เรื่องเล่าชาวประกันภัย


ความถูกต้องยุติธรรมกับกฎหมายที่ใช้บังคับไปด้วยกันจริงหรือ

               ณ วันหนึ่งที่สำนักงานประกันภัยจังหวัดชุมพร มีผู้มาปรึกษารายหนึ่ง ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของสำนักงานฯที่จะต้องมีผู้เข้ามาติดต่ออยู่เป็นประจำ แต่ในกรณีนี้เรื่องที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไปจากเดิม กล่าวคือ ผู้มาร้องเรียนเป็นหญิงวัยกลางคนมาพร้อมกับผู้ชายอีก 2 คน ก่อนจะให้ผู้มาปรึกษาเขียนเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ต้องทำการสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น ในการเกิดเหตุ บริษัทประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมเพราะเหตุอะไร เพื่อที่ว่าหากบริษัทประกันภัยได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการชี้แจงให้แก่ผู้ที่มาปรึกษาได้เข้าใจ โดยไม่ต้องเขียนคำร้องเรียนให้เสียเวลา เพราะการที่จะกล่าวหาว่าบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมโดยไม่เป็นธรรมนั้น ต้องพิจารณาจากข้อกฎหมายเป็นหลัก พอเจ้าหน้าที่เริ่มซักถามก็ได้ความว่า นาง ส.(นามสมมติ) เป็นผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ป. (นามสมมติ) รถยนต์คันที่เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย (คือชายที่มาด้วยอีก 2 คน) และรถคันดังกล่าวได้รับความเสียหาย ในวันที่เกิดเหตุยังไม่ได้มีการแจ้งความ โดยมาแจ้งในวันถัดไป โดยมี นาย ก. (นามสมมติ) เป็นคนขับ และนาย ข.(นามสมมติ) เป็นผู้โดยสาร เกิดเหตุบริเวณหน้าวัดคงคาราม โดยนาย ก.เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรี-ชุมพร และนาย ข.เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังสวน ทั้งสองคนให้ปากคำกับโรงพยาบาลว่าตนเองเป็นผู้ขับขี่และใบประวัติระบุว่ามีอาการมึนเมา เป็นเหตุให้บริษัท ป.ไม่จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้ ซึ่งเป็นจำนวนเงิน 79,885.61 บาท หลังจากที่รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ทางสำนักงานฯทำหนังสือเรียกบริษัทมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีก 15 วัน บริษัทได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ขับขี่ โดยดูจากใบการตรวจรักษาที่ นาย ก.และนาย ข.ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยทั้งสองบอกว่าตนเป็นผู้ขับขี่ และลักษณะอาการบาดเจ็บของนาย ข.มีรอยช้ำเป็นวงกว้างที่หน้าอก เป็นแผลฉีกขาดบริเวณใต้คาง ส่วนนาย ก.ที่อ้างว่าเป็นผู้ขับขี่นั้นมีอาการข้อมือช้ำและขาเคล็ดเล็กน้อย รวมทั้งทางบริษัทได้เข้าตรวจสอบรถยนต์คันเกิดเหตุปรากฏว่ามีรอยคราบเลือดอยู่บริเวณพวงมาลัยรถยนต์ด้านบน จึงเป็นที่เชื่อได้แน่นาย ข. เป็นผู้ขับขี่มิใช่ นาย ก.อย่างที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง ซึ่งนาย ข. เป็นผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บริษัทจึงไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมฯรายนี้ หลังจากบริษัทมาชี้แจงแล้ว

                 ทางสำนักงานฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ผลการประชุมสรุปได้ว่า ใบตรวจรักษาเบื้องต้น(OPD GARD) ไม่มีผลต่อการพิจารณาเพราะเป็นแค่การสอบถามเบื้องต้นของพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วย บริษัทจำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้ร้องรายนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ทุกคนจึงมีคำถามที่คาใจว่า "ความถูกต้องยุติธรรมกับกฎหมายที่ใช้บังคับไปด้วยกันจริงหรือ" เมื่อมีผลการประชุมดังกล่าวแล้วเราจึงเรียกบริษัทเข้ามาชี้แจงถึงเหตุผลที่บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมในกรณีนี้ แต่บริษัทขอสงวนสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาล ทางสำนักงานฯจึงแจ้งผู้ร้องตามที่บริษัทชี้แจง ในครั้งแรกผู้ร้องมีทีท่าว่าจะไม่ยินยอมแต่ทางสำนักงานฯ พยายามเจรจาว่าถ้าผู้ร้องไม่ได้เปลี่ยนตัวผู้ขับขี่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกลัวถูกฟ้อง ทางผู้ร้องจึงตกลงยอมรับเงินค่าสินไหมจากบริษัทและยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวของบริษัท

                 ในกรณีเรื่องร้องเรียนรายนี้นั้นคงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับหลายๆๆหน่วยงานที่บางทีข้อเท็จจริงมีปรากฏอย่างชัดเจนแต่ไม่สามารถดำเนินการอย่างใดได้เพราะติดขัดเนื่องจากข้อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ......นี่แหล่ะที่ทำอะไรไม่ได้.........

จาก เด็ก DOI

ประกันภัยจังหวัดชุมพร

หมายเลขบันทึก: 3893เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2005 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท