บทความครูกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง


บทความ

ครูกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

           ครู เป็นบุคคลที่มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาของประเทศ ในอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบัน ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้ความสำคัญกับครูโดยถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างอนาคตของชาติ

 

            ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

 

            ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดาแล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี

 

            ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

 

      การสอน เป็นภารกิจหลักของครู ครูมืออาชีพจึงต้องเน้นการสอนให้มีคุณภาพ เพราะว่าคุณภาพการสอนของครูย่อมส่งผลดีต่อนักเรียน  และเยาวชนของชาติ  การประเมินคุณภาพของครูจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินจากตัวเด็กและเยาวชนของชาติ  ดังคำกล่าวที่ว่า “คุณภาพของเด็ก” สะท้อน “คุณภาพของครู”  ดังนั้นครูมืออาชีพควรมีและควรเป็นก็คือ  ต้องเน้นคุณลักษณะพื้นฐานนั่นคือ  ฉันทะ เมตตา และ กัลยาณมิตร  ซึ่งถือว่าเป็นคุณภาพพื้นฐานที่สำคัญของครู  และพัฒนาการสอนของครูซึ่งเป็นภารกิจหลัก โดยเฉพาะการสอนอย่างมีคุณภาพ นั่นคือ ครูมืออาชีพ  จึงต้องมีคุณธรรมโน้มนำ  ทำการสอนอย่างมีคุณภาพ  มีภาพลักษณ์ของความเป็นครูดี  เพื่อพัฒนาศักดิ์ศรีของอาชีพครูสืบไป

 

          จากพจนานุกรมคำว่า วิชาชีพ กำหนดว่าคือ อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ และไปดูข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2548 บัญญัติไว้ว่า วิชาชีพหมายความว่าวิชาชีพทางการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการรับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา ที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐ และเอกชน และการบริหารการศึกษา นอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนการศึกษาให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ


            ขนาดคำว่าวิชาชีพอย่างเดียว ยังต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ หากเอาคำว่าชั้นสูงไปต่อท้ายเป็น วิชาชีพชั้นสูง แปลง่ายๆ คือ ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญที่มากยิ่งขึ้นไปอีกเข้าขั้นเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ

 

            "วิชาชีพชั้นสูง" ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สูง มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานสูงขึ้น มีการติดตาม ศึกษา ค้นหาความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งความรู้ทางคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ คุณธรรม จริยธรรม เศรษฐศาสตร์ ดนตรี สุขภาพ อนามัย ฯลฯ ทั้งความรู้ที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ

 

            ครูกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง คือ การทำให้ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง โดยมีพันธะหน้าที่ในการสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีและมีความรู้ ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่หนักหนากว่าคนธรรมดาทั่วไป ดังนั้นจึงต้องทำให้ครูยืนอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม และไม่เดือดร้อนเรื่องฐานะความเป็นอยู่ เพื่อให้พวกเขาทุ่มเทพลังทั้งหมดในการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพและคุณธรรม

 

            ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง (profession) ที่ได้รับการยอมรับมาช้านานกว่าร้อยปีอย่างเป็นทางการโดย เฉพาะประเทศไทย  ความเป็นวิชาชีพของอาชีพครู มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 6 ประการคือ

 

            -  วิชาชีพที่ให้การบริหารแก่สังคมในลักษณะที่มีความจำเป็นและเจาะจง (social service)

            - สมาชิกในวงการวิชาชีพครูจะต้องใช้วิธีการแห่งปัญญาในการให้บริหาร (intellectual method)

            -  สมาชิกในวงการวิชาชีพครูจักต้องได้รับการศึกษาอบรมให้มีความรู้  กว้างขวางลึกซึ้ง  โดยใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร (long period training )

            -  สมาชิกในวงการวิชาชีพครูจักต้องมีเสรีภาพในการใช้วิชาชีพนั้น ๆ ตามมาตรฐานของวิชาชีพ (Professional autonomy) 

            -  วิชาชีพครูจะต้องมีจรรยาบรรณ (professional ethics)  และ

            -  วิชาชีพครูจะต้องมีสถาบันวิชาชีพเป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์  จรรโลงความเป็นมาตรฐานวิชาชีพ (professional institute)

 

            ครู เป็นวิชาชีพที่ทุกประเทศต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย วิชาชีพครูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้แก่เด็กนักเรียนให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรการผลิตครู จะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อใช้ทำการสอน ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้เรียนมาในหลักสูตรการผลิตครู ก็จะไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าใครในประเทศไทยที่ทำการสอนโดยไม่มีใบวิชาชีพครู ถือว่าเป็น"ครู"ที่ผิดกฎหมาย


          วิชาชีพครู เน้นคนดี มีคุณธรรม มีความรู้แม่นยำและมีเจตคติที่ดีในการสอน มีจิตวิทยาสำหรับเด็ก ต้องมีความรับผิดชอบสูง วิชาชีพครู ไม่ได้ทำงานที่ต้องขึ้นกับหรือเสี่ยงกับชีวิตใครอย่างเช่น แพทย์ แต่ถ้าครูไม่ดี ไม่มีความรู้ ไม่มีคุณธรรม นั่นก็อาจทำให้นักเรียนตายทั้งเป็น

 

            ดังนั้น ไม่ว่าครูจะมีความรู้ความสามารถหรือความถนัดแตกต่างกันเพียงใด แต่บทบาทของครูโดยส่วนรวมแล้ว จะยังอยู่ในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ นอกจากครูจะต้องรักบทบาทเป็นผู้สอนคนให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการต่างๆแล้ว ครูยังจะต้องรับบทบาทในการพัฒนาประเทศชาติในด้านต่างๆอีก เช่นการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้นครูจึงต้องรับบทหนักทั้งในอดีตและปัจจุบัน  และเป็นบทบาทในการสร้างสังคมในด้านต่างๆให้มีความเจริญก้าวหน้า  จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ได้มีผู้ให้สมญานามแก่ครูว่าเป็น  วิศวกรสังคม  ซึ่งหมายถึง ช่างผู้ชำนาญในการสร้างสังคมนั่นคือ หากครูให้การศึกษาแก่สมาชิกแก่สังคมอย่างไร  สังคมก็จะเป็นอย่างนั้น 

 

นางสาวอรทัย  ม่วงเพชร  รหัสนักศึกษา  524133022

หมายเลขบันทึก: 391555เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท