Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

ระบบประกันคุณภาพ ตอนที่ 1


ระบบประกันคุณภาพ ตอนที่ 1
ระบบประกันคุณภาพการศึกษา กับ ความวุ่นวายของบ้านเมือง                                                                                            พิชัย  สุขวุ่น13 กรกฎาคม  2549  ประชาชนไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านเมืองเราขณะนี้  ไม่ปกติหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเมืองและการเมืองก็รวมทุกเรื่องเอาไว้นั้นหมด เพราะเป็นการจัดสรรอำนาจในการบริหารมิติอื่นๆ  อย่างรอบด้าน  ไม่ว่าผู้นำจะร่ำส่ำระส่ายโดยเหตุใดก็แล้วแต่  มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว มนุษย์เรามีวิวัฒนาการทางสติปัญญามากน้อยเพียงใด  พิจารณารวมๆแล้ว การทะเลาะเบาะแว้งเพื่อแย่งชิงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมทันสมัยหรืออาจเรียกว่าเป็นพฤติกรรมร่วมของสังคมทันสมัยไปแล้ว  ภาพของการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในระดับผู้นำและบริวาร  มันก็สะท้อนภาพและพฤติกรรมทางความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกตัวแทนเหล่านั้นไปบริหารประเทศเช่นเดียวกัน เพราะนั่นคือตัวแทนของคนส่วนใหญ่มันจึงสื่อให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้  มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้นำของเขามากนัก  เพราะบุคลิกของผู้แทนทางการเมืองก็สะท้อนบุคลิกของผู้เลือกเช่นเดียวกัน ถ้าภาพการเชื่อมโยงเหล่านี้เป็นจริงสถานการณ์ด้านสติปัญญาของคนส่วนใหญ่กำลังมีปัญหาแน่นอน และปัญหานี้คงไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน  แต่เป็นการผสมผสานปะทะกันจนเป็นวิวัฒนาการ และกลายเป็นวัฒนธรรมประจำตัว  จนแสดงออกเป็นภาพเคลื่อนไหวของสังคม  สังคมแห่งการแย่งชิงสิ่งอะไรบางอย่างกำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ  ที่ใช้คำว่า แย่งชิงอะไรบางอย่าง   ก็เพราะว่าการที่จะระบุลงไปให้ชัดเจนว่าสิ่งใด ก็ไม่สามารถทำได้เพราะแย่งชิงกันทุกสิ่ง  ทั้งความชั่วและความดี เพราะมีบางส่วนแย่งกันทำความดีอย่างน่าสงสาร อยากทำความดีจนต้องทำชั่วโดยไม่จงใจ  จึงบอกไม่ได้ว่าทะเลาะกันเพื่อสิ่งใด  แต่รู้ว่าต่างฝ่ายต่างต้องการ  จนระงับความอยากเหล่านั้นเอาไว้ไม่ได้  พฤติกรรมเหล่านี้ควรระวังให้ดีมันอาจจะเกิดกับใครก็ได้โดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตามแต่ แต่พอจะอนุมานได้ว่า  การอยู่ร่วมกันของมนุษย์กำลังมีปัญหาและปัญหานั้นมาจากระบบคิด ในการตัดสินใจ นอกจากนั้นวิธีการในการแก้ปัญหา ก็หนักไปในทางทำลายล้างผู้อื่น มากกว่าระงับความอยากและพัฒนาระบบคิดของตังเองเสียใหม่ให้ดีขึ้น ปัญหานี้ต้องใช้วิชาความรู้ทางมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ช่วยระงับ แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าความรู้ที่มีอยู่จะช่วยเติมเชื้อแห่งความอยากเพิ่มขึ้นหรือไม่ อันนี้ต้องระวังให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเติมเชื้ออย่างไม่สิ้นสุด  ต่อมาหากตั้งคำถามว่า สถาบันการศึกษาช่วยให้สติแก่มนุษย์ได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นหน้าที่ แต่จะให้สติได้หรือไม่ ต้องพิจารณากันต่อไป ในขณะที่เรากำลังจัดทำระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยมี  7 มาตรฐาน 48 ตัวชี้วัด ผมพยายามค้นหาว่า มาตรฐานไหนจะช่วยประกันได้บ้างว่า บ้านเมืองจะสงบลงได้หากทำตามเกณฑ์มาตรฐานนั้นแล้ว พิจารณาแล้วปรากฏว่าพบหนทางแห่งสันติน้อยมาก หรือแทบจะประกันไม่ได้เลยว่า เมื่อจัดการศึกษาตามมาตรฐานแล้ว ประชาชนจะมีสติและแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้

ผมยกตัวอย่างแต่พอสังเขปเพื่อให้เป็นภาพร่วมกัน เช่น มาตรฐานที่ 1 การผลิตบัณฑิตก็จะได้คำตอบว่า นักศึกษาได้งานทำกี่คน ตรงสาขาหรือไม่ สังคมได้ยกย่องหรือไม่ มาตรฐานที่ 2 เมื่อทำเสร็จก็จะได้ทราบว่า มีผลการวิจัยที่ได้รับทุน และตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติกี่เรื่อง มาตรฐานที่ 3 เมื่อทำเสร็จก็จะได้ทราบว่า เราได้บริการวิชาการแก่ชุมชนอย่างไรบ้าง และมาตรฐานที่ 4 เราได้ทำเรื่องการทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม ในแง่มุมไหนบ้าง   ผมยกตัวอย่างให้เห็นแต่เพียงภารกิจหลักเท่านั้น ส่วนอื่นขอให้ท่านไปศึกษาเอาเอง  เท่านี้ท่านผู้อ่านก็คงพิจารณาได้ว่า ประกันคุณภาพการศึกษาโดยตอบโจทย์ปัญหาของมนุษย์ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ มีมาตรฐานไหนบ้างที่สามารถลดการแย่งชิงอะไรบางอย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น  ได้บ้าง การที่ตอบว่าบัณฑิตได้งานทำกี่คนนั้น  เพียงพอแล้วหรือที่จะเป็นเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพการศึกษา มีต่อ ตอนที่ 2

หมายเลขบันทึก: 39191เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท