จับความรู้เก่า..เขย่าใหม่ กับ "เด็กๆแห่งหุบเขาลูกนัท"


เรายืนดู...การเรียนการสอนที่มีอย่างเข้มแข็งท่ามกลางความขาดแคลนนี้อย่างทึ่ง ชื่นชมและตื้นตันในความตั้งใจจริง อดทนและเสียสละของ”ครู-ผู้ให้”ของเด็กๆ ที่หุบเขาแห่งนี้ เราสัมผัสได้ถึงคุณค่าของคำว่าหน้าที่และการให้อย่างเต็มเปี่ยม

         หลังจากที่ห่างหายจากการเขียน Blog ไปนานมากๆๆๆ ซึ่งเวลาที่ผมออกไปทำงานเมื่อเจอกับภาคี-เครือข่าย ก็มักจะถามหาถึงบันทึกใน Blog ของผมอยู่บ่อยๆ 

           วันนี้เลยตั้งต้น กลับมามอง Blog ของตนเองอีกครั้ง ยิ่งดูในปฏิทินบันทึก เราห่างหายจากการเขียนไปเป็นเดือนเลยหรือนี่

            ครั้นจะเอาความรู้เก่ามาเล่าให้ฟังตอนนี้ ก็กลัวว่าคนอ่านจะงงเป็นไก่ตาแตก แต่ต้องเอามาเล่าให้ได้อ่านกันใน Blog นี้อย่างแน่นอนในไม่นานนี้

            สำหรับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจึงอยากให้  คนอ่านได้อ่านในเรื่องที่ผ่อนคลาย และคาดว่าถ้าอ่านจนถึงบรรทัดสุดท้ายก็ต้องเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน 

บางคนอาจจะอินน์เหมือนกับผม จนอยากจะช่วยเหลือเด็กๆ เหมือนผมก็ได้ครับ

เด็กๆ แห่งหุบเขาลูกนัท

                                                                                 

เรื่อง... แสงสว่าง ตันศิริ          

           กว่าชั่วโมงบนรถโฟร์วีลที่เราหายใจไม่ทั่วท้อง ทั้งลุ้นระทึก ทั้งนั่งโยกหัวสั่นหัวคลอนไปบนถนนสายวิบาก ซึ่งทั้งคดเคี้ยว สูงชัน มีทั้งร่องโคลนเละ ทางลื่น ทางกรวดหินแหลมอันแสนหฤโหด          

          เราผ่านทั้งผาสูง หุบเหวลึก ลำห้วยเชี่ยวกรากไปถึง 4 จุด กว่าจะถึงโรงเรียนบ้านลุกป่าก๊อ ซึ่งอยู่ห่างจากถนนใหญ่สายแม่ฮ่องสอนเพียง 9 กม.แต่ดูเหมือนว่าเราผ่านทั้งนรกและสวรรค์มาแล้วเรียบร้อย            แต่เดิมทุกคนในหุบเขานี้หากจำเป็นต้องเดินทางเข้าเมือง ต้องเดินด้วยเท้าเท่านั้นเพราะถนนหนทางลำบากมาก หน้าฝนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็น เมืองปิด

         ผู้คนไม่สามารถเข้าออกได้ แต่หลังน้ำท่วมใหญ่แม่ฮ่องสอนเมื่อปีที่แล้ว ด้วยแรงกาย แรงใจจากชาวบ้านและบุคคลากรของทางราชการที่ทำงานอยู่ในพื้นที่นี้ได้ร่วมกันพัฒนาถนนหนทางดีขึ้น การเดินทางยังใช้รถปิคอัพที่ต้องใช้โซ่พันล้อหรือรถโฟร์วีลที่คนขับต้องมีความชำนาญมากๆ           ส่วนครูใหญ่มาทำงานด้วยรถเอ็นตาโร่หรือจักรยานยนต์วิบาก ไอ้เพื่อนยากซึ่งเป็นพาหนะคู่ชีพมาตั้งแต่สมัยมาเป็นครูร.ร.มัธยมที่กิ่งอำเภอปางมะผ้า เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว (ปัจจุบันกิ่งอำเภอปางมะผ้า ยกฐานะเป็นอำเภอและมีความเจริญมากแล้ว ซึ่งหากวันใดที่ลุกป่าก๊อมีแขกมาเยี่ยมชม ครูใหญ่ถึงทำเรื่องขอใช้รถโฟร์วีลจากทางโรงเรียนต้นสังกัดเดิม    ...ถึง ร.ร.แล้ว ครูใหญ่หยุดรถ ปล่อยมือจากพวงมาลัยและคว้าฆ้อนจากกระเป๋าส่วนตัวไปแงะตะปูเพื่อเปิดประตูไม้ออก ให้รถเข้าไปจอดในสนามโรงเรียนได้ ครูใหญ่บอกว่าที่ต้องปิดประตูแน่นหนาขนาดนี้ก็เพราะเมื่อไรก็ตามที่เผลอให้รั้วด้านใดด้านหนึ่งหรือรั้วมีช่องให้ลอดเข้าไปได้ ทั้งฝูงวัวและฝูงม้าของชาวบ้านก็จะพากันเข้าไปเดินเพ่นพ่านในโรงเรียนกันครึกครื้น อันอาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ และอะไรก็ไม่ร้ายเท่าฝูงวัวทั้งหลายพิสมัยการกินกระดาษเป็นที่สุด...มันกินกระดาษทุกชิ้นที่เห็นไม่ว่าจะเป็นสมุด หนังสือของเด็กในย่าม ไม่เว้นแม้แต่รูปภาพหรือบนบอร์ดที่เด็กๆ ช่วยกันจัดไว้สวยงาม           

              ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเวลาครูใหญ่ของโรงเรียนบ้านลุกป่าก๊อมาทำงาน ทำไมถึงต้องสะพายกระเป๋าใบใหญ่ใส่เครื่องมือซ่อมแซมสารพัดมาด้วย ...ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ฆ้อนและเลื่อย ส่วนชุดทำงานแทบทุกวันของครูใหญ่คือ ชุดพละ เพราะสะดวกในการเดินทาง (บางวันต้องเข็น ต้องเดิน ต้องจูงรถ ข้ามห้วย ฯลฯ) และการทำงานในแต่ละวันนอกจากทำการสอนแล้ว ยังต้องซ่อมรั้ว ซ่อมทุกๆ อย่างในโรงเรียนด้วยตนเอง

             ส่วนครูผู้หญิงหาวันที่สวมเครื่องแบบหรือกระโปรงจริงๆ ได้ยาก (จะสวมเฉพาะวันสำคัญ) นอกนั้นก็ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการทำงาน ส่วนเด็กๆ นั้นที่แต่งตัวด้วยชุดนักเรียนถูกระเบียบครบชุดนั้นไม่มีเลย ใครมีอะไรก็ใส่อย่างนั้นมาเรียน (ชุดนร.ที่เห็นใส่อยู่ในรูปส่วนใหญ่เป็นชุดที่ครูใหญ่ไปขอรับบริจาคมาจากญาติมิตรและคนรู้จัก)      

           ...รถโฟร์วีลวิ่งเข้าไปจอดในสนามโรงเรียนกว้างโล่งสุดสายตา มีอาคารถาวรและชั่วคราวอยู่ 4 หลัง ที่ภาคภูมิและโดดเด่นที่สุดคือ เสาธงใหม่เอี่ยมสวยงาม...ส่วนสนามที่กว้างโล่งนี้ ครูใหญ่บอกว่า เมื่อแรกเริ่มตั้งโรงเรียนชาวบ้านได้ช่วยกันตัดต้นไม้ทิ้งหมดเพราะกลัวลูกหลานจะได้รับอันตราย เมื่อครูใหญ่ได้รับเลือกให้มาทำงานที่ท้าทายที่สุดในชีวิตงานนี้ เมื่อปีที่แล้ว จึงได้หาพวกไม้ยืนต้นมาให้เด็กๆ และชาวบ้านมาช่วยกันปลูกทดแทน          

            โรงเรียนบ้านลุกป่าก๊อ (ลุกป่า แปลว่า หุบเขา, ก๊อ แปลว่า ผลไม้เปลือกแข็งตระกูลเดียวกับลูกนัทหรือลูกเกาลัด)นี้ มีครูใหญ่ (ผู้อำนวยการสถานศึกษา) เป็นและทำ ได้ทุกหน้าที่ ทั้งของโรงเรียนและของชาวบ้านที่นี่ คุณครูนาง (ครูอัตราจ้าง) ครูผู้วิ่งสอนเด็กๆ ชั้น ป.1-6 และคุณครูสีโพ (ครูจ้างสอน) รับผิดชอบชั้นเด็กเล็ก(ก่อนอนุบาล)และชั้นอนุบาล1-2  ซึ่งครูผู้หญิงทั้ง 2 ท่านนี้ ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งครูแม่บ้าน ครูพยาบาล แม่ครัว ฯลฯ

      

               บุคคลากรทั้ง 3 ท่านนี้ ดูแลเด็กๆ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอและเผ่ากะเหรี่ยง 51 คน เพื่อให้ได้รับการเรียนการสอนให้มากที่สุดท่ามกลางความอัตคัดไปหมดทุกสิ่ง            

                   เรายืนดู...การเรียนการสอนที่มีอย่างเข้มแข็งท่ามกลางความขาดแคลนนี้อย่างทึ่ง ชื่นชมและตื้นตันในความตั้งใจจริง อดทนและเสียสละของครู-ผู้ให้ของเด็กๆ ที่หุบเขาแห่งนี้ เราสัมผัสได้ถึงคุณค่าของคำว่าหน้าที่และการให้อย่างเต็มเปี่ยม              

              อาคารเรียนหลักที่ใช้การเรียนการสอนเป็นอาคารที่ได้จากโครงการกระดานดำกับกระทิงแดง มีชั้นเรียนถึง 4 ชั้น เด็กๆ นั่งแยกหันหน้าไปตามกระดานดำของตน อาคารเล็กๆ ที่บรรจุชั้นเรียนไว้ถึง 4 ชั้น ครูนางต้องวิ่งไป-วิ่งมาระหว่างห้องเรียนเหล่านี้             

              เรายืนดู...ห้องสมุดที่สร้างอย่างหยาบๆ ฝีมือชาวบ้าน ซึ่งไม่มีแม้ชั้นหนังสือสวยงามหรือแถวหนังสือนานาให้เห็น  ที่นี่แทบไม่มี...ไม่มีอะไรเลย            

              เรายืนดู...การเรียนการสอนในชั้นเด็กเล็กและชั้นอนุบาล เด็กๆ ที่กระจองอแงกลุ้มรุมรายรอบครูสีโพ ครูสาวชาวกะเหรี่ยงยืนตักอาหารและคอยป้อนให้กับเด็กชั้นเด็กเล็ก เมื่อชั้นเล็กสุดอิ่มแล้ว จึงปล่อยให้ไปวิ่งเล่น และให้ชั้นอนุบาลมานั่งกินต่อ            

            เรายืนดู...เด็กๆ ชั้นป.6 ที่นอนพังพาบไปกับพื้นที่ศาลาประชาคม ซึ่งอาคารนี้เป็นงบของหมู่บ้านที่ได้รับมาเพื่อสร้างอาคารสำหรับประชุมของชาวบ้าน ครูใหญ่วิ่งเต้นขอร้องให้กรรมการหมู่บ้านมาสร้างในพื้นที่ของโรงเรียนแทนที่จะไปร้างที่อื่น อย่างน้อยเด็กๆ จะได้อาศัยเป็นที่เรียนได้             เสียงระฆังตีพักเที่ยง เด็กๆ กรูกันไปเข้าแถวที่สนาม เดินแถวไปที่อาคารชั้นเด็กเล็ก ซึ่งเป็นทั้งโรงครัวและโรงอาหาร            

            เรายืนดู...ครูนางตักอาหารให้เด็กๆ  ซึ่งเด็กทุกคน ทุกชั้นได้กินเหมือนๆ กันในวันนั้น คือ แกงมะเขือพวงใส่หมู เด็กๆ นั่งกินกับพื้น บ้างใช้ช้อน บ้างใช้มือเปิบ เด็กๆ มีแต่ข้าวเปล่าและน้ำดื่มใส่ขวดมาจากบ้านเท่านั้น          

           “เฮ้...ได้นั่งแล้ว เก้าอี้ว่างแล้วพวกเราเสียงเรียกจากในคณะให้เราไปนั่งพักแข้งขา หลังจากที่เรายืนมาตลอด เมื่อเด็กๆ ไปพักเที่ยงเก้าอี้ของเด็กๆ จึงว่าง เพราะที่นี่ไม่มีอะไรทั้งนั้น โต๊ะเก้าอี้รับแขกหรือแม้กระทั่งน้ำดื่ม ทุกคนต้องพกมาเอง แม้กระทั่งครูใหญ่เองก็ไม่มีอะไรเลยเช่นกัน ทั้งโต๊ะทำงาน...และเก้าอี้สำหรับนั่ง             

 

               เด็กๆ ที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพระสงฆ์มาจำพรรษาหลายปีแล้ว) มีบางครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ เด็กๆ ที่นี่ไม่มีชื่อเล่น ส่วนใหญ่มักจะเรียกกันด้วยชื่อจริง และถ้านับถือพุทธจะรู้ได้จากชื่อ เช่น พรหมลิขิต สวยสุดยอด,เรืองฤทธิ์ พิทักษ์พนาไพร ฯลฯ ส่วนถือคริสต์ก็จะมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น แมทธิว, นาเดีย ฯลฯ เด็กๆ สื่อสารกันเองด้วยภาษาถิ่นของตัวเอง ต่างคนต่างพูดภาษาของตัวเองแต่สามารถเข้าใจกันได้ดี และจะสื่อสารกับคุณครูหรือผู้เยี่ยมชมด้วยภาษาไทยกลาง          

                หลังอาหารเที่ยงแล้ว เราได้คุยกับเด็กๆ บางคนของที่นี่      ผมอยากเป็นทหารครับ     

 ทำไมถึงอยากเป็นทหาร      

ผมจะได้ทำงานช่วยเหลือประเทศชาติ     

ในความคิดของจะโบ ชาติคืออะไร     

ชาติคือ...คือ ครอบครัวผมและแผ่นดินไทยที่ผมอยู่     

จะโบ ขจรธรรมกุล เด็กนักเรียนชาวมูเซอชั้นป.6 ตอบคำถามช้าๆ  

 อยากเป็นครูค่ะ      

ทำไมอยากเป็นครู      

อยากให้เด็กไทยมีความรู้       

แล้วสุรีย์คิดว่า เด็กไทยควรรู้อะไรก่อน      

ภาษาไทยคะ เพราะเราเป็นคนไทย     สุรีย์ เผ่าพันธุ์ธรรม เด็กนักเรียนชาวกะเหรี่ยงชั้นป.6 ตอบคำถามเอียงอาย   

             ได้เวลาเข้าห้องเรียนอีกครั้ง ครูใหญ่ตีระฆังเรียกให้เด็กๆ มาเข้าแถวเพื่อรับของแจกจากคณะเรา ซึ่งเป็นเพียงขนมเล็กๆ น้อยๆ และเมล็ดพันธุ์ผักตามกำลังของเรา ที่เราแวะซื้อระหว่างทางก่อนที่จะเข้ามาที่นี่ เพราะได้ฟังจากครูใหญ่ว่า เมื่อวันเด็กที่ผ่านมา ครูใหญ่ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดและอำเภอช่วยสนับสนุนขนมสำหรับแจกเด็กๆ

             ในวันสำคัญของพวกเขา แต่ขนมลังใหญ่ที่ครูใหญ่ได้รับบริจาคเพื่อมาแจกเด็กๆ นั้น แต่ละถุงนั้นเป็นขนมถุงละบาทที่กินไม่ได้เพราะมันคงเป็นขนมที่เหลือขายมา คงถูกทิ้งห้อยค้างตากแดดไว้นาน ครูใหญ่จึงโยนทิ้งทั้งหมด         “ไม่รู้ให้มาทำไม เด็กดอยก็คนนะ”...          

             แม้ลุกป่าก๊อจะไม่มีอะไรเลย แต่หุบเขาแห่งป่าก๊อนี้มีเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติให้ครู-ผู้สร้างและผู้ให้ ได้ทำหน้าที่ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ 

             เด็กๆ ทุกคนที่นี่ ทุกคนมีความฝัน ร่าเริง และที่สำคัญเด็กๆ รักในความเป็นไทย แม้จะอยู่ในถิ่นที่ทุรกันดารแต่หากพวกเขาได้รับการสนับสนุน เชื่อเถิดว่า สักวันหนึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเป็นต้นกล้าที่สมบูรณ์และแข็งแกร่งของชาติต่อไปในอนาคต                                                   

  หมายเหตุ

            โรงเรียนบ้านลุกป่าก๊อ เดิมเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านมะโนลา ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 สนง.เขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอนเขต 1 จึงตั้งให้เป็น โรงเรียนบ้านลุกป่าก๊อ เป็นโรงเรียนเอกเทศ นิติบุคคลตามกฎหมาย

            และต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายอนิรุทธ์ สายบุญผาง จากโรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาทางโรงเรียนนี้ยินดีต้อนรับการเยี่ยมชม และขอรับการสนับสนุนทุกด้านจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นแรงกำลังในทุกทาง (ช่วยสอน-ช่วยสร้าง-ช่วยเติมเต็มด้วยสิ่งของบริจาคที่เป็นประโยชน์ในทุกๆ ด้าน)            

           ได้โปรดช่วยกันเป็นแรงใจให้กับครูและเด็กๆ ที่นี่ตามแรงศรัทธาของท่าน กรุณาติดต่อหรือประสานงานกับบุคคลดังต่อไปนี้

1.อาจารย์อนิรุทธ์ สายบุญผาง (ครูใหญ่ หรือ ครูต๋อย)

62/1 หมู่ที่ 3 ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน 58150 โทร. 04-807-7356 (กรุณาโทร.หลัง 1 ทุ่ม)

2.คุณอรุณี ตันศิริ

302/220 หมู่ 3 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

โทร.05-143-9609 หรือ [email protected]

  <p> </p><p> </p><p> </p><p> </p><p> </p><p>                                                                </p><p> </p><p> </p><p> </p><p>                              </p><p> </p><p>                                                            </p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 39208เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอต้อนรับการกลับมาสู่ เวอร์ชั่น 2 นะครับ
  • ขอบคุณคุณแขกมากครับที่นำมาแบ่งปัน
  • ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนครับ

อ่านแล้ว ย้อนคิดไปถึง VCD เรื่อง เสียงกู่จากครูใหญ่

น่าจะทำเป็น VCD เวอร์ชั่นไทยไทยเลยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท