ทางกลับคือการเดินทางต่อ (ก.ค.2549)


บทความเขียนลงคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ไทยนิวส์" ประจำเดือนกรกฎาคม 2549

เมื่อวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2549 ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีอภิปรายเป็นคณะ เรื่อง การประสานแผนชุมชน / แผนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับแผนงานด้านแรงงาน โดยต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ดำเนินการอภิปรายและร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ท่าน คือ นายบุญโชติ จองกฤษ ผู้จัดการธนาคาร ธกส.สาขาระนอง และนายจำเริญ สุวพิศ รองนายก อบต.บ้านนา หรือที่ผมชอบเรียกท่านด้วยความคุ้นเคยว่า ครูจำเริญ

ในวันนั้น ครูจำเริญ ขอคิวเป็นผู้อภิปรายเป็นคนแรก เพราะติดภารกิจต้องไปประชุมที่ศาลากลางจังหวัดในเรื่องของการเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีหมายกำหนดการจะเสด็จมาจังหวัดชุมพรในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร หมอพร ณ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และจะเสด็จไปยังตำบลบ้านนา เพื่อรับมอบที่ดินที่มีผู้บริจาคให้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์

ครูจำเริญสะท้อนปัญหาแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของแรงงานจากประเทศพม่าในพื้นที่ตำบลบ้านนา และทั่วทั้งจังหวัดชุมพรไว้อย่างน่าสนใจ โดยยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนทั้งในแง่ของประโยชน์ในกิจการทางด้านการเกษตร และภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน, การสาธารณสุข ฯลฯ

จะว่าไปแล้วเรื่องที่ครูจำเริญนำเสนอไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในท้องถิ่นจังหวัดชุมพร แต่ความชัดเจนในตัวปัญหาทำให้ผมเก็บมาคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่น ๆ ที่มองเห็นเป็นปัญหา และขอทำหน้าที่คาดการณ์ถึงสภาวะของท้องถิ่นชนบทจังหวัดชุมพรในอีก 5-10 ปีข้างหน้าสัก 2 3 ปัญหา ดังนี้

  1. คนไทยในชนบทมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เรียนจบมาแล้วยินดีที่จะหางานทำเป็น มนุษย์เงินเดือน ในเมือง มากกว่าที่จะกลับไปสานต่ออาชีพทางด้านการเกษตรจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แรงงานที่เข้ามาทดแทนในอดีตคือ แรงงานต่างถิ่นจากภาคอีสาน และจากจังหวัดใกล้เคียงโดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี ฯลฯ แต่ปัจจุบันคือ แรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า
  2. ที่ดินจะเกิดการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ถือครอง จากเกษตรกรไปสู่คนมีเงินเดือน โดยเฉพาะข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ที่ตรากตรำทำงานหนักมาตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จะตั้งความหวังหาความมั่นคงให้กับชีวิตในบั้นปลายโดยเลือกที่จะลงทุนซื้อที่ดินจากเกษตรกรสร้างสวนปาล์ม, สวนยาง กันมาก แต่น้อยรายที่จะประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวัง เพราะระบบตลาดของสินค้าเกษตรไม่เคยเอื้ออำนวยให้กับผู้ผลิตที่อยู่ต้นน้ำของสายการผลิตได้อย่างแท้จริง สุดท้ายผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งเกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็จะเลือกมาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่กับลูกหลานในสังคมเมืองเช่นเดียวกัน
  3. หน่วยงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ในชนบทจะประสบปัญหาจนต้องยุบต้องปิดกิจการ หน่วยงานเหล่านี้ ได้แก่ โรงเรียน, สถานีอนามัย ฯลฯ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในตอนนี้ก็คือ โรงเรียนขนาดเล็ก ในอดีต 10 - 20 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเหล่านี้มีนักเรียนจำนวนมากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ อาทิ จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงอันเป็นผลมาจากนโยบายคุมกำเนิด, ถนนหนทางทำให้การเดินทางไป-มาสะดวกขึ้น ประกอบกับค่านิยมในการส่งลูกหลานเข้าศึกษาในตัวเมือง ทำให้โรงเรียนทุกระดับชั้นในเขตเมืองเติบโตทางด้านปริมาณสวนทางกับโรงเรียนขนาดเล็ก และดูเหมือนว่าการเติบโตของโรงเรียนในเมืองต่อไปนี้จะไม่สามารถหยุดยั้งได้อีกต่อไป เพราะเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองกระทบไปถึงบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนทางการเมือง ทำให้ต้องพยายามหาทางสนองประโยชน์เกิดเป็นวัฏจักรของการเติบใหญ่ไปข้างหน้า สวนทางกับโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่ค่อย ๆ เหี่ยวแห้งลงไปจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

ปัญหาเหล่านี้ผมหยิบยกขึ้นมาเสมือนหนึ่งเป็นสมมุติฐานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะองค์กรส่วนท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ แต่ต้องไม่ใช่การลบล้างโดยใช้อารมณ์, ความรู้สึกเป็นตัวกำหนด ท่านควรจะศึกษาข้อมูลย้อนหลังดูแนวโน้มของประชากรที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในช่วง 10 20 ปีที่ผ่านมา แล้วลองคาดการณ์ไปล่วงหน้าสัก 5 - 10 ปี บางทีความชัดเจนในตัวปัญหาอาจจะทำให้ท่านหันมาให้ความสำคัญกับภารกิจทางด้านสังคม, การศึกษา, สาธารณสุข และแรงงาน มากกว่าที่เป็นอยู่

จะมีประโยชน์อะไรที่มุ่งมาถกเถียงขัดแย้งกันในเรื่องของการถ่ายโอน, ยอดงบประมาณจัดสรร, ใครมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชา ฯลฯ ถ้าต่อไปจะไม่เหลือแม้แต่องค์กรให้บริหารงาน.

หมายเลขบันทึก: 38909เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท