เทคนิคการบริหารงานของคุณอำนวย (ตอน 1)


ส่วนที่เป็นมนุษยธรรม

  1. ความมีจิตใจเอื้อเฟื้อ นอกจากจะเป็นการผู้น้ำจิตน้ำใจต่อบุคคลรอบข้างแล้ว ยังเป็นผู้ที่น่านับถือต่อผู้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต่อจากนั้นจะเป็นฐานกำลังในการรวบรวมกลุ่ม การเชื่อฟัง การเห็นด้วย จากการวาดภาพอนาคต อันเป็นที่มาของความสามัคคีและการกำจัดความขัดแย้งในกลุ่มชนได้

  2. ความเอื้ออาทร มีความหมายคล้ายกับความเอื้อเฟื้อแต่ความเอื้อเฟื้อจะมุ่งไปที่การเสียสละมากกว่า ขณะที่ความเอื้ออาทรจะมุ่งไปที่ความรู้สึกที่แสดงออกทางพฤติกรรมด้วยความจริงใจ จริงจัง อย่างจริง ๆมีความรู้สึกอ่อนโยนลึกมากกว่าความเอื้อเฟื้อความเอื้ออาทรจะเป็นเสมือนร่มโพธิ์ครึ้มใบที่ให้ร่มเงาในยามแดดร้อน ให้ความรู้สึกผ่อนคลายสำหรับผู้กลัดกลุ้ม แต่ความเอื้ออาทรนี้จะต้องผนวกเข้ากับเหตุผล เพราะมิฉะนั้น จะกลายเป็นผู้ไร้ตัวตนที่ไม่สามารถสัมผัสได้

  3. การไม่ติดยึด ในที่นี้หมายถึงการให้อภัยที่กันและกัน โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองกับบุคคลผู้แม้จะว่าร้าย กล่าวร้าย ทำร้ายต่อตน มีจิตมุ่งหน้าสู่เป้าหมายด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่เป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยในบางคราวก็มีการคิดที่ไม่ดีบ้างจึงพูดออกมาไม่ดีและทำไม่ดี การไม่ยึดติดต่อโทษเหล่านั้น ทำให้พลังแห่งความมุ่งมั่นไม่แบ่งตัวออกเป็น 2 นั่นเอง

  4. ความมั่นคง ไม่ง่อนแง่คลอนแคลนหรือซัดส่ายไปมาวันนี้คิดและพูดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้คิดและพูดอีกอย่างหนึ่ง ความมั่นคงทางใจ นอกจากจะสร้างความสามัคคีให้แก่ผู้ร่วมอุดมการณ์แล้ว เป้าหมายและงานจะออกมาอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ส่วนที่เป็นมโนคติ

  1. การมองโลกในแง่ดี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การมองโลกเชิงบวก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า จิตที่คิดดีแล้วนำสุขมาให้ คล้ายกับการปรับความรู้สึกแม้สิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าจะไม่ดี แต่ให้เปลี่ยนไปมองอีกมุมหนึ่งที่มันมีสิ่งที่ดีอยู่ เช่น ชาวบ้านแยกตัวออกเป็น 2 กลุ่ม ในการประชุมแต่ละครั้งจะมีปัญหาการถกเถียงอยู่ตลอด สร้างความรำคาญใจต่อผู้เขาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มิขาด หากจะมองในแง่ดี อาจได้อย่างนี้คือ 1) เป็นเรื่องที่ดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายถกเถียงกัน เราจะได้ทราบปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย และฝึกฝนการใช้เหตุผลในการถกเถียง 2) เป็นที่เรื่องที่ดี สำหรับคุณอำนวยที่จะฝึกฝนตนในการประสานให้เกิดความสามัคคีได้อย่างไร หรือแม้จะแยกเป็น 2 กลุ่ม ก็อาจจะสร้างเป้าหมายที่เหมือนกัน โดยให้แต่ละกลุ่มคิดหาวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะกลุ่มตนเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ควรจะเป็น อย่างนี้เป็นต้น

  2. การมองการณ์ไกล จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณอำนวยมีความรู้หลากหลาย กว้างไกล ทั้งลึกและตื้น สามารถจะวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตได้ โดยการประมวลปรากฏการณ์ในอดีตเป็นบทเรียน หรือรวบรวมความรู้จากหลายหลากสาขาเข้าเป็นความรู้เฉพาะตนเพื่อประเมินภาพในอนาคต คล้ายกับการทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำด้วยข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ด้วยเหตุผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  3. การมีความคิดสร้างสรรค์ ในข้อนี้ หมายเอาความคิดที่ไม่ยึดติดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยมุ่งความคิดไปในทางที่ชอบที่ควร และพยายามแสวงหาวิธีการหลากหลายตามความเหมาะสมต่อสภาพการเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ข้างหน้า

  4. ความกระตือรือร้น หมายถึง ความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ย่อท้อแม้ปัญหาและอุปสรรค์จะขวางอยู่ตรงหน้า คุณอำนวยต้องหมั่นให้กำลังใจตัวเองเสมอ โดยเฉพาะเป้าหมายที่วางไว้ต้องทำให้สำเร็จ ต้องทำให้สำเร็จ…แต่ไม่ได้หมายถึงความรีบร้อนถึงกับงานที่ออกมาเป็นงานที่ต้องเริ่มใหม่

  5. การคิดแบบบูรณาการ หมายถึง การคิดโดยการเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ ที่เอื้อต่อเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะเป็นเพียงเหตุผลเล็ก ๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

  6. การคิดแบบแยกส่วน ในข้อนี้ ดูเหมือนจะขัดแย้งกับการคิดแบบบูรณาการ แต่ในบางครั้งจำเป็นจะต้องคิดแบบแยกส่วนเพื่อตรวจสอบบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้เห็นรายละเอียดของปรากฏการณ์

  7. ความมั่นใจ ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งของคุณอำนวย ความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีความพร้อมในทุกส่วน แต่ไม่ได้หมายถึงมั่นใจจนเกินไปถึงกับไม่ยอมรับความผิดพลาดอันจะเกิดขึ้นข้างหน้า ความมั่นใจนี้จำเป็นต้องเป็นความมั่นใจบนทางสายกลาง พร้อมจะแก้ไข รับฟังความคิดเห็นของสิ่งรอบข้างเสมอ

  8. จิตใจที่ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค โดยต้องเข้าใจถึงความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า ยิ่งฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคมากเพียงใดยิ่งแข็งแกร่งมากเพียงนั้น โลกใบนี้ผู้ที่จะมีชีวิตอยู่ได้คือผู้แข็งแกร่ง ต้นไม้ที่อ่อนแอมักจะตายไปเพราะโรคบางอย่าง สัตว์ที่อ่อนแอก็มักจะถูกรังแกจากสัตว์ที่แข็งแกร่งกว่า ปัญหาและอุปสรรคนี้เองคือยาชั้นดีสำหรับการเพิ่มพลังความแข็งแกร่ง ยิ่งปัญหาอุปสรรค์มากเท่าไร คุณค่าของการบรรลุผลย่อมสูงมากเพียงนั้น

ส่วนที่เป็นสามัญสำนึก

  1. ความรู้สึกรับผิดชอบ ผู้เป็นคุณอำนวยจะต้องมีความรู้สึกรับผิดชอบโดยเฉพาะหน้าที่ที่ต้องกระทำทั้งที่เป็นหน้าที่โดยสถานะ และความเป็นมนุษย์ ผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบล้วนอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น

  2. ความซื่อสัตย์ ผู้เป็นคุณอำนวยจะต้องมีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตน ต่องาน และต่อวิธีการอันจะได้มาซึ่งผลของงาน ทั้งนี้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของงานและความไว้เนื้อเชื่อใจของชุมชน

  3. รักษาสัตย์ เคยมีคำกล่าวว่า “คำพูดที่พูดออกไปแล้วจะเป็นนายของตน” ในข้อนี้ จะไม่มีสำหรับคนที่ไม่รักษาสัตย์ ส่วนคนที่รักษาสัตย์จะเป็นผู้มีเครดิตสูง

  4. ความยุติธรรม ข้อนี้ หากจะพิจารณาจากปรากฏการณ์ทางสังคมจะพบว่า ความยุติธรรมที่เป็นกลางที่สุดไม่มี แต่จะมีวิธีการใดที่จะให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของคุณอำนวยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในเมื่อความยุติธรรมที่เป็นกลางที่สุดไม่มี ก็ต้องยุติด้วยธรรมคือการยอมรับซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุด้วยผล

  5. ความมีเหตุมีผล ถือเป็นประการสำคัญในการไกล่เกลี่ย การประสานงาน หลักและวิธีการ ทั้งนี้เพื่อการมีน้ำหนักที่เพียงพอทั้งที่เป็นความคิด การกระทำและคำพูดในการเชิญชวน แนะนำ ชี้แนะ

  6. ความเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ในเมื่อกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นล้วยเป็นกฎเกณฑ์และกติกาที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรมจากกลุ่มชนอันเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากการจะล่วงละเมิดย่อมหมายถึงการเหยียบย่ำภูมิปัญญาของกลุ่มชนหากเหยียบย่ำในสิ่งที่สังคมยอมรับ ก็ไม่แตกต่างอะไรกับผู้บ่อนทำลายสังคม ผู้เป็นคุณอำนวยจึงจำเป็นจะต้องสำนึกในข้อนี้ให้ดี เพราะพลาดเพียงครั้งเดียวย่อมหมายถึงความผิดพลาดตลอดชีวิต เราไม่เชื่อมั่นในกฎเกณฑ์แล้วใครจะเชื่อมั่น ทำไปทำมากฎเกณฑ์ก็ไร้ความหมาย จึงไม่มีประโยชน์สำหรับการทำข้อตกลงร่วมกัน

คุณลักษณะภายนอก

คุณลักษณะภายนอกเป็นผลมาจากการผลักดันของคุณลักษณะภายใน กล่าวคือ มนุษย์เมื่อคิดอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น หากคิดไปในทางสร้างสรรค์ การกระทำก็จะออกมาอย่างเอารัดเอาเปรียบ หากคิดโดยการซ่อนเล่ห์กลต่าง ๆ การกระทำก็จะออกมาแบบมีเล่ห์กล คนอื่นอาจจะไม่รู้ หรือรู้แต่เขาไม่พูด แต่ตัวผู้คิดกระทำนั้นรู้ดี ดังนี้ การเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือต้องเริ่มต้นจากคุณลักษณะภายในเป็นสำคัญ ส่วนคุณลักษณะภายนอกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของคุณลักษณะภายใน บุคคลผู้เป็นผู้อำนวยก็จะเป็นคุณอำนวยที่สมบูรณ์ทั้งภายในและภายนอก

หมายเลขบันทึก: 38830เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท