไม่มี เมื่อไม่มีก็ไม่แข็งแรง เมื่อไม่แข็งแรงก็ขาดโอกาสที่จะรู้  เมื่อไม่รู้ก็จะถูกหลอกได้ง่าย หลอกกันไป หลอกกันมา  เกิดอวิชชา ความมืดบอดทางปัญญา ยึดติดเงินตรา ปริญญา มัวเมาในอำนาจหรือยศฐาบรรดาศักดิ์ พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้มาในสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ถูกต้อง การศึกษาไม่ได้แก้ความไม่รู้อย่างแท้จริง เน้นรูปแบบและปริญญาโดยไม่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงไม่เกิดปัญญา ทำให้แก้ปัญหากันแบบใช้ความเห็น ไม่ใช้ความรู้ บ่มเพาะจนเกิดวัฒนธรรมอำนาจขึ้นในสังคม
  2. ความไม่รัก เกิดจากความห่างเหินกันในครอบครัว เกิดครอบครัวเดี่ยว สายสัมพันธ์ระหว่างกันและกันสั้นลงขณะที่ระยะห่างมากขึ้น พ่อแม่ไม่มีเวลาโอบกอดลูก สามีภรรยาไม่มีเวลาให้กัน ลูกหลานไม่ใกล้ชิดญาติผู้ใหญ่ ต่างคนต่างไปต่างคนต่างอยู่ เกิดความเหงา เมื่อไม่มีเวลาให้กันก็หาสิ่งชดเชยให้แทนเป็นเงินหรือสิ่งของที่ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกทางจิตใจได้ เมื่อเกิดปัญหาก็ขาดที่พึ่งทางใจ ขาดความรัก เมื่อขาดความรักก็ไม่รู้จักรัก รักคนอื่นไม่เป็น ไม่รู้ว่าความรักที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็ขวนขวายหารักในรูปแบบต่างๆที่ตนเองคิดว่าใช่เช่นมั่วเพศ สำส่อน มีชู้ มีกิ๊ก ทำตัวโดดเด่นทางไม่ดี เห็นแก่ตัว
  3. ความไม่อดทน เป็นผลต่อเนื่องจากขาดความรัก ไม่รักคนอื่น รักตัวเอง จึงมองตัวเองเป็นตัวตั้ง เมื่อไม่ได้ดั่งใจหรือคิดไม่เหมือนตนเองก็ยอมรับไม่ได้ ไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ทางศาสนาหรือในด้านต่างๆ  ใจร้อน รอไม่เป็น ชอบรวยทางลัด ไม่ชอบทำงานหนัก ชอบงานสบายรายได้ดีๆ หยิบหย่ง ฟุ้งเฟ้อ ไม่ยอมรับความจริง เห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ ไม่รู้จักให้อภัย  ไม่อดทนต่อความผิดพลาดของผู้อื่น ไม่ชอบทำงานหนักที่เห็นผลช้าแต่ยั่งยืน ไม่ชอบเรียนรู้แต่ชอบเรียนลัด เลียนแบบ  ชอบซื้อของสำเร็จรูปมาใช้มากกว่าการทุ่มเทพัฒนาขึ้นมาเอง
ในการดูแลรักษาสังคมที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องนี้เมื่อเรารู้สาเหตุของโรคหรือหาตัวเชื้อโรคได้แล้ว ในการดูแลรักษาจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเหมือนกับการรักษาผู้ป่วยหนักคือ
  1. มาตรการระยะสั้น ก็มีความจำเป็นเหมือนการรักษาผู้ป่วยโดยในช่วงแรกที่ต้องรักษาชีวิตผู้ป่วยทั้งการงดน้ำ อาหาร อยู่ห้องแยก ห้ามเยี่ยม  การให้น้ำเกลือ ให้ยาฉีด เป็นต้น ผู้ที่ต้องเป็นหมอรักษาในช่วงนี้ก็คงไม่พ้นรัฐบาล ซึ่งการรักษาสังคมก็มีหลายอย่างที่ต้องนำมาใช้ทั้งการใช้เงินหรืองบประมาณ  การใช้กฎหมายบังคับ การกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสม  การแยกหรือการกักกัน การห้ามในสิ่งที่ควรห้าม การจัดระเบียบสังคม การยกย่องชมเชยคนดีที่ทำเพื่อสังคม คนที่ทำกำไรทางสังคมมากว่าการยกย่องเฉพาะคนที่ทำกำไรทางธุรกิจ  ในเรื่องการใช้เงินในระยะสั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นคล้ายกับการให้น้ำเกลือหรือฉีดยาแก้ปวดแต่ถ้าใช้นานๆก็จะเกิดผลเสียต่อสังคมได้  ทำให้เกิดผลข้างเคียง(Side effects)ต่อสังคมจากการใช้เงินเช่นภาวะหนี้สิน  วัตถุนิยม ฟุ่มเฟือย สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวตกอยู่ในกับดักสภาพหนี้(Liability trap)หรือการออกกฎหมายพิเศษมาบังคับ ในระยะยาวจะเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนและอาจเกิดการต่อต้านได้
2.        มาตรการระยะยาว  ต้องรีบกระตุ้นให้สังคมสร้างภูมิคุ้มกัน(Social immunization)ขึ้นมาด้วยเพื่อให้สังคมแข็งแรงขึ้นโดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายของสังคมมาร่วมกันทำหน้าที่หมอสังคม(Social Doctors)ซึ่งเป็นใครก็ได้ที่เห็นปัญหาแล้วมาร่วมแรงร่วมใจกันทำ ร่วมมือด้วยใจไม่ใช่ร่วมมือด้วยเงิน เอาปัญญามาลงขันกันแก้ไขปัญหาโดยยึดแนวคิดที่ว่า “สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน” ทั้งนี้การสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยการสั่งให้เกิดหรือการจัดตั้งจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีได้เพราะไม่ได้เกิดจากใจของคนที่เห็นปัญหาและอยากแก้ไขปัญหาร่วมกัน เปรียบเสมือนกับร่างกายไม่แข็งแรงแทนที่จะออกกำลังกายแต่กลับไปลงทุนซื้อยาอายุวัฒนะหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินซึ่งไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงจริงแล้วยังทำให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์   แต่อย่างไรก็ตามหมอสังคมสาขาหลักที่จะขาดไม่ได้คือครู(ศึกษา)  หมอ(สาธารณสุข) พ่อ(ครอบครัว) พระ(ศาสนา) ต้องมาร่วมกันวางแผนดูแลรักษาสังคม โดยการกระตุ้นหรือสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม (Social Immune) 3 ชนิดคือความรู้ ความรัก ความอดทน เพื่อฉีดเข้าไปในสังคมให้สังคมเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา ดังนี้
1)       ความรู้หรือการเรียนรู้(Learning)  ในเรื่องความรู้ถ้าต้องการปริญญาอาจต้องใช้เงินแต่ความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้จริงนั้นเกิดจากการเรียนรู้ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากครอบครัว เรียนรู้เพื่อนบ้าน เรียนรู้สังคม เรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่มากกว่าการอ่านหรือท่องจากตำราในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เรียนรู้ที่จะเรียน เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้เพื่อปัญญาเพื่อความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เพื่อปริญญา เรียนรู้เพื่อที่จะรู้เท่าทันโลกและสังคม สามารถที่จะดำรงตนในสังคมได้อย่างปกติสุข การเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่การศึกษาตามหลักสูตรในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น การศึกษาที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะมุ่งเน้นที่จะเอาชนะผู้อื่น เหนือคนอื่นให้เป็นคนเก่งเพื่อจะได้มีโอกาสฉกฉวยเอาทรัพยากรมาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวได้มากกว่าคนอื่น แต่การเรียนรู้ให้เป็นคนฉลาดควรมุ่งที่จะเอาชนะตนเอง ช่วยตนเองและผู้อื่นให้หลุดพ้นจากอวิชชา  การสร้างความสุขในการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาคนได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการต้องอดทนเรียนให้จบหลักสูตรเพื่อรับปริญญา  ให้เรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่เอาเปรียบสังคม ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม  เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและรู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เพราะคนเก่งจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตนเอง แต่คนฉลาดจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนเก่ง  การเรียนรู้จึงต้องทำให้เกิดลักษณะของทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน โดยอาศัยการจัดการความรู้(Knowledge Management)ที่เหมาะสมกับสังคมไทยเป็นเครื่องมือ ทั้งในด้านการสร้างบรรยากาศและโอกาสแห่งการเรียนรู้  การจัดสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็น การนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปใช้ประโยชน์จริง การแลกเปลี่ยนความรู้และการจัดเก็บความรู้ในรูปคลังความรู้หรือขุมทรัพย์ความรู้ของสังคมไทย ขับเคลื่อนไปเป็นสังคมฐานความรู้ที่มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา
2)       ความรัก(Love) เริ่มจากครอบครัวต้องปรับตัวจากเลี้ยงลูกด้วยเงินมาสู่การเลี้ยงลูกด้วยนมที่บ่มไปด้วยความรักความเอื้ออาทรจากคนในครอบครัว ความรักต้องเกิดจากการสัมผัสจริง การบอกรักทางโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตไม่สามารถทดแทนการสัมผัสตัวจริงเสียงจริงกันได้ สายใยความผูกพันจะเกิดจากความใกล้ชิด มีเวลาและโอกาสให้กันและกันในครอบครัว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก ทำให้แม่รักลูก ไม่ทอดทิ้งลูก การมีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวทำให้เกิดความอบอุ่นในจิตใจ ไม่เปิดโอกาสให้เกิดช่องว่างในใจที่ต้องไปหาสิ่งภายนอกมาชดเชย  การหอมแก้มโอบกอดจากพ่อแม่เป็นการเติมเต็มความรักในใจของลูก คนที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นจะรู้จักรักทั้งรักตนเองและรักผู้อื่น ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักให้ ขอ ยอมรับและปฏิเสธในจุดที่พอดี ความรักจึงต้องสร้างด้วยครอบครัวและชุมชน ทำให้รักตนเอง/ครอบครัว/ชุมชน ส่งผลให้เกิดบรรยากาศสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ชมคนอื่นเป็น รู้จักมองโลกในแง่ดี มีทัศนคติทางบวกในการดำเนินชีวิต เข้าใจและให้โอกาสผู้อื่น
3)       ความอดทน(Tolerance) ฝึกให้อดทนต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสิ่งเย้ายวนในทางเสื่อม ต่อความคิดเห็นความเป็นอยู่หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนในสังคม  ยอมรับผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง ยอมรับความสามารถของผู้อื่น แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง  ทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับเราได้ ไม่เก่งคนเดียว รู้จักการทำงานเป็นทีม มีภาวะผู้นำที่เหมาะสม  รู้จักนำ  รุ้จักตาม ทำให้เข้าสังคมได้ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนได้ดี มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด นึกถึงประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ท้อถอยง่าย หนักแน่นมั่นคง  ในด้านความอดทนนี้ต้องผ่านการฝึกฝนจากทั้งในครอบครัว ในโรงเรียนและจากศาสนา นำแก่นแท้ของศาสนามาใช้ด้วยการรู้จักควบคุมความคิด(เจริญสติ)และหยุดความคิดจิตใสใจนิ่ง(เจริญสมาธิ)  ทำให้คนมีปัญญา(ความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง)ส่งผลให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เป็นปกติ(ศีล) และดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
เราคนไทยทุกคนจะต้องร่วมกันเป็นหมอสังคม  รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสร้างสุข ช่วยกันสร้างความรู้ ความรัก ความอดทนขึ้นในสังคมไทย ที่ไม่เน้นใช้เงินเป็นตัวตั้ง  ลดทุนนิยม หันมาใช้ธรรมนิยม ดำรงชีวิตอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง  ความสุขและความเข็มแข็งอย่างยั่งยืนของสังคมไทยจะกลับคืนมา...
หมายเลขบันทึก: 3924เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2005 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท