เปลี่ยนจากการลอกเลียนแบบมาเป็นการเทียบเคียงหรือประยุกต์ใช้จะดีไหม?


     ราว พ.ศ.2539-2540 ตอนที่ผมเป็น หศน.สศ.เขตการศึกษา1 นครปฐม จำได้ว่าช่วงเวลานั้น นโยบายจาก ศธ.เรื่อง “การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”กำลังมาแรง (พอ พรบ.กศ.แห่งชาติออกมาปี 42 มาใช้คำว่า “เน้นผู้ เรียนเป็นสำคัญ”แทน)
      ผมได้เชิญชวนโรงเรียนที่จะมาร่วมพัฒนาเรื่องนี้กันด้วยความเต็มใจ โดยทำแผนการพัฒนาทั้งระบบให้ดูเพื่อประกอบการตัดสินใจ และมีโรงเรียนที่เต็มใจเข้าร่วมประมาณ 20 โรงเรียน
     กิจกรรมแรกที่ทำร่วมกันก็คือการมาประชุมสร้างความเข้าใจในแนวคิดแนวทางดำเนินการร่วมกัน โดยในวันนั้นได้เชิญอาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ที่เก่งมากในเทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือ(Coorperative Learning) มาสาธิตการสอนให้ดู เพื่อเป็นตัวอย่างหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวโรงเรียนอย่างมาก
     แล้วเราก็ให้โรงเรียนไปวางแผนพัฒนาเรื่องนี้ พร้อมทั้งมานำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะๆ(โดยกำหนดช่วงเวลาไว้)
      หลังประชุมผ่านไปประมาณสัปดาห์ก็ได้ทราบข่าวว่าหลายโรงเรียนได้ติดต่อเชิญอาจารย์ จากม.เกษตรศาสตร์ท่านนั้นไปบรรยายที่โรงเรียนตนด้วยความติดใจ
      และพอถึงวันนัดหมายให้มีการนำผลคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนมานำเสนอแลกเปลี่ยนกัน ก็พบว่า โรงเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในวิชาต่างๆด้วยวิธีการสอนแบบร่วมมือ(Coorperative Learning)
     ผมรู้สึกตกใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เลยต้องสัมมนากันต่อจนได้แนวคิดร่วมกันว่า
     ... จริงอยู่แม้วิธีสอนนี้จะดีแต่การจัดการเรียนการสอนที่ดีไม่น่าจะมีเพียงวิธีเดียว ควรพิจารณาเลือกใช้วิธีสอนให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ เนื้อหา ธรรมชาติของแต่ละวิชาด้วย ซึ่งน่าจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ จึงตกลงกันว่าให้แต่ละโรงเรียนกลับไปทบทวนและปรับปรุงกันอีกครั้ง
       จากเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมของคนไทย ที่ยังนิยมใช้การลอกเลียนแบบมากกว่าการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประยุกต์ หรือต่อยอดให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งค่อนข้างจะแก้ยาก และลามไปถึงการทำผลงานทางวิชาการด้วยจนพูดกันติดปากว่า “ก๊อป”(ก๊อปปี้) ผู้นิเทศก์ ผู้แนะนำบางคนก็เสริมส่งเรื่องนี้ โดยทำเอกสารให้เติมคำลงในช่องว่างตามรูปแบบของผลงานทางวิชาการแต่ละประเภทตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย
       แล้วอย่างนี้จะเป็นผู้นำในการสอนให้ครู ให้เด็ก “คิดเป็น”ได้อย่างไร ... ลองวิเคราะห์กันดีไหมว่าสาเหตุมาจากอะไรและจะแก้ไขกันอย่างไรดี...
หมายเลขบันทึก: 39028เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2006 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท