สลากภัต : อุตรดิตถ์ไดอารี่


การทำบุญนี้เป็นการไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใดหรือสามเณรองค์ใดก็ยินดีถวายทั้งนั้นเป็นการกำจัดกิเลสชนิดหนึ่งเรียกว่าอคติเสียได้ ทาน ศีล การฟังธรรม , สลากภัต เป็นประเพณีที่มีความเป็นมายาวนานและผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของประชาชนในชนบท

ทานสลาก เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า

                "ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้วติดตามจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้จึงวิ่งเข้าไปในเชตวันไปพึ่งพระพุทธเจ้าขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงตรัสสอนไม่ให้จองเวรต่อกัน  นางทั้งสองเห็นชอบชั่วดี นางยักขินีรับศีล ๕ แล้วกราบทูลพระพุทธองค์ว่านางไม่รู้จะไปทำอะไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว ฝ่ายนางกุมารีเห็นดังนั้นจึงอาสาพานางยักขินีไปอุปการะ นางยักขินีจึงตอบแทน อุปการะคุณแก่นางกุมารี โดยพยากรณ์บอกเรื่องอุตุนิยมวิทยา และการทำนาแก่นางกุมารี และยังได้บอกแก่ประชาชนทั่วไปจนร่ำรวย เพื่อตอบแทนคุณนางยักขินีคนเหล่านั้นจึงพากันเอาเครื่องอุปโภค บริโภค อาหารการกิน เครื่องใช้มามอบให้นางเป็นอันมากจนเหลือใช้ นางจึงมาทำเป็น สลากภัต โดยให้พระสงฆ์ทำการจับสลาก  ของที่ถวายมีทั้งราคามากและน้อย "

 

           

                 สลากภัต เป็นประเพณีที่เก่าแก่ตามวิถีชาวพุทธ มีคติธรรมของศาสนาซึ่งที่มีแก่นสารที่สำคัญ ได้แก่ เป็นการสั่งสอนใจให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ  ให้สร้างความดีเพื่อผลบุญในชาติหน้า  ให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการตานก๋วยสลาก    

 

 

               ก่อนวันพิธี ๑ วัน ผู้หญิงจะจัดเตรียมสิ่งของปัจจัยเครื่องไทยทานเพื่อบรรจุในก๋วย (ตะกร้าไม้ไผ่) ซึ่งผู้ชายสานเตรียมไว้แล้วด้านหน้าก๋วยสลากจะมี   "เส้นสลาก" หรือข้อความจารึกชื่อผู้ถวาย พร้อมระบุด้วยว่า เพื่ออะไร สำหรับผู้ใด ในวันทานสลาก พระภิกษุตามวัดต่างๆจะได้รับนิมนต์ให้มาร่วมรับการถวายทาน ชาวบ้านที่เป็นศรัทธาวัดก็จะนำก๋วยสลากด้วย กรรมการวัดมีหน้าที่จัดเตรียมสลากอีกชุดหนึ่งเท่ากับจำนวนก๋วยสลากที่ชาวบ้านจะถวาย เมื่อถึงเวลาก็นิมนต์พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีทุกรูปจับสลากได้เบอร์ใดก็จะออกเดินค้นหาต้นสลากที่วางไว้ เมื่อพบแล้วชาวบ้านก็จะถวายทานต้นสลาก หรือบางทีพระสงฆ์ก็อาจอ่านชื่อศรัทธาตามเส้นสลาก เพื่อเรียกให้ศรัทธานำเอาก๋วยสลากไปถวาย พระสงฆ์จะให้พรเป็นอันเสร็จพิธี  

            อานิสงส์สลากภัต

                       ......  เพราะบุญในคราวนี้เป็นการทำบุญแตกต่างกว่าธรรมดาเพราะมีการจับสลาก แล้วก็ถวายไปตามรายชื่อพระภิกษุสามเณรที่จับได้นั้น การทำบุญนี้เป็นการไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใดหรือสามเณรองค์ใดก็ยินดีถวายทั้งนั้นเป็นการกำจัดกิเลสชนิดหนึ่งเรียกว่าอคติเสียได้ ทาน ศีล การฟังธรรม

                      ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ปทุมมุตตระ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถีนครเป็นที่โคจรบิณฑบาต .

                       .... มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นคนยากจนอนาถา อยู่ในพระนครนั้น แสวงหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างหาฟืนขาย อยู่มาวันหนึ่งบุรุษผู้สามีพิจารณาดูการเลี้ยงชีพที่ฝืดเคืองนักก็เนื่องมาจากตนมิได้บำเพ็ญกองการกุศล มีการให้ทานรักษาศีล สดับรับฟังพระธรรมเทศนาและเจริญเมตตาภาวนาเป็นต้นในชาติปางก่อนอย่างแน่นอน มาในชาตินี้จึงเป็นคนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญา เมื่อมาพิจารณาดังนี้แล้ว จิตใจก็อยากจะทำบุญให้ทานเพื่อจะได้เป็นนิธิขุมทรัพย์ เป็นเสบียงไปในปรภพเบื้องหน้า จึงปรึกษากับภรรยาของตนตามที่เจตนาดำริไว้นั้น ฝ่ายภรรยาก็คล้อยตามไปด้วยความยินดี รีบจัดแจงหาเครื่องไทยทาน ทำตามสมควรแก่กำลังของตน แล้วนำไปสู่อารามทำเป็นสลากภัต พร้อมกับมหาชนทั้งหลาย สามีภรรยาคู่นั้นจับสลากถูกภิกษุรูปหนึ่งจึงน้อมเข้าไปถวายด้วยความปีติ แล้วตั้งความปรารถนาว่าเดชะบุญกุศลผลทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าบริบูรณ์ด้วยยศศักดิ์สมบัติบริวาร ขึ้นชื่อว่าความตกทุกข์ได้ยากเข็ญใจ เหมือนในชาตินี้อย่า ได้พึงมีแก่ข้าพเจ้าในภพต่อ ๆ ไปเลย สามีภรรยาคู่นั้นอยู่ต่อมาจนสิ้นอายุขัยทำกาลกิริยาตายไปแล้วก็อุบัติในดาวดึงส์สวรรค์สิ้นบุญแล้วก็มาเกิดเป็นพระเจ้าศรัทธาติสสะ ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าศรัทธาติสสะนั้นครั้นกลับชาติมาก็คือพระตถาคตนี้เอง เมื่อสิ้นกระแสพระธรรมเทศนาแล้วเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย             

                   มีพระเจ้าปัสเสนทิโกศลเป็นต้น ก็ชื่นชมผลทานในการถวายสลากภัตเป็นยิ่งนักการทำบุญ มีทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ดังนั้น การทำบุญตานก๋วยสลาก จึงจัดอยู่ในประเภท ทานอานิสงส์ของบริจาคทาน มี 11 ประการ คือ

                   1.       เป็นที่มาของทรัพย์สมบัติทั้งหลาย

                   2.       เป็นที่ตั้งของโภคทรัพย์ทั้งปวง

                   3.       ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข

                   4.       ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก

                    5.       ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีผู้อื่นไว้ได้

                    6.       ทำให้เป็นผู้ที่มีเสน่ห์น่านับถือ

                    7.       ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี

                    8.       ทำให้เข้ากับสังคมอื่นได้อย่างคล่องแคล่ว

                    9.       มีบุคลิกองอาจ สง่าผ่าเผย

                   10.    ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติคุณดี

                   11.     ตายแล้วเกิดในสุคติภูมิ 

                    สลากภัต เป็นประเพณีที่มีความเป็นมายาวนานและผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของประชาชนในชนบท ซึ่งมีความผูกพันกับพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการสืบทอดประเพณีสลากภัตนี้มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี        

 

                     ชาวไร่ห้วยพี้ ต.ป่าคาย อ.ทองแสนขัน ก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่สืบทอดประเพณีอันดีงามนี้มาตลอดนับตั้งครั้งปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งชาวบ้านไร่ห้วยพี้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับพระพุทธศาสนา โดยมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไร่ห้วยพี้นิยมปฏิบัติสืบต่อมาทุกปีอยู่หลายประเพณีด้วยกัน  อาทิ ประเพณีก่อพระทรายข้าวเปลือก และที่สำคัญประเพณีสลากภัตซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจนำภัตตาหารหวานคาวมาถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป

หมายเลขบันทึก: 38950เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2006 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขอขอบคุณมากน่ะครับ สำหรับข้อมูลใน Di

ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับคุณ trippy126

อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ่อย ๆ นะครับ

ขอบคุนสำหรับข้อมูลครับ กำลังหาอยู่พิดี

ข้อมมูที่มีให้ดีมากๆขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท