สิทธิชุมชนกับการจัดการการลงทุนระหว่างประเทศ


การจัดการประโยชน์ชุมชนทางการลงทุนระหว่างประเทศมีได้ไหมในทางปฏิบัติ
    ก่อนอื่นใคร่ขอหยิบยกถ้อยคำของดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่ได้กล่าวเป็นปาฐกถาไว้ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ประจำปี ๒๕๔๖ เรื่อง"ประชาธิปไตยบนเส้นทางประชาธิปไตย:บทสำรวจปัญหาและทางออก"ว่า"ผู้ยากไร้ทั้งหลายไม่ได้ต้องการดำรงตำแหน่งสาธารณะ ไม่ได้ต้องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชิงอำนาจในรัฐสภา หากต้องการสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธิอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรุกล้ำล่วงเกินเกี่ยวข้องกับความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชุมชนของตน  อันที่จริง เราพูดเรื่องเหล่านี้กันมามาก แต่ถึงเวลาที่จะต้องระบุให้ชัดเจนลงไปเสียทีว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่เราอาจต้านทานการรุกคืบหน้าของกระแสทุนโลกาภิวัตน์ได้ ในเวลานี้เราอย่าลืมว่ากลุ่มทุนข้ามชาติไม่เพียงดึงกลุ่มชนบางส่วนของสังคมไทยไปผูกโยงกับพวกเขาเรียบร้อยแล้ว หากยังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปสู่การยึดครองฐานทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นมาขึ้นต่อกลไกตลาดโลกหรือไม่ก็แปรรูปไปสู่การผลิตขนาดใหญ่แบบทุนนิยม  แล้วใครเล่าที่มีประเพณียังชีพโยงใยอยู่กับฐานทรัพยากรเหล่านั้นหากไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นในเขตชนบทต่างๆ ใครเล่าจะหวงเเหนวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เท่าพวกเขา?"

     จากปาฐกถาบางตอนของดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ข้างต้นประกอบกับข้อคิดเห็นของอาจารย์เเหวว ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราในฐานะนักกฎหมายจะเข้าไปมีส่วนช่วยจัดการประโยชน์ต่างๆ ของชุมชมซึ่งก็คือกลุ่มชนที่รวมตัวกันภายใต้บริบทของความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมเดียวกันและการดำรงชีวิตแบบพึ่งพากันตามหลักพื้นฐานทางสังคมที่ว่า"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" โดยนักกฎหมายเข้ามาอธิบายขยายความ และให้นิยามคำว่า"สิทธิชุมชนคืออะไร และประกอบด้วยสิทธิอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่ หรือประชาชนจะอ้างสิทธินี้ได้จากสิ่งใด ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสิทธิทางชุมชน และการส่งเสริมการลงทุนบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่เอื้อต่อชุมชน"แต่นักกฎหมายเองก็มีกรอบกระทำได้เฉพาะกฎหมายรองรับให้กระทำได้เท่านั้น

     อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหากับการให้คำนิยามของคำว่าสิทธิชุมชนอยู่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น มาตรา๔๖ ก็ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ ทั้งมาตราดังกล่าวไม่ได้ใช้คำว่าสิทธิชุมชนโดยตรง แต่ใช้คำว่า"บุคคลซึ่งรวมกลุ่มเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิ..."

     แต่พอสรุปนิยามสิทธิชุมชนได้ว่า  ถ้าให้นิยามในความหมายอย่างแคบ  สิทธิชุมชนหมายถึงประโยชน์หรืออำนาจซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมในบริเวณเดียวกัน มีความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาประกอบจิตสำนึกร่วมกันในการจะต้องพึ่งพาอาศัยกันในด้านสังคมและเศรษฐกิจ(เคยนิยามไว้ในบทความครั้งที่ ๓)

     ถ้าให้นิยามในความหมายอย่างกว้างอาจเป็นประโยชน์ที่กฎหมายไม่ได้รับรองไว้โดยชัดเเจ้งเนื่องจากสิทธิชุมชนเกิดจากพื้นฐานของวัฒนธรรมดังนั้น สิทธิชุมชนในความหมายอย่างกว้างหมายรวมถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ของชุมชนภายใต้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นอื่นๆหรือระบบศีลธรรมอันมองสิทธิบนรากฐานทางวัฒนธรรม  ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับ(Positive Laws)มิได้รับรองไว้ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารวมถึงความหมายอย่างกว้างด้วยเพื่อขยายฐานการรับรองสิทธิชุมชนให้กว้างขึ้นและเพื่อแก้ปัญหากฎหมายที่ใช้บังคับเป็นหมัน

     ผู้ทรงสิทธิชุมชนคือใคร?

ต้องวางพื้นฐานก่อนว่าสิทธิชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนด้วย(เสน่ห์ จามริก,ศ.โครงการเสวนารัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน ในหัวข้อ"สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์".วันที่๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ห้องร.๑๐๓ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อันเป็นสิทธิต่อเนื้อตัวร่างกาย สุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการดำรงชีวิต ดังนั้นสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิ่งที่จะดำรงความมีตัวตน เอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นโดยการเชื่อมโยงทางจิตสำนึกทางความคิด ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมร่วมกันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในท้องถิ่น จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในบริบทสังคมไทยโดยเฉพาะชนบทที่อาศัยพึ่งพากันมิใช่ทำอะไรเฉพาะตน

ดังนั้นผู้ทรงสิทธิของสิทธิชุมชนก็คือชุมชนซึ่งไม่จำกัดว่าเป็นกลุ่มคนหรือประชาชนดั้งเดิมหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าชุมชนนั้นมีความสัมพันธ์ทางความคิด ความเชื่อและวัฒนธรรมในเรื่องเดียวกัน และตามกฎเกณฑ์ทางสังคมแล้ว เพราะคนเพียงคนเดียวย่อมไม่อาจมีพลังมากพอที่จะเรียกร้อง ปกป้องหรือยืนยันสิทธิของตนจาการละเมิดและคุกคามได้จึงต้องใช้สิทธิชุมชน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเกื้อหนุนให้กับทั้งสิทธิปัจเจกและสิทธิชุมชนพัฒนาควบคู่กันไปและไม่ควรแยกสิทธิชุมชนออกจากสิทธิมนุษยชน และในขณะเดียวกันชุมชนก็มีฐานะเป็นผู้เสียหายด้วยเมื่อถูกกระทบสิทธิ

     สิทธิในชุมชนมีอะไรบ้าง?

     ในทางกฎหมายภายในตามรัฐธรรมนูญฉบับราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เช่น มาตรา ๔๖,๕๖,๕๙ และมาตรา ๖๐ เป็นต้นได้รับรองสิทธิชุมชนไว้

โดยมาตรา๔๖ ให้สิทธิชุมชนภายใต้กฎหมายบัญญัติ ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

เช่น กรณีตัวอย่างท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มหรือตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการเลี้ยงนกเขาของชุมชนจะนะ หรือสิทธิในการใช้สอย จัดการดูแลตลอดจนเก็บกินของป่าในป่าชุมชนที่จะถึงแปรรูปไปเป็นนิคมอุตสาหกรรมและโรงแยกก๊าซ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความล้มเหลวของการบังคับใช้มาตราดังกล่าวอย่างไม่เป็นท่า

อย่างไรก็ตามคงจะพอมีกรณีตัวอย่างที่น่าภาคภูมิใจในการร่วมมือร่วมใจใช้สิทธิชุมชนอย่างได้ผลคือ กรณีการสร้างเขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่ชาวบ้านปากมูลเคลื่อนไหวจนกระทั่งกลายเป็นผู้เสียหาย ต้องได้รับค่าชดเชยทั้งต่อที่ดินอันเป็นไร่นาในการทำกิน และยังเรียกร้องรวมไปถึงสิทธิในการประกอบอาชีพที่ถูกกระทบจะต้องค่าชดเชยด้วยเพราะว่าปากมูลทำให้เกิดการประกอบอาชีพอื่นนอกจากบนที่ดิน ก็ยังมีอาชีพประมงซึ่งได้รับผลกระทบ ดังนั้นกลุ่มคนที่เคยทำประมงซึ่งแม้เมื่อก่อนจะไม่ได้ตั้งรกรากบ้านเรือนอย่างชัดเจน เพราะมาจากหลายท้องที แต่กลุ่มคนดังกล่าวสูญเสียสิทธิในการประกอบอาชีพ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ด้วย จากกรณีปากมูลยังแสดงถึงการขยายตัวของสิทธิชุมชนอีกด้วย

ยังมีสิทธิชุมชนอย่างอื่นนอกจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้หรือไม่? ตอบได้ว่ามีคือ สิทธิชุมชนภายใต้วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ต่างกันไปตามภูมิภาค แต่เนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้จึงน่ารับรองจารีตประเพณีในท้องถิ่นเป็นกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความและเพิ่มประสิทธิผลในการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิยิ่งขึ้น

     ในทางระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนเอาไว้ โดยรัฐบาลไทยก็ได้รับรองหรือให้สัตยาบันไว้ ๕ ฉบับและถือว่าเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องผูกพันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

โดยสาระสำคัญของกฎหมายต่างๆดังกล่าวพอสรุปตามที่เกี่ยวข้องได้ว่า กฎหมายได้มีการนำสิทธิชุมชนไปบัญญัติไว้ คือ สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตัวเองซึ่งหมายถึงสิทธิในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาตนเอง สทธในการใช้และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน สิทธิในการมีอาหารพอเพียงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และสิทธในการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนซึ่งรวมถึงสิทธิในการศึกษาด้วย  ส่วนในกติการะหว่งประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมกล่าวถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา๖๐ ได้นำไปบัญญัติไว้  ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตรา ๑๗ ระบุว่าไม่มีใครจะลิดรอนชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นไปตามของตนได้ และกล่าวถึงสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ในมาตรา ๑,๖และมาตรา๑๑

และกรณีตัวอย่างที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างรประเทศ คดีที่นักลงทุนชาวออสเตรเลียไปลงทุนทำเหมืองแร่ฟอสเฟตบนพื้นที่ของชนพื้นเมืองเผ่าเนารู ชนเผ่าเนารูได้ให้กฎหมายระหว่างประเทศระบุรับรองสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองฟ้องร้องรัฐบาลออสเตรเลียในข้อหาละเมิดสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองด้วยการอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ฟอสเฟตในพื้นที่นั้น โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชนเผ่าเนารู และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ตัดสินให้เผ่าเนารูเป็นผู้ชนะคดีและสั่งให้รัฐบาลออสเตรเลียชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๑๐๗ล้านเหรียญออสเตรเลีย

(บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล.หน้าต่างบานแรก.หนังสือพิมพ์มติชนไม่ทราบปีพิมพ์)

     การลงทุนภายใต้การจัดการประโยชน์ของชุมชน(สิทธิชุมชน)ที่ยั่งยืนจะมีขึ้นได้หรือไม่ ถ้ามีได้จะทำอย่างไร?

หลายคนเข้าใจผิดว่าชาวบ้านที่ใช้สิทธิชุมชนโดยการเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน สิทธิในการจัดการชุมชนวัฒนธรรมและการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน    เป็นพวกฉุดรั้งและขัดขวางการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มขึ้นทางตัวเลข แต่จริงๆแล้วสิทธิชุมชนเป็นส่วนช่วยในการวางกรอบการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของประเทศรวมทั้งชุมชน(โดยเฉพาะชนบท) ทั้งยังเป็นแหล่งสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพื่อที่จะก้าวไปสู่ประเทศผู้ผลิตประเภทภูมิปัญญาที่มิใช่ทางอุตสาหกรรมพึ่งพาหากรัฐบาลดำเนินนโยบายส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

     การลงทุนระหว่างประเทศมีประโยชน์แต่ประเทศไทยหรือไม่?

ตอบได้ว่าไม่ว่าการลงทุนทุกประเภทมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกันการลงทุนก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลในฐานะผู้ส่งเสริมการลงทุนต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อนว่าการลงทุนมีผลกระทบต่อหน่วยใดของประเทศหรือไม่และรัฐบาลไทยมักจะลืมหน่วยชุมชนซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาของประเทศ อันเนื่องมาจากโลกของเราแคบลงในการลงทุนเพราะมีการเปิดตลาดเสรีการลงทุนกันมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนย้ายทุนทำได้สะดวกไม่มีอุปสรรคต่างๆมากมายเหมือนครั้งอดีต จึงอาศัยตลาดเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนที่เคยมีอยู่เดิมก่อนการลงทุน

แนวคิดของตลาดเสรีดังกล่าวนี้เองเป็นช่องทางให้พวกต่างชาตินำเงินตราที่เขามาลงทุนหลอกล่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้ค่อยๆหมดไปอย่างเป็นระบบ สุดท้ายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เดิมที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาเอาไว้เช่น การเลื้ยงนกเขา หรือ การเก็บของป่า เป็นต้น ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศค่อยๆ จางหายไปทีละน้อย ผันเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านให้เป็นผู้ค้าแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมหนักโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกการดำรงชีวิตตนเองเลยดังที่ปฏิญญาต่างๆ ข้างต้นได้บัญญัติรับรองไว้

     การจัดการการลงทุนให้อยู่ภายให้กรอบสิทธิชุมชนทำได้อย่างไร?

ขอสรุปเป็นแนวทางดังนี้

๑.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเช่น มาตรา๔๖ ขยายขอบเขตจากคำว่าสิทธิดั้งเดิมมาเป็น สิทธิชุมชน  เพิ่มเติมบทบัญญัติรับรองจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น กล่าวคือกำหนดสิทธิชุมชนโดยให้คำนิยามได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อสะดวกในการตีความเพราะแต่และท้องที่ประเพณีและวัฒนธรรมต่างกัน

๒.การปฏิรูปนโยบายของรัฐ  แม้รัฐจะให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วยว่า หากจะให้เกิดการลงทุนชุมชนจะมีสิทธิอะไรจากการลงทุนนั้น เช่น ค่าชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมทั้งที่ดินทำกินและค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ เป็นต้น และรัฐต้องออกมาตราการมาควบคุมการลงทุนไม่ให้กระทบต่อในบริเวณที่ชุมชนและขนบธรรมเนียมที่หวงเเหนไว้เป็นมรดกของชาติ เช่น ป่าชุมชน เป็นต้นตลอกจนการวิจัย ศึกษาปัญหาสภาพท้องถิ่นก่อนการส่งเสริมการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบเสียก่อน

๓.การปฏิรูประบบกฎหมาย  โดยเฉพาะกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจที่มีอยู่ ที่ให้อำนาจเพียง รัฐและปัจเจกชชน ให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมหรือบัญญัติกฎหมายใหม่ เพื่อรองรับสิทธิชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเขียนกรอบของสิทธิไว้อย่างกว้างๆแต่จัดลำดับการใช้สิทธิไว้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุง แก้ไข สนับสนุน ตรวจสอบการใช้สิทธิอย่างต่อเนื่อง

๔.การปรับโครงระบบราชการและกระบวนการยุติธรรม โดยลดการรวมศูนย์อำนาจ แต่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยอาจตั้งองค์กรอิสระมหาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น ทั้งชุมชนทางวัฒนธรรมร่วมกันก็มีสสิทธิในการจัดการทรัพยากรทั้งโดยวิถีดั้งเดิมและวิถีใหม่ที่ร่วมกันสร้างขึ้น

๕.ภายในชุมชนเอง ก็ควรที่จะเร่งสร้างความเข้มเเข็งหรือขีดความสามารถของกลุ่มทางวัฒนธรรมไว้ เพราะสิทธิชุมชนจะเกิดขึ้นเองมิได้ถ้าไม่มีความร่วมแรงร่วมใจที่จะทำการใดๆร่วมกัน และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นตลอดจนใช้สิทธิเรียกร้องตามที่กฎหมายรับรองไว้อย่างสม่ำเสมอ

   การลงทุนระหว่างประเทศ เช่น การขยายฐานการผลิต การหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดทุนด้านแรงงาน เป็นต้น แม้จะมีผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและมูลค่านำเข้าของประเทศ แต่หากประเทศเราไม่พยายามคิดหาแนวทางใหม่มาก่อให้เกิดการผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเทคโนโลยีของตนเองซึ่งเสียเงินตราไม่มากเท่ากับการไปซื้อแนวคิดสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐอาจส่งเสริมการลงทุนภายในท้องถิ่นและสนับสนุนให้กลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศแล้วขยายการลงทุนไปที่ต่างประเทศบ้างโดยไม่ต้องรอการเพิ่มมูลค่าจากจากลงทุนจากต่างประเทศ และคุ้มครองศาสตร์ของชุมชนไว้ไม่ให้คำว่า"สิทธิบัตร"มาพรากหรือแอบอ้างทรัพย์สินทางปัญญาของชาติไทยไป เช่น ท่าฤาษีดัดตนวัดโพธิ์ที่บริษัทเอกชนญี่ปุ่น นำไปจดสิทธิบัตร เป็นต้น ดังนั้นการจัดการสิทธิชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะบางทีหากปรัชญาของชุมชนเล็กๆเมื่อได้รับการพัฒนาและสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เช่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยชุมชนในฐานะเป็นผู้ผลิตบ้างมิใช่เป็นแต่เพียงผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นผลดีต่อการลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสิทธิชุมชน

หมายเลขบันทึก: 38912เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เขียนได้ดีทั้งโครงสร้างของงานและรายละเอียด

ขอบคุณมากค่ะทุกคน แล้วจะพยายามรักษาคุณภาพของงานและพัฒนาให้ดีขึ้นค่ะ

ขอบคุนค่ะที่ให้ความรู้

ด้วยความเต็มใจค่ะคุณญ๋า

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นนะคะ

ดีใจที่ได้เห็นบันทึกอาจารย์อีก แต่มาช้ากว่าอาจารย์แหวว มากๆๆ อาจารย์กลับไปสอนหนังสือแล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ

ขอบคุณมากค่ะคุณขจิต

เริ่มสอนหนังสือแล้ว

เวบนี้ต้องขอบคุณอาจารย์แหววจริงค่ะ ถ้าไม่ได้ท่านแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ให้พวกเรานักศึกษาป.โททำกันอย่างขมักเขม้นค่ะ ...อิอิ

คุณขจิตสบายดีนะคะ

อาจารย์ครับ

จะหาปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ เต็ม ๆ อ่านได้จากที่ไหนครับ

เนื้อหาน่าสนใจมากครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ ดิฉันอ่านมาจากหนังสือพิมพ์มติชนอีกทีหนึ่งค่ะ อาจต้องค้นหาดูหนังสือพิมพ์ย้อนหลังค่ะหรือเข้าไปขอเอกสารจากมูลนิธิเดือนตุลาค่ะ

กรุณาดู link นี้นะคะ

สถานที่ติดต่อมูลนิธิเดือนตุลาค่ะ

http://www.thaioctober.com/smf/index.php?topic=1674.0

หรือในเวบนี้มีบทความออนไลน์ของมหาลับเที่ยงคินค่ะ

http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999553.html

ขอบคุณมากๆ นะคะที่ร่วมเเสดงความคิดเห็น

พบว่ามีการเรียบเรียงเป็นหนังสือแล้วครับ

ได้ชื่อหนังสือและสำนักพิมพ์แล้ว คราดว่าน่าจะตามหาอ่านได้

ตอนนี้กำลังไล่ตามหาในเวปอยุ่ครับ อาจจะมีเนื้อหา

ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณค่ะสำหรับคำแนะนำดีๆ

ได้เนื้อหาแล้วครับ

ที่ www.14tula.com/activity/s2546.doc

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท